ผมจำได้ว่าตอนเป็นเด็กเคยมีความสุขกับการได้รับของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เมื่อครั้งไปร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๓๐ ที่จัดขึ้นโดยโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง สมัยก่อนการขึ้นไปกล่าวคำขวัญวันเด็กของแต่ละปีอาจเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องมีเสียทุกครั้ง
ครั้งนั้นผมกับพี่ชายลูกพี่ลูกน้องได้มีโอกาสขึ้นไปกล่าวคำขวัญวันเด็กกับเขาด้วยเหมือนกัน เนื้อหาในคำขวัญเป็นอย่างไรนั้นผมจดจำไม่ได้เสียแล้ว แต่จำได้ว่าสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเราทั้งสองคือ ของรางวัลที่จะได้รับทันทีหลังจากที่กล่าวคำขวัญวันเด็กจนจบ พิธีกรบนเวทีชี้ไปที่กองสิ่งของน้อยใหญ่มากมาย บางชิ้นบรรจุใส่กล่องและปิดไว้มิดชิดด้วยกระดาษห่อสวยงาม พิธีกรบนเวทีให้เราเลือกสิ่งของที่กองอยู่ตรงหน้าเพียงคนละหนึ่งชิ้น เพื่อเป็นรางวัลแห่งความกล้าแสดงออกและการจดจำคำขวัญวันเด็กปีนั้นได้อย่างแม่นยำ ผมบอกเขาไปว่า “อยากได้ดินสอครับ” ขณะที่พี่ชายลูกพี่ลูกน้องยืนคิดอยู่นานว่าจะเลือกอะไรดี ในที่สุดเขาก็บอกออกไปว่า “ผมอยากได้อันที่เป็นกระป๋องครับ” แล้วผมก็ได้ของรางวัลตามความต้องการ ยกเว้นพี่ชายลูกพี่ลูกน้องของผมที่ในใจแท้จริงเขาอยากได้ปลากระป๋องแพ็กใหญ่ แต่เขากลับได้กระป๋องออมสินมาแทน
ในครั้งนั้นถึงแม้สิ่งที่ผมอยากได้และได้รับมาจะเป็นแค่ดินสอดำหนึ่งแท่ง แต่ผมกลับรู้สึกมีความสุขถึงขนาดเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้พ่อแม่ฟังที่บ้าน ขณะที่พี่ชายลูกพี่ลูกน้องของผมรู้สึกผิดหวังเสียใจ ถึงกับโยนกระป๋องออมสินที่ได้มาทิ้งไประหว่างทาง นั่นคือเรื่องราวในอดีตตอนอายุ ๑๐ ขวบ ที่ผมนึกขึ้นได้ขณะที่นั่งดูรายการเกมโชว์สำหรับเด็กและครอบครัวทางโทรทัศน์อยู่ ณ ช่วงชีวิตปัจจุบัน ตอนอายุ ๓๕ ปี
ในรายการเกมโชว์ที่ผู้จัดซื้อลิขสิทธิ์มาจากรายการของต่างประเทศ มีเนื้อหาให้เด็กๆ และผู้ปกครองร่วมกันฝึกซ้อมฝีมือการเล่นเกมต่างๆ นาๆ ตามที่ทางรายการได้กำหนดเอาไว้ ถึงแม้จะเป็นเกมง่ายๆ แต่ต้องใช้ไหวพริบและความชำนาญจากการฝึกฝน เช่น การวางลูกเต๋าเล็กๆ เรียงซ้อนกันไว้บนไม้ขนาดเล็กโดยใช้ปากคาบและห้ามทำตก ถ้าวางเรียงซ้อนกันได้ถึงห้าก้อนก็ถือว่าชนะและได้รับเงินรางวัล หรือจะเป็นการตีลูกปิงปองลงพื้นให้กระเด็นลงถาดไข่ให้ครบตามกติกาที่กำหนด ถ้าทำได้ก็จะได้รับรางวัลเป็นเงินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความยากและจำนวนของเกมที่เล่นได้
รายการนี้ถือว่าเป็นเกมโชว์ธรรมดาๆ แต่เมื่อได้เห็นว่าทุกครั้งที่ผู้เล่น (เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง) เล่นผ่านหรือเอาชนะได้ในเกมใด พิธีกรจะถามว่าหนูน้อยคนนั้นว่า ต้องการอะไรเป็นของขวัญพิเศษนอกจากจำนวนเงินที่จะได้รับ เด็กหญิงผู้เข้าแข่งขันและเป็นผู้ชนะในเกมแรกดวงตาเป็นประกายและบอกอย่างไม่ลังเลใจว่า “หนูอยากได้ชุดเครื่องเขียนค่ะ” ในครั้งที่สองพิธีกรถามเหมือนเดิมอีกว่า ครั้งนี้หนูอยากได้อะไร “หนูอยากได้ตุ๊กตาเฟอร์บี้ค่ะ” ครั้งที่สาม “หนูอยากได้ไอแพ็ดมินิค่ะ” ถึงตรงนี้เองที่ผมเห็นว่า ความอยากของเด็กน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปริมาณและมูลค่าแบบไม่มีที่สิ้นสุด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมตอนเด็กเท่าหนูน้อยคนนี้ ผมจึงอยากได้เพียงดินสอแท่งเดียว ผมเกิดคำถามขึ้นกับตัวเองในใจ
ในเมื่อหนูน้อยเป็นผู้เล่นเกมชนะ ทุกสิ่งที่หนูต้องการจะเป็นของหนูทุกอย่าง ยกเว้นครั้งที่สี่ที่พิธีกรก็ถามเหมือนเคย แต่ครั้งนี้มีข้อแม้ว่าถ้าหนูน้อยเล่นเกมแพ้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชุดเครื่องเขียน ตุ๊กตาเฟอร์บี้ หรือไอแพ็ดมินิ จะถูกริบกลับคืนไปเป็นของรายการเหมือนดังเดิม เงื่อนไขนี้ทำเอาหนูน้อยคนเก่งของเราเริ่มทำหน้าเศร้าไม่มั่นใจ ไม่ใช่แต่หนูน้อยคนนี้เท่านั้น น้องชายของเธอที่มาร่วมรายการด้วยอีกคนก็ยิ่งเศร้าไปกว่า เพราะของชิ้นที่สี่พี่สาวของเขาบอกว่าจะขอเป็นรถยนต์บังคับสำหรับน้องชายของเธอ แต่ถ้าเล่นแพ้ขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างที่สองพี่น้องอยากได้ก็อาจจะพังทลายลง
แต่ผู้ทำหน้าที่พิธีกรยังให้โอกาสหนูน้อยตัดสินใจในการเลือกที่จะเล่นต่อหรือหยุดไว้แค่นั้น สิ่งของและจำนวนเงินที่ได้มาแล้ว ก็จะได้กลับบ้านตามจำนวนที่เล่นชนะ แต่ถ้าแพ้พวกเขาจะไม่ได้อะไรเลยนอกจากเงินรางวัลปลอบใจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ความกดดันตกมาอยู่ที่หนูน้อยคนเก่งของเรา ความสุขและความทุกข์เกิดขึ้นกับเธอพร้อมๆ กัน สุขจากสิ่งที่จะได้รับการตอบสนองความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ขณะเดียวกันความทุกข์ก็เกิดจากความกลัวที่จะไม่ได้อะไรเลย และการกดดันจากความคาดหวังของน้องชายและคนอื่นๆ
ถึงตรงนี้ ผมอดนึกย้อนกลับมาดูตัวเองและคนทั่วๆ ไปไม่ได้ว่า ยิ่งเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ ความอยากของเราก็ยิ่งมีเพิ่มมากมายขึ้นเท่านั้น ยิ่งโลกของวัตถุเจริญรุดหน้ามากขึ้นเพียงไร เราก็ยิ่งเสพบริโภควัตถุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้จักคำว่าพอ คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นธรรมดาก็อยากจะได้รุ่นที่ใหม่กว่า แพงกว่า หรือคนที่ชอบเล่นหวยพอถูกรางวัลเลขท้าย ใจก็คิดอยากถูกรางวัลที่หนึ่งขึ้นไปอีก ส่วนตัวผมเองซึ่งเป็นคนชอบซื้อหนังสือ พอได้ซื้อเล่มนี้ก็อยากได้เล่มใหม่ทั้งที่ยังอ่านเล่มเก่าไม่จบหรือยังไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ
มันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการได้มา ไม่ใช่เกิดจากการได้ใช้ประโยชน์ ทั้งที่ความสุขแบบนั้นจริงๆ มันไม่ได้อยู่กับเรายาวนานเท่าใดนัก ตรงกันข้ามพอเราไม่ได้สิ่งนั้นมาครอบครองกลับกลายเป็นความทุกข์ใจ ยิ่งต้องดิ้นรนไขว่คว้ามาให้ได้ กลับยิ่งเพิ่มทวีความทุกข์เข้าไปอีก ตอนอายุสิบขวบผมได้ดินสอแท่งเดียวเป็นรางวัลจากการแสดงความสามารถ และผมก็ใช้ดินสอแท่งนั้นฝึกเขียน ก ไก่ ก กา วาดรูปเล่นตามประสาวัยเด็ก ตอนวัยสามสิบห้ามานึกถึงอีกที ความสุขตรงนั้นยังคงอยู่ แม้จะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ผมกลับจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าหนังสือเล่มแรกที่ซื้อมาคือเล่มใดและความสุขในตอนนั้นเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ผมมีหนังสือที่ซื้อมาเก็บสะสมไว้มากกว่าพันเล่ม และยังเหลืออีกมากมายเกินกว่าครึ่งที่ยังไม่ได้อ่าน …
ยิ่งเติบโตมากขึ้นเท่าไร ความอยากของเราก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
เกมโชว์จบลงตรงที่หนูน้อยและครอบครัวตกลงกันว่า จะหยุดการเล่นเกมไว้แค่หุ่นยนต์บังคับพร้อมกับเงินรางวัลจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาใช้หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่กว่าจะถึงตรงนี้ก็เล่นเอาหนูน้อยคนเก่งใจหายใจคว่ำด้วยความกดดันทั้งจากตัวเองและคนรอบข้าง ผมเองซึ่งเป็นผู้ชมก็พลอยได้ข้อคิดสะท้อนชีวิตของตัวเอง เป็นบทเรียนที่จะต้องขบคิดและปฏิบัติให้จงได้ต่อไป และเพื่อให้บทเรียนนี้ของผมชัดเจนขึ้น ผมจึงขอนำเอาข้อเขียนบทหนึ่งในหนังสือ ธรรมะสำหรับคนนอกวัด ของคุณวิลาศ มณีวัต ที่ผมเพิ่งอ่านเจอมาเขียนไว้ และอ่านด้วยตนเองซ้ำไปซ้ำมาให้ขึ้นใจว่า
ชีวิตที่เยือกเย็นที่สุด มิใช่จะหมายความว่ามีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ตามความต้องการ เพราะการมีให้ครบถ้วนตามต้องการนั้น เป็นสิ่งที่สุดวิสัย ความรู้สึกว่าชีวิตของเราพอแล้วนั่นต่างหากเป็นบ่อเกิดแห่งรากฐานของความสงบเย็น แต่ว่าแค่ไหนเล่าจึงจะพอ? ที่ขับรถยนต์ขึ้นล่องกันทั้งกรุง และขึ้นเครื่องบินไปกลับกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะยังไม่พอนั่นเอง พอไม่พอนั้น ไม่ใช่จะรู้ได้โดยไปมองดูที่บ้านว่ามีอะไรบ้างแล้ว แต่ควรมองดูในใจของตัวเองนั่นแหละว่า ความอยากของเรามันยังเป็นธนูพุ่งออกจากแหล่งอยู่หรือเปล่า? เมื่อใดท่านดับความอยากได้สำเร็จ นั่นแหละจึงจะหลุดพ้นจากความร้อน ไปสู่ความเย็น ชนิดที่ไม่เกี่ยวกับสายลมหรือการอาบน้ำ