พบกันอีกครั้ง เป็นวันที่ 4 ของการปลุกสติออนไลน์ หลายวันที่ผ่านมา ผู้ปฏิบัติหลายคนก็จะพูดคล้ายๆ กันว่า มีปัญหาอย่างหนึ่งคือจิตมันฟุ้ง คิดมากเหลือเกิน ที่จริงการที่จิตฟุ้ง ไม่ใช่ปัญหา มันเป็นธรรมดา แต่ถ้าจะเป็นปัญหาก็เพราะว่าเราอยากจะให้จิตนิ่ง อยากจะให้จิตหยุดคิด หยุดฟุ้ง ความอยากตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา เพราะว่าประการแรกเป็นธรรมดาของจิตที่มันจะคิด มันจะฟุ้ง
หลวงปุ่ดุลย์ พูดว่ามันเหมือนกับลมหายใจ ห้ามลมหายใจไม่ได้ ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องมีหายใจเข้าหายใจออก จิตของเราก็เหมือนกัน มันคิดอยู่เรื่อยๆ ปรุงอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราอยากให้จิตมันนิ่ง หยุดคิด อันนี้เป็นความอยากที่สวนทางกับความเป็นจริง และจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ อีกประการหนึ่งเพราะว่าจริงๆ แล้วการปฏิบัติที่เรียกว่าการเจริญสติ จุดมุ่งหมายประการแรกไม่ใช่เพื่อให้จิตมันนิ่ง โดยเฉพาะการเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน ปฏิบัติเพื่อให้จิตมันรู้ ไม่ใช่นิ่ง
“รู้” คือ รู้กาย รู้ใจ หรือเจาะจงลงไปคือรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ การที่จิตนิ่งก็มีประโยชน์ แต่ว่าจิตเราจะนิ่งจะสงบอย่างเดียวไม่พอ จิตเราต้องมีความสามารถในการรู้ทันได้ไว เหมือนกับคนเราเวลาจะหลับก็ควรจะหลับให้ไว หลับได้ลึก หลับได้นาน แต่ถึงเวลาตื่นก็กระฉับกระเฉง สามารถทำอะไรได้คล่องแคล่ว ไม่ใช่เซื่องซึม
การที่จิตนิ่ง จิตสงบเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าจิตก็ต้องมีความสามารถในการรู้หรือระลึกได้ไว แล้วที่เรามาฝึกกัน เพื่อมาฝึกตรงนี้เพื่อให้จิตระลึกรู้ได้ไว รู้เนื้อรู้ตัวได้ต่อเนื่อง
“รู้” นี่สำคัญ อย่ามองข้าม พอไปตั้งจิตหรือทำความเข้าใจว่าปฏิบัติเพื่อให้จิตนิ่ง พอจิตไม่นิ่งก็เลยเป็นทุกข์ ที่จริงการที่มีความคิดฟุ้ง เป็นของดี เพราะเป็นเครื่องฝึกสติให้ทำงานได้ไว เราจะรู้ทันความคิดก็ต่อเมื่อมีความฟุ้งเกิดขึ้น เราจะรู้ทันอารมณ์ได้ไวก็ต่อเมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น เป็นเครื่องฝึก เป็นการบ้าน
เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติแล้วจิตมันคิด ไม่นิ่ง อย่าไปวิตกกังวล ถือว่าเป็นสิ่งที่จะมาฝึกให้มีสติรู้ทันได้ไว รู้ทันได้เร็ว แล้วถ้าจิตมีสติรู้กายรู้ใจ รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ได้ไว แล้วความนิ่งจะตามมาทีหลัง แต่ใหม่ๆ อย่าเพิ่งหวังความนิ่งเป็นเบื้องต้น
เราฝึกเพื่อให้จิตรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ เมื่อรู้ด้วยสติจะละจะวางความคิดและอารมณ์ จิตก็จะสงบ จิตจะมีสมาธิกับสิ่งที่เราทำอยู่
การปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน หรือที่อาตมาพาทำ จะไม่เน้นบังคับจิตให้นิ่ง ดังนั้นจึงมีการเปิดตา ไม่ได้ปิดตา และไม่มีคำบริกรรม ไม่มีการพากย์ว่าหนึ่งสอง ไม่มีคำบริกรรมใดๆ เพราะว่าคำบริกรรมมีไว้เพื่อผูกจิตไว้กับกาย ผูกไว้เพื่อให้จิตนิ่ง แต่การปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน หรือที่จริงเป็นการเจริญสติ โดยหลักการทั่วๆ ไป เขาไม่บังคับจิต ให้จิตเป็นอิสระ จิตมันจะเผลอคิดฟุ้งไป ก็เป็นเรื่องของมัน หน้าที่ของเราหรือจุดมุ่งหมายของการฝึกคือ “ให้รู้ทัน” รู้ว่าใจเผลอไปแล้ว รวมทั้งระลึกรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้ เช่น กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังยกมือ กำลังกินข้าว กำลังอาบน้ำ พอระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน มันกลับมาเลย แล้วความคิดทั้งปวงจะถูกละถูกวาง
เพราะฉะนั้นอย่าไปห่วง อย่าไปวิตกว่าใจมันฟุ้ง ใจมันคิดโน้นคิดนี่ อันนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าให้ระลึกรู้ได้ไวและกลับมาที่กายไวๆ หรือกลับมาอยู่กับสิ่งที่เรากำลังทำได้เร็วๆ พูดอีกอย่างหนึ่งคือว่า “ไปไม่ว่า ให้กลับมาไวๆ”
การปฏิบัติบางอย่างจะเน้นไม่ให้จิตไป ให้จิตอยู่นิ่งๆ อยู่กับกาย อยู่กับลมหายใจ แต่การปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนไม่เน้นตรงนั้น อนุญาตให้จิตไปได้ แต่ข้อสำคัญคือให้กลับมาไวๆ กลับมาไวๆ เพราะว่ามีสติระลึกรู้ได้ไว ใหม่ๆ กลับมาช้า เพราะสติยังทำงานช้า แต่พอเราใช้สติบ่อยๆ สติจะว่องไว ทำงานได้เร็ว และจะพาจิตที่หลงไปในโลกของความคิดและหลุมอารมณ์กลับมาสู่กาย กลับมาสู่สิ่งที่กำลังทำ กลับมาสู่ปัจจุบัน และถ้าจิตอยู่ตรงนั้นต่อเนื่องนานๆ จะเกิดความสงบ เป็นสมาธิ
เพราะฉะนั้นจำไว้ว่า “ไปไม่ว่า ให้กลับมาไวๆ” เพราะฉะนั้นการที่จิตมันไป ไหลไปอดีต ลอยไปอนาคต ไม่เป็นไร ธรรมดา แต่ว่าเมื่อไปแล้ว ขอให้รู้ได้ไวๆ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติที่แนะนำจะไม่เน้นหรือจะไม่แนะให้มีการเพ่งหรือมีการบังคับจิต บังคับจิตให้อยู่กับกายหรือบังคับจิตไม่ให้คิด ห้ามจิตไม่ให้คิด อันนี้ไม่มีเลย ขณะเดียวกันก็จะไม่ปล่อยให้ใจมันเผลอ
ปัญหาที่เป็นความสุดโต่งของคน ส่วนใหญ่มีอยู่สองอย่างคือเผลอกับเพ่ง ตอนไม่ปฏิบัติก็เผลอ ใจลอย ฝันกลางวัน ตะพึดตะพือ แต่พอมาปฏิบัตินี่จะเหวี่ยงไปอีกทางคือทางสุดโต่ง คือเพ่ง ถ้าเพ่งนานๆ จิตมันไม่ยอม มันจะสู้ จะขัดขืน มันจะมีอาการพยศ แล้วหลายคนจะพบว่าปวดหัว แน่นหน้าอก หายใจไม่คล่อง เวลาปฏิบัติไปนานๆ เกิดปวดหัว แน่นหน้าอก รู้สึกเครียด รู้สึกตึง ให้รู้ไว้เป็นเพราะวางใจผิด ไปเพ่ง ไปบังคับมัน อย่าบังคับจิต เราพยายามฝึกให้กายเป็นบ้านของจิต จิตของเราที่ผ่านมาไม่มีบ้าน เหมือนคนจรจัด ตุหรัดตุเหร่ บางทีก็กระเซอะกระเซิง เหนื่อยล้า แต่ถ้าเราหาบ้านให้กับจิต จิตมีที่พัก จิตก็จะอบอุ่น
ที่พักของจิตคือกาย ทำกายให้เป็นบ้านของใจ แล้วถ้าใจรู้สึกว่ากายเป็นบ้านของใจ ใจก็อยากกลับมาบ้าน อยากกลับมาเอง แต่ถ้าเราบังคับจิตให้มาอยู่กับกาย กายจะกลายเป็นคุกของใจ และคนเราพอเวลาติดคุกแล้วอยากจะแหกคุก ถ้าเราบังคับจิตให้มาอยู่กับกาย จิตจะไม่รู้สึกว่ากายคือบ้าน จิตจะรู้สึกว่ากายคือคุก เพราะฉะนั้นจะหาทางออก หาทางไหล หาทางฟุ้ง หาทางออกจากกาย ไปคิดโน้นคิดนี่ ไปหลงวนอยู่ในโลกแห่งความคิด พลัดตกอยู่ในหลุมอารมณ์ ทำกายให้เป็นบ้านของใจ โดยการที่ใจมีอิสรเสรีที่จะมาจะไป เหมือนกับเราเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ถ้าลูกเขารู้สึกว่าบ้านคือบ้านจริงๆ เขาก็อยากจะกลับมา แต่ถ้าเขาคิดว่าบ้านคือคุก เพราะว่าถูกจำกัดเสรีภาพ ถูกบังคับนั่นบังคับนี่ เขาจะรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่บ้าน มันคือคุก เพราะฉะนั้นเขาจะหาทางแหกจากคุก ออกจากคุกคือไม่อยากกลับบ้าน กว่าจะกลับบ้านก็ดึก พอสว่างหรือยังไม่ทันสว่างก็รีบออก หาเหตุหาผลหาข้ออ้าง เพื่อที่จะได้ไม่กลับบ้าน เพราะเขารู้สึกว่าบ้านเป็นคุก เพราะเขาไม่มีอิสระ ไม่มีเสรี
เพราะฉะนั้นเราทำกายให้เป็นบ้านของใจ คือให้อิสรเสรีที่ใจจะอยู่หรือจะไป แต่ถ้าไป เราก็ชวนให้เขากลับมา เหมือนกับเลี้ยงลูกหมา เรามีลูกหมาตัวเล็กๆ อยู่ตัวหนึ่ง อยากให้มันอยู่บ้าน ไม่อยากให้มันออกไปข้างนอก เพราะกลัวถูกรถทับบ้าง กลัวคนลักขโมยไปบ้าง แต่มันก็ชอบวิ่งออกไปเล่นนอกบ้าน เราจะทำยังไงให้มันอยู่บ้าน วิธีหนึ่งที่ทำกันง่ายได้ผลเร็ว แต่ว่าไม่ยั่งยืน คือล่ามมันเอาไว้ ขังมันเอาไว้ ถ้าล่ามมันเอาไว้ ขังมันเอาไว้ มันอยู่บ้านก็จริง แต่มันจะเป็นหมาที่ดุ และถ้าหากว่าโซ่ขาด โซ่หลุด มันก็จะวิ่งหนีออกจากบ้านไปเลย กว่าจะกลับมาก็นาน มีวิธีหนึ่งที่เราทำได้ และน่าทำคือว่า ไม่ต้องล่ามมัน ไม่ต้องขังมัน ให้มันอยู่บ้าน แต่คอยดูมัน เวลามันวิ่งออกไปนอกบ้าน ก็เรียกมัน ใหม่ๆ เรียกเท่าไรก็ไม่ค่อยกลับ หรือว่าวิ่งไปไกลแล้วถึงจะกลับ ต้องเรียกหลายครั้ง ต่อไปถ้าเราเรียกบ่อยๆ มันจะกลับมาไวขึ้นๆ และนานเข้ามันจะรู้ว่านี่คือบ้านของมัน เวลามันเผลอ ก้าวออกจากบ้านไม่กี่ก้าว มันก็รู้ตัวแล้วจะกลับมาเอง หรือเวลามันได้ยินหมาเห่ากัน มันอยากจะไปดู วิ่งออกไปนอกบ้าน ดูว่าเกิดอะไรขึ้น แต่แล้วมันก็นึกขึ้นมาได้ว่าสิ่งที่มันควรอยู่ก็คือบ้าน มันก็จะกลับมาเอง มันกลับมาเองเพราะมันเชื่องแล้ว
จิตก็เหมือนกัน ถ้าเราฝึกให้รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์บ่อยๆ มันจะไม่ไหลไปตามความคิด ไม่ไหลไปตามอารมณ์ มันจะหลุดจากอารมณ์ มันจะผละความคิดและกลับมาสู่กาย สู่ปัจจุบันได้เร็ว และสิ่งที่ตามมาคือความนิ่ง ความสงบ อันนี้เรียกสงบเพราะรู้
สงบเพราะรู้ คือรู้ทันอารมณ์ รวมทั้งเวลามีอะไรมากระทบ มีรูปเห็นภาพกระทบตา เสียงกระทบหู เกิดอารมณ์ขึ้นมา เช่น เสียงดัง เกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจ ก็มีสติรู้ทัน ไม่ปล่อยให้ความไม่พอใจความหงุดหงิดนั้นครอบงำจิตใจ เสียงดังก็ดังไป แต่ใจสงบได้ นี่เรียกสงบเพราะรู้ แต่ถ้าเราไปเน้นที่ความสงบ เพราะว่าให้จิตมันนิ่ง และไม่ได้ฝึกให้จิตรู้ทันความคิดและอารมณ์ มันก็อาจมีปัญหาได้
อย่างมีบางคนไปเข้าคอร์สเจริญสมาธิ 1 วัน ตอนที่ปฏิบัติอยู่ในศาลาก็สงบดี เพราะว่าปิดหน้าต่าง ติดแอร์ อากาศเย็นสบาย ผู้คนก็ต่างเดินต่างนั่งเหมือนกัน ใจก็สงบ พอปิดคอร์ส เขาเดินไปที่รถเพื่อที่จะขับรถกลับบ้าน ไปเจอรถของตัวเองออกไม่ได้เพราะว่ามีรถจอดซ้อน ทั้งข้างหน้าข้างหลังมีรถมาจอด แต่ที่เขาไม่พอใจเพราะรถที่มาจอดซ้อน เขาไม่พอใจมากถึงกับตะโกนด่าเจ้าของรถคันนั้น คนที่อยู่ในเหตุการณ์ตกใจว่าทำไมเพิ่งฝึกสมาธิมาหยกๆ ทำไมถึงมีอารมณ์ขนาดนี้ ทำไมถึงพูดจาหยาบคายขนาดนั้น นั่นเป็นเพราะว่าเวลาเขาเห็นรถคันนั้นที่มาจอด เขาไม่พอใจ เกิดความไม่พอใจขึ้นและแทนที่จะรู้ทันความรู้สึกนั้น ก็กลับปล่อยให้ความรู้สึกนั้นครอบงำใจ นี้เรียกว่าไม่ได้เห็นแล้วแต่เข้าไปเป็น พอความโกรธความหงุดหงิดครอบงำใจ ก็บ่งการให้หลุดปากด่าออกไป และเวลาเราทำสมาธิแล้วเกิดความสงบ ถ้าเราไม่ฝึกสติให้รู้ทัน เวลามีอะไรมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้กระทั่งทางใจ ก็จะสงบได้ไม่นาน ก็จะเกิดความโกรธ ความหงุดหงิด ความขุ่นมัวขึ้นมาได้ ความสงบหรือความนิ่งจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเมื่อไม่มีอะไรมากระทบ แต่ถ้าหากว่าเราฝึกจิตให้รู้ทันได้ไวๆ เมื่อมีอะไรมากระทบ ไม่ว่าอารมณ์ข้างนอก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรืออารมณ์ข้างใน คือความคิดและความรู้สึก มันก็ไม่สามารถครอบงำจิตได้ จิตก็ยังสงบเพราะว่ามีสติเห็นมัน ไม่หลงเข้าไปในหลุมอารมณ์ หรือร่องความคิด
เพราะฉะนั้นเราเจริญสติอย่างสม่ำเสมอ ฝึกให้รู้เอาไว้ รู้กาย รู้ใจ รวมทั้งรู้ความรู้สึกปวดเมื่อยที่เกิดขึ้น ความพอใจที่เกิดขึ้น ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นก็รู้ ทำอะไรให้มีสติรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ นี้จึงสรุปได้ง่ายๆ ว่า “รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก” ถ้าเราทำแบบนี้เป็นกิจวัตร ทำได้ทั้งวัน ทำสบายๆ ไม่คิดจะเพ่ง เราจะมีความรู้สึกตัวต่อเนื่อง และมีความสงบตามมา
มีเด็กคนหนึ่งอายุ 10 ขวบ กินก๋วยเตี๋ยว แล้วเล่าว่าเวลากินก๋วยเตี๋ยว ไม่ใช่เห็นก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ข้างหน้าเท่านั้น แต่ยังเห็นร่างกายขยับมือขยับเวลาตักก๋วยเตี๋ยว เห็นปากขยับเวลาเคี้ยวก๋วยเตี๋ยว และเห็นความพอใจในรสชาติ รสอร่อยของก๋วยเตี๋ยว เกิดความยินดีขึ้นมา นี้เรียกว่าเห็นทั้งนอกเห็นทั้งใน เห็นนอกคือเห็นก๋วยเตี๋ยวคือเห็นด้วยตา เห็นกายขยับเวลาตักก๋วยเตี๋ยว เห็นปากขยับเวลาเคี้ยวก๋วยเตี๋ยว อันนี้เรียกว่าเห็นด้วยสติ เห็นกาย รู้กาย และเห็นความพอใจที่เกิดขึ้นเพราะว่าก๋วยเตี๋ยวอร่อย นี้คือรู้ใจ นี้คือสิ่งที่เด็กเล่ามา สิ่งที่เด็กทำคือการเจริญสติ มีสติมีความรู้สึกตัว
อยากเชิญชวนพวกเราได้ลองฝึกสติแบบนี้บ้าง คือ “เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก” ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม ทำได้ทั้งวัน ปฏิบัติได้ทั้งวัน ไม่เกี่ยงสถานที่ ทำได้ทุกเวลา ไม่ว่าเวลากินข้าว เวลาล้างจาน เวลากวาดบ้าน เวลาขับรถ นี่แหละจะช่วยทำให้สติมาอยู่กับเราตลอดเวลา ทำให้เรามีเครื่องรักษาใจ เมื่อสติรักษาใจ เราก็สามารถครองตนได้อย่างเป็นปกติ มีความสุข
เพราะฉะนั้นเช้านี้อยากจะฝากการบ้าน เวลาเรากินอาหาร ไม่ว่าจะมื้อใดมื้อหนึ่งหรือทั้งสามมื้อเลยก็ตาม ให้ลองกินอย่างมีสติดู มารู้กายขณะที่เคี้ยวอาหาร มีสติอยู่กับการกินอาหาร แต่พอใจเผลอคิดไป คิดนั่นคิดนี่ ก็เผลอไปได้ไม่นาน พาใจกลับมาอยู่กับการกิน โดยเฉพาะเวลากินมันจะคิดโน้นคิดนี่ วางแผนสารพัด วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ นานา จนลืมตัวไปเลยว่ากำลังกินข้าว เคี้ยวก็ไม่รู้สึก ตักข้าวใส่ปากก็ไม่รู้สึก นี้เรียกว่าไม่รู้สึกตัว เป็นเพราะใจลอย เป็นเพราะขาดสติ แต่ประเดี๋ยวเดียวมันจะรู้ตัว นี้เรียกว่ารู้ตัวเพราะสติ สติจะพาใจกลับมา อยู่กับการเคี้ยว อยู่กับการกิน และเดี๋ยวก็ไปใหม่ ไปๆ มาๆ แบบนั้นไม่เป็นไร เพราะถือว่าเป็นการฝึก อย่างที่บอกคือ “ไปไม่ว่า ให้กลับมาไวๆ”
เช้านี้ อาตมาแนะนำการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แล้วมาพบกันอีกครั้งเวลา 17.00 น.