ปลุกสติออนไลน์ รุ่น 5: ถอดเทปปัจฉิมนิเทศ 20 ต.ค. 2563

เครือข่ายพุทธิกา 4 ธันวาคม 2020

ถอดเทปปัจฉิมนิเทศ

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2563

ปลุกสติออนไลน์ รุ่น 5


พบกันอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของการปลุกสติออนไลน์ ที่ผ่านมาอาตมาก็ได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการเจริญสติ

จุดหมายสำคัญคือให้เรากลับมาดูตัวเอง มีคนเปรียบชีวิตของคนเราเหมือนกับลูกธนู  ลูกธนูจะพุ่งไปข้างหน้าได้ไกล เร็ว และแรงแค่ไหน อยู่ที่ว่าเราน้าวลูกธนูกลับเข้ามาหาตัวหรือเปล่า ยิ่งเราน้าวลูกธนูเข้ามาหาตัวมากเท่าไร ลูกธนูก็จะพุ่งออกไปแรงและไกลเท่านั้น

คนเราจะก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องถอยกลับมาที่ตัวเอง กลับมารู้จักจิตใจ หรือเห็นจิตเห็นใจของตัวเอง ทำนองเดียวกัน ต้นไม้จะสูงใหญ่หรือพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่ามันมีรากที่หยั่งลึกหรือเปล่า

ต้นไม้ถ้าสูง แม้จะแทงยอดสูงแค่ไหน แต่ถ้าหากว่ารากมันตื้น มันก็โค่นหรือล้มได้ง่าย  บางทีเจอพายุที่ไม่ได้แรงเท่าไรก็โค่นลงมาแล้ว เพราะรากมันตื้น

คนที่มีอาชีพการงานหรือความรับผิดชอบสูง มีภาระหน้าที่มาก ยิ่งจำเป็นต้องมีด้านในที่ลึก อยู่ในตำแหน่งที่สูง แต่ชีวิตด้านในตื้น จิตใจไม่หยั่งลึก ก็จะทุกข์ได้ง่าย หรือเสียศูนย์ได้ง่าย เหมือนกับต้นไม้ที่รากตื้น ยิ่งสูงเท่าไรก็ยิ่งโดนลมพายุพัดกระหน่ำจนโค่นล้มลงมาได้ง่าย

ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน เราจะพุ่งไปข้างหน้าได้ เราต้องย้อนกลับมาที่ตัวเรา ที่จิตที่ใจของเรา  เรามีความรับผิดชอบสูงแค่ไหน ยิ่งจำเป็นต้องมีฐานใจที่หยั่งลึก และสิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้เราย้อนกลับมาที่ตัวเองได้ดี มีฐานใจที่ลึก สิ่งนั้นก็คือ “สติ”

“สติ” ไม่เพียงช่วยทำให้ชีวิตเราเจริญก้าวหน้าไปได้ และก้าวข้ามอุปสรรคทั้งหลายด้วยดีเท่านั้น แต่สติยังมีคุณค่าในทางธรรม ช่วยทำให้จิตใจไกลจากทุกข์ หรือไกลจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามหลวงปู่ดู่ ถามว่า “หลวงปู่ครับขอธรรมะสั้นๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อทำให้โลภโกรธหลงหมดไปจากใจจะทำอย่างไรครับ” หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ท่านตอบสั้นๆ เสียงดังว่า “สติ”

“สติ” สามารถรื้อถอนโลภ โกรธ หลง หรือกิเลสให้ออกไปจากใจได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ย้ำว่าการเจริญสติเป็นทางเอก หรือครูบาอาจารย์บางท่านก็เรียกว่าเป็นหัวใจกรรมฐานแบบพุทธ

สติเหมือนตาใน คนเรามีตาเนื้อที่ทำให้เห็นว่าข้างหน้ามีอันตรายอะไรไหม ถ้าตาเราดีก็พาตัวเราห่างไกลจากอันตราย ไม่ว่าจะเป็นหุบเหว งูเงี้ยวเขี้ยวขอ สัตว์ร้าย รถรา รวมทั้งเครื่องไฟฟ้าที่อันตราย แต่อันตรายไม่ได้มีเฉพาะสิ่งที่อยู่ข้างนอก ทางพุทธศาสนาเรียกว่าอันตรายที่ปรากฏหรืออันตรายที่เปิดเผย ยังมีอันตรายอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าอันตรายที่ปกปิด คือความโศก ความเศร้า ความอิจฉา ความโลภ ความเครียด ความวิตกกังวล ความถือตัว ความมักใหญ่ใฝ่สูง หรือพูดง่ายๆ คือ กิเลส  อารมณ์อกุศล เหล่านี้เป็นอันตรายที่สามารถบั่นทอนร่างกายและทำร้ายจิตใจเรา

สมัยนี้ อันตรายที่ปรากฏหรืออันตรายที่เปิดเผยมีน้อยลง เรามีสวัสดิภาพดีขึ้น มีชีวิตที่ปลอดภัยมากขึ้น แต่กลับถูกอันตรายที่ปกปิดเล่นงานจนย่ำแย่ แต่ถ้าเรามีตาในคือสติ จะช่วยรักษาใจไม่ให้ความทุกข์หรืออารมณ์อกุศลเหล่านี้เข้ามาบีบคั้น ย่ำยี เสียดแทง หรือเผาลนจิตใจได้

สติทำให้รู้ทันความคิดและอารมณ์ทั้งบวกและลบ ทั้งกุศลและอกุศล

เดี๋ยวนี้คนทุกข์เพราะความคิด แม้จะมีชีวิตที่สะดวกสบาย แต่ก็มีความทุกข์ มีความเครียด เพราะว่าความคิด คิดลบ คิดร้าย ใจที่ชอบไหลไปอดีต ลอยไปอนาคต ไปยึดติดกับเหตุร้ายในอดีตที่ผ่านไปแล้ว แต่ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง หรือไปปักไปจมไปพะวงอยู่กับภาพอนาคตที่สร้างไว้ในทางเลวร้าย หรือบางทีสิ่งที่อยู่รอบตัวเราก็มองไปในทางลบทางร้ายได้เหมือนกัน ระแวงผู้คน เสียงใดที่ไม่ชอบก็ไปยึดไปจดจ่อที่เสียงนั้น การกระทำคำพูดของใครที่ไม่ชอบ ใจก็ไปยึดตรงนั้น ไปจดจ่อตรงนั้น ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง เพราะว่าขาดสติ แต่ถ้าเรามีสติ ใจจะเห็นอันตรายหรือเห็นอารมณ์อกุศลเหล่านั้น เมื่อเห็นแล้วก็ไม่เข้าไปเป็น คือไม่เข้าไปยึดไม่เข้าไปแบก

หลวงพ่อคำเขียนซึ่งเป็นหลวงพ่อของอาตมา ท่านพูดอยู่เสมอ “เห็น อย่าเข้าไปเป็น”

มีนักปฏิบัติคนหนึ่งมาปฏิบัติได้ไม่กี่วัน หลวงพ่อท่านก็ไปสอบอารมณ์ถามว่า “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง”

นักปฏิบัติคนนั้นบอกว่า “ไม่ดีเลยวันนี้ แย่จังเลย หนูเครียดจังเลยหลวงพ่อ ทำอย่างไรดี” หลวงพ่อท่านไม่ตอบ แต่ถามใหม่ว่า “ยังตอบไม่ถูก ให้ถามใหม่”

นักปฏิบัติคนนั้นคิดสักพัก ระลึกนึกถึงคำสอนของหลวงพ่อ แล้วก็ตอบว่า “หนูเห็นมันเครียด หนูเห็นความเครียด มันเยอะเหลือเกิน”

หลวงพ่อบอกว่า “ถูกแล้ว” ถ้าเราเจริญสติ เราต้องเห็น ไม่ใช่เข้าไปเป็น

“หนูเครียด” แสดงว่าหนูเป็นผู้เครียด  แต่ถ้า “หนูเห็นความเครียด” แสดงว่ามีสติเห็นมัน เหมือนกับอาตมาเล่าถึงเด็กคนหนึ่งซึ่งเขาบอกว่า “หนูเห็นข้างในมันดีใจ” เมื่อหลวงพ่อหรือพระอาจารย์ประสงค์หยิบลูกประคำมาให้ เด็กบอก “หนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ” เด็กไม่ได้ตอบว่า “หนูดีใจ”

“สติ” ทำให้เห็นไม่ใช่แค่ความดีใจ แต่เห็นความเสียใจ ความโศก ความเศร้า เมื่อเห็นแล้วจะวาง ไม่เข้าไปยึด ยึดเมื่อไร มันก็เป็นเมื่อนั้น

ถ้ายึดว่าความโกรธเป็นเรา ความโกรธเป็นของเรา, ความเครียดเป็นเรา ความเครียดเป็นของเรา, ความโศกเป็นเรา ความโศกเป็นของเรา อันนี้เรียกว่าแบกไว้แล้ว หรือว่ายึดเป็นตัวเป็นตน แต่ถ้ามีสติจะเห็น เมื่อเห็นแล้วจะวางจะถอยห่างออกมา

มีความโกรธ แต่ไม่เป็นผู้โกรธ จะไม่ทุกข์เท่าไร เพราะว่าใจถอยห่างออกมา เปรียบเหมือนกับกองไฟที่ไหม้อยู่เป็นกองใหญ่ มันยังไหม้อยู่ก็จริง แต่ถ้าเรายืนห่าง ถอยห่างออกจากกองไฟ ก็จะไม่ค่อยทุกข์เท่าไร ยิ่งถอยห่างเท่าไรก็ยิ่งทุกข์น้อยลง ตรงกันข้ามถ้าเข้าไปอยู่ในกองไฟ แม้จะเป็นกองไฟเล็กๆ ก็ทุกข์ หมายความว่าเมื่อมีความโกรธ แต่ถ้าเราเห็นความโกรธ จะไม่ค่อยทุกข์เท่าไร แต่ที่ทุกข์เพราะเป็นผู้โกรธ

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่โกรธ ไม่ได้หมายความว่าไม่ฟุ้งไม่เครียด ปุถุชนย่อมมีความโกรธ มีความเกลียด มีความเครียด  แต่ถ้าเรามีสติ ไม่เข้าไปเป็น แบบนี้เราทำได้

กองไฟยังมีอยู่ แต่ไม่โดดเข้าไปในกองไฟ แต่ว่าเดินถอยห่างออกมา เห็นมัน

“สติ” เป็นตัวทำให้ถอยห่างออกมาจากความโกรธ และเมื่อถอยห่างออกมาจากความโกรธ ไม่ไปทำอะไรกับมัน เดี๋ยวมันก็ดับไปเอง

โกรธ มีได้ แต่อย่าไปยึด อย่าเข้าไปเป็น

เคยมีคนถามหลวงปู่ดุลย์ อตุโลว่า “หลวงปู่ มีโกรธไหม” เพราะเขาลือกันว่าท่านเป็นพระอรหันต์

หลวงปู่ท่านตอบแบบถ่อมตนว่า “มี แต่ไม่เอา”

ความโกรธ ความเศร้า ความเกลียด ความเครียด ปุถุชนอย่างเราก็ต้องมี รวมทั้งความฟุ้งซ่าน แต่อย่าเข้าไปเอามัน ไปแบกมัน จะทำแบบนั้นได้ ต้องเห็น ไม่หลงเชื่อ ไม่คล้อยตาม หรือไม่ไหลตาม จะทำให้ใจผ่องใส

เห็นความโกรธสักพัก ความโกรธจะเบาบางหายไปเพราะมันไม่มีเชื้อไม่มีฟืนที่จะต่อเติม หรือเปรียบเหมือนก้อนหิน ผู้ชายคนหนึ่งเดินผ่านก้อนหิน เสร็จแล้ววกกลับมาแบกก้อนหิน แล้วก็บอกว่า “หนักๆๆ หนักเหลือเกิน ทุกข์เหลือเกิน” แกพยายามทำทุกอย่างให้ก้อนหินนั้นสลายหายไป เช่น บนบานศาลกล่าวขอให้เทวดาบันดาลให้หินกลายเป็นนุ่น หรือว่าเรียกร้องผู้คนให้มาช่วยแบกหินกับตนจะได้เบาลง หรือให้คนไปเอาค้อนมาตอกมาตีให้หินแตกเป็นก้อนเล็กๆ จะได้เบา เขาคิดวิธีการต่างๆ มากมายเกี่ยวกับหิน แต่สิ่งที่เขาลืมทำคือวางหินนั้นลง

ความทุกข์ของเขาไม่ได้เกิดจากหิน แต่เกิดจากการแบกหิน ฉันใดก็ฉันนั้น ความทุกข์ใจของผู้คนทั้งหลายเกิดจากการแบก ใจมันแบกใจมันยึด ใจไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ไม่ถูก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความคิด หรือว่าสิ่งที่อยู่ภายนอก เช่น เสียง คำพูด การกระทำของผู้คน รวมทั้งดินฟ้าอากาศ หรือการงานต่างๆ ถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันถูก มีปัญหาก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้แบกปัญหา

ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้แบก แต่ส่วนใหญ่ใจเราไปแบกปัญหา และเราไม่รู้จักปล่อยรู้จักวาง เพราะว่าลืมตัว ที่ลืมตัว เพราะขาดสติ แต่ถ้าเรามีสติ เราจะรู้ตัว เราจะเห็นอาการของใจที่ไปแบกไปยึดเอาไว้ และเมื่อรู้ว่าทุกข์ก็จะวาง

มีกิเลสเกิดขึ้น ก็ทำอะไรจิตใจไม่ได้ เพราะว่ามีสติคอยรักษาใจไม่ให้กิเลสนั้นเข้ามาครอบงำ หรือว่าสติช่วยทำให้ใจไม่ไปยึดไม่ไปแบกกิเลสเหล่านั้น ไม่ไปหลงคล้อยตามกิเลสเหล่านั้น

หลวงพ่อชาท่านให้ข้อคิดว่า “การปฏิบัติ ไม่ใช่ให้เราหนีกิเลส หรือให้กิเลสหนีเรา แต่ให้เราอยู่กับกิเลสอย่างมีสติ” เหมือนน้ำกับใบบัวมันอยู่ด้วยกันแต่น้ำก็ซึมเข้าใบบัวไม่ได้ ใจเราถ้ามีสติก็เหมือนกับใบบัวที่น้ำซึมเข้าไม่ได้ น้ำในที่นี้คือกิเลส คือความทุกข์

เพราะฉะนั้น “สติ” ช่วยทำให้ใจสงบ โปร่งเบา ปลอดพ้นจากอันตราย แม้ว่าจะมีสิ่งต่างๆ มากระทบกับตัว มีเสียงดังกระทบหู แต่ไม่กระเทือนถึงใจ แดดร้อนกระทบกาย ใจไม่ร้อน, กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย, งานมีปัญหา แต่ใจไม่มีปัญหา นี้เรียกว่าทำให้ใจสงบ ทำนองเดียวกันเวลามีคามคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน “มี แต่ไม่เอา”  “มี แต่รู้ทัน”

เมื่อกี้พูดว่าทุกข์เพราะความคิด ต้องพูดใหม่ว่า “ทุกข์ เพราะไม่รู้ทันความคิด” คือมีความคิดก็จริง แต่รู้ทันก็ปล่อย รู้ทันก็วาง มันจะฟุ้งซ่านอย่างไรก็ไม่ไหลไปตามมัน

ปัญหาจริงๆ ไม่ได้เกิดจากความฟุ้งซ่าน แต่เกิดจากการที่เราไปยึด หรือไหลไปตามความฟุ้งซ่าน หรือไปผลักไส

ผลักไสก็ไม่ถูก ไหลตามก็ไม่ถูก แค่รู้ทันด้วย “สติ”

“สติ” ตอนที่เราเริ่มปฏิบัติ ทีแรกเริ่มจากการรู้ รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ ต่อไปจะเกิดความนิ่ง เกิดความสงบ

“สติ” ไม่เพียงทำให้ใจสงบ แต่ยังทำให้ใจสว่าง เพราะเมื่อเราเจริญสติไปเรื่อยๆ “สติ” ไม่เพียงทำให้เราเห็นกิเลส เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจหรือที่เข้ามาครอบงำใจ แต่สติยังเป็นตาในที่ทำให้เห็นธรรมชาติของกายและใจ เห็นสัจธรรมของกายและใจ เห็นว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

เวลาเดิน ถ้าเดินอย่างมีสติ จะรู้ว่าเป็นกายที่เดิน ไม่ใช่เราเดิน

เวลายกมือ ถ้ายกมืออย่างมีสติ จะเห็นว่ามันเป็นรูปหรือกายที่ยก ไม่ใช่เรายก มันไม่มีเราหรือกูเป็นผู้เดิน ผู้ยกมือ หรือผู้ทำนั่นทำนี่

ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น สติก็ทำให้เราเห็นว่า ความโกรธไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ผู้โกรธ, ความเครียดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ผู้เครียด เห็นแค่ความเครียดอยู่ในใจ ไม่ใช่เราโกรธ ไม่ใช่เราเครียด ทำให้ความเป็นเรา ความยึดในเรา ความยึดว่าเป็นของเรา ค่อยๆ สลายหายไป

ตรงนี้เป็นเบื้องต้นของการเห็นสัจธรรมว่าจริงๆ กายและใจไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เห็นตั้งแต่ว่ามันไม่เที่ยง เห็นว่ามันก็ทุกข์ ทุกข์ในทีนี้แปลว่ามันเกิดดับ มันไม่ยั่งยืน มันพร้อมที่จะเสื่อมสลายเมื่อเวลาผ่านไป

เห็นว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา คือเห็นอนัตตา

จากเดิมสติเห็นกิเลส เห็นความทุกข์ แล้วไม่ปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำใจ ทำให้ใจเกิดความสงบ ต่อไปสติจะช่วยทำให้เห็นลักษณะธรรมชาติ หรือสัจธรรมความจริงของกายและใจ และอารมณ์อกุศลและกุศลทั้งหลายว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตรงนี้ที่ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เกิดความสว่าง ทำให้คลายความยึดติดถือมั่นในสิ่งต่างๆ และเมื่อวางคลายสิ่งต่างๆ ลง ก็จะเกิดความสงบที่ยั่งยืนที่แท้จริง จากสงบชั่วครั้งชั่วคราวเพราะมีสติ จะกลายเป็นสงบที่ยั่งยืนต่อเนื่อง หรือสงบที่แท้จริง เพราะว่ามีปัญญา

นี่คือเหตุผลที่หลวงปู่ดู่ ท่านตอบว่า “สติ” คือตัวที่ทำให้กิเลสคือโลภ โกรธ หลง หลุดไปจากใจได้ แต่สำหรับคนทั่วไป เพียงแค่มีสติในการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็ทำให้จิตใจโปร่งเบา สงบ เย็น ไม่เครียด

สติจึงเป็นสิ่งที่เหมาะกับผู้ที่เป็นฆราวาส เป็นผู้ที่ใช้ชีวิตในทางโลก รวมทั้งผู้ที่ใฝ่ธรรม ใฝ่ปฏิบัติเพื่อมุ่งความหลุดพ้น

สติ เป็นสิ่งที่เราควรทำตลอดเวลา มันไม่เลือกที่ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกโอกาส

สำหรับปลุกสติออนไลน์ครั้งนี้ จะจบลงในวันนี้ แต่อยากแนะนำให้ทุกท่านได้ปฏิบัติต่อไปทั้งในรูปแบบและการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติในรูปแบบ เปรียบเหมือนเติมน้ำใส่โอ่ง หลายคนเวลาปฏิบัติในรูปแบบ ทำจริงจัง ทำทั้งวันเท่ากับเติมน้ำใส่ในโอ่งได้มาก แต่พอเลิกปฏิบัติ ออกจากทางจงกรม ออกจากคอร์ส ก็ปล่อยตัวปล่อยใจ เหมือนกับน้ำที่อยู่ในโอ่งมันรั่ว มันซึม มันไหลออก เพราะโอ่ง น้ำมันซึมออกได้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นเติมน้ำใส่โอ่งมากแค่ไหน แต่ถ้าปล่อยให้น้ำรั่ว มันก็ไม่มีวันเต็ม เพราะฉะนั้นนอกจากการเติมน้ำใส่โอ่งแล้ว เราต้องคอยรักษาน้ำไม่ให้ไหลออกจากโอ่ง

การปฏิบัติในรูปแบบคือการเติมน้ำใส่โอ่ง ส่วนการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตื่นนอนขึ้นมา เก็บที่นอน อาบน้ำ ถูฟันอย่างมีสติ อย่างมีความรู้สึกตัว เหมือนกับการดูแลโอ่งไม่ให้น้ำซึมไหลออก ถึงแม้จะเติมน้ำน้อย เติมทีละนิดๆ แต่ถ้ารักษาไว้ไม่ให้ซึม รั่ว ไหลออก น้ำก็จะเต็มโอ่งไม่ช้าก็เร็ว

การเจริญสติต้องใช้เวลา เปรียบได้เหมือนกับการเติมน้ำให้เต็มแก้วด้วยกระชอน นี้เป็นคำพูดของท่านอาจารย์โยเนียว อิชิอิ ท่านเป็นอาจารย์ชาวญี่ปุ่นสอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นคนที่มีความรู้ทางภาษา ทั้งภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี ภาษาโบราณ เช่น บาลี สันสกฤต เทวนาครี บางคนบอกท่านเป็นอัจฉริยะ  ท่านบอกว่าเปล่าเลย เป็นเพราะท่านขยัน ขยันเปิดดิกชันนารี ขยันเปิดพจนานุกรม และท่านพูดว่าจะเรียนภาษาต่างประเทศได้ดี เปรียบเหมือนการเติมน้ำให้เต็มแก้วด้วยกระชอน คือต้องขยันเปิดพจนานุกรม ถึงจะจำศัพท์ได้ เห็นศัพท์แล้วนึกได้

การปฏิบัติธรรม การเจริญสติก็เหมือนกัน สติเป็นเรื่องของการระลึกได้เหมือนกัน แต่แทนที่จะเป็นการระลึกได้เกี่ยวกับศัพท์ต่างประเทศ แต่เป็นการระลึกได้เกี่ยวกับตัวเอง ระลึกได้เรื่องกายเรื่องใจ รู้กาย รู้ใจ

เพราะฉะนั้นอย่ารีบร้อน อย่าใจร้อน ค่อยๆ ทำ ถ้าเราหมั่นเติมน้ำใส่แก้วด้วยกระชอน ไม่นานสักวันหนึ่งก็ต้องเต็ม

หลักการการเจริญสติ คือทำอะไรก็ตาม “ให้รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก” ส่วนใหญ่เวลาเราทำอะไรก็ใช้กายทำ เช่น อาบน้ำ ถูฟัน ล้างจาน กวาดบ้าน ขับรถ เราใช้กาย  กายทำอะไร ใจก็รู้ นี้เรียกว่า “เห็นกายเคลื่อนไหว”

แต่บางครั้ง ใจก็คิดนึกไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะเมื่อมีอะไรมากระทบ เมื่อเจอนั่นเจอนี่ เจอเสียงดัง เจอแดดร้อน เห็นข้อความทาง social media มันก็มีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา เกิดอารมณ์ขึ้นมาก็เห็นมัน

“เห็นกายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก” ขยายความ คือเห็นกายเคลื่อนไหว เมื่อทำกิจ รู้ใจคิดนึก เมื่อเจอนั่นเจอนี่

ใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาตื่น จะมีสองอย่าง คือ “ทำ” กับ “เจอ” ทำนั่นทำนี่ กับ เจอนั่นเจอนี่ เจอทางตา เจอทางหู เจอทางจมูก เป็นต้น

ถ้าเราเห็นกายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก ทำสองอย่างนี้เรียกว่าได้ว่าปฏิบัติทั้งวัน ไม่จำเป็นต้องเข้าคอร์สก็ได้

นี้เป็นข้อแนะนำสั้นๆ ที่เป็นบทสรุป ที่จะช่วยทำให้เรามีเครื่องรักษาใจ มีกำแพงป้องกันอันตรายจากภายนอกไม่พอ เพราะกำแพงกันได้จากอันตรายที่เปิดเผยหรืออันตรายที่ปรากฏ แต่ว่าอันตรายที่ปกปิด กำแพงป้องกันไม่ได้ แต่ถ้ามีสติและมีปัญญาด้วย จะเหมือนมีกำแพงป้องกันไม่ให้ความทุกข์หรืออันตรายที่ปกปิดมาทำร้ายจิตใจได้

หวังว่าทุกท่านจะเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของการเจริญสติ และหมั่นปฏิบัติ

หลวงพ่อเทียนเคยแนะนำอาตมา ให้ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ คือทำทั้งวัน

“ทำเล่นๆ” คือทำโดยไม่หวังผล หลงบ้าง รู้บ้าง ไม่เป็นไร ฟุ้งบ้าง ไม่เป็นไร ทำไปเรื่อยๆ ทำเล่นๆ แต่ทำไม่หยุด

หวังว่าทุกท่านจะมีความเพียร มีฉันทะวิริยะในการเจริญสติ ปลุกสติให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และขอให้การเจริญสติของทุกท่านเจริญก้าวหน้า จนมีสติเป็นเครื่องรักษาใจ และมีปัญญาพาใจออกจากความทุกข์ จากอุปสรรค จนกระทั่งเข้าถึงความเกษมศานต์ ให้มีพระนิพพานเป็นที่หมายทุกคน

แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าเมื่อมีการปลุกสติออนไลน์ครั้งต่อไป

ขอเจริญพร และขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมนี้