สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มาพร้อมๆ กับสมาร์ทโฟน และอาจพูดได้ว่าทำให้โซเชียลมีเดียได้รับการยอมรับรวดเร็วและเข้มข้นยิ่งขึ้นคือ เซลฟี หรือการถ่ายภาพตัวเอง ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในคำที่มีการใช้อย่างแพร่หลายเติบโตเร็วที่สุดคำหนึ่งในประวัติศาสตร์
เมื่อย้อนกลับไปหาที่มาของคำว่าเซลฟี พบว่าเริ่มใช้โดยวัยรุ่นขี้เมาชาวออสเตรเลียเมื่อปี 2545 และถูกนำมาใช้ในสื่อกระแสหลักอย่างแพร่หลายในอีกเกือบ 10 ปีต่อมา จนกระทั่งปี 2554 นิตยสารไทม์เลือกให้คำว่าเซลฟี เป็น 1 ใน 10 คำยอดฮิตแห่งปี ส่วนพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดจัดให้เซลฟีเป็นคำแห่งปี 2556 และปรากฏโฉมในพจนานุกรมออกซฟอร์ดฉบับออนไลน์เมื่อสิงหาคม 2556 มีความหมายว่า “การถ่ายรูปที่คนๆ นั้นถ่ายรูปตัวเอง โดยทั่วไปถ่ายจากสมาร์ทโฟนหรือเว็บแคม แล้วอัพโหลดขึ้นเว็บไซด์โซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุคส์ อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์”
เรียกได้ว่าคำๆ นี้ใช้เวลาเดินทางสู่การเป็นคำศัพท์สากลที่คนทั่วโลกรู้จัก โดยใช้เวลาแค่ 2-3 ปีเท่านั้น
แม้เวลาผ่านไป แต่ดูเหมือนเซลฟีจะยังไม่ตกกระแสง่ายๆ ดูได้จากกล้องสมาร์ทโฟนยี่ห้อต่างๆ ยังแข่งกันพัฒนากล้อง อุปกรณ์ และแอพพลิเคชั่นที่เอื้อต่อการเซลฟีที่สวยคมชัดและหลากหลายยิ่งขึ้น จากเดิมที่สามารถถ่ายรูปในระยะยื่นแขน ซึ่งจะเห็นเฉพาะใบหน้า ก็มีคนหัวใสทำไม้เซลฟีที่ยื่นออกไปได้อีกเกือบเมตร ทำให้เก็บภาพฉากหลังได้มากยิ่งขึ้น ราวกับมีคนถ่ายรูปประจำตัว
อาจกล่าวได้ว่าทั้งเซลฟีและไม้เซลฟีกำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับการท่องเที่ยว ล่าสุดผู้เขียนไปเที่ยวตุรกีกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ ขณะขึ้นบอลลูนเพื่อดูทิวทัศน์ของแดนแคปปาโดเกีย ที่ถูกกาลเวลาและธรรมชาติกัดเซาะจนกลายเป็นรูปแปลกมหัศจรรย์จนโด่งดังไปทั่วโลก แทนที่จะก้มลงมองทิวทัศน์เบื้องหลัง นักท่องเที่ยวเอเชียกลุ่มใหญ่กลับสาละวนอยู่กับการยื่นไม้เซลฟีออกไปนอกบอลลูน แล้วเคลื่อนตัวและใบหน้าตามไม้เพื่อหามุมที่เห็นบอลลูนหลากสีให้อยู่ในภาพให้มากลูกที่สุด และเมื่ออยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวบนพื้นราบ เพื่อนบางคนก็แยกตัวไปนั่งยื่นไม้เซลฟีเอียงหน้าไปมาและยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ให้กล้องตั้งนานสองนาน โดยบอกว่าไม้เซลฟีทำให้เธอสามารถถ่ายรูปในมุมมองที่ต้องการ โดยไม่ต้องง้อใคร…ฮา
แทนที่จะดื่มด่ำกับทิวทัศน์อันงดงาม พวกเขากลับสาละวนอยู่กับไม้เซลฟีเมื่อหามุมที่ถูกใจเพื่อถ่ายรูปตนเอง
แน่นอนว่าเซลฟีมีข้อดี ตรงที่ทำให้คนผู้ถ่ายสามารถเผยแพร่ตัวเองต่อเพื่อนฝูงและสังคมมากขึ้น และทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งอาจกลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืน ส่วนคนที่ดังอยู่แล้วก็จะดังยิ่งขึ้นโดยนับจากยอดผู้ติดตาม ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเดี๋ยวนี้เซเลบระดับโลกบางคนมีผู้ติดตามมากกว่าประชากรของประเทศขนาดใหญ่บางประเทศเสียอีก เช่น เทเลอร์ สวิฟท์ และบิยอนเซ่ นักร้องดังมีผู้ติดตาม 51.7 ล้านคน และ 48.5 ล้านคนตามลำดับ ส่วนคริสเตียโน่ โรนัลโด้นักฟุตบอลชาวโปตุเกสที่เล่นฟุตบอลให้กับทีมรีล มาดริดในสเปน มีผู้ติดตาม 33.6 ล้านคน
จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่อยากให้มีผู้ติดตามมากๆ จะต้องสรรหาเซลฟีแปลกใหม่เพื่อเรียกความนิยมชมชอบมากๆ และสม่ำเสมอ เดลี่เมลของอังกฤษบอกว่า โรนัลโด้ กลายเป็นเจ้าแห่งเซลฟีที่เข้าอินสตาแกรมทุกวัน และเมื่อเข้าไปดู อินสตาแกรมของเขา จะพบว่ามีแต่เซลฟีหน้าของเขากับทุกที่ที่เขาไป ผู้ติดตามจะเห็นเซลฟีใบหน้าของโรนัลโด้ปรากฏที่หน้าจอทุกวันเป็นกิจวัตร ส่วนสปอร์ตเมล (Sportmail) จัดให้เขาติดหนึ่งในอันดับนักกีฬาที่โด่งดังที่สุดในการสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จัก (ego boosters)
ฟรังโก้ เจ้าแห่งเซลฟีคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์คไทม์ว่า เซลฟีคือเครื่องมือสำหรับของพวกเซเลบ เพราะมันทำหน้าที่ดึงดูดความสนใจที่ทรงพลังที่จะแหวกคลื่นของข้อมูลข่าวสารอันมากมายขึ้นมาได้ สำหรับเขาเซลฟีคือการกล่าวสวัสดีกับชาวโลก และเซลฟีคือภาคอวตารของมนุษย์ที่ย่อขนาดตัวเองให้เหลือเพียงแค่ใบหน้า เพื่อบอกผู้พบเห็นว่าเราคือใคร
มองในมุมกลับ ถ้าการรับรู้ของสังคมต่อเซลฟีเป็นเช่นนี้ การเซลฟีขึ้นโซเชียลมีเดียแต่ไม่มีคนกดไลค์ ก็คือการไม่ได้รับความสนใจนั่นเอง มีคนไม่น้อยที่ผูกคุณค่าของตัวเองไว้กับอำนาจนิ้วในการกดไลค์ของผู้อื่น และพร้อมจะทำทุกอย่างแม้กระทั่งการเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ได้ภาพเซลฟีที่แปลกอึ้งทึ่งเสียว
