พบกันอีกครั้ง เป็นวันที่ 5 ของการปลุกสติออนไลน์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการออนไลน์ครั้งนี้ คงจะเห็นแล้วว่าสติมีความสำคัญ เป็นเครื่องรักษาใจไม่ให้อารมณ์อกุศลหรือความทุกข์เข้ามาครอบงำย่ำยีบีฑาจิตใจ และยังช่วยทำให้เราทำกิจทำการงานต่างๆ ได้ด้วยดี ราบรื่น ปลอดภัย เพราะมีสมาธิ
พระพุทธเจ้าเปรียบ “สติ” เหมือนกับยามที่เฝ้าประตูเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้โจรผู้ร้ายหรือว่าจรชนลักลอบเข้าไปในเมืองเพื่อสร้างความปั่นป่วน หรือว่าก่อความวุ่นวาย เมืองที่ว่านี้ ก็คือจิตนั่นเอง ท่านเรียกชื่อเมืองนี้ว่า “จิตตนคร” ถ้าเรามีสติรักษาใจก็จะปลอดภัยจากความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโศก ความเครียด ความวิตกกังวล
ได้แนะนำวิธีการง่ายๆ ว่าเวลาเราทำอะไร “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น” ตัวอยู่บ้าน ใจก็อยู่บ้าน ตัวอยู่บนรถ ใจก็อยู่บนรถ ตัวอยู่ที่ทำงาน ใจก็อยู่ที่ทำงาน ตัวอยู่กับปัจจุบัน ใจก็อยู่กับปัจจุบัน นี้คือการมีสติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นการเจริญสติในรูปแบบ หรือโดยใช้รูปแบบ นี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าขณะที่ตัวเราอยู่บนอาสนะสร้างจังหวะ ใจก็อยู่ตรงนั้นแหละ ตัวเรากำลังเดินจงกรมอยู่บนลานจงกรม ใจเราก็อยู่ตรงนั้นแหละ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือตัวทำอะไร ใจก็รู้ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ไม่ว่ากิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม แม้กระทั่งอุจจาระ ปัสสาวะ ใจก็รู้ เรียกว่ารู้สึกตัว และไม่ใช่รู้แค่นั้น ต่อไปก็จะไปรู้ทันความคิดและอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากการปรุงแต่ง ถ้าเราไม่รู้ ใจจะไหลไปตามความคิดนั้นหรือไปยึดเอาความคิดและอารมณ์นั้น ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เรียกว่าเข้าไปยึดเข้าไปแบก หรือเข้าไปเป็น เช่น ความโกรธพอเกิดขึ้นแล้วก็เป็นผู้โกรธ ความเศร้าเกิดขึ้นแล้วก็เป็นผู้เศร้า ความเครียดเกิดขึ้นแล้วก็เป็นผู้เครียด แต่ถ้ามีสติจะเห็น จะไม่เข้าไปเป็น ต่างกันมากระหว่าง “เห็น” กับ “ไม่เข้าไปเป็น” อย่างที่ยกตัวอย่างว่า เด็กเขาได้รับลูกประคำจากพระที่นับถือ เด็กก็ร้อง “อู้หู” พระอาจารย์ประสงค์ก็ถามว่า “หนูร้องอู้หู หนูเห็นอะไร” เด็กตอบ “หนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ” เด็กไม่ได้ตอบว่าหนูดีใจ หรือเป็นผู้ดีใจ นี้เรียกว่า “เห็น” เห็นความดีใจ เพราะมีสติ ความเสียใจก็เหมือนกัน พอเกิดขึ้นก็เห็นมัน ไม่ใช่หนูเสียใจ แต่หนูเห็นข้างในมันเสียใจ เห็นเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องทำอะไรกับมัน นี้เรียกว่า “รู้ซื่อๆ”
“รู้ซื่อๆ” คือไม่ผลักไส และไม่ไหลตาม มีความคิดดีๆ เกิดขึ้นก็ไม่ไหลไปกับมัน มีความคิดไม่ดีก็ไม่ผลักไส อันนี้รวมถึงอารมณ์ด้วย ที่จริงอารมณ์ที่ไม่ดี ความคิดที่ไม่ดี เราก็ไหลตามมันเหมือนกัน เราจึงทุกข์ เราจึงอมทุกข์ เราจึงเครียด ยืดเยื้อวิตกเป็นชั่วโมงๆ เป็นวันๆ เพราะเราไหลตาม แม้ใจจะไม่ชอบก็ตาม นี้เป็นเพราะไม่เห็นมัน เห็นแล้วก็ต้องรู้ซื่อๆ คือไม่ผลักไส ไม่ไหลตาม ไม่กดข่มด้วย เช่นความโกรธ บางคนเห็นความโกรธก็ไปกดข่ม อันนี้ความโกรธจะไม่หาย มันจะหลบจะซ่อนแล้วก็คอยผลุบคอยโผล่ในยามเผลอ เหมือนกับวัยรุ่น ยิ่งห้ามก็เหมือนกับยิ่งยุ ยิ่งกดข่มก็ยิ่งผลุบโผล่
เพราะฉะนั้นรู้ว่าโกรธแต่ทำไมยังโกรธอยู่ ก็เพราะเหตุนี้ เหมือนกับมีไฟกองหนึ่ง เราอยากจะดับไฟกองนั้นหรือใช้น้ำสาดเข้าไปในกองไฟ ถ้าน้ำนั้นมีน้ำมันเจืออยู่ ไฟมันก็ไม่ดับ เหมือนกับมีสติเห็นความโกรธ แต่ถ้าสตินั้นไม่ใช่สติบริสุทธิ์ มันมีความรังเกียจ มันมีความรู้สึกลบต่อความโกรธ มันมีความรู้สึกอยากจะกดข่มผลักไสหรือกำจัดความโกรธ ความโกรธก็ไม่หาย เหมือนกับโยนหรือสาดน้ำที่มีน้ำมันเจือปนเข้าไป นี้เรียกว่ารู้ว่ามีความโกรธ แต่ไม่ได้รู้ซื่อๆ มันมีการผลักไส
“รู้ซื่อๆ” คือไม่ต้องทำอะไรกับมัน แค่ดูมันเฉยๆ อย่างที่ตอนที่เด็กบอกว่า “หนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ” พระอาจารย์ประสงค์ก็ถามว่า “แล้วหนูทำอย่างไรกับมัน” เด็กตอบว่า “หนูไม่ได้ทำอะไรกับมันค่ะ หนูแค่ดูมันเฉยๆ ตอนนี้ความดีใจลดลงละ ข้างในเบาลงละ” แค่ดูเฉยๆ หรือรู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ ไม่ไปผลักไส ไม่ไปสู้รบปรบมือกับมัน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ความอิจฉา ความโลภ แค่ดูมัน เห็นมันเฉยๆ
การเห็นมีอานิสงส์ มีอานุภาพ มีเด็กคนหนึ่งกลับไปบ้านหลังจากเลิกเรียน บอกแม่ว่าเห็นของเล่นชิ้นหนึ่งอยากได้มากเลย มันเป็นไมโครโฟน กดแล้วมีเสียงเพลงออกมาเหมือนเธอกำลังร้องเพลง สมัยนั้นโทรศัพท์มือถือยังไม่แพร่หลาย และยังมีราคาแพง ของเล่นเด็กก็มีเท่านี้ แม่ถามว่าราคาเท่าไร เด็กตอบว่า “400 บาท” สำหรับบ้านนี้ 400 บาทถือว่าแพง ปกติแม่ทั่วไปจะทำสองอย่าง ไม่อย่างใดอย่างหนึ่ง คือห้าม หรือไม่ก็ให้ไปเลย แต่ว่าแม่คนนี้ฉลาดบอกว่าถ้าหนูจะซื้อ แม่ก็จะให้ แต่มีข้อแม้สองอย่างคือ หนึ่งแม่จะหักค่าขนมของหนูวันละครึ่งหนึ่งเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ สองทุกเย็นก่อนจะกลับบ้านให้ไปที่ร้านไปดูของเล่นนั้นและให้สังเกตใจของตัวเองไปด้วย เด็กก็รับปากยินดี เด็กก็ทำตามที่รับปากด้วย ทำไปได้สามวัน วันที่สี่มาบอกแม่ว่าหนูไม่เอาแล้ว แม่ก็ถามว่าทำไมไม่เอาของเล่นนั้น เด็กบอกว่าเบื่อแล้ว ไม่อยากได้ เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า
ทำไมความอยากกลายเป็นความเบื่อหรือไม่อยากละ เพราะว่าเด็กได้สังเกตความอยากของตัวตามที่แม่แนะนำ ความอยากพอเกิดขึ้นแล้วมีสติไปรู้มัน ไปเห็นมันบ่อยๆ มันจะคลายไปเอง นี้เป็นเพราะว่าเห็นมัน เป็นเพราะรู้ รู้ซื่อๆ มันจึงคลายไป แต่ถ้าไปกดข่มมัน มันจะไม่ยอมแพ้ ความอยากหรืออารมณ์อกุศลมันจะสู้ จะผลุบจะโผล่ และยิ่งรู้สึกรำคาญมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เสียงดังพอมากระทบหู เราไม่ชอบ สังเกตไหม ยิ่งไม่ชอบ ใจยิ่งจดจ่อ มันไม่รู้ซื่อๆ ใจจะเข้าไปจดจ่อไปแบกไปยึด และยิ่งทุกข์ก็ยิ่งผลักไส ยิ่งผลักไสก็ยิ่งจดจ่อยิ่งแบกยิ่งยึดและยิ่งทุกข์ มันจะเวียนไปแบบนี้แหละ ผลักไส ยึดติดและเป็นทุกข์ เหมือนกับสัตว์เวลาที่ขาไปติดบ่วง มันจะสลัดให้หลุดจากบ่วง ยิ่งสลัดเท่าไร ยิ่งถูกบ่วงรัดแน่น ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น ยิ่งผลักไส ยิ่งยึดติด เช่นเดียวกับมือเรา ถ้ามือเราไปถูกของเหม็น เช่น ขี้หมา หรือน้ำปลา หรือปลาร้า ซึ่งบางคนไม่ชอบ พอเหม็นแล้วทำอย่างไร จะล้างนิ้วล้างมือ ล้างเสร็จแล้วก็เอามาดม ถ้ายังเหม็นอยู่ ก็จะล้าง เช็ด แล้วก็มาดม ยิ่งเหม็นยิ่งดม นี่เรียกว่ายิ่งผลักไส ยิ่งยึดติด และยิ่งเป็นทุกข์ แต่ถ้าหากว่าเราลองวางใจเป็นกลางดู หรือว่าแค่รู้ซื่อๆ ใจไม่เป็นลบกับมัน เสียงนั้นก็จะไม่สร้างปัญหาให้กับเรา อย่างผู้ชายคนหนึ่งนั่งสมาธิทุกวัน และนั่งได้ดี เป็นการนั่งเจริญสติ เช้าวันหนึ่งนั่งไปได้สักพัก กำลังสงบ ก็มีเสียงค้อนดังขึ้นมา ตึกข้างๆ กำลังก่อสร้าง ทีแรกก็เสียงค้อน ต่อมาก็เสียงเลื่อยยนต์ เสียงเลื่อยยนต์ระคายโสตประสาทมาก พอกระทบหูเข้า ใจเขากระเพื่อมเลย แต่เขามีสติรู้ทันเห็นใจที่กระเพื่อม ใจก็สงบลง แต่สักพักก็กระเพื่อมขึ้นมาใหม่ พอมีสติรู้ก็สงบ เป็นแบบนี้สักพัก เขาก็เลยเปลี่ยนเอาจิตไปพิจารณาที่เสียงเลื่อยยนต์ ก็พบว่าบางครั้งเสียงก็เบา บางครั้งเสียงก็ดัง บางครั้งเสียงก็สูง บางครั้งเสียงก็ต่ำ บางครั้งเสียงก็ลากยาว บางครั้งเสียงก็กระชากกระชั้น ฟังไปๆ ก็เหมือนเสียงเพลง เพลง Heavy ทันทีที่ใจเขามองว่าเป็นเสียงเพลง ใจเขาสงบเลย แล้วก็เพลินกับเสียงนั้น ที่สงบเพราะใจยอมรับว่าเป็นเสียงเพลง พอใจยอมรับก็ไม่ผลักไส ความสงบเกิดขึ้นกับใจ จิตไม่ดิ้น มีช่วงหนึ่งเสียงมันหายไป เขายังอยากให้เสียงมันกลับมา แปลกนะ ทีแรกไม่ชอบเสียงนั้น เป็นทุกข์กับเสียง แต่ทีนี้พอเสียงหายก็อยากให้เสียงกลับมา เสียงก็เสียงเดิมแต่ทำไมความรู้สึกเปลี่ยนไป เพราะท่าทีหรือมุมมองเปลี่ยนไป ทีแรกมองว่าเป็นเสียงรบกวน แต่ตอนหลังมองว่าเป็นเสียงเพลง พอมองว่าเป็นเสียงเพลง ใจมันยอมรับ ใจไม่ผลักไส นี้เห็นได้ชัดเลยว่าความทุกข์ใจไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าทางตา ทางหู หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ แต่เกิดจากการที่ใจเราผลักไส
