วรรณกรรมแฮรี พอตเตอร์ นำเสนอเนื้อหาตอนหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่แต่ละคนหวาดกลัว ตัวละครสำคัญต่างมีสิ่งที่กลัวไปคนละอย่าง บางคนกลัวแมงมุม บางคนกลัวพระจันทร์แต่ละดวง สิ่งที่กลัวมักเชื่อมโยงกับปมปัญหาชีวิตที่ผ่านมา สำหรับแฮรี ตัวเอกของเรื่อง สิ่งที่กลัวและมีปฏิกิริยาคือ ผู้คุมวิญญาณ
และแฮรีก็บอกเพิ่มเติมด้วยว่า แท้จริงสิ่งที่กลัวไม่ใช่ผู้คุมวิญญาณโดยตรง แต่ที่กลัวคือ ตัวความกลัวในใจแฮรีที่มีต่อผู้คุมวิญญาณ ดังนั้นตัวปัญหาที่แท้อาจไม่ใช่สิ่งภายนอก แต่คือปฏิกิริยาการรับรู้ภายในของเราต่างหาก และนี่คือวิธีรับมือกับเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต นั่นคือ การโยนใส่
ยามที่เราประสบภาวะคับข้องทางใจ เช่น เพื่อนร่วมงานขโมยผลงานของเรา หัวหน้าปัดความรับผิดชอบ เราถูกกล่าวหาความผิดโดยไม่มีความจริง คนใกล้ตัวเจ็บป่วย ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นและถูกรับรู้ได้สร้างผลกระทบบางอย่างในตัวเรา เบื้องต้นคือ ปฎิกิริยาทางอารมณ์ความรู้สึก พร้อมกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยคือ ปฏิกิริยาลูกโซ่ คืออารมณ์ความรู้สึกชั้นที่ ๒ ที่มีต่ออารมณ์ความรู้สึกเบื้องต้น และสิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ยิ่งหากไม่ได้ใส่ใจสังเกตแยกแยะให้ดี เราก็แทบไม่รู้ตัว เรารับรู้แต่ว่า เราเกิดความรู้สึกต่างๆ มากมายยามประสบเหตุการณ์เหล่านี้
หลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น และเรานิยามว่ามันเป็นสาเหตุของปัญหา เช่น เขาทำให้ฉันไม่พอใจ คนนั้นทำสิ่งที่ฉันไม่ชอบ คนนี้ไม่ทำสิ่งที่ฉันต้องการ ฯลฯ เมื่อใดที่เรามีมุมมองและคำตัดสินเช่นนี้ เมื่อนั้นเรากำลังเชื่อและให้ความหมายว่า เราไม่ต้องทำอะไรกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ เพราะสาเหตุมาจากคนอื่น ซึ่งก็หมายความว่าเราไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา แต่เป็นคนอื่นต่างหากที่ต้องรับผิดชอบเพราะเขาทำหรือไม่ทำในสิ่งที่เราต้องการ
นี่คือยุทธศาสตร์กลไกปกป้องตนเองที่เรียกว่า การโยนใส่ กลไกนี้มีข้อดีคือ ช่วยให้เราไม่ต้องแบกรับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานจากความรู้สึกต่างๆ โดยเฉพาะในเชิงลบ เช่น เสียใจ ผิดหวัง ขมขื่น น้อยใจ แย่ ฯลฯ ความรู้สึกเหล่านี้หนักหน่วงและรุนแรงเกินจะรับไหว กลไกนี้ช่วยเราไม่ให้ต้องเผชิญความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้ ช่วยปกป้องจิตใจไม่ให้ทุกข์ร้อนเกินไป ดังนั้น กลไกนี้ในแง่หนึ่งจึงทำหน้าที่เสมือนเกราะคุ้มกันปกป้องจิตใจ
อย่างไรก็ดี หากว่ากลไกนี้ถูกใช้เป็นประจำกระทั่งกลายเป็นความเคยชิน ผลลัพธ์คือ เราจะใช้กลไกการกล่าวโทษสิ่งรอบตัวจนกลายเป็นพฤติกรรมประจำตัว ตัดโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง จากการปิดโอกาสการสำรวจเรียนรู้และเข้าใจตนเองว่า แท้จริงเราเป็นเจ้าของความรู้สึก และเบื้องหลังความรู้สึก เรามีความต้องการอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ หากเราปฏิเสธไม่รับผิดชอบ ไม่ยอมรับรู้ความรู้สึกนั้นๆ สิ่งที่ตามมาคือ เราจักไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าใจความต้องการของตัวเรา กลไกนี้จึงมีผลกระทบสืบเนื่องทำให้เราไม่เข้าถึง ไม่เข้าใจตัวเราเองไปด้วย
กลไกการโยนใส่ เป็นกลไกจิตวิทยาที่ทำงานโดยอัตโนมัติ กลไกนี้มุ่งพยายามกำจัดสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นสาเหตุความทุกข์ ความเจ็บปวด ผลของความพยายามกลับสร้างผลกระทบที่เลวร้ายมากกว่าได้
เรื่องราวที่สะท้อนประเด็นนี้คือ สมชายเป็นชายหนุ่มอายุร่วม ๓๐ ปี ทำงานเป็นนักบัญชี เรื่องที่อึดอัดและคับข้องใจมากคือ ปริมาณและเนื้องานที่มากมายหนักหนาทำให้สมชายมักต้องกลับดึกเสมอๆ สมชายเหนื่อยล้า เคร่งเครียด กังวลกับความพยายามรีบเร่งเพื่อปิดงานให้เสร็จได้ทันตามเวลาที่กำหนด พร้อมกับความลังเลที่รบกวนจิตใจในการตัดสินใจว่า ลาออกเพื่อเปลี่ยนงานดีมั้ย
มุมมองของสมชายเห็นว่าตัวปัญหาและสาเหตุความทุกข์ คือ ปริมาณงานที่มากเกินรับไหว และอีกสาเหตุคือความไม่ชอบ ไม่สนุก ไม่รักกับงานบัญชี สิ่งที่เป็นเสมือนเส้นผมบังภูเขาคือ สมชายมองไม่ห็นว่าปฏิกิริยาภายในจิตใจของสมชายที่เกิดขึ้น เช่น อาการวิตกกังวล คิดมาก ลังเล เบื่อหน่าย เครียด ปฏิกิริยาเหล่านี้เองแท้จริงเป็นตัวทำร้ายสุขภาพจิตใจ และรบกวนความปกติสุขในชีวิตสมชายมากกว่า สิ่งที่ยากของสมชายคือ มุมมองที่ปักแน่นของสมชายที่ยังยึดถือและกล่าวโทษสิ่งภายนอกว่าเป็นต้นเหตุ ก็ยิ่งทำให้สมชายไม่เข้าใจสาเหตุความทุกข์แท้จริง
กลไกปกป้องตนเอง แง่หนึ่งทำหน้าที่เสมือนเกราะคุ้มกันจิตใจ แต่หากถูกนำมาใช้บ่อยเกินไป ก็อาจทำให้เราเข้าไม่ถึง หรือไม่เข้าใจตัวเอง
แน่นอนว่า หลายเรื่องของความทุกข์ในจิตใจ บางสาเหตุนั้นมาจากเหตุปัจจัยภายนอก และหลายเหตุปัจจัยก็มาจากภายในตัวเรา การแยกแยะสาเหตุส่วนนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเรามุ่งแต่โทษสาเหตุจากสิ่งภายนอกอย่างเดียว หรือโทษสาเหตุจากปัจจัยภายในคือตัวเราเท่านั้น ท่าทีสุดโต่งทั้ง ๒ แบบมีแต่ทำให้เรื่องราวเลวร้าย และเป็นการไม่รับผิดชอบต่อตนเองนั่นเอง
สิ่งที่ยากลำบาก คือ การเผชิญหน้าความรู้สึกไม่ใช่สิ่งง่ายดาย และต้องอาศัยความเข้มแข็ง กล้าหาญ เพราะความสามารถเช่นนี้ต้องอาศัยคุณภาพของจิตใจ หลายคนที่เคยผ่านพบเรื่องราวเลวร้าย วิธีปกป้องตนเองที่มักเกิดขึ้น คือ การหลงลืมเหตุการณ์นั้น เพื่อปกป้องไม่ให้ต้องจดจำเรื่องราวอันเจ็บปวด อีกวิธีคือ การสร้างเกราะปกป้องไม่ให้ตนเองมีความรู้สึกกับเรื่องราวเหตุการณ์นั้นๆ กลไกเหล่านี้ โดยธรรมชาติมุ่งประโยชน์เพื่อช่วยเราอยู่รอดได้ทางจิตใจ แต่เมื่อถึงระยะเวลาที่เรามีจิตใจเข้มแข้งเพียงพอ มีศักยภาพมากขึ้นเพียงพอ กลไกนี้ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป และหากเรายังคงใช้กลไกนี้ต่อไป ก็จะเกิดแต่ผลเสียทำให้จิตใจอ่อนแอ
ในทางจิตวิทยา นักจิตบำบัดครอบครัว เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ ได้ให้แนวคิดที่สำคัญในเรื่องนี้คือ “ปัญหาไม่ใช่ปัญหา วิธีรับมือต่างหากที่เป็นปัญหาเสียเอง” เราทุกคนต่างมีวิธีรับมือปัญหาที่หลากหลาย เช่น กล่าวโทษ หลงลืม เคร่งเครียด กังวล สมยอม ยึดอ้างเหตุผล ฯลฯ วิธีรับมือกลายมาเป็นสิ่งเลวร้าย กลายเป็นสิ่งที่พึงระวัง เพราะด้วยวิธีรับมือ เราได้ขยายเรื่องราวให้ใหญ่โตและรุนแรงด้วยการเพิ่มคำตัดสิน คำวิจารณ์ ความคาดหวังเข้าไปในวิธีรับมือนั้นๆ ด้วย
ยามใดที่เราประสบเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เราเห็นว่า มันคือปัญหา ขอให้จัดสรรพลกำลังส่วนหนึ่งมาพิจารณาว่าเรื่องราวนี้ก่อกวนอะไรต่อตัวเรา โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึก จับความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่ามันคือความรู้สึกอะไร พร้อมกับสร้างความรู้ตัวต่อร่างกายด้วยการหายใจลึกๆ เพื่อหลีกเลี่ยงกลไกการกล่าวโทษ การตัดสินพิพากษาต่างๆ ซึ่งมักทำงานโดยอัตโนมัติ จากความรู้สึกที่จับต้องได้ ให้ค้นหาต่อไปว่าความรู้สึกนั้นกำลังบอกถึงความต้องการ ความปรารถนาอะไรที่ซ่อนอยู่ในความรู้สึกนั่น
กระบวนการค้นหาความรู้สึก ความปรารถนานี้ คือการเรียนรู้และสร้างมิตรไมตรีในตนเอง