การฆ่าตัวตายกับความหมายของชีวิต

วิชิต เปานิล 20 สิงหาคม 2005

การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะในสังคมไทย

แทบทุกวันเราจะพบข่าวการฆ่าตัวตายหรือการพยายามฆ่าตัวตายในสื่อต่างๆ จนแทบจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว โดยรูปแบบของวิธีการฆ่าตัวตายก็แปลกพิศดารมากขึ้น ด้านสื่อเองก็แข่งกันรายงานข่าวได้อย่างรวดเร็ว ละเอียด เจาะลึกพร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์กันจนเห็นรายละเอียด

เมื่อไม่นานมานี้กรมสุขภาพจิตก็ได้ออกยอมรับอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นในทุกพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ

แม้ทุกฝ่ายรู้ดีว่าปัญหานี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การแก้ไขดูเหมือนว่าจะทำได้อย่างจำกัด เรามักจะปัดให้เป็นหน้าที่ของครูหรือหมอไปหาทางแก้ไขกันเอาเอง หรือไม่ก็โยนบาปไปให้กับคนใดคนหนึ่งแล้วก็ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป

สื่อมวลชนมักตกเป็นแพะที่คอยรับบาปในหลายๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องนี้ การเสนอข่าวของสื่อมวลชนถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เป็นแหล่งข้อมูล ช่วยให้คนรู้วิธีการที่จะฆ่าตัวตาย รวมทั้งเป็นตัวกระตุ้นให้ตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะเลือกใช้วิธีการฆ่าตัวตายในการแก้ปัญหาชีวิต

การปรามการเสนอข่าวของสื่อก็เป็นวิธีหนึ่งที่จำเป็นที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ แต่สาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้คนต้องทุกข์ ต้องเครียด จนต้องคิดที่จะจบชีวิตของตนนั้น ต้องได้รับการแก้ไขไปพร้อมๆ กันด้วย

แต่การที่เราไม่กล้าไปแตะหรือจัดการกับต้นเหตุเหล่านั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า เราเกรงว่าจะเสียผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากต้นเหตุนั้น

เพราะเหตุผลสำคัญของการฆ่าตัวตายก็คือเหตุผลเดียวกันกับที่ทำให้ประเทศเราเติบโตพัฒนาขึ้นมา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การฆ่าตัวตายของคนในสังคมที่เพิ่มขึ้นก็เป็นผลผลิตอย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศในแบบที่เราใช้อยู่ขณะนี้นั่นเอง

เราจะเห็นได้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศไม่ว่าไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในยุโรป ล้วนประสบกับปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นเหมือนว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกคนรู้ดีว่าสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายจำนวนมากนั้นเป็นเพราะความเครียด การแข่งขันแย่งชิงกัน และการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือเกียรติยศชื่อเสียงกันอย่างสุดโต่ง

ซึ่งหลักในการพัฒนาประเทศให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็คือการสร้างสังคมที่กระตุ้นให้คนรู้สึกว่าต้องต่อสู้ แข่งขัน ช่วงชิงกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างตัวตนให้โดดเด่นขึ้น ผ่านทางการสะสมชื่อเสียง เกียรติยศ และทรัพย์สมบัติที่ครอบครอง ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสูงขึ้น

ขณะเดียวกันความรู้สึกละวาง พอเพียง หรือสันโดษที่ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียดจะถูกมองว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญ หรือเป็นเรื่องของคนหัวเก่า งมงาย ล้าสมัย

การฆ่าตัวตายของคนในสังคมที่เพิ่มขึ้น เป็นผลผลิตอย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศในแบบที่เราใช้อยู่

นอกเหนือจากการกระตุ้นให้แข่งขันในทุกเรื่องจนเคร่งเครียดแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนธรรมดาๆ แต่มีผลกระทบไม่น้อยต่อการคิดที่จะฆ่าตัวตายคือการทำให้เรามีทัศนะต่อชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม

วิธีคิดแต่เดิมของคนไทยเราได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามาก เราเชื่อในหลักกรรมและเชื่อในชีวิตทั้งในอดีตชาติและภายภาคหน้า เราดำเนินชีวิตโดยพยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นการสร้างเหตุที่ดีไว้ให้ชีวิต เพื่ออนาคตเราจะได้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

เมื่อมีปัญหาชีวิตก็ต้องหาสาเหตุแก้ไขกันไป แต่หากทำกันอย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่ดีขึ้น เราก็จะยอมรับว่าเป็นผลของกรรมเก่าโดยไม่คิดที่จะจบชีวิตเพื่อยุติปัญหา แต่จะยอมรับผลของกรรมไป เพราะนอกจากจะเชื่อว่าการตัวตายไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาแล้ว (เพราะจะต้องไปใช้กรรมต่อในชาติหน้า) การฆ่าตัวตายยังถูกมองว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น เพราะเป็นการทำกรรมที่หนักยิ่งกว่า นั่นคือการฆ่ามนุษย์

หลายๆ ครั้งเราที่เราดูรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอชีวิตของคนชราที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเดียวดาย ท่ามกลางโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้า เราอาจเคยได้ยินบางคนบอกว่าอยากตายๆ ไปเสียให้จบ แต่มักไม่เคยเห็นใครที่คิดลงมือจะฆ่าตัวเองให้ตาย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะทัศนะต่อชีวิต ต่อเรื่องกรรมที่กล่าวมานั่นเอง

แต่คนรุ่นใหม่ที่เล่าเรียนมามากจะไม่เชื่อเรื่องชาติหน้าหรือเรื่องกรรมเก่า มองว่าเป็นเรื่องงมงายไม่เป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ไม่ได้ คิดว่าชีวิตมีอยู่เพียงขณะนี้ เมื่อจบชีวิตแล้วทุกอย่างก็จบไปด้วย เมื่อเผชิญกับปัญหา (ที่คิดเอาเองว่าหนักมาก) จะเห็นว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะคิดว่าจะทำให้ปัญหาทุกอย่างจบสิ้นลง

ทัศนะต่อชีวิตแบบพุทธ หากศึกษากันอย่างถ่องแท้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก จะไม่ทำให้เราเข้าใจพุทธศาสนาอย่างผิดๆ เช่น ไม่คิดว่าเชื่อเรื่องกรรมแล้วทำให้งอมืองอเท้า โทษแต่ชาติที่แล้วหรือหวังลมๆ แล้งๆ กับโชคชะตา แต่ตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีสติระมัดระวังยิ่งขึ้น

ท่ามกลางสังคมยุคบริโภคที่เต็มไปด้วยการแข่งขันแย่งชิงทรัพย์สมบัติเงินทองนี้ หากกลับมาศึกษาพุทธศาสนาและนำมาปฏิบัติกันอย่างจริงจังแล้ว จะช่วยให้เรามีชีวิตสงบและมีความสุขยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาสังคมหลายๆ อย่างลงได้ ลองเริ่มศึกษากันดูนะครับ


ภาพประกอบ