ความฟุ้งซ่านก็เหมือนกัน ไม่ได้เป็นปัญหา ไม่ได้สร้างความทุกข์ให้กับเรา แต่เป็นเพราะเราไม่ชอบมัน เราไม่ชอบความฟุ้งซ่าน เรามีความรู้สึกลบกับความฟุ้งซ่าน เพราะเราอยากให้จิตสงบ พออยากให้จิตสงบ ความฟุ้งซ่านก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ รู้สึกลบ จึงพยายามผลักไสมัน จิตที่ผลักไส หรืออาการที่ผลักไสทำให้เกิดทุกข์
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรารู้ซื่อๆ คือวางใจเป็นกลางกับเสียง มันจะดังก็ดังไป แต่ใจเราเฉยๆ กับมัน หรือพอมีอารมณ์เกิดขึ้น ความหงุดหงิด ความไม่พอใจก็รู้ทันมัน เป็นกลางกับความรู้สึกนั้น เกิดขึ้นก็เกิดไป ฉันไม่สน ฉันไม่ข้องเกี่ยว มันก็ไม่เกิดความทุกข์ ความฟุ้งซ่านก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป นี่เรียกว่าอานุภาพของการรู้ซื่อๆ ซึ่งถ้าเราลองนำท่าทีนี้ไปใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน มันจะมีอะไรมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก มีการกระทำคำพูดของคนรอบตัวที่อาจจะไม่ถูกใจ แต่ถ้าใจเราผลักไสมัน ใจเราก็เป็นทุกข์ หรือว่าพอเป็นทุกข์ เกิดความโกรธ ความเกลียด ความหงุดหงิด ความระอา แล้วใจไปผลักไสอารมณ์นั้น มันก็เป็นทุกข์
เราอาจจะไม่มีสติไวพอที่จะรักษาใจให้เป็นปกติได้เวลามีเสียงมากระทบหู เกิดอารมณ์ขึ้นมา เวลามีใครพูดหรือทำอะไรไม่ถูกใจขึ้นมา เกิดอารมณ์ขึ้นมาในใจ เราห้ามอารมณ์นั้นไม่ทัน แต่ว่าเรายังมีโอกาสที่จะรู้ทันอารมณ์นั้น รู้ซื่อๆ กับมัน ไม่ผลักไสมัน มันก็จะดับไป เหมือนกับเด็กที่บอกพระอาจารย์ประสงค์ว่าหนูก็แค่ดูมันเฉยๆ ตอนนี้ข้างในมันเบาลงแล้ว นี้เป็นการฝึกสติที่เราใช้ได้กับชีวิตประจำวัน รวมทั้งพึงใช้เวลาเราปฏิบัติในรูปแบบด้วย
อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งมวลที่พูดมาเรียกว่าเป็น “การทำจิต” แต่อย่าลืมว่าเราต้องทำอีกอย่างหนึ่งควบคู่ไปด้วยคือ “การทำกิจ” เช่น เวลาเจ็บป่วยขึ้นมา ใจเราไม่ทุกข์ เวลามีความเจ็บความปวด ใจเราเป็นกลางกับมัน เห็นความปวด ไม่เป็นผู้ปวด ไม่ไปยึดความปวด ไม่ไปจดจ่อกับความปวด ใจเราไม่ได้ปวดไปกับร่างกาย แต่เท่านั้นไม่พอ ต้องเยียวยารักษาตัวเองด้วย อันนี้เรียกว่า “ทำกิจ”
หลังคาบ้านรั่ว ท่อน้ำแตก เราไม่บ่นไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย เรารู้สึกเป็นกลางกับมัน รู้ซื่อๆ แต่ก็ต้องซ่อมด้วย ซ่อมบ้าน ซ่อมหลังคา ซ่อมท่อ
เพื่อนพูดไม่ดีกับเรา เราไม่โกรธ เรารู้จักทำใจ แต่จำเป็นต้องพูดคุยกับเขาเพื่อปรับท่าที ปรับความเข้าใจ หรือว่าเพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ถูก นี้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเหมือนกัน เรียกว่า “ทำจิต” และ “ทำกิจ”
“ทำจิต” รักษาใจของเราไม่ให้ทุกข์
“ทำกิจ” เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้มันเกิดขึ้น
ทำจิตอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องทำกิจ แต่ถ้าทำกิจแล้วไม่ทำจิต มันก็เครียด มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ซึ่งอาจจะทำให้ทำกิจนั้นได้ไม่ตลอด เพราะท้อแท้หรือเบื่อหน่ายซะก่อน
การทำกิจก็ต้องอาศัยสติเหมือนกัน สติช่วยทำให้จิตอยู่กับงานนั้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสมาธิ ทำให้การทำกิจนั้นไม่พลั้งเผลอ พลั้งพลาด ไม่เกิดปัญหา เช่น ขับรถอย่างมีสติ ทำให้ถึงที่หมายได้ปลอดภัย ทำงานทำการประชุมปรึกษาหารือ ถ้ามีสติ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่หุนหันพลันแล่น การประชุมนั้นก็ราบรื่นด้วยดี
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเป็นการทำจิต หรือทำกิจ สติจะเป็นองค์ประกอบหรือคุณธรรมที่สำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะในการทำงาน แต่รวมถึงการดำเนินชีวิตด้วย
เพราะฉะนั้นอยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านได้หันมาเจริญสติและใช้สติในการดำเนินชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา จนถึงเข้านอน ไม่ว่าทำอะไร ก็ทำด้วยสติ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น หรือพูดอีกอย่างคือ เห็นกายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก เวลาทำอะไรก็เห็นกายเคลื่อนไหว เวลาเจออะไร ก็เห็นใจคิดนึก เจออะไรหมายความว่าได้เห็นได้ยิน หรือมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับตัว กับคนรอบตัว มีอารมณ์เกิดขึ้น ก็เห็นอารมณ์และความคิดนั้น
รู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ เห็นใจคิดนึกเมื่อเจอผัสสะหรือเจอนั่นเจอนี่ นี่ก็เป็นข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติเพื่อการเจริญสติ ให้ชีวิตเราเกิดความสงบเย็น
การบรรยายเช้าวันนี้เป็นการบรรยายครั้งสุดท้ายของการปลุกสติออนไลน์สำหรับบุคคลทั่วไป ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้ติดตาม และนำเอาคำแนะนำของอาตมาไปปฏิบัติ แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้เห็นผล หรือเห็นผลช้า ก็ไม่เป็นไร อย่าท้อถอย อย่างที่อาตมาได้กล่าวไว้คือเอาปริมาณไว้ก่อน คุณภาพเป็นเรื่องตามมาทีหลัง ใจจะนิ่งหรือสงบหรือไม่ ไม่เป็นไร ขอให้รู้ก่อน รู้ว่าไม่สงบ ก็ดีกว่าสงบแล้วไม่รู้ ใจจะฟุ้งก็รู้ แค่รู้ รู้ รู้ รู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ ก็ช่วยได้เยอะ
ขอให้ความเพียร ความอุตสาหะ และฉันทะของทุกท่านได้ส่งผลให้ทุกท่านได้มีสติงอกงาม มีคุณธรรม สามารถนำพาความสุขมาให้กับจิตใจและชีวิต ให้มีสติรักษาใจ ให้มีปัญญานำพาชีวิตออกจากความทุกข์ ให้ได้เข้าถึงความสุขเกษมศานต์ สำหรับชาวพุทธแล้ว นิพพานคือจุดหมายสูงสุด ขอให้ทุกท่านได้เข้าถึงอุดมคตินั้นด้วย ในที่สุดด้วยอำนาจของสติและปัญญาอันเกิดจากความเพียรของทุกท่าน ขอเจริญพร