วาระแห่งการเปลี่ยนแปลง

วิชิต เปานิล 26 มกราคม 2007

ทุกชีวิตล้วนตกอยู่ในกระแสของการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในหลายๆ โอกาสดูเหมือนว่าเราจะชอบและรู้สึกตื่นเต้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต เช่น เมื่อเปลี่ยนศักราชใหม่ หรือเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ แต่นั่นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เรารู้ถึงผลที่จะเกิดตามมาได้  แต่โดยทั่วไปแล้วคนเรามักรู้สึกหวาดกลัวต่อความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ควบคุมไม่ได้ เราต้องการชีวิตที่มั่นคงลงตัวมากกว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน

ด้วยความที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการ มีความสามารถในการเรียนรู้ จึงพยายามหาวิธีการเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในชีวิต และถ่ายทอดสืบต่อความรู้นั้นมาในรูปของภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนแต่ละพื้นที่

เรามีวิธีการเก็บสะสมอาหารและน้ำไว้สำหรับหน้าแล้งที่จะมาถึง เรามีเครื่องรางของขลังติดตัวเมื่อออกเดินทางไกลที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน รวมทั้งมีพิธีกรรมทำบุญให้กับคนตายเพื่อเป็นเสมือนหลักประกันให้กับการเดินทางต่อไปสู่ภพภูมิข้างหน้าที่เราไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรแน่

ระบบเศรษฐกิจ การเงิน การประกันภัย ประกันชีวิต ก็ล้วนพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินที่เรามีอยู่  เทคโนโลยีทางสุขภาพและยาใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นมา ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยและญาติว่าจะมีโอกาสหายป่วยได้มากขึ้นหรือรอดตายมากขึ้น  ระบบไฟฟ้า การสร้างเขื่อนกักน้ำ ประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายล้วนทำขึ้นเพื่อตอบสนองความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุมไม่ได้ เพื่อความมั่นคงสุขสบายในการใช้ชีวิตนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังที่คอยผลักดันให้เกิดการพัฒนาทุกด้านในสังคมตลอดมา และจะยังคงเป็นแรงผลักดันต่อไปตราบเท่าที่เรายังคงรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต

ยิ่งในปัจจุบันที่แนวคิดบริโภคนิยมได้ใช้ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตของเรามาเป็นเครื่องมือกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ พวกเราผู้บริโภคจึงถูกกระตุ้นให้รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา

ผลที่ตามมาก็คือ เราต้องตะเกียกตะกายแข่งขันกันหาเงินมาจับจ่ายซื้อสินค้าที่คิดว่าช่วยเพิ่มความมั่นคงให้ชีวิตมากขึ้น จนทำให้การมีเงินมากมีความหมายเดียวกับการมีชีวิตที่มั่นคงไปโดยปริยาย

ความมั่นคงมีอยู่ ๒ ด้าน ที่อิงอาศัยกันอย่างแยกไม่ออก ได้แก่ ความมั่นคงภายนอก ที่ประกอบไปด้วยความมั่นคงในปัจจัยสี่ที่ทำให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้ กับ ความมั่นคงในจิตใจ ที่ผลักดันให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีจุดหมาย มีความชัดเจน มั่นคง ไม่โลเลสับสนวุ่นวาย

คนเราต้องมีความมั่นคงทางกายภาพระดับหนึ่งจึงจะมีเวลาพัฒนาความมั่นคงทางใจให้เกิดขึ้น และเมื่อเรามีความมั่นคงทางจิตใจมากพอก็จะไม่หลงไขว่คว้าหาแต่ความมั่นคงภายนอก

การที่เราถูกกระตุ้นให้บริโภคอย่างต่อเนื่อง แม้เราจะมีความมั่นคงภายนอกมากกว่าในอดีตมาก แต่เราก็ยังรู้สึกว่ายังไม่พอ และไม่มีเวลาได้คิดทบทวนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางใจ มิหนำซ้ำภาคการตลาดยุคนี้ยังพยายามสร้างสินค้ามาตอบสนองความต้องการความมั่นคงทางใจออกมาขายอีกด้วย

นอกจากจะปรับรูปแบบพิธีกรรม เครื่องรางของขลัง หรือวัตถุเสริมพลังชีวิตทั้งแบบที่อิงและไม่อิงอยู่กับศาสนาหรือลัทธิความเชื่อต่างๆ ให้กลายเป็นสินค้าให้เราซื้อหามาเสริมความมั่นคงทางใจได้ง่ายๆ แล้ว ยังพยายามสร้างคุณค่าให้กับสินค้าของเขาเพื่อมาช่วยเติมเต็มความรู้สึกไม่มั่นคงในจิตใจของผู้บริโภคอีกด้วย

เครื่องสำอางและเครื่องประดับราคาแพง เป็นตัวอย่างของสินค้ายุคใหม่ที่สร้างให้เป็นเสมือนของขลังที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงมั่นใจให้ผู้ใช้ ผู้สวมใส่  มีคนจำนวนมากที่ขาดความมั่นใจเมื่อตัวเองไม่ผอม ไม่ขาว หรือไม่ได้ใส่น้ำหอม หรือสวมเครื่องประดับราคาแพงก่อนออกจากบ้าน ซึ่งคงไม่ต่างจากความรู้สึกของคนในอดีตเมื่อไม่มีเครื่องรางของขลังติดตัวก่อนออกเดินทางไปต่างถิ่น

ความรู้สึกไม่มั่นคงหรือกังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญไม่ใช่เป็นเรื่องที่เลวร้าย แต่เป็นสิ่งดีที่คอยช่วยหนุนนำให้เกิดการคิดค้นพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา  แต่ส่วนที่เป็นปัญหาดูเหมือนจะอยู่ที่ทัศนะที่คอยตัดสินอยู่เบื้องหลังว่าวิธีการใดเหมาะสมกว่าหรือดีกว่าที่ควรเลือกมาใช้สร้างความมั่นคงให้ชีวิต ซึ่งปัจจุบันทัศนะที่ว่านั้นตัดสินโดยใช้ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นฐาน

เพราะถูกกระตุ้นให้รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องตะเกียกตะกายหาเงินมาจับจ่ายซื้อสินค้าที่คิดว่าช่วยเพิ่มความมั่นคงให้ชีวิตมากขึ้น

พุทธศาสนา หากมองในฐานะที่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สังคมใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่ได้เสนอทางออกด้วยการให้ไปพึ่งสิ่งของหรืออำนาจที่อยู่ภายนอก ไม่ได้ทรงแนะนำให้เราไปวิงวอนร้องขอหรือสยบยอมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิเพื่อจะได้ดลบันดาลประทานพลังหรือให้สิ่งที่ตนต้องการ

แต่พุทธศาสนาชี้แนะให้สร้างความมั่นคงขึ้นจากภายใน ด้วยการทำความเข้าใจสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติว่า โดยแท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด มันไม่ได้มีความมั่นคงดำรงอยู่อย่างนั้นได้ตลอดไป มันต้องแปรเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบที่สร้างมันขึ้นมา เพราะทุกสิ่งไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันอยู่ เมื่อรู้อย่างนี้การไม่ไปยึดติดหรือมุ่งหวังให้สิ่งเหล่านั้นมั่นคงคงอยู่ตลอดไปต่างหากที่เราควรทำ

หากทำได้เช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายก็จะไม่ทำให้เราทุกข์อีกต่อไป เกิดเป็นความรู้สึกมั่นคงอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ต้องวิ่งไขว่คว้าหาสิ่งของมาครอบครองหรือร้องขอจากสิ่งภายนอกอีกต่อไป

ขอให้ปีใหม่ซึ่งเป็นวาระที่ตอกย้ำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวันเวลา เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงในการมองโลกและทำความเข้าใจชีวิต เพื่อความมั่นคงกว่าในชีวิตของเรา  เพราะความมั่นคงที่ยังคงต้องอิงอยู่กับวัตถุเงินทองที่ไม่มีความมั่นคงในตัวมันเองนั้น จะมาเป็นที่พึ่งอันมั่นคงให้กับชีวิตเราอย่างแท้จริงได้อย่างไร


ภาพประกอบ