สังฆะเพื่อประชาชน

สมเกียรติ มีธรรม 4 สิงหาคม 2001

ทุกครั้งที่เราได้รับข่าวสารพระสงฆ์เสพเมถุน ชกต่อยกัน หรือถูกฆ่า ตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทำให้ภาพเหตุการณ์เหล่านั้นปิดบังพระดีที่ทำงานพัฒนาชุมชนมาหลายปี โดยที่สังคมทั่วไปไม่รู้จักเอาเลย

เมื่อพูดถึง “พระนักพัฒนา” บางคนก็คงคิดถึงหลวงพ่อนาน หรือพระครูพิพิธประชานาถที่จังหวัดสุรินทร์ นำชาวบ้านก่อตั้งธนาคารข้าว โรงสีข้าว  หรือที่จังหวัดตราด พระสุบิน ปณีโต นำชาวบ้านตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์  หรือที่ภาคเหนือจังหวัดน่าน หลายคนก็อาจจะคิดถึงพระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่นำชาวบ้านรักษาป่า ทำเกษตรผสมผสาน รวมกลุ่มเยาวชนต่อต้านยาเสพติด กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ฯลฯ  และอีกหลายท่านก็อาจสงสัยว่า พระนักพัฒนาเป็นอย่างไร  ถ้าเราเอาความหมายของพระสงฆ์ที่ทำงานพัฒนาชุมชนดังกล่าวมานี้แล้ว “พระนักพัฒนา” ก็ไม่ได้มีความหมายจำเพาะพัฒนาจิตใจเท่านั้น หากแต่ยังพัฒนาสังคม (ศีล) และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ละทิ้งชาวบ้านแต่อย่างใด  ซึ่งในการพัฒนาสังคมนี้ เราจะเห็นได้จากวิถีปฏิบัติของพระพุทธองค์ครั้งทรงประกาศพระสัทธรรมตลอดกาล ๔๕ ชันษา พระพุทธองค์ก็ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนมาก ถึงกับตรัสแก่สาวกเมื่อส่งออกไปประกาศพระศาสนาครั้งแรกว่า ให้เที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่อความเอ็นดูแก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

การที่พระพุทธองค์ตรัสแก่สาวกให้จาริกไปเพื่อความสุขของมหาชนนั้น ก็ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระพุทธองค์ไม่ได้พัฒนาตนเพื่อความหลุดพ้นแต่ผู้เดียว  หากต้องการที่จะให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกับพระพุทธองค์ แล้วจึงทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์มากมายให้ประพฤติธรรม  เพราะเหตุดังนั้น หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จึงมีหลากหลาย นับตั้งแต่หลักธรรมสำหรับทุกคน สังคม หลักธรรมสำหรับคฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน หลักธรรมสำหรับอุบาสก หลักธรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนหลักธรรมสำหรับการศึกษา ฯลฯ เป็นต้น

แต่ปัจจุบันหลักธรรมคำสอนต่างๆ เหล่านี้มีความคับแคบและไขว้เขวไปจากเดิมมาก  หลักธรรมซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางก็กลายเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด  อานาปานสติก็เป็นเพียงวิธีการบำบัดจิตใจให้สงบจากปัญหาเดือดเนื้อร้อนใจในการประกอบธุรกิจการงาน โดยไม่โยงกับวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด  ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่นายธนาคารจะหันมานั่งสมาธิกันมาก แล้วกลับออกไปเอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่อย่างเคย

ด้วยความคับแคบและไขว้เขวของหลักธรรมซึ่งไม่โยงกับสังคมปัจจุบันเช่นนี้ ได้มีพระสงฆ์ที่พำนักอยู่ในชุมชน เล็งเห็นคุณค่าของคำข้าวที่ชาวบ้านใส่บาตรได้มาด้วยความยากลำบาก และเห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านที่เกิดจากโครงสร้างอยุติธรรม ได้ก้าวออกจากวัดมาส่งเสริมชาวบ้านทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่พระธรรมวินัยจะเอื้อให้  ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันก่อตั้งธนาคารข้าว กลุ่มออมทรัพย์ รักษาป่า สหกรณ์ร้านค้า หรือแม้แต่เข้ามาช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ ฯลฯ  เหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่พระสงฆ์ท่านพยายามส่งเสริมชาวบ้าน และประยุกต์หลักธรรมคำสอนมาใช้ในชุมชมให้สมกับยุคสมัย  พร้อมกันนั้นก็กลับไปหาคุณค่าดั้งเดิมของชุมชนและสังคมไทย ซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญมายาวนาน  จึงทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้านสมานกลมเกลียวเช่นเดียวกับในอดีต ซึ่งพระสงฆ์ไม่เพียงแต่มีหน้าที่ฝึกตนตามหลักไตรสิกขาเท่านั้น หากแต่ยังเกื้อกูลแก่ชุมชนและสังคมอีกด้วย

วัดก็เช่นเดียวกัน นอกจากเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แล้ว วัดยังเป็นสถานที่กระจายรายได้จากผู้มีทรัพย์มาก ให้แก่ผู้มีทรัพย์น้อยในชุมชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  อาทิ การบริจาคทรัพย์สร้างศาลาอาคารต่างๆ เพื่อให้ชุมชนเข้ามาใช้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน หรือไม่ก็ทางวัดนำข้าวของเครื่องใช้ไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่ยากจน  จึงทำให้ชุมชนสมัยก่อนไม่ค่อยมีคนอดอยาก  เมื่อปัญหาเรื่องปากท้องลดลง ชาวบ้านก็มีโอกาสเข้าวัดเข้าวาฟังธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ และพัฒนาตนให้เจริญรุดหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป  ในทางตรงกันข้ามหากชาวบ้านยังยากจน อดอยาก โอกาสที่จะหันมาศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนที่มีความละเอียดอ่อนประณีตนั้นก็เป็นไปได้ยาก

พระพุทธองค์ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนมาก ถึงกับตรัสแก่สาวกเมื่อส่งออกไปประกาศพระศาสนาครั้งแรกว่า ให้เที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน

ด้วยเหตุนั้น การที่จะให้ชาวบ้านเข้าถึงธรรมที่ลุ่มลึกละเอียดประณีตขึ้นไปนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พระสงฆ์จะต้องช่วยแบ่งเบาความทุกข์ยากของชาวบ้านก่อนอื่นใด โดยใช้กิจกรรมต่างๆ เป็นอุบายวิธีที่จะให้ชาวบ้านได้ประพฤติธรรมไปพร้อมๆ กัน  ดังพระครูพิพัฒนโชติ ที่ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นำมงคล ๓๘ มาเป็นข้อบังคับแก่สมาชิกธนาคารชีวิต  หรือพระสุบิน ปณีโต นำศีล ๕ มาเป็นข้อบังคับแก่สมาชิกในกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นต้น  เหล่านี้ล้วนเป็นกลวิธีที่พระสงฆ์แต่ละท่านพยายามประยุกต์พุทธธรรมมาพัฒนาชุมชน จนเป็นที่ย่อมรับของบุคคลทั่วไปในขณะนี้ และทำให้บทบาทพระสงฆ์ที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในแง่ลบมานานโดดเด่นขึ้น

แต่กระนั้นก็ตาม พระสงฆ์ที่ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงยังมีไม่มากนัก หากจะเทียบกับพระสงฆ์ทั้งประเทศแล้ว เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามชนบทห่างไกล และไม่มีพลังพอที่จะนำเสนอทางเลือกใหม่ให้แก่คณะสงฆ์และสังคมไทยได้  ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่าย โดยเฉพาะคณะสงฆ์ ควรที่จะส่งเสริมพระสงฆ์เหล่านั้นให้ท่านเผยแผ่พระพุทธศาสนา และนำพุทธธรรมมาพัฒนาชุมชนให้ได้  หาไม่แล้วก็จะขัดกับพุทธประสงค์เมื่อครั้งส่งสาวกออกประกาศพระศาสนา และไม่สามารถฟื้นฟูคณะสงฆ์กลับมาให้เป็นสังฆะเพื่อประชาชนได้


ภาพประกอบ