เธอกับฉัน: ทบทวนตัวเรา

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 29 มีนาคม 2015

สมศรีมีบทบาทเป็นแม่ ภรรยา ลูกสาว  รวมถึงบทบาทอื่นๆ ตามสถานภาพความสัมพันธ์ที่เธอสังกัด  เธออุทิศตัวให้กับครอบครัว สิ่งใดที่คนสำคัญในชีวิตต้องการ เธอยินดีเป็นธุระดูแลรับใช้อย่างดีเยี่ยม  คนภายนอกที่รับรู้การอุทิศตัวเพื่อครอบครัวของเธอต่างชื่นชมในสิ่งที่เธอทำ แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ สภาพที่ครอบครัวมีปากเสียงกันบ่อยๆ การสื่อสารในครอบครัวบ่อยครั้งมีเรื่องของการตัดพ้อต่อว่า การตัดสิน ประชดประชัน ลำเลิกบุญคุณ  หลายปีของความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ในที่สุดทั้งสองก็ตัดสินใจแยกกันอยู่ รอเวลาว่าจะเลือกจบความสัมพันธ์หรือเยียวยาคืนดีได้

สมชัยกับสมหญิงใช้ชีวิตครอบครัวโดยมีลูกวัยรุ่น ๒ คน  สมชัยเติบโตมาในฐานะพี่ชายคนโต ดิ้นรนต่อสู้กับฐานะที่ยากจนมาก่อน ส่งเสียน้องๆ รวมถึงเลี้ยงดูครอบครัวจนมีความสุขพอประมาณ  สิ่งที่น่าเสียดายคือ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สมชัยมักสื่อสารความรัก ความปรารถนาดี ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์และการให้คำแนะนำสั่งสอนในแทบทุกเรื่องโดยเฉพาะกับลูกวัยรุ่นของตน หากมีการตอบโต้ก็ง่ายมากที่จะก่อเกิดการโต้เถียงมีปากเสียง  ทางออกคือ การเลือกที่จะไม่ตอบโต้ เงียบ  บรรยากาศในบ้านจึงเหมือนมีการระวังตัว ไม่สื่อสาร  สมหญิงต้องพยายามมีบทบาทเป็นตัวกลางและเหนื่อยหน่ายกับบทบาทนี้

สมชายทำงานอยู่ฝ่ายการตลาด  ในการประชุมทีมย่อย สมชายมักเลือกเป็นฝ่ายสังเกตการณ์ สงวนท่าที  แต่ในเวทีใหญ่ ความคิดและข้อเสนอที่ดีมากมักถูกนำเสนอโดยสมชาย  และในการประชุมที่มีคนสำคัญขององค์กร สมชายก็แทบเป็นคนละคน  เพื่อนร่วมงานลงความเห็นว่าว่าสมชายทำงานเอาหน้า และหากมีความผิดพลาดใดเกิดขึ้น สมชายก็มักปัดโอนความรับผิดชอบ เพื่อนร่วมงานต่างแสดงออกที่จะไม่รวมงานกับสมชาย

การสื่อสารเป็นช่องทางเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับผู้อื่น  ในความสัมพันธ์ที่ถักทอ ความแข็งแรงของความสัมพันธ์จะมีมากน้อยขึ้นกับองค์ประกอบที่ช่วยเสริมเติมความแข็งแรง และเหตุปัจจัยองค์ประกอบที่บั่นทอนทำลายความสัมพันธ์

ดร.จอห์น กอตแมน นักจิตวิทยาด้านชีวิตสมรสได้ให้รูปแบบการสื่อสารที่ไม่พึงประสงค์ ๔ ลักษณะ ในฐานะรูปแบบการสื่อสารหรือการกระทำที่ทำร้ายบั่นทอนความสัมพันธ์ โดยมีเป้าโจมตีที่ตัวบุคคล คือ

๑) วิจารณ์  โดยเนื้อหาไม่ได้มุ่งเฉพาะที่เรื่องราว ตัวงาน หรือเหตุการณ์ แต่มุ่งกระทบหรือโจมตีตัวบุคคล เช่น  “เรื่องราวแย่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะคุณไม่เคยใส่ใจ ไม่เคยรับรู้อะไรทั้งนั้น” “ทำงานแบบนี้ คุณแย่มากเลย”  ๒) ดูถูก ประชด เสียดสี  ผ่านการใช้คำพูดที่ลดทอนคุณค่าของอีกฝ่าย “คุณคงทำงานโดยลืมสติปัญญาไว้ที่บ้าน งานถึงออกมาแบบนี้” การสื่อสารใน ๒ ลักษณะแรกนี้ นอกจากไม่ช่วยเรื่องการพัฒนาคุณภาพงาน  ผลที่ตามมาคือ การสร้างบาดแผลในจิตใจของผู้อื่น การลดทอนคุณค่าของอีกฝ่าย และสะท้อนคุณภาพจิตใจของผู้สื่อสารที่ไม่เคารพในตนเอง และส่งผลให้ไม่เคารพต่อผู้อื่นด้วย

๓) โยนความผิดให้คนอื่น  สำนึกการปกป้องตนเองโดยมุ่งเป้าให้ความผิดอยู่ที่คนอื่นหรือสิ่งภายนอก ท่าทีนี้เป็นกลไกปกป้องตนเองของหลายคนที่ไม่สามารถรับผิดชอบการกระทำของตนเองได้ “ก็รู้อยู่ว่าผมเป็นคนขี้ลืม คุณก็ยังมาวุ่นวายกับผมอีกจนตอนนี้งานเสียหายหมดแล้ว” “ถ้าหัวหน้าวางแผนงานให้รัดกุม พวกเราก็ไม่ต้องมานั่งเครียดกันแบบนี้”  ผลลัพธ์ของการสื่อสารลักษณะนี้คือ การตัดโอกาสของการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง  หัวใจสำคัญของการเรียนเรียนรู้และเติบโตในคุณภาพการงาน คือ การเรียนรู้จากความผิดพลาด ความล้มเหลว เพื่อสามารถฝึกฝนพัฒนาและแก้ไขปรับปรุงได้

๔) ไม่สื่อสาร เงียบ ไม่ตอบสนองใดๆ  การใช้ท่าทีการเงียบ ไม่สื่อสาร ไม่บอกกล่าว เปรียบเสมือนการถอดสายที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน คล้ายกับการแยกไปอยู่ในถ้ำ มีกำแพงหินล้อมรอบ  แง่หนึ่งเหมือนการปลีกวิเวก ไม่ยุ่งเกี่ยว  แต่อีกด้านก็คือการตัดตอน เพิกถอนความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพราะไม่เปิดให้มีการสื่อสาร การทำความเข้าใจใดๆ นอกจากความเงียบ

เราทุกคนต่างต้องการเพื่อน ต้องการความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผูกพันกัน เกื้อกูลต่อกัน  แต่ในความสัมพันธ์นั้นก็ต้องการการยอมรับและอยู่ในความแตกต่าง พร้อมๆ กับการอยู่กับความคาดหวังทั้งที่มีต่อคนสำคัญตรงหน้า คนรอบข้าง หรือแม้แต่กับตนเอง

ความขัดแย้งในความสัมพันธ์เพราะความแตกต่าง หรือความไม่ลงรอยอาจเป็นเรื่องปกติ  แต่ การรับมือกับความขัดแย้งและความแตกต่าง  นี่เอง ที่อาจเป็นปัญหาสำคัญ  ดังเช่นวิธีการสื่อสารที่มุ่งโจมตีบุคคลผ่านการวิจารณ์ ตัดสิน การดูแคลน การกล่าวโทษ ซึ่งก่อให้เกิดการทำร้ายจิตใจ ลดทอนคุณค่าของอีกฝ่าย  ผลกระทบคือ การตอบโต้ และทำให้เกิดการลุมลามของความรุนแรงตามมา

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ การยึดติดกับความคาดหวัง  ในความสัมพันธ์และดำเนินชีวิต เราทุกคนต่างมีความคาดหวังทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา และเป็นเรื่องปกติสำหรับการมีความคาดหวัง  แต่เมื่อเราพบว่าความคาดหวังไม่สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าต้นทุนของการยึดถือความคาดหวังสูงมากกว่าที่พึงรับได้ หรือพบว่าเรามีทางเลือกอื่นที่มากกว่าการอยู่กับความคาดหวังเดิมๆ  การเรียนรู้นี้ก็ทำให้เราตัดสินใจอย่างรับผิดชอบตนเองได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการยึดติดกับความคาดหวังที่ก่อปัญหาหรือผลเสียหายกระทบชีวิต  ดังนั้น ความสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้เท่าทัน

ความขัดแย้งเพราะความแตกต่างถือเป็นเรื่องปกติ แต่การรับมือกับความขัดแย้งและความแตกต่างนี่เอง ที่เป็นปัญหา

เรื่องราวจากกรณีศึกษาข้างต้นเกิดขึ้นกับหลายครอบครัว สาเหตุสำคัญของการสื่อสารลักษณะนี้ เนื่องมาจากความเชื่อในตนเองที่ยึดถือกับคำว่า “ควร ต้อง น่าจะ”  ถ้อยคำเหล่านี้เป็นตัวกำกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ จนกระทั่งการสื่อสารที่เกิดขึ้นมีลักษณะบิดเบือน ไม่สอดคล้องกับความรู้สึก ความคิด และความต้องการจริงๆ  เช่น หลายคนแสดงความปรารถนาดีผ่านการวิจารณ์ ตำหนิ  หลายคนบ่นว่า ประชด เพราะต้องการความเข้าใจและการเห็นใจ  หลายคนเลือกที่จะเงียบ ไม่สื่อสาร เพราะต้องการแก้ไขปัญหา  น่าเสียดายว่าสิ่งที่ปรารถนากับสิ่งที่แสดงออกไม่สัมพันธ์ต่อกัน และก่อเกิดผลลัพธ์ในทางลบเพราะการบิดเบือน

เมื่อใดที่สัญญาณการสื่อสารทางลบกำลังจะเกิดขึ้น  เราสามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนตนเองเพื่อหยุดการสื่อสารในลักษณะนี้  ใช้เป็นโอกาสสำรวจโดยเชื่อมโยงกับตนเองว่า ความปรารถนาที่แท้จริงคืออะไร  รวมถึงสำรวจว่าวิธีการตอบโต้ของเราเป็นเพียงปฏิกิริยาจากอารมณ์ชั่ววูบ หรือมาจากสติปัญญาและวิจารณญาณ

การหยุดตนเองและตอบสนองอย่างเหมาะสม เป็นงานท้าทาย และงานหนัก  กระนั้นผลตอบแทนคือ ความรัก ความเข้าใจที่ดีต่อกัน ในความสัมพันธ์ที่เรามีกับบุคคลสำคัญในชีวิต


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน