หลังจากเออร์ลี่ รีไทร์จากงานประจำเมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน พี่วีน ถวิลเวชกุล ก็สมัครมาเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้วของการเป็นจิตอาสาที่สถาบันประสาทวิทยา โดยเธอจะเข้ามาทำงานอาสาฯ เป็นประจำทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วันเป็นอย่างน้อย ทั้งยังจัดสรรเวลามาช่วยงานอบรมปฐมนิเทศอาสาสมัครรุ่นใหม่ๆ อยู่เป็นประจำ
“เห็นประกาศรับสมัครอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลสักพักใหญ่ ตั้งใจไว้ว่า วันไหนที่ออกจากงานจะมาทำงานนี้ เราเออร์ลี่เดือนมิถุนายน ก็สมัครล่วงหน้า เพื่อจะได้มาทำอาสาเดือนกรกฎาคม งานอาสานี้เป็นงานต่อเนื่อง ใช้เวลาแค่อาทิตย์ละวัน ตอนนั้นคิดว่าถ้าเราว่างมากกว่านี้ ก็เพิ่มเติมวัน ค่อนข้างยืดหยุ่นสำหรับเรา และอีกอย่างการเดินทางสำหรับตัวเองไม่ได้ลำบาก จากบ้านแถวพระโขนงนั่งรถเมล์ตอนเช้ารถไม่ติด เดินมาอีกหน่อยถือเป็นการออกกำลังกายด้วย”
ก่อนมาเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล พี่วีนทำงานอาสาสมัครมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยใช้เวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือเวลาว่างที่พอลางานได้ อาทิ งานอาสาที่ชมรมเพื่อนคนตาบอด อาสาที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนและพิการทางสมองและปัญญา (บ้านเฟื่องฟ้า) อาสาเป็นพี่เลี้ยงที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อน ปากเกร็ด ซึ่งที่หลังนี้พี่วีนไปเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่จำเป็นต้องงดไป เพราะสถานสงเคราะห์ปิดรับคนภายนอก เพื่อความปลอดภัยในช่วงโรคระบาด
“เราทำงานอาสาอะไรก็ได้ ตามจังหวะและโอกาสเอื้ออำนวย แล้วเป็นประโยชน์กับงานตรงนั้น อย่างงานเกี่ยวกับคนตาบอดจะเป็นครั้งคราว แต่งานเด็กเขามีให้เป็นประจำต่อเนื่อง ที่ต้องการอาสาอย่างน้อย 6 เดือน เลยเป็นงานที่ได้ทำตลอด ตอนทำงานประจำบางทีรู้สึกเหนื่อย เครียด แต่พอนึกถึงวันเสาร์-อาทิตย์ที่จะไปทำงานอาสาฯ กลับทำให้มีกำลังใจในการทำงาน เพราะรู้สึกว่าจะได้เจอน้องที่เราดูแลในสถานสงเคราะห์ เจอเพื่อนอาสาสมัครด้วยกัน เหมือนมีรางวัลรออยู่”
จากงานอาสาสมัครต่อเนื่องที่สถานสงเคราะห์เด็ก พี่วีนได้มาเป็นอาสาสมัครต่อเนื่องที่สถาบันประสาทวิทยา แรงบันดาลใจสำคัญคือ อยากทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น บวกกับประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักเวลาเคยพาคุณแม่ไปรับบริการที่โรงพยาบาล จึงทำให้พี่วีนอาสามาช่วยอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล
“เคยพาคุณแม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล เจอปัญหาไปไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มจุดไหน แต่ละจุดทำยังไงต่อ ไม่มีใครบอก หรือบอกผิด ชี้ไปทางโน้นทีทางนี้ที พอไปยืนรอคิว ปรากฏว่าไม่ใช่ตรงนี้ ต้องไปอีกที่ ต้องเดินกลับไปมา เป็นประสบการณ์ที่รู้สึกว่าไม่ดีนัก ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราอยากทำตรงนี้ด้วย พอเวลามีผู้ป่วยเข้ามาถามว่าจะไปจุดไหนต่อ เราจะพยายามช่วยเหลือให้มากที่สุด บางทีจุดที่เราดูอยู่ไม่ยุ่งมาก ยังไม่มีคนไข้ ก็จะพาผู้ป่วยเดินไปยังจุดต่อไป ไม่อยากชี้โบ๊ชี้เบ๊ ไปทางโน้นนี้ ซึ่งเราเข้าใจดี เวลาเป็นคนใหม่มาโรงพยาบาล เราไปไม่ถูกหรอก”
พี่วีนบอกว่าทั้งงานอาสาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก และงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ล้วนต้องอาศัยความใจเย็น ซึ่งส่งผลต่ออุปนิสัยส่วนตัวที่ค่อนข้างใจร้อน ให้ใจเย็นขึ้น และยังช่วยทำให้ไม่ด่วนตัดสิน โดยเฉพาะการทำงานกับผู้ป่วย
“เราต้องคอยสังเกตผู้ป่วยด้วยว่าแต่ละคนมีปฏิกิริยาอย่างไร อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าที่เขาทำแบบนี้ เพราะเป็นแบบนี้ตามที่เราคิด เช่น เขาพูดจาไม่ดี เขาเสียงดังใส่ จริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะอาการของโรค ต้องอาศัยความใจเย็นเข้าสู้ และคุยไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาป่วยเป็นอะไรมา ซึ่งความที่ต้องฝึกให้ตัวเองใจเย็นจากงานอาสา ก็ส่งผลกับนิสัยส่วนตัวให้ใจเย็นด้วย แต่ว่ายังคงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะวิถีชีวิต ความคิด ปฏิกิริยาเราบ่มเพาะมานาน แต่หวังว่ามันจะซึมไปเรื่อยๆ ตอนนี้ชีวิตเราสโลว์ไลฟ์ขึ้นแล้ว เราน่าจะปรับให้เย็นลงกว่าเดิมได้”
จุดปฏิบัติงานประจำของพี่วีนที่สถาบันประสาทวิทยา คือ จุดวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เมื่อมีอาสาสมัครรุ่นใหม่ในแต่ละเดือนเข้ามาทำงาน พี่วีนก็จะช่วยแนะนำการใช้งานของอุปกรณ์ การดูค่าความดัน ขั้นตอนการทำงาน รวมทั้งยังช่วยเป็นพี่เลี้ยงเรื่องการดูแลใจ การปฏิบัติตน หากน้องๆ เจอคนไข้ที่ไม่พอใจ หรือพูดจาไม่ดี
“เคยพาคุณแม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล เจอปัญหาไปไม่ถูก เจ้าหน้าที่ชี้ไปทางโน้นทีทางนี้ที พอไปยืนรอคิวปรากฏว่าไม่ใช่ ต้องเดินกลับไปมา เป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก ก็เป็นเหตุหนึ่งของการมาเป็นอาสาสมัคร”
หลังจากทำงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี ความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างหนึ่งที่พี่วีนพบก็คือ มีความกล้ามากขึ้น กล้าที่จะช่วยเหลือผู้อื่นนอกเวลาของการทำงานอาสาในโรงพยาบาล
“เมื่อก่อนเราไม่ค่อยกล้าเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ได้แต่มอง ได้แต่อยู่เฉยไม่เข้าไปยุ่ง แต่ทุกวันนี้ถ้าเรารู้สึกว่าคนนี้มีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ โดยที่เขาไม่ได้ร้องขอนะ แต่สังเกตจากสีหน้าท่าทางเขา เราก็จะเข้าไปถามไถ่ เข้าไปช่วยเหลือ คิดว่าได้ส่วนนี้มาจากงานอาสาในโรงพยาบาล ที่ทำให้เราสังเกตผู้คนได้ว่า ใครต้องการความช่วยเหลือ ทำให้รู้จักสนใจคนรอบข้างมากขึ้น เช่น เคยเจอคนกำลังรอรถเมล์ พอรถคันไหนจอด เขาก็เดินไปถามกระเป๋าว่า ผ่านตรงนั้นไหม หลายคันผ่านไปก็บอกไม่ผ่าน เราได้ยินว่าเขาจะไปที่ไหน ก็อาสาเข้าไปบอกวิธีการไป แนะว่าถ้าไปตรงนี้ใช้รถไฟฟ้าจะถึงตรงกว่า หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปอีกเส้นหนึ่ง รู้สึกว่าถ้าเราไม่เดินไปบอก เขาต้องยืนรอรถอยู่นานแน่ๆ”
งานอาสาสมัครนั้นเป็นงานที่ไม่มีเงินตราค่าตอบแทนใดๆ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา พี่วีนกลับเลือกสละเวลาส่วนตัวของตัวเองมาทำงานเพื่อผู้อื่น เพราะสิ่งที่เธอได้รับนั้นล้ำค่ายิ่งกว่าสิ่งของเงินตรา
“สิ่งที่ได้รับตอบแทนคือ ความอิ่มเอมใจที่ได้รับจากงานที่เราทำ อย่างตอนเลี้ยงน้องในสถานสงเคราะห์ เราได้ปฏิกิริยาที่น้องมีต่อเรา ความรักที่เขาให้เรา รู้สึกดีใจที่เห็นพัฒนาการเขาดีขึ้นเรื่อยๆ จากที่เดิมอาจไม่ยอมพูด เหม่อลอย พอเขาร่าเริงขึ้น รู้จักพูดจาถามโน่นนี่มากขึ้น เล่นกับเพื่อนสนุกสนาน เราก็ดีใจที่เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น หรือผู้ป่วยที่เราอำนวยความสะดวกให้ พอเขาขอบคุณเรา หรือถามแค่ว่า เหนื่อยไหม เราก็ดีใจ อิ่มใจแล้ว และก็รู้สึกดีใจที่มีส่วนทำให้ผู้ป่วยมีความสุข มาโรงพยาบาลด้วยรอยยิ้ม และกลับไปด้วยรอยยิ้ม”
ซึ่งเธอเชื่อว่า ความตั้งใจดีของจิตอาสาที่ช่วยเหลือผู้อื่นนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความดี ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ให้ผู้ที่ได้รับส่งต่อสิ่งนี้แก่ผู้อื่นเช่นกัน