การเติบโต: เส้นทางกับเป้าหมาย

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 28 ตุลาคม 2012

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เด็กหญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่ เธอเป็นเด็กดีรับผิดชอบช่วยเหลือพ่อแม่ แต่ความยากจนและพ่อแม่ก็ไม่สามารถทำงานได้ เธอจึงต้องทำงานหนักแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว  และแล้วนางฟ้าผู้ใจดีก็ประทานหม้อวิเศษที่เพียงร่ายคาถา หม้อวิเศษก็จะบันดาลอาหารรสเลิศที่สามารถตักได้ไม่มีหมดสิ้นจนกว่าจะร่ายคาถาขอให้พอ  ด้วยหม้อวิเศษนี้เอง เธอสามารถมีอาหารเลี้ยงดูตนเองและพ่อแม่ตลอดจนเอื้อเฟื้อกับเพื่อนบ้านได้ไม่มีหมดสิ้น ความทุกข์จากความหิวโหยหมดสิ้นไปทันทีเมื่อมีหม้อวิเศษใบนี้

แต่แล้ววันหนึ่งเธอไม่อยู่บ้าน แม่ของเธอรู้สึกหิวโหยจึงได้ร่ายคาถาขออาหารจากหม้อวิเศษ ได้ผลทันตาหม้อวิเศษเสกอาหารขึ้นมามากมาย โชคร้ายที่แม่ของเธอไม่รู้คาถาที่จะขอให้หม้อวิเศษหยุดเสกอาหาร อาหารจึงไหลออกมาๆ ค่อยๆ ท่วมทับบ้านของเธอ  ถนน ชุมชน ผู้คนต่างต้องอพยพเพื่อหนีคลื่นที่ไหลบ่าของอาหารที่ถูกเสกขึ้นมา  และก่อนที่เหตุการณ์จะเลวร้ายมากไปกว่านี้ เด็กหญิงก็กลับมาทันท่วงที เธอจึงร่ายคาถาเพื่อหยุดหม้อวิเศษไม่ให้เสกอาหารอีกต่อไป  หม้อวิเศษหยุดเสก แล้วพ่อแม่ คนทั้งหมู่บ้าน ก็ค่อยๆ ทำความสะอาดบ้านเรือนซึ่งต้องใช้เวลาเนิ่นนานทีเดียว

นิทานเรื่องนี้ ผู้เขียนได้รับฟังมาจากการเล่านิทานของครูโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่เน้นใช้แนวทางการศึกษาทางเลือก  นิทานเรื่องนี้มีสิ่งของวิเศษที่ทำประโยชน์ให้กับผู้คน แต่แล้วสิ่งวิเศษนี้ก็กลับมาทำร้ายผู้คนได้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  กระทั่งตัวเอกเข้ามาแก้ไขสถานการณ์เลวร้ายด้วยคาถาสำคัญ คือ “พอแล้ว หยุดได้แล้ว” และนั่นก็เป็นจุดเริ่มของการแก้ไขปัญหาเลวร้ายที่เกิดขึ้น

สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจก็คือ นี่คือนิทานที่ไม่เพียงใช้สอนหรือให้ข้อคิดกับเด็ก แต่นัยความหมายของนิทานเรื่องนี้ยังให้บทเรียนสำคัญกับผู้ใหญ่แบบเราๆ ท่านๆ ด้วย  ใช่หรือไม่ว่า การหยุด การพอ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับพวกเรา  ยามเมื่อเรากำลังอยู่ในเส้นทางชีวิต เส้นทางการทำงานที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เราพุ่งทะยานไปให้ได้ ไปให้ถึง ไปให้เร็ว ได้มากๆ เพราะเรามองและเชื่อว่านั่นคือความสุข  ตัวอย่างที่ห็นได้ชัดคือ ยามที่เราได้จ่ายเงินเพื่อลิ้มลองอาหารรสเลิศ โดยฉพาะเมื่ออาหารนั้นบริการโดยรูปแบบบุฟเฟต์ ตักได้ไม่อั้น พฤติกรรมที่เราพบได้ง่ายคือ ตักให้มาก ทานให้มากเท่าที่มากได้

ในนิทาน อาหารที่ล้นหลามจนท่วมทับบ้านเรือนกลายเป็นภัยร้ายที่เข้ามาเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สิน สำนึกรู้ของเราทุกคนรับรู้ในปัญหาภัยร้ายเช่นนี้ การแก้ไขจึงไม่ใช่เรื่องยากเพราะเราสำนึกและรับรู้ว่าคือ ภัยร้าย  แต่สำหรับเรื่องราวชีวิตและยุคสมัยแห่งบริโภคนิยม ฐานคิดและค่านิยมสำคัญคือ “ยิ่งมากยิ่งดี” ประสานกับกิเลสในตัวเรา คือ ความโลภ ความกลัว ความหลง (อวิชชา) พฤติกรรมของผู้คนมากมายในสังคม คือ ความต้องการในการบริโภคที่มากมาย  ดังเช่น ข้อมูลข่าวสาร พฤติกรรมเสพติดอีเมล เฟสบุ๊ค โทรศัพท์เคลื่อนที่ เอสเอ็มเอส ฯลฯ  จนบ่อยครั้งช่องทางเหล่านี้กลายเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารแทนการพบปะหน้า แล้วสิ่งที่ตามมาคือ หลายคนกลับหลงลืมและละเลยบุคคลที่อยู่ตรงหน้า  ในอีกทางหนึ่ง ข้อมูลข่าวสารกลายเป็นทรัพย์สินมีค่าที่ทุกคนต้องแสวงหา ต้องตักตวง เพราะสิ่งนี้เป็นฐานที่นำไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่มีความสำคัญ เช่น ความมั่นคงเรื่องรายได้ สุขภาพ ชีวิต ความปลอดภัย  จนบ่อยครั้งและหลายคนใช้เวลามากมายเพื่ออยู่กับข่าวสารต่างๆ ที่ไหลบ่าเข้ามาให้รับรู้และเสพติด

พฤติกรรม “ยิ่งมากยิ่งดี” ที่เห็นได้ชัดคือ การแสวงหาความสุข  ความสุขจากการบริโภค อุปโภค  อาหารการกินรสเลิศ เสื้อผ้าแฟชั่นชุดใหม่ ประสบการณ์แปลกใหม่ ตื่นเต้นเร้าใจ  แต่การแสวงหาความสุขที่ยิ่งมากยิ่งดีเช่นนี้ หลายคนต้องตกอยู่ในภาวะการบริโภคที่เกินตัว ตกอยู่ในภาวะเป็นหนี้สิน และที่เห็นได้ชัดคือ ผลกระทบต่อสุขภาพ ความเครียด ความกังวลต่อความกดดันในความพยายามที่จะให้มี ให้เป็นในสิ่งที่ต้องการ  หรือกดดันต่อความต้องการที่จะปฏิเสธสิ่งที่ไม่ต้องการ  กรณีอาหารบุฟเฟต์ คือตัวอย่างชัดเจน

แน่นอนการได้ลิ้มลองอาหารรสเลิศเป็นความสุขที่หลายคนปรารถนา เป็นความสุขที่น่าลิ้มลองประสานการโฆษณา ความนิยมยกย่องและบอกต่อ กลไกความเชื่อบวกกับกลไกในร่างกายก็พร้อมรับและสนับสนุนการตักตวงความสุขนี้ผ่านการกินก็ทำให้เรามักมีพฤติกรรมกินให้มาก กินให้มาก จนกลายเป็นเรื่องปกติในแวดวงเพื่อนฝูงที่รับประทานจนแทบล้นคอหอย แล้วปรากฏการณ์ในสังคมที่เกิดขึ้นคือโรคอ้วนระบาด ผลพวงของการรับประทานมาก คือ โรคภัยไข้เจ็บจากการบริโภคมาก ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเส้นเลือดตีบตัน คอเลสเตอรอลสูงจนต้องระมัดระวังและควบคุม ฯลฯ โรคเรื้อรัง โรคไม่ติดต่อแบบนี้กลายเป็นโรคภัยที่คุกคามชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ทดแทนโรคติดต่อที่เคยคุกคามชีวิตมนุษย์มาก่อน

“พอแล้ว หยุดได้แล้ว” คือคาถาสำคัญ

การดำเนินชีวิตภายใต้ฐานคิด “ยิ่งมากยิ่งดี” ก่อเกิดสภาพสังคมบริโภคนิยมที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม สภาพโลกร้อนกลายเป็นภัยคุกคามเนื่องจากภัยพิบัติตามธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น  ภัยคุกคามนี้แตกต่างจากภัยพิบัติในนิทาน ตรงที่หลายคนไม่ได้รับรู้ ไม่ได้สำนึกว่านี่คือภัยร้ายแรงที่ทุกคนต้องช่วยกันหยุด ขณะที่ในนิทานทุกคนตระหนักรู้ในภัยนี้

บางส่วนของสังคมรับรู้ในภัยนี้ และพวกเขาก็มีคำตอบที่เป็นทางเลือกได้  นั่นคือ การหยุด การรู้จักที่จะ “พอ” หรือ “เพียงพอ”  หลักธรรมสำคัญ คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค และการบริโภคนี้ก็ไม่ใช่เพียงเรื่องการกิน การดื่ม แต่รวมถึงการใช้ การดำเนินชีวิต เพราะการรู้เท่าทันความอยาก ความต้องการว่าไม่มีสิ้นสุด คือจุดเริ่มต้นของการเพียงพอ

ผู้เขียนได้ประสบการณ์คราวเมื่อมีโอกาสร่วมกิจกรรมค่ายสุขภาพหมอเขียวเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา  เงื่อนไขบทเรียนสำคัญคือ การรับประทานอาหารรสจืด มังสวิรัติ และที่น่าสนใจคือ เป็นอาหารที่มีคุณสมบัติฤทธิ์เย็น คือ มีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหาร และกระบวนการเผาผลาญอาหารไม่ก่อเกิดความร้อนที่สูงนัก  สิ่งที่ยากคือ ความเคยชินกับอาหารรสจัด มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ ทำให้ไม่คุ้นเคยเลยกับอาหารสุขภาพเช่นนี้  สิ่งที่พบจากการทดลองปฏิบัติก็คือ สภาพร่างกายที่ดูเบาเนื้อเบาตัว อาการง่วงมึนที่มัก เป็นบ่อยๆ ไม่เกิดขึ้นอีก  ภาวะ “อยู่สบาย” อันเป็นประสบการณ์ตรงที่ได้รับ ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการหยุด ลดละการบริโภคอาหารรสจัด อาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ  การรู้จักรับประทานอาหารในปริมาณที่พอ ช่วยทำให้ผู้เขียนพบว่าภาวะ ยิ่งมากยิ่งดี คือสภาพที่เราทำร้ายตนเองโดยไม่รู้ตัว ทำร้ายสุขภาพ ทำร้ายคุณภาพชีวิต

ในเส้นทางที่เรามุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมาย  ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คือหลักการสำคัญ  กระนั้น การรู้จักพัก รู้จักหยุด รู้จักช้า และรู้จักพอ คือหลักการที่สำคัญมากกว่าทีเดียว ในยุคบริโภคนิยมเช่นนี้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน