เปิดปากและใจแก้ไขความขัดแย้ง

พระไพศาล วิสาโล 12 กันยายน 2004

ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมพระอนุรุทธะกับเพื่อนอีกสองรูป ซึ่งปลีกตัวไปปฏิบัติในป่าที่ห่างไกล  คำถามหนึ่งที่พระองค์ได้ถามพระอนุทธะกับคณะก็คือ “ยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้เหมือนน้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่หรือ?”  ทั้งสามท่านตอบตรงกันว่า เป็นลาภของตนที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์อีกสองรูป  ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันได้มีเมตตาต่อกันทั้งทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม  ความกลมเกลียวของทั้งสามท่านสรุปด้วยประโยคที่ว่า “กายของข้าพระองค์ต่างกันก็จริง แต่ว่าจิตดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน”

ลองสมมติดูว่าหากพระพุทธองค์เสด็จมาถามเราด้วยคำถามเดียวกันนี้  เราจะตอบอย่างไร  เราจะตอบเช่นเดียวกับพระอนุรุทธะกับคณะได้หรือไม่ว่า กับคนในครอบครัวก็ดี ในที่ทำงานก็ดี หรือแม้แต่ในวัดก็ดี “กายของข้าพระองค์ต่างกันก็จริง แต่ว่าจิตดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน”  คงปฏิเสธได้ยากว่า ความกลมเกลียวอย่างนั้นดูจะเป็นอุดมคติที่ทำให้เป็นจริงได้ยาก  เพียงแค่มีความสามัคคี เข้ากันได้ ไม่วิวาทกัน ก็พอใจแล้ว  หลายคนพบว่าแม้เพียงเท่านั้นก็ทำได้ยาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความขัดแย้งชนิดมองหน้ากันไม่ติด หรือถึงขั้นทะเลาะวิวาท จะเอาเรื่องเอาราวกัน

ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ แม้กระทั่งพระอรหันต์ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันเมื่อทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง  ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะจัดการอย่างไรกับความขัดแย้งนั้นๆ  ทำให้มันลุกลามจนกลายเป็นการทะเลาะวิวาท หรือว่าทำให้มันเกิดประโยชน์สร้างสรรค์ อย่างเดียวกับที่เปลี่ยนคำตำหนิให้กลายเป็นการชี้ขุมทรัพย์

ความขัดแย้งหนึ่งๆ สามารถพัฒนาไปได้หลายแบบ  จะลุกลามหรือบรรเทา เป็นโทษหรือเป็นคุณก็ได้ทั้งสองสถาน ขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้เกี่ยวข้อง  สำหรับผู้ที่ต้องการให้ความขัดแย้งบรรเทาเบาบางลงหรือเกิดคุณประโยชน์  ท่าทีต่อไปนี้เป็นสิ่งจำเป็น

๑. เปิดใจรับฟัง 

เมื่อมีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้น การเปิดใจรับฟังกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำได้ยากที่สุด ทั้งนี้เพราะใจคิดแต่จะตอบโต้หรือปกป้องตนเอง  ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเขามีเหตุผลอะไรถึงทำกับเราเช่นนั้น  ขณะเดียวกันก็ไม่เข้าใจว่าเขาเดือดร้อนแค่ไหนจากการกระทำของเรา  การฟังด้วยใจที่เปิดกว้างช่วยให้เราฟังได้ลึกซึ้ง ดังนั้นจึงเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้นขณะเดียวกันก็ทำให้เราเห็นใจเขาได้มากขึ้น  เวลาเกิดความขัดแย้ง คู่กรณีดูเหมือนจะฟังอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในใจนั้นคอยโต้แย้งและแก้ตัวอยู่ตลอดเวลา จึงไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเขาคิด รู้สึก หรือมีเหตุผลอะไร

น.พ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เล่าว่าหมอฟันกับผู้ช่วยคู่หนึ่งเกิดความขัดแย้งกัน จึงชวนทั้งสองมาคุยกัน โดยตั้งกติกาว่าเวลาคนหนึ่งพูดให้อีกฝ่ายฟังอย่างเดียวโดยไม่แทรก  เมื่อพูดจบแล้วให้ผู้ที่ฟังสะท้อนกลับว่าได้ยินอีกฝ่ายพูดอย่างไรบ้าง  ผู้ช่วยเป็นฝ่ายเริ่มก่อน หมอฟันฟังแล้วก็สะท้อนสิ่งที่ผู้ช่วยเล่าออกมาได้อย่างถูกต้อง  แต่เมื่อถึงคราวที่หมอฟันเป็นฝ่ายพูดบ้าง ผู้ช่วยไม่สามารถสะท้อนกลับออกมาได้ถูกต้อง  หมอฟันต้องพูดซ้ำเป็นครั้งที่สองและครั้งที่สาม ผู้ช่วยจึงสามารถเล่าได้ถูกว่าได้ยินหมอฟันพูดอะไรบ้าง  ภายหลังผู้ช่วยดังกล่าวอธิบายว่าตอนที่ฟังหมอฟันพูดนั้น ในใจเขามีความคิดที่จะเถียงเข้ามาแทรกตลอดเวลา ทำให้ไม่ได้ฟังอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถสะท้อนเนื้อความที่หมอฟันพูดได้ถูก  ส่วนหมอฟันก็ยอมรับว่าเมื่อได้ฟังผู้ช่วยแล้ว ก็เข้าใจและเห็นใจเขามากขึ้น และคิดว่าถ้าตนเองเป็นผู้ช่วยหมอฟันก็อาจจะทำและคิดแบบเดียวกับผู้ช่วยที่เป็นคู่กรณี

ความขัดแย้งนอกจากเกิดขึ้นระหว่างบุคคลแล้ว ยังมักเกิดระหว่างบุคคลกับหน่วยงาน  โรงพยาบาลเป็นหน่วยงานหนึ่งซึ่งมักถูกประชาชนฟ้องร้องเป็นประจำ  สองปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลสมุทรปราการได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้รับบริการขึ้นมา โดยมีเจ้าหน้าที่มารับฟังปัญหาต่างๆ จากผู้ป่วยหรือญาติที่ไม่พอใจการทำงานของแพทย์และพยาบาล  ปรากฏว่าการฟ้องร้องหรือร้องเรียนจากประชาชนลดลงไปมาก  สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะผู้ป่วยและญาติรู้สึกดีที่โรงพยาบาลพร้อมจะรับฟังความทุกข์ของเขา

๒. เปิดปากถาม 

ความขัดแย้งมักลุกลามเพราะต่างฝ่ายต่างด่วนสรุปหรือตีความเอาเอง  เห็นแฟนอยู่กับชายหนุ่มในร้านอาหาร ก็สรุปแล้วว่าเขานอกใจโดยไม่คิดจะถามให้แน่ชัดว่าชายหนุ่มนั้นเป็นใคร  นัดเพื่อนไว้แต่เขาไม่มาตามนัดก็ฉุนเฉียวโมโหเพราะคิดว่าเขาเบี้ยว  ทั้งๆ ที่เขาอาจจะมาแล้วแต่รออยู่ที่อีกประตูหนึ่ง หรือเขาอาจมีเหตุสุดวิสัยมาไม่ได้   เมื่อพบว่ากระเป๋าเงินหายก็สรุปเลยว่าคนงานมาเอาไปโดยไม่ได้ซักถามให้แน่ชัด ทั้งๆ ที่กระเป๋าอาจจะตกอยู่หลังเตียง  พระพุทธเจ้าได้ตรัสกาลามสูตรเพื่อเตือนใจเราว่าอย่าหลงเชื่อ (หรือด่วนสรุป) เพียงเพราะว่ารูปลักษณะน่าเชื่อถือ หรือเพราะตรงตามตรรกะ หรือเพราะสอดคล้องตามแนวเหตุผล  ควรจะเชื่อหรือสรุปต่อเมื่อค้นคว้าหาความจริง  การค้นหาความจริงนั้นต้องเริ่มจากการรู้จักเปิดปากถาม และถามด้วยใจที่เปิดกว้างพร้อมรับฟังด้วย

ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะจัดการอย่างไรกับความขัดแย้งนั้นๆ

๓. กล่าวคำขอโทษ

เมื่อทำผิดไปแล้วไม่มีอะไรดีกว่าการขอโทษ  ความวิวาทบาดหมางบ่อยครั้งเกิดจากการมีทิฐิมานะ แม้จะรู้ว่าผิดแต่ก็ไม่ยอมขอโทษเพราะคิดว่าเสียเกียรติหรือเปิดช่องให้เขาเล่นงานตนเองได้  แต่นั่นเป็นเพราะคิดถึงแต่ตนเอง  ลองนึกถึงความเสียหายหรือความทุกข์ที่ผู้อื่นประสบเนื่องจากการกระทำของเราดูบ้าง เราอาจพบว่าคำขอโทษเป็นเพียงส่วนน้อยนิดจากเราที่จะช่วยเยียวยาเขาได้

หมอคนหนึ่งเมื่อรู้ว่าทีมผ่าตัดของตนเองทำงานผิดพลาดจนเด็กเสียชีวิต  เขาตกใจมากและไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  เขาเดินไปหาแม่ของเด็กและบอกเธอว่าเขาเสียใจมาก  เมื่อมีการฟ้องร้องต่อศาลในเวลาต่อมา ปรากฏว่าหมอผู้นั้นไม่ได้อยู่ในรายชื่อของจำเลย  ทนายความของคณะแพทย์ที่เป็นจำเลยไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น  เมื่อถามแม่ของเด็ก ก็ได้รับคำตอบว่า “เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ใส่ใจ”

คำขอโทษหรือขออภัยเป็นเสมือนน้ำเย็นที่พรมลงบนกองไฟในใจของผู้ที่สูญเสียหรือคับแค้นใจ  เราอาจช่วยเขาไม่ได้มากนัก แต่อย่างหนึ่งที่ช่วยได้แน่ๆ คือคำขอโทษอย่างจริงใจของเรา  และนั่นจะช่วยลดตัวตนของเราไม่ให้เกิดอหังการด้วย

การบรรเทาความขัดแย้งบ่อยครั้งไม่ได้ต้องการเทคนิคที่ซับซ้อน  เพียงแต่มีสามัญสำนึกและพร้อมที่จะทำสิ่งพื้นๆ ที่มนุษย์ควรทำต่อกัน นั่นคือ การฟัง การถาม และการขอโทษเท่านั้น  เรื่องร้ายก็กลายเป็นดีได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา