นัสรูดินทำกุญแจตกหายในซอกมุมแห่งหนึ่งที่บ้านของตนเอง เพื่อนบ้านพบว่านัสรูดินเคร่งเครียดกับการค้นหากุญแจอย่างจริงจังจึงได้มาช่วยกันค้นหา แต่ก็ไม่พบกุญแจแต่อย่างใด เวลาล่วงเลยไปนานสองนาน กระทั่งเพื่อนบ้านคนหนึ่งชักเอะใจจึงทักถามนัสรูดินว่า ทำกุญแจหล่นหายที่ไหน นัสรูดินนิ่งคิดสักครู่แล้วตอบว่า ตนทำกุญแจหล่นหายในบ้าน เพื่อนบ้านพากันแปลกใจเพราะบริเวณที่ค้นหามันอยู่นอกบ้าน จึงร้องถามว่าเหตุใดจึงเลือกค้นหานอกบ้าน ทั้งที่นัสรูดินก็รู้ว่ากุญแจตกหายในบ้านของตนเอง นัสรูดินจึง อธิบายว่า “เพราะบริเวณนอกบ้าน มันเปิดไฟสว่าง ค้นหาได้ง่ายกว่า เลยคิดว่าอาจจะหากุญแจเจอ”
นัสรูดินเป็นตัวเอกสำคัญในนิทานอาหรับ คล้ายๆ ศรีธนญชัยที่คนไทยคุ้นเคย นิทานเรื่องนี้ผู้เขียนได้รับรู้มาหลายครั้งแล้ว เพราะถูกใช้เปรียบเปรยแง่มุมความโง่ ความฉลาดของคนเรา อย่างไรก็ดีผู้เขียนต้องใช้เวลายาวนานทีเดียวกว่าจะเข้าใจความหมายเปรียบเปรยในนิทานเรื่องนี้ นัสรูดินก็เหมือนกับพวกเราทุกคนที่คุ้นชินกับการดำเนินชีวิตโดยมุ่งมองและใส่ใจกับโลกรอบตัว สังคม และวัฒนธรรม ที่มุ่งให้ความสำคัญกับความสำเร็จภายนอก การพัฒนาการเติบโตทางวัตถุ เศรษฐกิจสังคม ความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกทุ่มเท ลงทุนอย่างหนัก เพราะเราคาดหวังว่าเราจะค้นพบกุญแจที่หายไป ค้นพบความสุขที่ตนปรารถนา
ด้านหนึ่งของความสำเร็จดังกล่าว เราต่างมีชีวิตและสวัสดิภาพที่สุขสบายมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บที่เคยระบาดคุกคามและทำร้ายชีวิตมนุษย์จำนวนมากถูกลดทอนความรุนแรงและกำจัดหายไป พร้อมกับต้นทุนที่เราต้องจ่ายออกไปในรูปป่าไม้ถูกทำลาย สภาพแวดล้อมเลวร้ายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะโลกร้อนคุกคามมากขึ้น แต่ปัญหาที่ทำร้ายสังคม ทำร้ายผู้คนรุนแรงมากกว่า คือ ความแปลกแยกในสังคม ความเครียด ความเหงา ความกังวล ระแวง ภาพสะท้อนความภาวะทุกข์ยากในใจเช่นนี้ถูกระบายออกด้วยการบริโภคจนกลายสภาพเป็นลัทธิบริโภคนิยม
พฤติกรรมของนัสรูดิน รวมถึงหลายคนที่มุ่งค้นหาคำตอบถึงสิ่งที่ตกหายจากโลกภายนอก ก็คือท่าทีความคุ้นชินกับการพยายามค้นหาคำตอบในสถานที่ที่เราคุ้นเคย ประเด็นสำคัญคือ เราเลือกสถานที่ที่คาดหมายว่าเราจะพบคำตอบจากสถานที่ที่เราคุ้นเคย ไม่ใช่จากสถานที่ที่คำตอบนั้นตั้งอยู่ สถานที่ที่เราคุ้นเคยก็คือ ความสุขจากการเสพ การยอมรับ ชื่อเสียง อาหารการกิน สิ่งบันเทิงต่างๆ จะโดยความฉลาดมากหรือฉลาดน้อยก็ตาม พวกเราหลายคนตระหนักรู้ดีว่าคำตอบที่แท้ จริงๆ ก็อยู่ในตัวเราเอง เหมือนกับนัสรูดินก็รู้ดีว่ากุญแจที่ตกหาย แท้จริงก็ตกอยู่ในซอกหลืบในบ้านของตนเอง แต่ความไม่คุ้นเคย ความดำมืดบางอย่าง ทำให้เราไม่ถนัด ไม่คุ้นเคย ไม่กล้า รวมถึงความเครียด ความกังวลกับการค้นหาคำตอบ เราเลยเลือกที่จะอยู่กับความคุ้นเคยมากกว่า
กุญแจที่เราทำหล่นหาย ก็คือ การรู้จักและเข้าใจตนเอง เข้าใจโลก ชีวิต และเข้าใจความเป็นจริง อำนาจของความจริงช่วยให้เราเป็นอิสระจากความหลง ความไม่รู้ และคืนความสงบให้ตัวเรา กระนั้นสำนึกรู้ในเรื่องนี้ก็มีพลังอ่อนมาก ขณะที่แรงดึงดูดหรือแรงผลักให้เราวิ่งหากุญแจไปตามความคุ้นเคยมีแรงดึงดูดมาก คำพูดเปรียบเทียบภาพมนุษย์ในเรื่องนี้คือ มนุษย์คือเส้นลวดที่พาดผ่านหุบเหวที่เชื่อมโยงระหว่างความเป็นสัตว์ป่ากับความเป็นอภิมนุษย์
ภาวะความเป็นสัตว์ป่าขับเคลื่อนชีวิตด้วยความอยาก ความต้องการตามสัญชาตญาณเพื่อเอาชีวิตรอด การสืบเผ่าพันธุ์ รวมถึงการรวมหมู่ในสังคม สัญชาตญาณเหล่านี้เป็นเรื่องทั่วไป แต่สำหรับมนุษย์ ความต้องการเหล่านี้รุนแรงและเจือปนด้วยความเห็นแก่ตัว “ตัวกู ของกู” จนเกิดการสะสมจนเกินพอดี เกิดความอยุติธรรมในสังคม รวมถึงการเติบโตของลัทธิบริโภคนิยม กระนั้นหลายคนก็พบว่ามันไม่ใช่ความสุขที่แท้ หลายคนสนใจพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการยกระดับจิตวิญญาณ น้อมนำธรรมะและจิตวิญญาณเข้ามาสู่การดำเนินชีวิต ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ให้หลักการในเรื่องนี้ว่า “การมีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ” “การมีชีวิตที่เป็นประโยชน์และสงบเย็น”
กุญแจที่เราทำหล่นหาย แท้จริงก็อยู่ในตัวเราเอง นั่นคือ การเข้าใจตนเอง เข้าใจโลก ชีวิต และความเป็นจริง
“เราได้พบศัตรูแล้ว ที่แท้มันก็คือตัวเรานั่นเอง” คือภาวะความตื่นรู้ที่เราได้ค้นพบภาวะความเป็นสัตว์ป่า และจุดแรกเริ่มที่จะก้าวสุ่ภาวะความเป็นอภิมนุษย์ เพียงแต่เราต้องต่อสู้ ก้าวข้ามความเคยชินเดิมๆ ภาวะความเป็นสัตว์ป่ากัดกิน โบยตี ลงโทษ กัดข่วนทำร้ายในรูปความทุกข์ ความเศร้า ผิดหวัง จนหลายคนล้มป่วยด้วยโรคทางจิต ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ส่งผลต่อภาวะไร้สุขในครอบครัว แตกร้าว เชื่อมโยงกระทบกับปัญหาวัยรุ่น ยาเสพติด เพศสัมพันธ์ก่อนวัย ฯลฯ
ความทุกข์เหมือนหลุมดำที่ดูดกลืนชีวิต แต่มันเป็นแรงผลักให้เราตื่นรู้ การรู้ทุกข์จึงเป็นก้าวแรกของการตื่นรู้ เริ่มต้นภารกิจนี้ก่อน สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญของพวกเรา หาไม่ เราก็เตรียมพลัดตกสู่หุบเหว หรือจมปลักกับภาวะสัตว์ป่า ก้าวข้ามสู่ภาวะอภิมนุษย์ไม่ได้