การศึกษาคณะสงฆ์: บนเส้นทางที่ไม่ต้องการเป็นอื่น

สมเกียรติ มีธรรม 17 มีนาคม 2002

ในระบบการปกครองพื้นฐานทางพระธรรมวินัยแต่เดิมนั้น มีอุปัชฌาย์อาจารย์ทำหน้าที่ให้การศึกษาอบรมสั่งสอนแก่ลูกศิษย์ที่บวชใหม่ โดยให้ถือนิสัย 4 เป็นพระนวกะอยู่กับอุปัชฌาย์นานถึง 5 พรรษา เมื่อพ้นนิสัยมุตกะถึงจะอนุญาตออกไปปฏิบัติศาสนกิจได้  ระบบการศึกษาในวัดของไทยแต่โบราณก็เดินตามครรลองนี้ โดยมีพระอาจารย์เป็นเจ้าวัดให้การศึกษาและปกครองไปพร้อมๆ กัน  คุณค่าที่เกิดจากการเรียนรู้ระหว่างศิษย์กับอาจารย์แบบดั้งเดิมนั้น ได้สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์อย่างลึกซึ้ง ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นเจ้าวัดกับลูกวัด ติดไปกับตัวจนกระทั่งว่าผู้นั้นสิกขาลาเพศไป

แต่มาในปัจจุบัน เจ้าอาวาสมีฐานะเป็นผู้ปกครอง ไม่ได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน การศึกษากลายเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งแยกออกไปชัดเจน เป็นเรื่องของผู้ชำนาญพิเศษ  ผู้มีหน้าที่ให้การศึกษาก็ให้การศึกษาไป ผู้ทำหน้าที่ปกครองก็ปกครองไป พระเณรอาศัยวัดเป็นเพียงที่พักเพื่อไปเรียนหนังสือที่อื่น  ลูกวัดกับผู้ปกครอง (คือเจ้าอาวาส) มีฐานะและความสัมพันธ์แบบผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง เป็นความสัมพันธ์ที่เปราะบาง ง่ายต่อการเกิดความรู้สึกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย  เมื่อปกครองกันไม่ได้ ความประพฤติเสื่อมโทรมก็ปรากฏแพร่หลาย ดังเป็นข่าวให้เห็นมากมายตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เนืองๆ

ยิ่งสภาพการศึกษาของพระพุทธศาสนาในชนบทด้วยแล้ว ยิ่งย่อหย่อนอ่อนแอและเสื่อมโทรมเป็นอันมาก ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากอุปัชฌาย์อาจารย์เท่าที่ควร บวชเข้ามาแล้วก็สักแต่อยู่เฝ้าวัด ไม่ได้รับการศึกษาอบรมตามบทบัญญัติในพระธรรมวินัย  วัดในชนบทจำนวนไม่น้อย จึงมีแต่พระที่บวชใหม่เข้ามาเป็นเจ้าอาวาส หรือไม่ก็มีหลวงตาเฝ้าวัดองค์สององค์  ส่วนพระหนุ่มที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน เมื่อบวชมาอยู่เฉยๆ ไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ให้การอบรมสั่งสอนก็ต้องคืนสิกขาลาเพศไป  บางรายเข้ามาอาศัยวัดในเมืองเพื่อเล่าเรียนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร โรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันสถานศึกษาเหล่านี้ ได้กลายเป็นทางผ่านของผู้ด้อยโอกาสในการศึกษา  ด้วยเหตุนั้นมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงเกิดมีลักษณะพิเศษ หรือรูปร่างหน้าตาอย่างหนึ่งขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ คือ ได้กลายเป็นสถาบันตัวแทนที่ฉายให้เห็นภาวะสังคมอันเนื่องด้วยการศึกษาของคณะสงฆ์และประเทศชาติ  กล่าวคือ สภาพที่วัดได้กลายเป็นช่องทางของผู้ด้อยโอกาส สำหรับจะเข้ามารับการศึกษาและเลื่อนฐานะในสังคม

สภาวะเช่นนี้ทำให้มหาวิทยาลัยสงฆ์เสมือนมีบทบาทในปัจจุบันแยกออกไปเป็น 2 ประการคือ เป็นสถาบันที่อำนวยศาสนศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร และเป็นสถาบันที่อำนวยโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม มากกว่าเป็นสถาบันฝึกอบรมศาสนทายาทเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือเป็นสถานศึกษาที่จะสร้างรากฐานทางด้านจริยธรรมแก่สังคมไทย  เมื่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ พระหนุ่มเณรน้อยเมื่อได้ปริญญาก็สิกขาลาเพศไป  ส่วนพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในเพศสมณะ ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติศาสนกิจได้ เนื่องจากการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาของสงฆ์ มีขอบเขตคับแคบและจำกัดด้านเดียว  เช่น การสอนภาษาบาลี เรียนกันแต่ภาษาบาลีอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ภาษาบาลีนั้นเรียนในคัมภีร์ที่ว่าด้วยธรรมวินัย แต่เวลาเรียนและสอนกันจริงๆ ไม่ได้สนใจเนื้อหาที่เป็นตัวธรรมวินัย มุ่งเอาแต่ภาษาให้แปลออกมาได้ และไม่ได้ฝึกให้รู้จักค้นคว้า

ฉะนั้นผู้สำเร็จการศึกษาจึงมีความรู้ความเข้าใจคับแคบอยู่ในวงของภาษาบาลีในคัมภีร์นั้นๆ อย่างเดียว  เมื่อมีความเข้าใจคับแคบ แม้จะมีความรู้สูงในภาษา แต่เมื่อไปปฏิบัติหน้าที่ทางพระศาสนาและะทางสังคม ก็ถูกขอบเขตและขีดจำกัดทางการศึกษาของตนเองบีบรัดเอาไว้ ทำให้ทำงานไม่ได้ผลดี ไม่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมือง  มหาวิทยาลัยสงฆ์ปัจจุบันจึงอยู่ในฐานะผู้ตามสังคมมากกว่าผู้นำ ยิ่งเดินตามมหาวิทยาลัยทางโลกเท่าใด โอกาสที่จะเป็นเลิศทางวิชาการยิ่งห่างไกล

ในด้านโรงเรียนปริยัติธรรมศึกษาทั้งแผนกบาลีและแผนกสามัญ ก็มีคุณค่า ความหมาย และความสำคัญต่อสังคมและชีวิตของคนสมัยปัจจุบันน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีคุณค่าความหมายใดๆ เอาเลยก็ว่าได้  เนื่องจากการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ไม่เพียงพอที่จะสร้างพระภิกษุสามเณรให้เป็นศาสนทายาทที่ดี โดยเฉพาะความสามารถที่จะปฏิบัติศาสนกิจให้ได้ผลในสังคมปัจจุบัน เช่น การเผยแผ่สั่งสอนธรรมแก่คนรุ่นใหม่ หรือทำให้พระภิกษุสามเณรที่กำลังเล่าเรียนมีความประพฤติและกิริยามารยาทเหมาะสมกับสมณเพศ  เมื่อไม่สามารถสร้างศาสนทายาทที่ดีได้ จึงทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา หันเหไปในทางที่ไม่สู้จะเกื้อกูลแก่ศาสนกิจด้านการศึกษามากนัก  กอปรกับสังคมส่วนใหญ่สนใจและแสดงความต้องการต่อพระศาสนาเพียงขั้นศาสนวัตถุและศาสนพิธี โดยที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็โน้มเอียงไปในทางเดียวกัน ทำให้ความเข้าใจในความหมายของการดำรงศาสนาและรักษาวัดจำกัดแคบเหลือเพียงการดำรงรักษาเสนาสนะ และบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างต่างๆ เท่านั้น  เมื่อความเข้าใจและความสนใจหันเหออกไป การแสวงหาทุนและการใช้ทุนก็หักเหออกไปด้วย ทุนส่วนใหญ่ของวัดจึงถูกใช้ไปในงานก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสียเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนั้นการศึกษาของคณะสงฆ์ยังขาดความเป็นเอกภาพ ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีระบบซ้อนระบบ และหลายระบบซ้อนๆ กัน  ยิ่งกว่านั้นแต่ละระบบก็ไม่อิงอาศัย ไม่เกื้อกูลกัน ไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ต่างคนต่างทำกันไปคนละทิศคนละทาง บางทีก็ขัดแย้งกัน  เช่น ในมหาวิทยาลัยสงฆ์มีระบบการศึกษาแผนเดิม คือ พระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี กว้างออกไปก็มีระบบการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาแยกต่างออกไป ไม่ขึ้นกับคณะสงฆ์หรือกรมการศาสนาหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นักธรรมบาลีสังกัดคณะสงฆ์ โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณรไปสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาก็ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างนี้เป็นต้น

ความไม่เป็นเอกภาพดังที่กล่าวมานี้ เป็นอุปสรรคต่อการกำหนดทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ และการบริหารจัดการการศึกษาของคณะสงฆ์มาก  แม้ที่ผ่านมาทางฝ่ายบ้านเมืองได้ริเริ่มปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2540 แล้วก็ตาม แต่การศึกษาคณะสงฆ์กลับนิ่งเฉยไม่ขยับเขยื้อน

สภาพการณ์เช่นนี้ ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่จำต้องมีการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ขนานใหญ่ตามความมุ่งหมายของการศึกษาสงฆ์  กล่าวคือ การศึกษาของคณะสงฆ์ควรเป็นไปเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ และควรมีประสิทธิภาพในการที่จะช่วยเสริมสร้างชีวิตที่ดีงามสงบสุขของมนุษยชาติ  ทางด้านฝ่ายตนก็ให้เจริญงอกงามด้วยปัญญาและคุณธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในด้านความดีงามและความสงบสุข เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางศีลธรรมและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ สามารถพึ่งตนเองได้ และให้มีบุคลิกที่พร้อมจะเป็นผู้นำที่ดีของชุมชน จนสามารถเป็นสื่อนำให้ประชาชนเลื่อมใสมั่นใจในคุณค่าแห่งธรรม  ทางด้านฝ่ายผู้อื่นหรือสังคมก็เจริญงอกงามด้วยกรุณา ดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกิจให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน  ถ้าการศึกษาคณะสงฆ์สามารถจัดการศึกษาให้บรรลุความมุ่งหมายได้ดังนี้ พระหนุ่มเณรน้อยก็คงไม่รู้สึกด้อยอีกต่อไป


ภาพประกอบ