ประชาทัณฑ์แนวพุทธ

พระวิชิต ธมฺมชิโต 12 ตุลาคม 2014

ความแพร่หลายรวดเร็วของระบบสื่อสารยุคใหม่ ทำให้เรื่องราวเหตุการณ์หรือพฤติกรรมของผู้คนได้ถูกส่งต่อกระจายกันไปได้อย่างรวดเร็วเกินคาด ข่าวโทรทัศน์ที่มีให้ติดตามกันทุกต้นชั่วโมง หรืออินเตอร์เน็ตที่อัพเดตกันแทบจะเรียกได้ว่านาทีต่อนาที ก็ยังช้ากว่าการส่งต่อภาพและเสียงที่เพิ่งเกิดขึ้นผ่านโทรศัพท์ไปยังเพื่อนคอเดียวกันของแต่ละคนอย่างไม่จำกัดจำนวน

การสื่อสารแบบใหม่นี้นอกจากจะสื่อภาพเสียงออกไปได้เร็วและแรง เพราะไม่ต้องกลั่นรองตรวจสอบที่มาหรือความถูกต้องแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนแสดงความเห็นต่อเรื่องราวนั้นได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดความรักความเกลียดชังกันอย่างรุนแรงได้เพียงข้ามคืน ยิ่งมีเรื่องร้ายๆ ที่เห็นตัวผู้กระทำผิดชัดเจนด้วยแล้วก็ยากที่คนๆ นั้นจะรอดพ้นการตัดสินตีตราจากสังคมไปได้

ปัญหาที่สำคัญอยู่ที่ว่านอกเหนือจากการใช้คำที่รุนแรง หยาบคาย หรือภาษาที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันอย่างเต็มที่ในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีผลต่อการลงมือทำร้ายจำเลยสังคมคนนั้นจริงๆ ด้วย

ภาพการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาที่ตำรวจนำไปทำแผนประกอบคดี ซึ่งปรากฏให้เห็นผ่านสื่อนับครั้งไม่ถ้วนนั้น เป็นตัวอย่างเรื่องนี้ได้อย่างดี

แม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ถึงความรู้สึกเกลียดชังโกรธแค้นผู้กระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญาติหรือคนใกล้ชิดของผู้เสียหาย โดยเฉพาะเมื่อทำความผิดอย่างอุกอาจ โหดร้าย หรือทำกับเด็กที่ยังไม่เดียงสา แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องชอบธรรมที่จะให้มีการลงไม้ลงมือทำร้ายคนผิดกันเองอยู่ดี

ปัญหาหนักยิ่งกว่านั้นคือ การรุมประชาทัณฑ์โดยผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับผู้สูญเสีย เมื่อทำโดยคนหมู่มากก็มักทำกันจนรุนแรงเกินเหตุ กลายเป็นความมัน ความสนุกที่ได้ทำร้ายคนถูกสวมกุญแจมือที่ไม่มีทางสู้ กล่าวกันว่าถึงขั้นติดตามสืบข้อมูลวันเวลาที่ตำรวจจะทำแผน รอเวลาไปเฝ้าดูและหาจังหวะเข้ารุมประชาทัณฑ์

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้ง เพราะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งมีการเสนอข่าวว่ามีการรุมประชาทัณฑ์ก็เหมือนยิ่งส่งเสริมให้เหตุการณ์ลักษณะนี้รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้หลายคนรู้สึกสะใจ หรือเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ร่วมลงมือทำร้ายด้วย ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าหากมีโอกาสเมื่อใด เขาย่อมเป็นอีกคนหนึ่งที่พร้อมจะไปร่วมรุมประชาทัณฑ์ด้วย

แน่นอนที่สุดว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ตามสมควรแก่ความผิดที่เขาได้ทำลงไป ยิ่งเมื่ออยู่ในมือของตำรวจแล้ว คนในสังคมยิ่งควรต้องรู้สึกวางใจแล้วว่า ผู้กระทำความผิดนั้นจะต้องได้รับราชทันฑ์ตามความผิดที่กฎหมายกำหนดหรือที่สังคมตั้งกติกากันไว้

สาเหตุที่มักใช้เป็นข้ออ้างให้เกิดความชอบธรรมในการรุมประชาทัณฑ์คือ คนผิดพวกนี้ถูกตำรวจจับไปขังอยู่ไม่เท่าไหร่เดี๋ยวก็ปล่อยออกมา อาจใช้อิทธิพลใช้เงินทองช่วยให้พ้นผิดไม่ให้ถูกฟ้องหรือแม้แต่ได้รับโทษ แล้วก็มีโอกาสได้รับลดหย่อนอยู่เรื่อยๆ และในที่สุดถูกคุมขังอยู่ไม่นานก็ถูกปล่อยตัวออกมา ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนถึงความไม่เข้าใจและไม่มั่นใจในระบบยุติธรรมที่มีอยู่

หากประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกเช่นนี้ก็ควรช่วยกันหาวิธีจัดการที่ต้นตอของปัญหา คือการแก้ไขระบบยุติธรรมให้รัดกุมยิ่งขึ้น หรือให้มีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น ไม่ใช่มาลงที่ตัวผู้กระทำผิดครั้งนี้เท่านั้น

หากมองในทางธรรม การไม่ยอมให้อภัย การด่าตอบ โกรธตอบ ถือว่าเป็นพฤติกรรมของผู้ที่ยังไม่ได้ผ่านการฝึกการปฏิบัติธรรมมา ยิ่งหากถึงขั้นแก้แค้นลงมือทำร้าย หรือร่วมรุมประชาทัณฑ์ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งไม่ควรอย่างยิ่ง ผู้ลงมือกระทำย่อมมีจิตเป็นอกุศล และได้ลงมือทำอกุศลกรรมไปแล้ว

การให้อภัย โดยเฉพาะกับคนที่มาล่วงเกินทำร้ายคนรักหรือของที่เรารักนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ท่านจึงกล่าวว่าอภัยทานเป็นทานที่มีอานิสงส์มาก เพราะทำได้ยากกว่าการสละทรัพย์สินเงินทองมากนัก เป็นการสละละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนระดับหนึ่งเลยทีเดียว  การให้อภัยจึงเป็นคุณธรรมที่ต้องเริ่มบ่มเพาะกันตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน และก็ต้องจำกัดช่องทางที่จะกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงลง จึงจะทำให้การอภัยในเรื่องที่ยากเรื่องที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นจริงได้ในสังคม

อย่างไรก็ตาม การอภัยก็ต้องไม่เลยเถิดไปจนเป็นการปล่อยปละละเลย ก่อให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ควรเปลี่ยนพลังความเคียดแค้นนั้นให้เป็นพลังทางสังคมที่ช่วยกันอุดช่องโหว่ต่างๆ ที่มีส่วนทำให้เหตุการณ์เลวร้ายนั้นเกิดขึ้น  การตระหนักว่าผู้ต้องหานั้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนความบกพร่องของสังคมไว้อีกมากมาย จะช่วยให้เราใส่ใจค้นหาและแก้ไขปัญหาในระดับต้นตอที่แท้จริง

การลงมือทำร้ายคนผิดจนหนำใจต่างหาก นอกจากไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นต้นตอของความเลวร้ายในอนาคต เพราะได้สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง เป็นการปลูกฝังความแค้น ความเกลียดชัง ความรุนแรงไว้ในสังคมให้มากขึ้น เป็นการส่งเสริมการทำผิดกติกาในการลงโทษของสังคม และยังเผลอทำให้คิดไปว่าปัญหาถูกแก้ไขแล้วจากการได้ระเบิดอารมณ์ ชกต่อยทุบตีคนร้ายจนสะใจ ส่งผลให้ไม่สนใจติดตามแก้ไขไปที่ต้นตอของปัญหาอีกมากมายที่เนื่องกันอยู่

อภัยทาน เป็นทานที่มีอานิสงส์มาก เพราะทำได้ยากกว่าการสละทรัพย์สินเงินทองเสียอีก เป็นการสละละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนระดับหนึ่งเลยทีเดียว

หากประชาทัณฑ์ในความหมายกว้างๆ หมายถึงบทลงโทษผู้กระทำผิดจากภาคประชาชน  ชาวพุทธเราจะร่วมลงประชาทัณฑ์ด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง  ดังเช่นชาวเมืองโกสัมพีในครั้งพุทธกาลที่ได้ร่วมกันลงทัณฑ์แก่ภิกษุที่วิวาทกันจนแม้พระพุทธองค์ทรงห้ามแล้วก็ยังไม่ฟัง โดยชาวเมืองนั้นตกลงกันว่าจะไม่เคารพ ไม่กราบไหว้ ไม่ลุกต้อนรับ ไม่สักการะบูชา และไม่ใส่บาตรแก่ภิกษุพวกนั้น ทำให้ภิกษุเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ด้วยความอับอายและยากลำบาก จนต้องกลับมาคืนดีกันเหมือนเดิม

ภาพเหตุการณ์การรุมประชาทัณฑ์ทำร้ายพระภิกษุทั้งผ้าเหลืองที่พบเป็นข่าวบ่อยขึ้นในช่วงนี้ ก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นทั้งความเสื่อมถอยในศรัทธาของผู้คน และการมีนิสัยนิยมความรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ซึ่งหลายๆ ครั้งก็อ้างว่าทำไปเพราะต้องการช่วยปกป้องพระศาสนา ทั้งๆ ที่วิธีการรักษาพระศาสนา การขจัดพระเลว หรือคนที่แอบอ้างว่าเป็นพระโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงก็มีตัวอย่างอยู่แล้วมากมายในอดีต

หากเราไม่ร่วมมือกันหาแนวทางปกป้องพระพุทธศาสนาหรือแก้ปัญหาสังคมด้วยวิธีการที่สอดคล้องต่อหลักธรรม ไม่ร่วมมือกันรุมลงประชาทัณฑ์แบบพุทธกับคนชั่วคนเลวกันอย่างจริงจัง แต่กลับสนับสนุนการใช้วิธีการที่เป็นอธรรมมารักษาธรรมรักษาสังคม  เมื่อนั้นแม้พระหรือศาสนาจะยังอยู่ แต่ธรรมะอาจไม่เหลืออยู่แล้วก็เป็นได้  สังคมก็คงเต็มไปด้วยความเดือดร้อนรุนแรงและปัญหาต่างๆ ก็คงไม่สามารถ “ยุติ” ได้ด้วย “ธรรม” อีกต่อไป


ภาพประกอบ