เมื่อการเซลฟีกับเพื่อน กับอาหารจานเด็ด และกับสถานที่ท่องเที่ยวกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปเสียแล้ว ทุกวันนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์เซลฟีหวาดเสียวจนเกิดอุบัติเหตุถึงร่างกายและชีวิตเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวคุณแม่วัย 40 ปี พาลูกสาววัย 6 ขวบไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเยลโลสโตน ที่สหรัฐอเมริกา เธอลงจากรถไปเซลฟีกับควายป่าไบซันโดยอยู่ห่างจากไบซันร่างยักษ์ไม่ถึง 2 เมตร เมื่อได้ยินเสียงกล้องแชะๆ ไบซันจึงหันมาวิ่งเข้าใส่ เธอบาดเจ็บส่วนลูกสาววิ่งหนีทัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีอุบัติเหตุเซลฟีจากไบซันมาแล้ว 5 ราย
ที่รัสเซียชายหนุ่มวัย 17 ปีปีนขึ้นไปบนสะพานปีเตอร์สเบิร์กแล้วพลาดตกลงไปตายหลังการเซลฟี ที่เม็กซิโกหญิงสาววัย 21 ดื่มเหล้าและจ่อปืนที่ขมับเพื่อเซลฟีแต่พลาดเหนี่ยวไกยิงตัวเองตาย ที่โรมาเนียหญิงสาววัยรุ่นโพสต์ท่า “ที่สุดแห่งเซลฟี” ด้วยการขึ้นไปยืนบนหลังคารถไฟแล้วยกขาขึ้นแต่พลาดไปถูกสายไฟฟ้าแรงสูงเสียชีวิต
เซลฟีหวาดเสียวข้างต้นเป็นตัวอย่างอันตรายแบบสุดขั้ว ทว่าผลกระทบอีกอย่างหนึ่งจากเซลฟีที่เรามักมองข้ามและหากเกิดขึ้นบ่อยๆ จะเป็นการสะสมผลกระทบเชิงลบต่อจิตใจในระยะยาวคือ การยื่นอำนาจการตัดสินคุณค่าของตัวเองให้กับผู้อื่น และนำมาสู่ความรู้สึกไร้คุณค่า ไม่คู่ควร และซึมเศร้า มิเพียงเท่านั้นเซลฟียังทำให้ปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้าลดลง และทำให้เรารู้จักกันอย่างแท้จริงน้อยลง
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ผูกคุณค่าของตัวเองไว้กับยอดการกด like ในภาพถ่ายเซลฟี
เมื่อไม่นานมานี้มี หนังสั้น ความยาวประมาณ 2 นาที ที่กระตุกเตือนให้เห็นถึงพฤติกรรมเซลฟีที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในเรื่องดาราสาว เคิร์สเตน ดันสท์ (Kirsten Dunst) ยืนอยู่ข้างทาง มีนักท่องเที่ยววัยรุ่นสองคนขับผ่านและเข้ามาขอเซลฟีกัน จากนั้นก็ผละจากไป เมื่อคริสเตนทำหน้างงๆ และถามว่า “แค่นี้หรือ จะไม่คุยอะไรกันหน่อยรึ” สองสาวทำท่างงๆ แล้วผละขึ้นขับออกไปโดยใส่ใจเฉพาะภาพที่เธอเซลฟีกับดาราดัง
และเมื่อนายกรัฐมนตรีหนุ่มคนล่าสุดของแคนาดาได้รับตำแหน่ง ภาพที่ปรากฎไปทั่วโลกคือสาวๆ กระโดดเข้าไปเซลฟี จากนั้นก็ผละจากไปอย่างอิ่มเอม โดยไม่มีแม้แต่การกล่าวคำทักทายหรืออำลา จึงเท่ากับว่าคนเหล่านี้จะไม่รู้จักคนที่เธอเซลฟีมากไปกว่าภาพใบหน้าและเรื่องราวที่ได้ยินมาอีกต่อหนึ่งๆ ผ่านทางสื่อต่างๆ
เซลฟีแต่พอดีทำให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้งและสุขภาพจิตดี ในการนัดพบกันระหว่างเพื่อนเก่าและเพื่อนสนิทครั้งหน้า โปรดใส่ใจและพูดคุยกับคนตรงหน้าแทนการเซลฟีแล้วก้มหน้าก้มตาโฟสต์ลงโซเชียลมีเดีย และจ้องหน้าจอเพื่อรอดูยอดไลค์นะคะ
อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง