ลิ้นชักความทรงจำ

สุวีโร ภิกขุ 24 กุมภาพันธ์ 2008

สมองคือตู้เก็บเอกสารทุกประเภท ที่ซึ่งในตัวมันเองมีลิ้นชักบรรจุอยู่รอบด้าน เพื่อจัดการเอกสารที่ผ่านการจัดทำขึ้นมาหรือตีพิมพ์แล้ว มาตัดแบ่งออกเป็นบทเป็นตอน หรือเป็นหัวข้อบทความเรื่องๆ หนึ่ง เดินตามเส้นทางผ่านประตูทั้ง ๖ ที่เรียกกันว่า “อายตนะ” เข้ามาสู่จิตสำนึกรู้  มิใช่เพียงการรับรู้ความหมาย คำพูด ภาษา สถานที่ ที่ตั้ง กระบวนการและขั้นตอนเท่านั้นที่จะถูกจัดเข้าในระบบอย่างเป็นสัดส่วน  ทว่ามันยังแจกแจงรายละเอียดปลีกย่อยมากมายให้เป็นหมวดหมู่ อาทิเช่น พฤติกรรมตามความเคยชิน สิ่งที่เราให้ความสำคัญหรือใส่ใจ อารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนจินตนาการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และปฏิภาณไหวพริบ เป็นต้น  ต่อจากนั้นจึงบันทึกเก็บเข้าในกลีบขมับสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ตื้นบ้างลึกบ้างแล้วแต่การใช้งาน ซึ่งก็คือลิ้นชักนามธรรมแห่งความทรงจำที่เราเรียกกันว่า “จิตใต้สำนึก” นั่นเอง

จิตใต้สำนึกซึ่งสถิตอยู่ในสมองของคนเรานี้ มีธรรมชาติของการเก็บสะสมและรวบรวมข้อมูลเป็นงานประจำในหน้าที่ที่ติดมากับความมีชีวิตอยู่ของตัวเราตั้งแต่แรกแล้ว  ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านช่องทาง (อายตนะ, ทวาร, ประตู) แห่งการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจจะถูกบันทึกเอาไว้ในความทรงจำเสมอ จนกระทั่งเมื่อถูกกระตุ้นเร้าครั้งใหม่ผ่านอายตนะทั้ง ๖ โดยเฉพาะอายตนะสำคัญ คือจิตใจนี้นี่เอง เป็นที่รองรับผลจากการรับรู้อายตนะอีก ๕ ที่เหลือ เป็นถิ่นฐานที่ตั้งและเป็นเหตุที่มาแห่งการสัมผัสธรรมบ่อยครั้งกว่าช่องทางอื่นใด

ด้วยเหตุที่ว่า จิตใต้สำนึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตใจ เราจึงสามารถระลึกรู้อาการของจิตและประจักษ์ชัดต่อปรากฏการณ์ทางใจได้ทุกเมื่อ แม้ในเวลาที่ความทรงจำหวนคืนกลับมาโดยมิได้ตั้งใจจะรำลึกนึกถึงเอาเสียเลย  ความรู้สึกถวิลหาอย่างแรงกล้าหรือการคร่ำครวญหวนไห้ถึงวันชื่นคืนสุขแต่เก่าก่อน ในทางหนึ่งอาจเป็นเพียงความพยายามลดทอนความเจ็บปวดในชีวิตปัจจุบัน ด้วยการสร้างกลไกปกป้องตัวเองจากความเป็นจริงที่มากระทบใจเรา แล้วเก็บซ่อนความจริงบางส่วนบางตอนในชีวิตที่แล้วมาเหล่านั้นเอาไว้ในความทรงจำ

ถ้าลองพิจารณาดูให้ดี กิจวัตรประจำวัน หรืออุปนิสัยตามความเคยชินที่กระทำบ่อยๆ และสิ่งที่คนๆ หนึ่งให้ความสำคัญสนใจจนหมกหมุ่นครุ่นคิดถึงมันอยู่ไม่รู้คลาย ก็คือสภาวะความเป็นไป อาการที่กำลังจะเป็นและพฤติกรรมที่เป็นอยู่ในความเป็นเราของกายกับใจนี้นี่เอง  หลายสิ่งหลายอย่างนั้นถูกเก็บเข้ามาอยู่ในความทรงจำของคนผู้หนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกจดจำไว้ บันทึกเป็นภาพเงา แสง สี เสียง กลิ่น รสและความรู้สึกสัมผัสทางกายที่มากระทบ เป็นกิริยาอาการของอารมณ์ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ตอนนั้น  อาการนามธรรมทั้งหมดนี้ได้ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาจากปฏิกิริยาตอบสนองภายในใจเราเอง หรือเกิดขึ้นจากการลงมือกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไปต่อโลกแวดล้อมภายนอก ณ เวลานั้น  และในที่สุดก็จะแสดงผลออกมาเป็นพฤติกรรมประจำตัว

มีความเป็นไปได้ว่า หากเรายังคงติดกับดักของความทรงจำในอดีต นึกคิดซ้ำไปซ้ำมาและเคยชินที่จะประพฤติตัวแบบเดิมๆ นั่นอาจกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สารชีวเคมีในสมองเสียสมดุลไป จนกระทั่งก่อให้เกิดโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรคโอซีดี (Obsessive Compulsive Disorder) ในอนาคต  จากการศึกษาวิจัยเรื่องสารชีวเคมีที่รู้จักกันในชื่อสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ในสมองของคนเราพบว่า คนที่กำลังมีความรักกับคนป่วยเป็นโรคโอดีซีนั้นมีลักษณะอาการคล้ายๆ กัน เมื่อดูจากระดับปริมาณของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมองที่มีต่ำลงกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้มีอาการ

ความรู้สึกถวิลหาอย่างแรงกล้าถึงวันชื่นคืนสุขแต่เก่าก่อน ในทางหนึ่งอาจเป็นความพยายามลดทอนความเจ็บปวดในชีวิตปัจจุบัน ด้วยการสร้างกลไกปกป้องตัวเองจากความเป็นจริง

สารชีวเคมีสำคัญหลายตัวในสมองเกี่ยวข้องโดยตรงกับอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจ  ยกตัวอย่างเช่น อาการลุ่มหลงราวกับกำลังตกอยู่ในห้วงรักโรแมนติคส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของสารชีวเคมีบางตัว หรืออาจพูดได้ว่า ระดับปริมาณที่มีมากขึ้นของสารสื่อประสาทบางตัวทำให้เรารู้สึกเบิกบานใจ มีสมาธิแน่วแน่ และกระตือรือร้นคล้ายกับคนที่กำลังตกหลุมรักใครสักคน  ในขณะที่การออกกำลังกายก็ส่งผลให้สารชีวเคมีอีกชนิดหนึ่งเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เราจึงรู้สึกเป็นสุข อารมณ์ดี จิตใจผ่องใส อดทนต่อความเจ็บปวดได้ดีขึ้น  แต่ถ้าต้องการให้จิตใจเยือกเย็นและมีความสงบสุขแล้วล่ะก็ เราคงจะต้องพยายามหนีห่างให้พ้นจากพฤติกรรมประเภทย้ำคิดย้ำทำในแง่ลบอย่างเด็ดขาด

