ผู้เฒ่าบอกว่า “ไม่ว่าเราจะเชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งใดก็ตาม หรือมั่นใจในความถูกต้องดีงามเพียงใดก็ตาม สิ่งนั้นจะจริงไม่จริง ให้ดูที่ผลของมัน หากเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง แต่ผลมันเลวร้าย แสดงว่าต้องมีบางอย่างผิดพลาด และในความผิดพลาดนั้นอาจเกิดจากองค์ประกอบที่ต่างไป เช่น สิ่งนั้น เรื่องราวนั้น ความเชื่อนั้นดีอยู่แล้ว แต่เราปฏิบัติไปผิดทาง หรือ สิ่งที่เราเชื่อนั้นผิดมาแต่ต้น”
แบบเรียนใดใดมากมายเหลือเกินที่ล้วนต่างสอนเรามาแต่เด็กจนโตว่า เราต้องเป็นตัวของตัวเอง เราต้องมั่นใจในตัวเอง เราต้องมีเอกลักษณ์ของเราเอง เราต้องเชื่อมั่นในตัวเอง นั่นก็อาจเป็นเรื่องที่ดีกระมัง แต่คำสอน หรือหลักการปฏิบัติที่จะมาคานกับเรื่องที่ว่ามานั้น เรามักได้ยินอย่างแผ่วเบา เหมือนมันลอยอยู่ในสายลม นั่นก็คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน
ชายหนุ่มผู้ล้มเหลวกับทุกเรื่องในชีวิตคนหนึ่ง เขาเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองอย่างมั่นคง อาจจะมาจากองค์ประกอบอื่นๆ ว่าก็โดยเฉพาะครอบครัว ที่หล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนั้น เขาเชื่อมั่นอย่างไม่คลางแคลงเลยว่า ตัวเองฉลาด เก่ง จวบจนเขาพบกับความล้มเหลว พ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า ความเชื่อมั่นของเขาก็หาได้ลดลงไป เขากลับยิ่งเชื่ออย่างไม่สงสัยเลยว่าตัวเองเก่ง ฉลาด แต่ความผิดพลาดทั้งมวลในชีวิตของเขา ล้วนมาจากความโง่เขลาของคนอื่นทั้งหมด นี่เรียกว่าอยู่อย่างงมงาย ตายไปอย่างงมงาย
ภิกษุผู้บวชใหม่รูปหนึ่ง กล่าวหัวข้อธรรมกับญาติโยมว่า เมื่อเราอยู่ในสำนักปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะหลงตัวเอง หลงยึดว่าตัวเองปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสำนัก ล้วนเป็นคนด้อยโอกาส ไม่ได้ปฏิบัติ พวกเขาทั้งหลายนั้นจึงด้อยกว่าเรา เราเท่านั้นที่เป็นคนดี ถึงพร้อมด้วยธรรม
ด้วยคำพูดไม่กี่ประโยคนี้ กลายเป็นชนวนที่ทำให้ภิกษุหนุ่มถูกด่าว่าจากพระในวัด หาว่าท่านจาบจ้วงนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย นี่เรียกว่านอกจากหลงตัวเอง และติดดีแล้ว ยังไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการติเตียนใดใด แม้จะพร่ำบ่นในหลักกัลยาณมิตร ว่าจะยอมรับการติเตียนด้วยความยินดีก็ตาม และดูจะร้ายไปกว่านั้น เมื่อต่างก็หยิ่งผยองลำพองในสำนักของตน ในครูบาอาจารย์ของตน จนเชื่อ เลยไปถึงตำหนิสำนักอื่นๆ ว่า ทั้งหมดนั้นล้วนไม่ถูกต้อง ทั้งหมดนั้นล้วนผิดพลาด ทั้งหมดนั้นล้วนตื้นเขิน เพียงเราเท่านั้นที่ดีที่สุด ลึกซึ้ง และจริงที่สุด
สำนักใหญ่ ท่องบ่น และสรรเสริญคำพูดของอาจารย์ เขียนขึ้นป้าย กราบไหว้บูชา ป่าวร้องโพนทะนาคำพูดนั้น ซึ่งเป็นอมฤตธรรม อย่างไรเล่า เมื่อพวกเขากราบไหว้บูชา ก็สักแต่เพียงกราบไหว้บูชา ขณะที่ถ้อยคำนั้นคือคำสอนของอาจารย์ผู้ล่วงลับ พวกเขากลับไม่ได้ฝึกฝนปฏิบัติตามคำสอน หรือหลักปฏิบัตินั้น นั่นจึงกลายเป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้ใดจะแตะต้องมิได้ พร้อมๆ กับที่พวกเขายังใช้ชีวิตอยู่เช่นเดิม กับถ้อยคำวิเศษที่เอาไว้ประดับตกแต่งอัตตาตน ให้ยิ่งผยองลำพองในธรรมขั้นสูงที่พวกเขาเอาแต่บอกเล่า ยกย่อง บูชา แต่หาได้กระทำในธรรมอันวิเศษนั้นไม่
ดั่งคำของผู้เฒ่า ถ้าสิ่งนั้นดีอยู่แล้วด้วยสภาวะของมัน แต่เราไม่สามารถเข้าถึงสัจจธรรมนั้นได้ นั่นแสดงว่า เรานั่นเองที่ผิดพลาด และนี่ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ต่อมา เมื่อทิฎฐิ ความถือดีของเรานั่นเองที่เป็นกำแพงกั้นเราเสีย จากการเรียนรู้อย่างมีความหมาย หากการเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นเรื่องที่ดีเพียงด้านเดียว ชีวิตก็คงไม่มีเรื่องให้ยากลำบากมากนัก แต่ที่ลำบากก็เพราะมันไม่ได้มีด้านเดียว เมื่อความมั่นใจในตัวเอง ยิ่งมาก มันก็ยิ่งส่งเสริมความยึดมั่นในตัวตนให้กล้าแข็งขึ้น และเมื่อมันเริ่มกล้าแข็งขึ้น ก็เท่ากับมันหล่อเลี้ยงตัวเองอย่างสมบูรณ์ มันจึงโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีอะไรขัดขวาง
ความมั่นใจในตัวเองยิ่งมาก ก็ยิ่งส่งเสริมความยึดมั่นในตัวตนให้กล้าแข็งขึ้น ซึ่งเท่ากับมันหล่อเลี้ยงตัวเองอย่างสมบูรณ์
ที่เห็นก็มีแต่เพียงความอ่อนน้อมถ่อมตนเท่านั้นที่พอจะเยียวยา และลดทอนความแข็งแกร่งของอัตตาได้ แต่นั่นต้องไม่ใช่ความอ่อนน้อมที่แสดงขึ้น สร้างขึ้นตามรูปแบบ แต่มันคือการปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง ทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด มันคือการปรับกระบวนท่าใหม่ทั้งหมดของชีวิต มันคือการใคร่ครวญ มันคือการสืบค้น มันคือการเดินทาง มันคือการลงมือทำ ที่ไม่ใช่เพียงข้อมูล ความรู้ แผนที่ หรือทฤษฎี
นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเกินไป แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงการฝึกฝนปฏิบัติที่ทำอยู่นั้นต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ตั้งตนไว้ที่ที่เล็ก และเงียบงัน ไม่ตั้งตนไว้ใหญ่และอึกทึก หยุดท่องบนคำสอน แล้วเอาคำสอนมาปฏิบัติ ดูแลเหตุให้ถึงพร้อม โดยปล่อยวางผลที่จะเกิด
อนึ่ง…โลกมีหนทางมากมายสำหรับชีวิต ทางร้าย ล้วนเดินง่าย แต่ทางดีนั้นเราต้องใช้ความเพียรสูง
สุดท้าย ใครจะเดินทางใครก็สุดแท้