สมศรี ๑ เขียนจดหมายถึงผู้เขียนบอกเล่าความทุกข์จากความโกรธที่ผุดโผล่ขึ้นอันเนื่องมาจากอุปนิสัยความเคยชินของเธอ ความโกรธนั้นปะปนทั้งจากความโกรธที่มีต่อตนเอง ต่อคู่กรณีและต่อเรื่องราว สมศรีพบว่าอุปนิสัยที่คุ้นชินกับความเกรงใจทำให้เธอต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำยอมผู้อื่นอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความกดดัน ถูกร้องขอความช่วยเหลือ รวมไปถึงการถูกไหว้วานร้องขอรบกวนตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องราวใหญ่โต เธอก็มักตอบรับเสมอๆ เนื่องมาจากความยากลำบากใจในการปฏิเสธ และบ่อยครั้งคำปลอบใจที่มักผุดโผล่ขึ้นมาคือ ไม่เป็นไร ก็ทำให้อุปนิสัยนี้ของเธอเข้มข้นและรุนแรง
บ่อยครั้งเธอพบว่าการยินดีช่วยเหลือในหลายๆ กรณีไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไร แต่บ่อยครั้งก็ทำให้เธอเหน็ดเหนื่อย เครียด และที่สำคัญ แท้จริงเบื้องหลังคำปลอบใจว่า “ไม่เป็นไร” นั้นเธอรู้สึกถึงความโกรธ อึดอัด หงุดหงิด โมโห ฯลฯ คำปลอบใจนี้ยังถูกใช้บ่อยๆ เวลาที่เธอได้รับการปฏิบัติจากบุคคลรอบข้างในลักษณะมองข้าม ไม่ใส่ใจ ละเลยความสำคัญ สมศรีใช้คำปลอบใจนี้เพื่อปลอบประโลมจิตใจให้ไม่ต้องคิดมาก ไม่ถือสา แง่หนึ่งเธอได้ประโยชน์ แง่หนึ่งเธอต้องจ่ายราคาด้วยค่าใช้จ่ายที่หนักหนา คือ ความโกรธถูกสะสม ถูกพอกพูน และบ่อยครั้งมักถูกระบายออกกับคนใกล้ตัว คนที่สนิทคุ้นเคย เรื่องเล็กน้อยก็สามารถกลายเป็นชนวนระเบิดให้ความโกรธนั้นลุกลามใหญ่โต จนกระทั่งความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมีรอยบาดหมาง ขุ่นเคือง แตกต่างจากความสัมพันธ์ที่มีกับคนอื่น คนไม่สนิท ที่กลับเป็นความเกรงใจมากกว่า เนื่องจากท่าทีที่มักตอบรับทุกสถานการณ์
แตกต่างจาก สมศรี ๒ ที่พร้อมใช้และคุ้นเคยกับการแสดงออกและใช้ความโกรธเพื่อตอบโต้กับสิ่งที่เธอเห็นว่าไม่ยุติธรรม ความโกรธเป็นอาวุธที่ช่วยให้เธอแสดงออกถึงความเข้มแข็ง การเรียกร้อง และปกป้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ของเธอ สิ่งที่เธอพบคือ ความโกรธเช่นนี้ช่วยให้เธอสามารถปกป้องคนที่อยู่ในความดูแลของเธอ คนที่อ่อนแอกว่าเธอ แต่ความโกรธก็ดูจะวนเวียนเธอเสมอๆ เผาลนให้รู้สึกรุ่มร้อน เนื่องจากความโกรธกลายเป็นความแค้นเคือง พยาบาท ที่จะหายไปต่อเมื่อเธอได้ตอบโต้ ชำระคืน
ความโกรธมีอยู่รอบตัว ยามเมื่อเราประสบสิ่งไม่ชอบใจ สิ่งที่ผิดไปจากความต้องการ ปฎิกิริยาที่เกิดขึ้นและแสดงออกคือ ความโกรธ เรามีถ้อยคำมากมายที่สะท้อนถึงระดับแลลักษณะความโกรธที่มีอยู่ เช่น หงุดหงิด ขุ่นใจ ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟืยด โมโห โกรธ เป็นต้น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความโกรธคือ ความรู้สึกบางอย่างที่ซ่อนอยู่ นั่นคือ ความผิดหวัง ความเสียใจ เรามีความต้องการอะไรบางอย่างแล้วเราไม่ได้ เราเสียใจ เราผิดหวัง แต่หลายคนแสดงออกถึงความเสียใจ ผิดหวังนั้นด้วยความโกรธ และความต้องการที่ว่านั้นก็คือ ความต้องการในความรักและการยอมรับทั้งในฐานะผู้ให้หรือผู้รับก็ตาม
ความรักและการยอมรับสื่อแสดงออกได้หลากหลายตั้งแต่การได้รับการชื่นชม การได้รับคำขอบคุณ รวมถึงอาจเป็นคำขอโทษ การให้เกียรติ ความเคารพ หรืออาจเป็นความต้องการได้รับการให้อภัย และเมื่อเราไม่ได้ เราก็แสดงความโกรธออกมา หรือบางคนก็เลือกที่จะไม่รับรู้ความโกรธ เก็บเอาไว้ และยอมรับทุกสภาพที่เกิดขึ้นภายใต้คำปลอบใจว่า ไม่เป็นไร แต่แท้จริงเก็บสะสมความโกรธ ความเสียใจ ผิดหวังเอาไว้ข้างใต้
คุณูปการสำคัญของความโกรธ คือพลังงานของความโกรธเปรียบได้กับไฟที่สามารถเผาทำลายสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มอดไหม้ดับสูญไป ความโกรธจึงเป็นพลังของการทำลาย พลังของการเปลี่ยนแปลง ในทางฮินดู องค์เทพเจ้าตรีเทพอันประกอบด้วย พระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์ จึงเปรียบได้กับความเป็นพระผู้สร้าง พระผู้ทำลาย และพระผู้รักษา ตามลำดับ ทั้ง ๓ พลังต่างทำงานประสาน และเกื้อหนุนกันเพื่อก่อเกิดวัฎจักรของชีวิต ของฤดูกาล สิ่งใหม่ๆ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นได้ การปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เนื่องมาจากพลังความโกรธที่ต้องการกำจัดสิ่งไม่พึงปรารถนาให้หายออกไป ถูกกำจัดออกไป เพื่อให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นแทนที่ นักปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่าโกรธนั้นง่าย แต่โกรธใคร โกรธอะไร โกรธอย่างไร โกรธแค่ไหน ให้สอดคล้องและเหมาะสม คือเรื่องที่ยากลำบาก และหลายคนก็มักสอบตกในเรื่องเช่นนี้
เรื่องราวความโกรธจึงเป็นศิลปะที่น่าสนใจในการเรียนรู้ ในการสัมพันธ์และเท่าทัน การลดละความโกรธ หรือการแสดงออกถึงความโกรธโดยไม่ผ่านกระบวนการทบทวน ตรึกตรอง จึงทำให้เราพลาดโอกาสเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสารสำคัญ นั่นคือ ความโกรธ คือ สัญญาณที่บอกว่าเรามีความต้องการอะไรที่เราไม่ได้ ความโกรธจึงสามารถเป็นสัญญาณเตือนให้เราค้นหาความต้องการนั้นๆ ค้นหาจุดยืนและความเป็นตัวของตัวเองว่าเราต้องการอะไร อย่างไร และที่สำคัญ มันช่วยค้นหาด้วยว่า เราคือใคร
สมศรี ๑ มีทางเลือกให้กับชีวิตที่จะก้าวพ้นจากอุปนิสัยความเคยชินที่ไม่กล้าปฏิเสธผู้อื่น อุปนิสัยที่มักเกรงใจผู้อื่นจนเบียดเบียนตนเอง โดยการตระหนักรู้และยอมรับความโกรธของตัวเอง ค้นหาว่าเบื้องหลังความโกรธนั้น ตนต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร เพื่อที่สมศรี ๑ จะได้กระทำในสิ่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตนเอง สมศรี ๑ อาจเลือกที่จะช่วยเหลือ และตอบรับคำขอร้อง ตอบรับความต้องการของผู้อื่น แต่ด้วยกระบวนการที่สมศรี ๑ ได้ตรึกตรอง กระทำด้วยความตระหนักรู้ก็ถือว่าสมศรี ๑ ได้เรียนรู้และรับผิดชอบตนเอง ไม่ใช่เพราะความเคยชินตามที่เคยมีมาเป็นตัวกำหนดการกระทำของตน
กรณีของ สมศรี ๒ การทบทวนการกระทำและสังเกตผลกระทบจากความโกรธ โทสะที่ระเบิดออกไป เป็นเสมือนอาวุธหรือเครื่องปกป้อง รักษาผลประโยชน์ แต่พลังความโกรธก็ทำร้ายผู้คนรอบข้าง รวมถึงตนเอง สิ่งที่ปกป้องกลับกลายเป็นอาวุธมาทำร้ายตน การเท่าทันความโกรธอย่าให้มันกลายเป็นอาวุธประหารตนเอง จึงเป็นภารกิจหลักในกรณีนี้
โกรธนั้นง่าย แต่โกรธใคร โกรธอะไร โกรธอย่างไร โกรธแค่ไหน ให้สอดคล้องและเหมาะสม คือเรื่องที่ยากลำบาก
ความโกรธเปรียบเหมือนไฟที่ให้คุณประโยชน์กับเรา เมื่อเราใช้ไฟในฐานะพลังงานที่ให้ความอบอุ่น ให้พลังงานและชีวิต ต้นไม้งอกงามก็เนื่องด้วยพลังจากแสงแดด วัฎจักรของน้ำหมุนวน อาหารถูกหุงต้มด้วยความร้อนจากแสงอาทิตย์ เรารู้สึกอบอุ่น สุขสบายจากกองฟืนไฟท่ามกลามอากาศหนาว พร้อมกับที่ความโกรธก็เป็นเหมือนไฟร้อนแรงเผาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างจนวอดวาย เมื่อไฟนั้นลุกลามเกินการควบคุม เช่น สูญเสียการงาน ความสัมพันธ์ และสุขภาพจิตใจ ร่างกายเสียหายเมื่อความโกรธกลายเป็นไฟแค้น เกลียดชัง ดังเช่น สงครามจากอคติ
ความโกรธจึงเป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ที่เราพึงมีสติ แง่หนึ่งผาทำลาย แง่หนึ่งกระตุ้นเร้าให้เรามีพลังที่ริเริ่มแก้ไขปรับปรุง และขับเคลื่อนค้นหาสิ่งที่เป็นความต้องการ แต่การ “เล่นกับไฟ” เพื่อได้ประโยชน์ ก็เป็นศิลปะ และการงานชีวิตที่พึงเรียนรู้