ยิ่งไปกว่านี้ การแสดงความรักผ่านการสัมผัสร่างกาย ยังช่วยสานสายใยแห่งความผูกพันระหว่างกันให้แนบแน่นยิ่งขึ้น นักวิจัยพบว่ามีการหลั่งสารสื่อประสาทในสมองบางตัวออกมาในปริมาณมากขึ้น เมื่อเราได้รับการโอบกอดหรือกำลังกอดคนที่เรารัก  การศึกษาในสมองของคนเรายังบอกให้รู้อีกว่า มีความผันแปรคล้ายๆ กันเกิดขึ้นจากสิ่งกระตุ้นเร้าตัวอื่นๆ อาทิเช่น อาหารที่เรากิน พฤติกรรมที่เราทำเป็นประจำ ความรู้สึกสุขทุกข์ในใจเรา แม้กระทั่งประสบการณ์ในชีวิตครั้งหนึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทและหน้าที่ในสังคม ปัจจัยเหล่านี้ต่างก็ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นและลดลงของสารสื่อประสาทหลายๆ ชนิด

อย่างไรก็ตาม สิ่งกระตุ้นเร้ากับสิ่งที่ถูกเร้ามิใช่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนกันและกันแบบกลับไปกลับมาแค่นั้น ทว่ามันอาจกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนและก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความผันแปรไม่แน่นอนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบได้อีกด้วย  ทั้งนี้เพราะว่ามีปัจจัยภายในสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การคาดการณ์ผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและพฤติกรรมทางกายภาพในตัวเราผิดไปจากที่ควรจะเป็น  มันมิใช่เป็นดังสมมุติฐานที่เราคิดนึก เรียนรู้หรือมีข้อสรุปเหมือนเช่นที่ได้ศึกษามา และปัจจัยสำคัญที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้ก็คือ จิตใจมนุษย์นี่เอง

ดังที่มีผู้กล่าวเอาไว้ว่า สมองคือกายหยาบหรือเป็นที่อยู่ของจิตมนุษย์ นั้นน่าจะกินความหมายกว้างกว่าอาการของจิตที่มีความผันแปรไปตามการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสารสื่อประสาทกับปฏิกิริยาต่างๆ ในสมอง  หากมุ่งความสนใจไปยังการรู้สภาวการณ์ขณะจิตปรากฏขึ้น จะพบว่าจิตกับสมองของคนเรานี้สัมพันธ์กันด้วยบทบาทและหน้าที่เชื่อมโยงกัน โดยมีการออกคำสั่ง รับทราบ ประพฤติตาม และถ่ายทอดต่อกันเหมือนหัวหน้า (นามธรรมหรือจิตใจ) กับลูกน้อง (รูปธรรมหรือสมอง)

บางทีอาจเปรียบจิตใจกับสมองเป็นเสมือนความรักกับคนรักที่ได้รับตัวยารักษาถูกโรค เมื่อความทรงจำต้นแบบพิมพ์เขียวของความรักหวานซึ้งได้สร้างนิสัยใหม่ให้คนรัก ด้วยปฏิบัติการปรุงรสอารมณ์ความรู้สึกอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม  ความถี่ของการแสดงออกนี้จึงเป็นการกระทำหรือพฤติกรรมเพื่อหล่อเลี้ยงความรัก (รักข้างเดียวหรือว่าเป็นคู่รักกัน) และบันทึกเพิ่มเติมเก็บเข้าไปสู่ความทรงจำในทางกลับคืน  เราจึงจำได้แต่ว่ามันเคยเป็นเช่นนั้นอยู่เพียงในความทรงจำ เมื่อรักเลือนหายไปจากชีวิต  และเมื่อใดที่มีการกระตุ้นเร้าไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก สิ่งที่ถูกเก็บเอาไว้ก็จะผุดพรายขึ้นมาให้เรารับรู้เรื่องเก่าอีกครั้ง  หน้าที่ของเราก็แค่รู้มันอย่างที่มันเป็นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักในเวลาปัจจุบันหรือในความทรงจำ สำเนากับต้นฉบับคงไม่ต่างกันหรอก  เมื่อไหร่รู้อาการที่เป็นอยู่ สิ่งที่ถูกรู้ก็จะเป็นเพียงนามธรรมที่ปรากฏอยู่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง


ภาพประกอบ