เป็นธรรมชาติที่สัตว์ทั้งหลายย่อมพยายามหลีกหนีจากภัยที่จะมาทำอันตรายแก่ตนหรือพวกพ้อง โดยเฉพาะมหันตภัยที่ไม่สามารถจะต่อกรด้วยได้
ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ที่มีมากกว่าสัตว์ เราใช้ความสามารถที่มีป้องกันหรือขจัดภัยหลายอย่างให้ออกไปจากชีวิตได้ ซึ่งดูเหมือนว่าภัยที่มีต่อคนเราควรมีน้อยลง แต่ตรงกันข้าม สิ่งที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามชีวิตที่สุขสงบของพวกเราทุกวันนี้กลับมีมากขึ้น แถมยังมีช่องทางให้ภัยแบบใหม่ๆ เข้ามาจู่โจมเราได้มากขึ้นด้วย
เพราะนอกจากอันตรายที่จะเกิดกับชีวิต ร่างกาย และถิ่นที่อยู่ที่เรายังคงต้องระแวดระวังอยู่เช่นเดิมแล้ว เรายังต้องระวังสิ่งที่จะเป็นภัยต่อทรัพย์สิน ธุรกิจการงาน ต่อหน้าตาชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และอื่นๆ อีกมากมาย
แม้แต่เครื่องมือป้องกันภัยที่คนเราพัฒนาขึ้นมาเองบางอย่างก็นำภัยแบบใหม่ที่ซับซ้อนกว่าพ่วงมาให้ตามแก้ไขต่อไปด้วย ตัวอย่างมีตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น เหล็กดัดไว้กันขโมยเข้าบ้านที่กลับกลายเป็นกรงขังเมื่อเกิดภัยจากภายใน ไปจนถึงเครื่องแสกนร่างกายตรวจหาอาวุธที่เริ่มถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อสุขภาพของคนที่ต้องผ่านเครื่องที่ว่านี้บ่อยๆ เพียงใด
เคยมีนักวิชาการกล่าวไว้อย่างมั่นใจว่า ในอนาคตเมื่อคนได้รับการศึกษามากขึ้น วิทยาการและเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ความเชื่องมงายต่างๆ ที่คนใช้เป็นที่พึ่งทางใจเมื่อภัยมาจะลดลงและหมดไปในที่สุด
แต่ความจริงที่ปรากฏทุกวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เราไม่ได้มีเฉพาะระบบหรือเครื่องมือป้องกันทางกายภาพเท่านั้น เรายังมีเครื่องมีกันภัยที่มุ่งใช้เป็นที่พึ่งทางใจเพิ่มขึ้นมากมายและพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่หลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้น ขณะที่เครื่องรางของขลังแบบเดิมก็ยังได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าเมื่อก่อน
ผู้คนไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่ต่างพากันพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้กันมากขึ้น ยิ่งมีเงินมีการศึกษาหรือการงานสูง หรืออยู่ในประเทศที่พัฒนาร่ำรวยล้ำหน้าเราจะยิ่งดูเหมือนว่าพึ่งพาสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
นอกเหนือจากเครื่องรางของขลัง สิ่งนำโชค และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีให้ซื้อหาไว้ครอบครองสร้างความมั่นใจกันมามายหลายรุ่นหลายราคาแล้ว ยังมีเกจิอาจารย์ออกมาตรวจเคราะห์ สแกนกรรม ทำพิธีกรรมเสริมโชคชะตา ตัดกรรมเก่า ชดใช้เจ้ากรรมนายเวร ออกมาให้ทำกันอย่างเป็นระบบ ไม่เว้นแม้ในวัดวาอาราม
หรือแม้แต่การบวช การเข้าอบรมปฏิบัติธรรมของคนจำนวนไม่น้อยทุกวันนี้ก็ทำเพื่อเสริมดวงตัดกรรม มิใช่เพื่อต้องการศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนจิตขัดเกลาใจตนเอง หรือบวชบูชาพระคุณพ่อแม่เหมือนในอดีตแต่อย่างใด
การดูแลสุขภาพแบบทางเลือกที่มีให้เลือกมากมายจนสับสนกันทุกวันนี้ก็เพราะความกลัวป่วย กลัวตาย และกลัวภัยสารพัดที่มาพร้อมกับการแพทย์กระแสหลัก (ที่รวมถึงภัยจากบิลล์ค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่ว)
พิธีกรรมและเครื่องรางยุคดิจิตอลนี้กลบเกลื่อนภาพลักษณ์แห่งความงมงายของตน ด้วยคำอธิบายที่ฟังดูดี มีตัวอย่างคนดังๆ ที่ใช้ และมีข้อมูลทางวิชาการ การทดลอง มีผลตรวจวัดจากด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยเที่ยงตรงมายืนยัน (โดยมักตีความแปรผลไปเองเพื่อประโยชน์แก่ผลิตภัณฑ์หรือพิธีกรรมของตนเท่านั้น)
ที่สำคัญคือมักมาพร้อมราคาที่แพงลิบลิ่ว ในด้านหนึ่งเพื่อสร้างคุณค่า หน้าตาและความภาคภูมิใจให้กับผู้ใช้ อีกด้านหนึ่งก็กันคนอีกจำนวนหนึ่งไม่ให้มีโอกาสได้ใช้ ด้วยหลายเหตุผลรวมทั้งอาจทำให้เห็นว่าไม่มีประสิทธิผลจริง
บางผลิตภัณฑ์ถึงกับยกพุทธพจน์ อ้างพระไตรปิฎก มาประกอบเพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าโดยขาดความรับผิดชอบและไม่คำนึงถึงผลเสียต่อพระพุทธศาสนาที่จะตามมา แม้จะอ้างว่านำกำไรไปทำบุญหรือสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งที่ดีงามขึ้นก็ตาม
วัตถุและพิธีกรรมอันเป็นที่พึ่งทางใจที่เพิ่มมากขึ้นนี้ คือกระจกวิเศษที่สะท้อนให้เห็นความกลัวความหวั่นไหวในจิตใจของผู้คนยุคนี้ที่มีมากขึ้นทุกขณะ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่าความเจริญทางวิชาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นแทบจะไม่ได้ทำให้คนมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและจิตใจอย่างแท้จริงเลย
ยิ่งมีเงิน มีการศึกษา หรือหน้าที่การงานสูง ก็ดูเหมือนเราจะพึ่งพาพิธีกรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเครื่องรางของขลังกันมากขึ้น
พระพุทธองค์เคยตรัสชี้ให้เห็นธรรมชาติแห่งความกลัวภัยและการวิ่งหาพึ่งของผู้คนทั้งหลายไว้เมื่อเกือบ ๒๖๐๐ ปีมาแล้วว่า “มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้างเป็นสรณะ” ในทัศนะของพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าของที่พึ่งเหล่านี้ แต่ท่านชี้เห็นว่า “นั่นไม่ใช่สรณะอันเกษมเลย นั่นไม่ใช่สรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั่นแล้ว ไม่สามารถพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
หลายคนอาจเห็นว่าการไหว้ต้นไม้เจ้าป่าเจ้าเขาเป็นความงมงายของผู้คนสมัยนั้น แต่เรากลับลืมมองตนเองว่าทุกวันนี้ที่เรายึดถือเอาพิธีกรรม เครื่องรางของขลังยุคใหม่ ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพทั้งหลาย รวมถึงปริญญาบัตร ตัวเลขในบัญชีธนาคาร กรมธรรม์ประกันชีวิตมาไว้เป็นสรณะนั้นก็มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันนัก ทั้งๆ ที่ต่างก็รู้ว่าเมื่อภัยหลายอย่างพุ่งเข้ามาจู่โจมแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้จิตเราสงบไม่หวาดหวั่นต่อมหันตภัยเหล่านั้นได้เลย
พระพุทธศาสนายืนยันในหลักการของการมีที่พึ่งอันมั่นคงว่า “บุคคลอันมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้ยาก” ที่พึ่งของชาวพุทธต้องอยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อให้มีปัญญารู้เท่าทันสภาพความเป็นจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้เท่านั้นจึงจะได้ที่พึ่งอันเกษม โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบของความสำเร็จ มีพระธรรมเป็นหลักปฏิบัติ และมีพระสงฆ์ (ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ) เป็นกัลยาณมิตรคอยแนะนำ
ที่พึ่งทางใจยุคใหม่นี้หลายอย่างไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว แต่พึ่งได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ทั้งที่เราได้ทุ่มเทเวลาและทรัพย์สินไปไม่น้อย เพียงอยากย้ำเตือนให้พวกเราชาวพุทธไม่ลืมไม่ทอดทิ้งสิ่งดีๆ ที่เรามีอยู่แล้วในบ้านเรา แต่ปล่อยปละละเลยจนเสียประโยชน์ที่พุทธศาสนิกจะพึงได้รับ
การหันมาศึกษาแก่นแท้ของพระศาสนาพร้อมๆ กับนำไปปฏิบัติควบคู่กับการทำหน้าที่การงานของเราให้ดี จะทำให้ความสุขใจ ความมั่นคงของจิตใจค่อยๆ งอกงามขึ้นให้เราเห็นได้ด้วยตนเอง เมื่อนั้นที่พึ่งยุคไฮเทคทั้งหลายก็ไม่จำเป็นสำหรับเราอีกต่อไป