“เดิน” เป็นหนึ่งอิริยาบถในหลายๆ อิริยาบถของมนุษย์ที่มีจังหวะก้าวกับท่าทางการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนขาทั้งสองข้างเป็นสำคัญ เราทราบว่ากำลังเดินมิใช่ย่างเยาะอยู่กับที่ ก็ต่อเมื่อมีการก้าวขาออกตัวเพื่อเคลื่อนย้ายตำแหน่งแห่งที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งบนบาทวิถีอันมิได้เร่งรีบตามธรรมชาติ หากเป็นการก้าวสลับขาซ้าย-ขวาอย่างฉับไว จะเรียกกิริยานี้ว่า “เร่งเดิน” เมื่อบวกการสปริงข้อเท้าเสริมเข้าให้ด้วยพร้อมกับการออกแรงมากขึ้นหายใจถี่ขึ้น มันก็จะกลายเป็น“การวิ่ง” แต่ว่าเร็วขึ้นหรือช้าลงคงต้องดูที่ใจของเราแต่ละคนเอง ทั้งนี้ทุกๆ อิริยาบถล้วนแล้วแต่มีความมุ่งหมายบางอย่าง ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยและที่หมายสำหรับการดำเนินชีวิตในตอนนั้น
บางครั้งเรามีการเคลื่อนที่ ทว่าตัวผู้เดินกลับมิได้ก้าวย่างขาข้างหนึ่งข้างใดออกไปเลย ซึ่งนี่จะเรียกว่าเป็นการเดินด้วยเท้าก็หาไม่ หากแต่เป็นการออกเดินอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกรวมอยู่ใน “การเดินทาง” ไม่ได้ใช้อวัยวะส่วนใดและมิได้มีการใช้กำลังกายแม้แต่น้อย ทว่าจิตใจกลับรู้สึกถึงการเคลื่อนที่อยู่หลายครั้งหลายหน ทั้งๆ ที่ร่างกายนี้ก็มิได้ปรากฏวี่แววใดๆ จากการสูญเสียเรี่ยวแรงทางกายให้เห็นเลย แต่กลับมีอาการประหนึ่งว่ารู้สึกเหน็ดเหนื่อยภายในจิตใจอยู่บ้างเหมือนกัน
แน่นอนอยู่แล้วที่ว่า การเดินทางไปไหน โดยวิธีการใด ไม่ว่าจะด้วยจุดมุ่งหมายอะไร อย่างไรเสียมันย่อมจะต้องให้ผลเป็นความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นอาการปกติธรรมดาแถมมาด้วยเสมอ ดังนั้นบางคนหรืออาจมีหลายคนเมื่อรู้ตัวว่า จะมีเหตุให้เขาหรือเธอต้องเดินทางในภายภาคหน้า คนเหล่านี้จึงมักจะเตรียมตัว เตรียมใจและตระเตรียมสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางเผื่อเอาไว้ให้พร้อมก่อนจะเริ่มต้นออกเดินทางจริงๆ อะไรเล่าคือสิ่งจำเป็นที่เราต้องการ อาหารจานโปรดรึ บัตรเครดิตใช่ไหม หรือว่าใครน่าจะเป็นเพื่อนร่วมทางในการไปครั้งนี้
หากลองมาพิจารณาดู ความต้องการพื้นฐานส่วนใหญ่ของคนเรามักจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ วิถีทางการหาเลี้ยงชีวิต การมีความสุขและรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย เมื่อใดที่มนุษย์ได้รับปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีพอย่างเพียงพอแล้ว การแสวงหาบางสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าก็จะเริ่มมีความสำคัญในเวลาต่อมา มันอาจจะเริ่มต้นด้วยคำถามอย่างเช่น จิตใจที่มีเสรีภาพแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร วิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตเช่นใดจึงจะเข้าถึงความสุขสงบสันติภายในใจได้จริง และด้วยคำถามดังกล่าวนี้ เราจึงย้อนกลับเข้ามาดูตัวตนเองเพื่อทำความเข้าใจชีวิตในปัจจุบันนี้ว่า สิ่งใดหนอ คือปัจจัยจำเป็นพื้นฐานอันดับแรกที่ต้องรู้และทำความเข้าใจก่อนการเดินทางจริง
คำตอบของคำถามที่ว่านี้ จึงเป็นเหมือนกับการโยนหินเพื่อถามทางจากตนเองหรือจากผู้รู้ ผู้กำลังไปในทาง หรือจากการศึกษาค้นคว้าความรู้ของผู้อื่น การพยายามค้นหาคำตอบทำให้มีคำถามมากมายผุดขึ้นมาในใจ อย่างเช่นว่า จะเดินทางไปไหน (เป้าหมาย) ไปอย่างไร (วิธีการ) ไปเพื่ออะไร (จุดมุ่งหมาย) พฤติกรรมเยี่ยงใดจำเป็นสำหรับการเดินทาง (การปฏิบัติตัว) และต้องมีความเข้าใจเช่นไรจึงจะเข้าถึงสิ่งนั้นได้จริง (หลักการเรียนรู้) หากจะบอกว่าคำตอบรวมของทุกคำถามก็คือ แผนที่ ที่รวมเส้นทาง ที่หมาย และหลักการที่เรียนรู้ได้เมื่อเราใส่ใจมันจริงๆ เป็นเสมือนคำถามให้เราค่อยๆ ยอมรับความจริงไปจนกระทั่งเห็นความแปรเปลี่ยน ความไม่คงอยู่เหมือนเดิม อีกทั้งมิอาจยึดถือเอาเป็นตัวเราของเราได้เลย
ถึงแม้ว่าแผนที่นี้จะมีคำตอบให้เราเสมอ แต่เราคงไม่สามารถเข้าใจมันด้วยวิธีการคิดนึกวิเคราะห์หาเหตุผลมาตอบโจทย์ข้างต้นได้ จนกว่าจะเป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากประจักษ์แจ้งแก่ใจในขณะที่เราเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงเวลาเดินทาง แผนที่จึงมิใช่เป็นแค่สิ่งที่ให้เราอ่านและรู้ความหมายที่ปรากฏอยู่บนกระดาษเท่านั้น แต่มันหมายถึงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางกับประสบการณ์ปัจจุบันอันแจ่มแจ้งในกายและใจนี้ ซึ่งส่งผลให้ไปถึงที่หมายได้จริงอย่างที่ต้องการไม่ช้าก็เร็ว
ภรรยา : เอ…ถึงรึยังคะ? มันน่าจะถึงแล้วนะ
สามี : เอ่อ…คาดว่าน่าจะใกล้ถึงแล้วล่ะครับ
ภรรยา : หลงทางก็ยอมรับมาตรงๆ ดีกว่านะคะที่รัก
สามี : เอ่อ…เปล่านี่ ดูในแผนที่ก็ยังถูกทางอยู่นะ
ภรรยา : เอ…นี่ ในแผนที่มันไม่มีทางนี้อยู่นะคะ
สามี : เอ่อ…ถ้าคุณไม่ว่าอะไร ผมว่าจะลองไปทางใหม่ดูบ้าง
ภรรยา : เอ…ไปอีกทางก็ดีค่ะ แต่รู้มั้ยคะเวลาคุณเรียกชั้นว่า “เอ่อ” เมื่อไหร่ ชั้นเดาได้เลยนะคะว่า คุณน่ะหลงแล้ว
สามี : เอ่อ…ผมว่าผมก็บอกคุณไปตั้งเป็นร้อยหนแล้วนะว่า สามีคุณชื่อ “เอ๋” ไม่ใช่ “เอ”
บางทีการหลงทาง อาการไม่เห็นป้ายบอกทาง หรือการเลี้ยวผิดทางบ่อยๆ ก็มิใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป หากเราฉุกใจรู้ขึ้นมาสักนิด มันอาจพลิกเรื่องกลับให้ดีก็เป็นได้ แต่ว่าจะรู้ทางไปเพื่อเหตุอันใดหนอ บางคนอาจคิดว่าน่าจะรู้ไว้ก่อนเผื่อเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า บางคนเห็นประโยชน์ระยะสั้นๆ แค่ไม่หลงตอนนี้ก็ใช้ได้แล้ว แต่ก็มีเหมือนกันที่มองหาเพียงผลประโยชน์แลกเปลี่ยนหรือเห็นเพียงมูลค่าราคา ถ้าบอกให้รู้แล้วฉันจะได้อะไร มิใช่รับรู้จดจำเพื่อไม่ให้ตนเองหลงทางเท่านั้น
อันที่จริงแล้วที่เราพยายามรู้กัน ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อให้ย้อนระลึกได้ในภายหลัง รู้เพื่อให้จำได้คุ้นตาเมื่อเห็นป้ายสะกิดใจตามข้างทาง และรู้ว่า แบบนี้เคยผ่านมาหนึ่งเที่ยว สองเที่ยวหรือหลายเที่ยวแล้ว ทว่าหากคิดแค่ผลประโยชน์ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงหรือไม่ เราคงไม่มีความกล้ามากพอที่จะลองเสี่ยงเพื่อเรียนรู้จากการหลงทางอีกนับครั้งไม่ถ้วนได้หรอก เช่นนี้แล้วเหตุปัจจัยกับโอกาสที่จะทำให้เราได้เรียนรู้กับรู้ทางที่ไม่ถูกเอาไว้สำหรับการเริ่มต้นเดินทางใหม่อีกหนอย่างถูกที่ถูกทางก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้แน่ๆ
เมื่อเราประจักษ์ถึงความจริงในที่สุดว่า การเริ่มต้นออกเดินทาง จะอย่างไรคงต้องมีการหลงทาง การคาดเดาทางอยู่บ้าง หรือกระทั่งว่าจะเลี้ยวผิดเส้นทางอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จักเข็ดหลาบสักที มันก็ไม่ได้มีอะไรดีหรือเลวกว่ากันหรอก ทางทั้งหลายนั้นเป็นเพียงหนทางเส้นหนึ่งที่แสดงปรากฏการณ์ธรรมชาติของกายกับใจ สะสมความเข้าใจให้แก่เราไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามคงต้องเผชิญดูเองถึงจะรู้ได้
ค่อยๆ ยอมรับความจริงไปจนกระทั่งเห็นความแปรเปลี่ยน ความไม่คงอยู่เหมือนเดิม อีกทั้งมิอาจยึดถือเอาเป็นตัวเราของเราได้เลย
ถ้าอย่างนั้นก็ต้องขอให้ทุกท่านมั่นใจได้เลยว่า การลองดูรู้ผิดจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับทุกคนต่อจากนี้ไป ถ้าเรารู้จักสังเกต จดจำ ใคร่ครวญ ให้โอกาสตนเองทดลองดูอีกและเริ่มต้นใหม่ทุกเมื่อ ขณะเผชิญความจริงที่อยู่ตรงหน้า ทั้งนี้มีข้อแม้เพียงว่า จะต้องอ่านแผนที่เป็นกับเริ่มต้นออกเดินทางซะที แผนที่การเดินทางสำหรับการไปในคราวนี้ที่เราพกติดตัวมาด้วยก็จะคงช่วยให้เรากลับเข้าไปในทางได้ง่ายขึ้น ทำให้เรามั่นใจเส้นทางและที่หมายซึ่งเราจะไปถึงได้ในไม่ช้า ส่วนที่เหลือจากนั้นก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของการรับรู้ ยอมรับและเข้าใจมากขึ้นๆ ส่วนจะเดินทอดน่อง เดินเร็วหรือว่าจะออกตัววิ่งไป หรือจะไปกับใครก็สุดแล้วแต่จริตนิสัย สิ่งที่ต้องการตามความเหมาะสมของแต่ละคนเองเถิด