เป็นที่สังเกตกันหรือไม่ว่า ทำไมคุณธรรมที่พร่ำกันอยู่ในเวลานี้ แทบจะไม่มีคุณค่าและความหมายใดๆ เหลืออยู่ให้ผู้คนในสังคมซาบซึ้งใจ จนหันมาน้อมนำใส่ตนดังที่หลายคนคาดหวัง ทั้งๆ ที่มีการเรียนการสอนมานานและพูดกันจนปากเปื่อยปากแฉะ แต่ก็ยังไม่ดีวันดีคืน มิหนำซ้ำยังย่ำแย่และเลวร้ายไปกว่าเดิมอีก
ข้อสังเกตข้างต้นนี้ ผู้เขียนคิดว่า มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และชีวทัศน์ของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ ที่มองศีลธรรมเหมือนกับกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับอะไรสักอย่าง โดยไม่เห็นว่าศีลธรรมจะเกื้อหนุนหรือค่ำจุนให้เข้าถึงบรมธรรมได้อย่างไร
เมื่อมองศีลธรรมเหมือนกับกฎหมายไปเสียแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่จึงเห็นไปในทำนองว่า ถ้าไม่กระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดๆ ก็ถือว่าได้ทำความดีกันแล้ว ต่อเมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่บอกให้ทำความดี เป็นคนดี เป็นเด็กดีนะหนู ผู้คนก็จะสงสัยกันต่อไปอีกว่า “ไอ้ที่ว่าทำดีนั้นทำอย่างไร” ฉัน เธอ หนู ผม ก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมายสักหน่อย แล้วบอกให้ทำดีทำอย่างไร แล้วที่หนู-ฉัน-ผมไม่ได้กระทำผิดกฎหมายไม่เรียกว่าทำดีแล้วหรือ เพราะฉะนั้น คำพูดที่ดูดีและสวยหรูของผู้หลักผู้ใหญ่ไปจนถึงพระสงฆ์องค์เจ้า ที่สอนให้ทำความดี ทำแต่ความดีนั้น จึงกลายเป็นว่าไปสอนเฉพาะคนที่กระทำผิดกฎหมายเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ไป ศีลธรรมและคุณธรรมที่พร่ำกันมาหลายยุคสมัย จึงแทบจะไม่มีความหมายใดๆ เหลืออยู่ให้ผู้ที่ไม่ได้ทำผิดกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคมต่อยอดขึ้นไปอีก
ในพระพุทธศาสนานั้นเห็นว่า กฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นบทฐานสำคัญที่ทำให้เข้าถึงบรมธรรมได้ ดังปรากฏให้เห็นในพระวินัย ซึ่งบัญญัติห้ามอะไรต่อมิอะไรมากมายเสมือนกฎหมายในเวลานี้ ว่าต้องทำอะไรและไม่ทำอะไรในเรื่องใดบ้าง หนึ่ง-สอง-สาม… เมื่อปฏิบัติตามพระวินัยได้ก็ก้าวต่อไปในทางธรรม จนกระทั่งถึงเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์คนหนึ่งพึ่งจะบรรลุได้ โดยไม่หยุดอยู่แค่เพียงความดีที่ได้ปฏิบัติตามพระวินัย หรือไม่หยุดอยู่แค่เพียงความดีตามหน้าที่ของพลเมืองเท่านั้น หากแต่ยังพาตนและสังคมไปสู่อุดมธรรมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา และความเอื้ออาทรต่อกันและกันอีกด้วย ต่อเมื่อเราแยกบรมธรรมกับกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคมออกไป โดยให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์อะไรต่อมิอะไรทางสังคมมากกว่าเป้าหมายสูงสุด เราจึงไม่เห็นความสุขละเอียดประณีตที่มากกว่าการไม่กระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดๆ ในสังคม อาทิเช่น ความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ความสุขที่เห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จ และทุกข์ใจเมื่อเห็นคนอื่นได้รับความเดือดร้อน ฯลฯ
เมื่อมองศีลธรรมเหมือนกับกฎหมาย คนส่วนใหญ่จึงคิดในทำนองว่า ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ ก็ถือว่าได้ทำความดีกันแล้ว
อันที่จริงนั้น ชุมชนสงฆ์ (ในอุดมคติ) ก็เป็นชุมชนตัวอย่างของบุคคลที่มีคุณธรรมมากกว่าการไม่กระทำผิดกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งในระดับบุคคลและชุมชน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชุมชนสงฆ์นั้น เป็นชุมชนของบุคคลที่สามารถผสานบรมธรรมกับกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิต กล่าวคือ ในระดับบุคคลนั้น ก็สามารถพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งขึ้นไปจนเป็นอิสระจากวัตถุทั้งหลาย เห็นสรรพสัตว์เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกันกับเรา ในด้านชุมชนก็เกื้อหนุนให้ผู้คนดำรงอยู่ร่วมกันด้วยดีมีความผาสุก ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งอื่นมากไป ต่อเมื่อมีพระสงฆ์รูปใดละเมิดกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคม ชุมชน (ขอเน้นคำว่าชุมชนไม่ใช่บุคคลหรือองค์กร) ก็จะมีกระบวนการลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำ อาทิเช่น ไม่มีใครพูดคุยด้วย ให้อยู่กรรมสำนึกตน ฯลฯ ไปจนถึงขับออกไปจากชุมชนสงฆ์ อย่างนี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การผสานบรมธรรมกับกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนนั้น ยังมีให้เห็นกันทั่วไปในชุมชนคฤหัสถ์ ทั้งในอดีตและบางชุมชนในปัจจุบันอีกด้วย
ชุมชนสมัยก่อนนั้นที่พูดกันได้ว่า ผู้คนมีคุณธรรมดำรงอยู่เป็นเนื้อเป็นตัวเป็นชีวิตจิตใจมากกว่าในเวลานี้ ก็เพราะสามารถที่จะผสานความสัมพันธ์สองประการข้างต้นเข้าหากันได้ด้วยดี จนกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของบุคคลและชุมชนไป ใครจะทำอะไรที่ไหนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการพูดจา การค้าการขาย หรือทำไร่ไถนา จับปลา เข้าป่าล่าสัตว์ ฯลฯ ไปจนถึงประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ผู้คนในชุมชนก็จะตระหนักถึงผลกระทบที่จักเกิดขึ้นกับตน คนอื่น ครอบครัว และชุมชนตลอดเวลา อาทิเช่น เมื่อจับปลาก็จะเก็บมาให้หมดไม่ทิ้งไม่ขว้าง จะตัดไม้ก็เลือกตัดให้สูงจากพื้นดินขึ้นมา ให้พอที่จะแตกหน่อต่อยอดขึ้นไปได้อีก และที่สำคัญเขาจะไม่ตัดไม้ที่ขึ้นริมแม่น้ำหรือตามริมห้วยหนองคลองบึงซึ่งจะทำให้ตลิ่งพังได้ ฯลฯ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนสมัยก่อนนั้น มีสำนึกต่อผู้อื่นและธรรมชาติมากกว่าในเวลานี้ เมื่อคิดที่จะทำอะไรก็ตระหนักในบาปบุญคุณโทษทุกครั้งไป ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีบาปมีโทษน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ตนจะไม่ทำผิดกฎหมาย ฯลฯ ก็ตาม
คุณธรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ แม้จะเหือดแห้งไปในสังคมสมัยใหม่ แต่ในบางชุมชนก็ยังมีกลุ่มคนที่เห็นความสุขทางจิตใจ และเห็นบาปบุญคุณโทษสำคัญกว่าการได้เงินทองมากมายเสียอีก ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มทอผ้าบ้านโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน กลุ่มทอผ้าที่นี่เดิมทีหาตลาดไม่ได้ มาในระยะหลังๆ เมื่อมีคนรู้จักมากขึ้น ก็เริ่มมีร้านค้าสั่งผ้าเข้ามามากมายคิดเป็นเงินหลายแสนบาท แต่ทางกลุ่มกลับไม่รับทำตามที่ร้านค้าสั่งมา เนื่องจากเห็นว่าการทอผ้าในปริมาณมากๆ มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ทำให้สมาชิกกลุ่มทอผ้าไม่มีความสุข เมื่อไม่มีความสุขในการทอผ้า พอทำออกมาก็จะไม่มีคุณภาพ เมื่อเอาผ้าที่ไม่มีคุณภาพไปให้เขาก็จะเป็นบาปได้
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผู้คนในชุมชนสมัยก่อนดูจะมีคุณธรรมมากกว่าในเวลานี้ แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ เสียเลยก็ไม่ใช่ มีนั้นมีแน่แต่ก็น้อยกว่าปัจจุบันมาก และยังจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เฉพาะชุมชนใดชุมชนหนึ่งเท่านั้น ไม่ลุกลามแพร่ขยายออกไปจนยากที่จะป้องปรามได้ พอเกิดปัญหาขึ้นมาเมื่อใด ชุมชนก็จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาของตนอย่างดี ซึ่งมีมิติทางด้านจิตใจและสังคมเข้ามาเกี่ยวโยงอยู่ด้วย แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ก็ยกให้เป็นเรื่องของเวรของกรรมไป คือปล่อยให้คนคนนั้นรับกรรมที่ตนก่อไว้ในชาตินี้ หรือไม่ก็เป็นชาติหน้า โดยอย่าหวังว่าจะพบกับบรมธรรมได้เลย
ด้วยเหตุดังนั้น ผู้คนในชุมชนสมัยก่อน (ส่วนใหญ่) จึงไม่คิดกันแต่เพียงว่า ถ้าไม่กระทำผิดกฎหมายแล้วจะทำอะไรก็ได้ที่ให้ตนมีเงินมีอำนาจ มีคนนับหน้าถือตา หรือว่าให้หล่อให้สวย ฯลฯ แต่ในทางตรงกันข้าม พวกเขากลับเห็นความผาสุกของผู้คนในสังคมเป็นที่ตั้ง จึงไม่คิดที่จะ “ทำอะไรก็ได้ตราบที่ไม่ผิดกฎหมาย” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนสมัยก่อนนั้นเอาบรมธรรมเข้ามาควบคุมหรือกำกับกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคมอีกที จึงสามารถที่จะจัดสรรความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่พอจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้นั้น นอกจากจะต้องสร้างสรรค์และพลิกฟื้นความเป็นชุมชนขึ้นใหม่แล้ว ก็ต้องจัดกระบวนการเรียนการสอนศีลธรรมกันใหม่ให้มีชีวิตชีวา และดึงมิติทางสังคมและบรมธรรมกลับมาให้ได้ หาไม่แล้วคุณธรรมก็จะเป็นอะไรไม่ต่างไปจากลิปสติกที่ติดอยู่แต่ริมฝีปากไปวันๆ แต่สังคมก็ยังย่ำแย่เหมือนเดิม ไม่มีแนวโน้มดีขึ้นแต่อย่างใด