บทเรียนนอกตำรา กับ นิ้วชี้ที่ไม่มีวันเปลี่ยนเป็นพระจันทร์

มะลิ ณ อุษา 14 ตุลาคม 2012

ตอนฉันเด็กๆ พ่อแม่มักกำชับให้เคารพสมุดหนังสือประหนึ่งครูบาอาจารย์ ถ้าเผลอไปข้ามหรือเหยียบเข้า จะต้องกราบแล้วกราบอีก โต๊ะเรียนก็เหมือนกัน ถ้าจะขึ้นไปนั่งหรือยืนต้องกราบเสียก่อน ซึ่งฉันก็ทำตามอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด เพราะกลัวเป็นคนโง่ เป็นคนไม่รู้หนังสือ จนถึงทุกวันนี้ แม้มือไม้จะแข็งไปตามอายุ ถ้ามีเหตุให้ต้องขึ้นไปนั่งหรือเหยียบบนโต๊ะ ฉันก็ยังนึกขอขมาแทบทุกครั้ง หนังสือก็เช่นกัน ไม่ใช่เพราะกลัวไม่รู้หนังสือหรือเป็นคนโง่ แต่จะเป็นเพราะอะไรนั้น ฉันก็ยังขบไม่แตก บางทีเราอาจจะได้เข้าใจไปพร้อมๆ กันในบทความนี้ก็ได้

ห้วงเวลาที่รัฐกวาดต้อนความรู้ให้เข้ามาอยู่แต่ภายในรั้วโรงเรียน สัญลักษณ์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนความรู้จึงมีเพียงตำรา กระดานดำ และคำบอกเล่าของครูเท่านั้น (สมัยนั้นยังไม่มีสื่ออิเลคทรอนิคหรือดิจิตอลใดๆ) นักเรียนจึงต้องจด…จด…จด แล้วก็ท่องจำให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะเขียนลงช่องว่างในกระดาษข้อสอบ หากใครจำได้มากที่สุด คนนั้นก็จะได้รับการประทับตราว่า ฉลาด รวมถึงการการันตีว่าจะได้เป็นเจ้าคนนายคน นั่งทำงานในสำนักงานติดแอร์

ท้ายที่สุด ฉันไม่รู้หรอกว่านักเรียนที่จดและจำได้มากที่สุดนั้น ได้เป็นเจ้าคนนายคนจริงหรือเปล่า รู้แต่เพียงว่า สิ่งที่ฉันเคยจดและจำจากตำราถูกนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตไม่มากนัก ต่างจากสิ่งที่จดและจำจากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพราะบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการลองผิดลองถูก นอกจากจะผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์แล้ว ยังผ่านการเจ็บจริง สุขจริงอีกด้วย ซึ่งบทเรียนที่เกิดขึ้นจะถูกนำมาแก้ไขและต่อยอดออกไปเรื่อยๆ นานเข้าก็สั่งสมไว้ในคลังของชีวิตที่เรียกว่า ประสบการณ์

ไม่ว่าจะในทางโลกหรือทางธรรม เราต่างก็ได้รับการสั่งสอนให้กราบไหว้ตำรับตำราด้วยความเคารพ เพราะถือว่าเป็นแหล่งบรรจุคำสั่งสอนอันมีคุณค่าของครูบาอาจารย์ มิใช่เพียงหน้ากระดาษที่บรรจุตัวอักษรเท่านั้น

สมัยเรียนมัธยม มีคำล้อเลียนที่เป็นที่นิยมมากๆ คือ ก่อนสอบให้นำหนังสือเรียนมาต้มกินหรือนอนหนุนต่างหมอน จะทำให้จดจำและเข้าใจเนื้อหาในนั้นได้เพียงชั่วเวลาข้ามคืน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะที่ว่า ความรู้คือตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ถ้ากลืนกิน (จดจำ) เข้ามาได้ทั้งหมด ก็จะกลายเป็นคนฉลาดและเก่งกว่าใครๆ หรือคนที่สาธยายมนต์ได้คล่องจะกลายเป็นผู้ทรงภูมิธรรม

ไม่ใช่ว่าฉันจะต่อต้านการเรียนรู้ด้วยการท่องจำหรอก แต่ฉันมีความคิดว่า ชีวิตมีโยงใยความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและหลากหลายมิติ เพียงแค่การท่องจำตามตำราคงไม่พอต่อการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขได้ ในภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society ฉากช่วงแรกที่ครู John Keating ให้นักเรียนฉีกเนื้อหาส่วนที่เป็นหลักการและกฎเกณฑ์ในการวัดความงามทางวรรณกรรมทิ้งไป แล้วปลุกบทกวีแห่งชีวิตของพวกเขา (ซึ่งเป็นคนหนุ่มทั้งหมด) ให้ฟื้นตื่นขึ้นมา โดยผ่านการสัมผัสความงามของบทกวีที่กลั่นออกมาจากก้นบึ้งของความรู้สึกด้วยตนเอง ฉันไม่คิดว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการปฏิเสธขนบที่ดีงาม ในทางตรงข้ามกลับมองว่าขนบหรือทฤษฎีต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ แต่ไม่ใช่สรณะทั้งหมด บทกวีก็เหมือนกับชีวิต ที่ต้องการเพียงคบไฟส่องทาง ส่วนเส้นทางและวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น เป็นเรื่องของปัจเจกที่ต้องเรียนรู้และก้าวย่างไปด้วยตัวเอง

ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์ Dead Poets Society

ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล คุรุผู้เอกอุแห่งยุคสมัยได้ทรงอธิบายถึงบทเรียนที่อยู่นอกเหนือจากตำราและคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ได้อย่างชัดเจน เมื่อคราวที่ทีฆนขะดาบสไปเข้าเฝ้า เพื่อทูลถามถึงคำสอนของพระองค์ว่าเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันก็บอกว่าตนปฏิเสธลัทธิและทฤษฎีทั้งปวง เป็นผู้ที่ไม่สังกัดลัทธิความเชื่อใด พระพุทธองค์ทรงอธิบายว่า*

“คำสอนของตถาคตมิใช่คัมภีร์หรือปรัชญา ทั้งมิใช่เป็นผลจากความคิด หรือการอนุมานเหมือนกับปรัชญาทั้งหลาย ซึ่งมักจะพอใจกับความคิดที่ว่า แก่นมูลฐานของจักรวาล คือ ไฟ น้ำ ดิน ลม และวิญญาณ… การอนุมานและความคิดที่เกี่ยวกับความจริงก็เป็นเสมือนฝูงมดที่ไต่ไปรอบๆ ขอบชาม พวกมันไม่ได้เดินไปถึงไหนเลย คำสอนของตถาคตไม่ใช้ปรัชญา หากเป็นผลจากประสบการณ์โดยตรง สิ่งต่างๆ ที่ตถาคตพูดล้วนมาจากประสบการณ์ของตถาคตเอง ท่านสามารถประจักษ์สิ่งเหล่านี้ด้วยประสบการณ์ของท่านเอง… เป้าหมายของตถาคตมิใช่อยู่ที่การอธิบายจักรวาล แต่อยู่ที่การช่วยให้ผู้อื่นมีประสบการณ์โดยตรงกับความจริง ถ้อยคำไม่สามารถอธิบายความจริงได้ มีแต่ประสบการณ์โดยตรงเท่านั้นจึงจะสามารถช่วยให้เราเห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของสัจจะ”

แม้ทีฆนขะดาบสจะอุทานขึ้นด้วยความอัศจรรย์ใจ แต่ท่านก็ได้ตั้งคำถามอันแยบคายกับพระพุทธองค์ว่า “…แต่จะเกิดอะไรขึ้นเล่า หากบุคคลยังเข้าใจว่าคำสอนของท่านก็เป็นลัทธิอย่างหนึ่ง”

พระองค์ทรงตอบว่า “…คำสอนของตถาคตเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการบรรลุถึงความจริง แต่มิใช่ความจริงเสียเอง เช่นเดียวกับนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ย่อมมิใช่ตัวดวงจันทร์เสียเอง บุคคลผู้ฉลาดย่อมอาศัยนิ้วเป็นเครื่องชี้ให้มองเห็นดวงจันทร์ บุคคลใดเพียงแต่เพ่งมองไปที่นิ้วและเข้าใจผิดว่านิ้วเป็นดวงจันทร์แล้วไซร้ บุคคลนั้นจะไม่มีทางมองเห็นดวงจันทร์ที่แท้จริงได้เลย…”

ถ้อยคำไม่สามารถอธิบายความจริงได้ มีแต่ประสบการณ์ตรงเท่านั้น ที่ช่วยให้เราเห็นโฉมหน้าแท้จริงของสัจจะ

ถ้าอย่างนั้น เราควรเลิกท่องจำทฤษฎีต่างๆ รวมถึงเลิกสวดมนต์ไหว้พระ แล้วออกไปหาประสบการณ์ข้างนอกดีกว่าไหม?

เป็นไปได้ว่าจะมีคนที่รู้แจ้งเห็นสัจธรรมได้ด้วยการออกเดินทางจาริกไปยังดินแดนต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีคุรุชี้บอกทาง แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้เช่นนั้น และหากเรายังคงเป็นปุถุชนคนธรรมดา เราก็ยังคงต้องการทั้งคบไฟหรือนิ้วที่ชี้ไปยังตำแหน่งของดวงจันทร์ ก่อนที่จะดุ่มเดินไปบนเส้นทางแห่งชีวิตสู่เป้าหมายอันสูงสุด

ความรู้ที่บรรจุอยู่ในตำราหรือจากการบอกเล่านั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ด้านการทดลองวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ ทักษะในการดำรงชีวิต เช่น การปรุงอาหาร สร้างเครื่องยนต์กลไก การก่อสร้าง ฯลฯ รวมถึงกระบวนการคิดวิเคราะห์และการฝึกสมาธิภาวนา

สิ่งที่อาจมองว่าเป็น ปัจจัตตัง คือ การรู้ได้เฉพาะตนก็มิได้หมายความว่า ปัจเจกชนจะต้องคลำหาหนทางในการเรียนรู้ฝึกฝนด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว เราสามารถเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกของผู้อื่น แล้วนำมาปรับใช้ในการฝึกฝนของตนเองได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ไม่มีใครอ่านตำราทำอาหารแล้วสามารถทำได้อร่อยเลิศในครั้งแรก (หากไม่บังเอิญ) เพราะยังมีสิ่งที่ตำราไม่สามารถบรรจุเอาไว้ได้อีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นเหตุปัจจัยเฉพาะหน้าที่เราต้องเผชิญและเลือกวิธีปฏิบัติเอง เราต้องเรียนรู้จากความเค็มเกินหรือหวานเกินด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงหรือการลองผิดลองถูกด้วยตนเองอาจจะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร หากเราเพียงรับรู้ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแต่มิได้นำมาคิดใคร่ครวญให้ตกผลึกเป็นความรู้ ความแตกต่างของคนที่เติบโตทางจิตวิญญาณกับคนที่เติบโตทางกายภาพอยู่ตรงนี้เอง ในโอกาสต่อไป ฉันจะชวนคุณมาเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของคนที่เติบโตทางจิตวิญญาณ หากฉันไม่ตกลงมาจากโต๊ะหนังสือจนแข้งขาหักไปเสียก่อน!

* คัดลอกจาก หนังสือ คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ เล่ม 2 บทที่ 32 เขียนโดย ติช นัท ฮันห์ แปลโดย รสนา โตสิตระกูล, มูลนิธิโกมลคีมทอง


ภาพประกอบ

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน