การเติบโต: การบอกเล่าสิ่งที่อยู่ในใจ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 1 กันยายน 2013

“เพื่อนร่วมงานทำเอกสารไม่เรียบร้อย มีข้อผิดพลาดในข้อมูล เราเตือนและแจ้งความผิดพลาดนั้น แต่ปฏิกิริยาที่ได้รับคือ ความผิดพลาดนั้นก็ยังคงอยู่ รวมถึงได้คำตอบกลับมาในทำนองว่า “เอกสารไม่สำคัญ ไม่ต้องซีเรียสก็ได้”

ในการประชุมเพื่อทบทวนและสรุปบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ระหว่างพูดคุยแลกเปลี่ยน วงสนทนาค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นการตอบโต้มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดเวลาก็ล่วงเลยและหมดไปกับการใช้เวลาเพื่ออธิบายความผิดพลาดนั้น จนในที่สุดก็ไม่มีข้อสรุปใดเกิดขึ้น  พร้อมกับความขุ่นมัวในความรู้สึก

ในบริบทชีวิตครอบครัว ชีวิตการงาน การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นย่อมต้องเผชิญกับภาวะอึดอัดคับข้อง ไม่ชอบใจในพฤติกรรม คำพูด รวมถึงความคิด ความเชื่อบางประการของคนใกล้ตัว  สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ เราไม่ชอบใจที่อีกฝ่ายเสียงดัง กระทำแบบนี้หรือแบบนั้น (ซึ่งต่างจากสิ่งที่เราต้องการ) ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกยากลำบากใจกับการบอกเล่าความในใจ จะสื่อสารอย่างไรดี เพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่มีต่อความสัมพันธ์และความรู้สึกของอีกฝ่าย กระนั้นเราก็รู้สึกอึดอัด ทุกข์ทรมานกับสิ่งที่ต้องประสบ ไม่ชอบใจในการกระทำของคนใกล้ชิด

หลายคนเลือกที่จะพยายามมองข้าม ละเลยปล่อยผ่าน หลายคนเลือกที่จะปะทะตอบโต้  สิ่งสำคัญเบื้องต้นคือ การสำรวจเจตนาและทบทวนกับแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่ในตัวเราว่า เรามีเจตนา ความตั้งใจอย่างไรแน่ในการบอกเล่าความในใจ บอกเล่าเสียงตอบรับจากสิ่งที่ประสบ (feedback)  สิ่งที่มักเกิดขึ้น คือ ความไม่ตระหนักรู้ ไม่ได้สำรวจเจตนาและแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่  ความอึดอัด ความไม่ชอบใจ ทำให้ท่าทีการตอบรับบอกเล่าความในใจมักปะปนด้วยเสียงตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงอารมณ์เชิงลบ บ่นว่า ตำหนิ ฯลฯ  แม้เจตนาที่ดีเพื่อแนะนำ สอน แต่ท่าทีที่แฝงอารมณ์เชิงลบก็ทำให้เป็นเรื่องยากในการรับฟัง หรือเปิดรับเจตนาดีนั้น  หรือหากว่าเราเลือกนิ่งเฉย ก็หมายถึงการเสียโอกาสเรียนรู้ และปรับปรุงแก้ไขในเสียงสะท้อนตอบรับนั้นๆ  และที่สำคัญกว่านั้น การเลือกนิ่งเงียบทั้งที่อึดอัด คับข้องใจ ก็เป็นลักษณะของความไม่ซื่อตรงกับตนเอง

การบอกความในใจ การบอกเล่าเสียงสะท้อนจากความคิดนึกรู้สึกของเราให้อีกฝ่ายรับรู้ จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เราทุกคนเรียนรู้ได้ เริ่มต้นที่

๑) การสำรวจเจตนา ความตั้งใจ 

ในที่นี้จึงรวมถึงการดูแลจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเองด้วยการเท่าทันอารมณ์ ยิ่งปฏิกิริยาเชิงลบ ผิดหวัง เสียใจ โกรธ ฯลฯ มีพลังรุนแรง  การให้การยอมรับและความเข้าใจตนเองจึงเป็นการงานสำคัญเบื้องต้นที่เราจำเป็นต้องทำงานกับตนเอง มิเช่นนั้นการบอกเล่าความในใจจะเป็นเพียงการระบายอารมณ์เชิงลบเท่านั้น

๒) การให้ข้อสังเกตเชิงประจักษ์ 

ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นมีความสำคัญในฐานะข้อมูล และความเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้ก็ทำให้ทุกฝ่าย รวมถึงคู่กรณีสามารถรับฟังโดยไม่ต้องปกป้องตัวตน ไม่ถูกตัดสินหรือประเมินค่า อีกทั้งช่วยให้ทุกฝ่ายได้มีความชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นและพึงเกิดขึ้น

๓) การทบทวนความสำคัญ

นี่คือขั้นตอนเพื่อให้คู่กรณีได้เข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องราว เจตนา และผลกระทบที่เกิดขึ้น  อีกทั้งตนเองก็ได้ทบทวนถึงการให้ความสำคัญในเรื่องนี้กับตนเอง  หลายคนมาพบภายหลังจากเมื่อเกิดเหตุการณ์ว่าตนให้ความสำคัญในเรื่องนั้นๆ การบอกเล่าถึงความเป็นมาในความสำคัญช่วยให้เกิดความเข้าใจใหม่ในทั้ง ๒ ฝ่าย

๔) การให้ข้อเสนอเชิงรูปธรรม 

ข้อเสนอนี้ช่วยให้ทุกฝ่ายได้ทำความเข้าใจและชัดเจนในสภาพที่ต้องการ หรือรูปธรรมการกระทำที่ต้องการให้เกิดขึ้น  หลายครั้งที่การให้ผลตอบกลับหรือข้อเสนอแนะมีลักษณะนามธรรม หรือบอกกล่าวด้านที่ไม่ต้องการ แต่ไม่สื่อสารสภาพที่ต้องการ จึงสร้างความยุ่งยากและอึดอัดในตัวผู้รับเสียงสะท้อน

๕) การเปิดรับการสนทนาแลกเปลี่ยน 

แน่นอนว่าการให้คำอธิบายกับเรื่องความสำคัญเป็นมุมมองของฝ่ายหนึ่ง และการที่เราบอกเล่าข้อมูลเชิงสะท้อนกลับ อีกฝ่ายก็สามารถมีมุมมองที่ให้ความสำคัญในอีกด้านหรือด้านเดียวกันก็ได้ และสามารถมีข้อมูลสะท้อนกลับได้ด้วยเช่นกัน  หัวใจสำคัญคือ การได้รับฟัง การได้สื่อสารสนทนาแลกเปลี่ยนความเข้าใจระหว่างมุมมองต่อกัน รวมถึงการรู้เท่าทันในอารมณ์ปฏิกิริยาของตนเอง เป็นสิ่งสำคัญของการรับและให้ความเข้าใจระหว่างกัน  การมีความชัดเจนในเจตนา ความตั้งใจที่อยู่เบื้องหลังเสียงสะท้อน การให้ข้อสังเกตเชิงประจักษ์ ข้อเสนอแนะเชิงรูปธรรม ทั้งหมดคือ สภาพแวดล้อมของการสื่อสารรับฟังเสียงสะท้อน เสียงตอบรับระหว่างกัน

ข้างต้นคือ หลักการที่ช่วยเราให้สามารถสื่อสารบอกความในใจ บอกกล่าวมุมมอง ความต้องการ ความคิดเห็นของเราให้อีกฝ่ายได้รับรู้  แต่หลักการก็คือหลักการ ในทางปฏิบัติหลายคนพบว่ามันไม่ง่ายเลยในการบอกล่าวความรู้สึก ความต้องการ  อุปสรรคสำคัญคือ ความกลัวไปล่วงหน้าในสิ่งเลวร้าย กลัวถูกปฏิเสธ กลัวความขัดแย้ง ฯลฯ หรือความโกรธเคือง ความเกลียดชังมากเกินจนไม่ต้องการสานสัมพันธ์  ดังนั้น ในความสัมพันธ์นี้จึงเปรียบเหมือนสะพานที่ความแข็งแรงหรือความคลอนแคลนขึ้นกับวัสดุและคุณภาพการก่อสร้าง เป็นไม้ไผ่ หรือคอนกรีต ฯลฯ  หลายคนเริ่มความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ แต่ค่อยๆ ผุกร่อนเพราะสะสมความไม่ชอบใจ และไม่มีการสื่อสารเพื่อซ่อมแซมสะพานความสัมพันธ์นั้น ในที่สุดก็ผุกร่อน  เครื่องมือสื่อสารนี้จึงช่วยให้เราสามารถซ่อมแซมสะพานความสัมพันธ์ให้คืนแข็งแรงและมั่นคงได้เรื่อยๆ

การบอกความในใจ บอกเล่าเสียงสะท้อนจากความคิดนึกและความรู้สึกของเราให้อีกฝ่ายรับรู้ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เราสามารถเรียนรู้ได้

ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยการฝึกหัด ฝึกฝนด้วยตนเอง  แบบฝึกหัดสำคัญคือ การได้เข้าไปสำรวจความคิด ความรู้สึก เจตนา แรงจูงใจภายในของตนเอง  มันคืออะไร เป็นอย่างไร  ฝึกหัดการทำความเข้าใจและบอกกล่าวถึงความรู้สึก ความต้องการในใจเรา  แยกแยะระหว่างคำตัดสิน การตีความ กับการสังเกตในเชิงข้อมูล  พร้อมกับการสื่อสาร แบบฝึกหัดที่เป็นพื้นฐานและจำเป็นต้องฝึกหัดตลอดเวลาคือ การรับฟัง  รับฟังอย่างไรที่จะเป็นอิสระได้กับคำตัดสิน กับการตีความของผู้พูด โดยไม่เอาตัวตนของเราในฐานะผู้รับฟังมาเป็นคู่กรณีด้วย

ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เปราะบาง การสื่อสารบอกความในใจ คือเวทีฝึกหัดของการปฏิบัติธรรม การภาวนาไปในตัว ในฐานะเครื่องมือฝึกหัดเรียนรู้การสื่อสารที่กอรปด้วยสติ ความตระหนักรู้ การเท่าทันตนเอง และสร้างมิตรภาพสานสัมพันธ์ที่ดี ก้าวข้ามอคติ มีมิตรไมตรีกับคู่สนทนา


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน