สิ่งใดเล่าที่เรา “เอาอยู่”

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 8 เมษายน 2012

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนแรกห่าใหญ่หลั่งมาเยือนกรุงเทพฯ แล้ว

พร้อมกับคำถามที่ถามกันเองในหมู่ชาวกรุงว่า ปีนี้น้ำจะท่วมอีกไหม?

หลายคนยังไม่กล้าซ่อมบ้าน สถานที่ราชการบางแห่งยังไม่รื้อแนวกระสอบทรายที่วางเป็นคันกั้นน้ำไว้เมื่อปีที่ผ่านมา

สะท้อนความลังเลไม่มั่นใจกับภัยธรรมชาติที่ยังไม่ใครรับประกันได้

ต่างจากเมื่อปีก่อน ที่เราทั้งหลายโดยเฉพาะในหมู่ผู้นำผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ต่างยืนยันอย่างมั่นอกมั่นใจว่า

เอาอยู่

จนคำนี้ดูจะกลายเป็นหนึ่งในคำฮิตในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ๒๕๕๔

เป็นคำเดิมที่ถูกให้ความหมายใหม่ในทำนองว่า เอาชนะได้

เราเริ่มได้ยินคำนี้ตั้งแต่ช่วงที่มวลน้ำใหญ่เข้าโจมตีเมืองปากน้ำโพ  นครสวรรค์  และกลายเป็นด่านแรกที่เสียหายอย่างหนักจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

ชาวปากน้ำโพที่เป็นผู้ประสบภัย เล่าว่าพวกเขาแทบไม่ได้เตรียมการเคลื่อนย้ายหรือยกข้าวของขึ้นที่สูง  ด้วยมั่นใจว่านายกเทศมนตรีเมืองปากน้ำโพ-เอาอยู่

แต่แล้วเหตุการณ์ก็เป็นเช่นที่ทุกคนรู้ น้ำเหนือปริมาณมหาศาล ที่เปรียบกันว่าเหมือนมีแม่น้ำปิงอีกสายไหลลงสมทบ  ทลายคันกั้นเข้าท่วมตัวเมืองนครสวรรค์  ก่อนจะหลากลงสู่ที่ราบภาคกลาง ท่วมบ้านเมืองตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจ่อที่จะเข้าเมืองหลวง

เวลานั้นนายกรัฐมนตรีหญิงยังบอกด้วยรอยยิ้มระรื่น “เอาอยู่ค่ะ”

กระสอบทรายจำนวนมหาศาลถูกนำไปวางเสริมแนวคันคลองหกวา ป้องกันน้ำจากปทุมธานีเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ

แม้ผู้ว่าฯ กทม. จะแสดงความมั่นใจว่ายังเอาอยู่  แต่คนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งก็เริ่มก่อกำแพงสร้างแนวป้องกันบ้านเรือนของตัวเองกันบ้างแล้ว

เวลานั้นกรุงเทพฯ ยังไม่เปียกน้ำ  แต่สัญญาณบางอย่างก็เริ่มปรากฏ

ในซูเปอร์มาร์เก็ตแทบทุกแห่งเหลือแต่ชั้นวางของว่างเปล่า  อาหารและน้ำดื่มถูกคนกรุงกว้านซื้อไปตุนจนห้างร้านว่างโหวงอย่างน่าวังเวงใจ

สนามบินดอนเมืองกลายสภาพเป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยที่ย้ายมาจากธรรมศาสตร์ รังสิต หลังต้านมวลน้ำไม่อยู่

เต๊นท์เป็นพันๆ หลังกางเรียงรายอยู่ภายในอาคารผู้โดยสารที่เคยเป็นที่พัก-ทางผ่านของผู้คนที่มาใช้บริการสนามบินแห่งนี้

เป็นภาพที่เห็นแล้วชวนหดหู่และหวาดหวั่นพรั่งพรึง  แต่ในตอนนั้นคงยังไม่มีใครคาดคิดไปว่า ยังมีสิ่งน่ากลัวที่ใหญ่กว่ารออยู่ เมื่อในอีกไม่นานวันต่อมา สนามบินดอนเมืองได้กลายเป็นบึงน้ำ–น้ำท่วมเครื่องบิน

โดยที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันนายกรัฐมนตรียังยืนยันคำเดิมมาจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) ที่ย้ายจากธรรมศาสตร์ รังสิต มาอยู่ที่ตึก ปตท. ว่า

เอาอยู่ค่ะ

ช่วงที่ถนนวิภาวดีรังสิตและถนนพหลโยธินยังพอสัญจรได้โดยรถล้อสูงอย่างรถยีเอ็มซีของทหาร  เครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจิตอาสาหลายองค์กร อาทิ มูลนิธิโกมลคีมทอง  หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ ฯลฯ ร่วมกันระดมความช่วยเหลือทั้งข้าวของและแรงกาย เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดอยุธยาซึ่งถูกน้ำท่วมก่อน

ข้าวของบริจาคหลายคันรถยีเอ็มซีถูกถ่ายใส่เรือใหญ่ของกองทัพเรือที่ละจากภารกิจตรวจการทางทะเลมาช่วยรับมือกับภัยน้ำท่วม  ลำเลียงเสบียงปัจจัยแล่นทวนกระแสน้ำเชี่ยวกรากของลำน้ำเจ้าพระยาขึ้นไปยังแถบที่ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง

ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาในยามนั้นแทบมองไม่เห็นสองฟากฝั่งของลำน้ำเดิมอีกแล้ว ผืนน้ำแผ่กว้างจนหาขอบเขตไม่เห็น  คนในพื้นที่บอกว่ากระแสน้ำหลากไปถึงอำเภอต่ออำเภอ  คนในพื้นที่ต้องอาศัยการสัญจรทางเรือเป็นหลัก

อาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามริมลำน้ำ บางส่วนถูกน้ำท่วมมิดหลังคา ที่อยู่สูงขึ้นไปก็อยู่รอดไปตามสัดส่วนความสูง  แต่ก็สูญเสียภาวะการอยู่อาศัยตามปรกติสุข

วัดวาอาราม รวมไปถึงศาสนสถานของทุกศาสนา ทั้งวัด สุเหร่า โบสถ์ ถูกน้ำท่วมโดยเท่าเทียม  โบราณสถานที่ผ่านกาลเวลามานับร้อยๆ ปี ที่มีความสำคัญถึงได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางประวัติศาสตร์ ก็ไม่มีอะไรสามารถโอบอุ้มไว้ให้พ้นน้ำได้

หรือสิ่งสร้างสมัยใหม่อย่างห้องน้ำที่สวยงามหรูหราในวัดบางแห่ง ที่เคยเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว  ให้ชาวบ้านในท้องถิ่นได้พึ่งพาเป็นที่ขายของหารายได้  ก็มาถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด  วัดเองยังต้องกลายเป็นผู้รับความช่วยเหลือ

หลังชาวจิตอาสาจากกรุงเทพฯ กลับจากอยุธยาได้ไม่กี่วัน  มวลน้ำขนาดมหาศาลก็ตามหลังมาถึง

และก็เป็นอย่างที่เรารู้  น้ำเข้าสู่พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองหลวง  เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๔๘๕

จากนั้นคำว่า เอาอยู่ ก็กลายเป็นคำล้อเล่น  ที่ไม่มีใครออกมาพูดในท่วงทีขึงขังจริงจังแบบเดิมอีก

อาจถือเป็นความพ่ายแพ้และเสียหน้าของผู้นำผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ที่เอามวลน้ำใหญ่ไว้ไม่อยู่

และถือเป็นโอกาสให้เราทั้งหลายได้เรียนรู้และตระหนักอีกครั้งหนึ่งว่า มิใช่แต่ภัยธรรมชาติเท่านั้นที่มนุษย์เราเอาชนะไม่ได้

แม้แต่ตัวเราเอง  วันหนึ่งเราก็เอาไว้ไม่อยู่


ภาพประกอบ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