คนเราจะสุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ถึงแม้จะมีโชคเพราะถูกหวย แต่หากรู้ว่าเพื่อนได้เงินรางวัลมากกว่าเพราะแทงมากกว่า ที่เคยดีใจก็กลับเป็นซึมเศร้าไปทันที ทำนองเดียวกันถึงแม้จะดีใจเพราะซื้อโทรศัพท์มือถือได้ถูกกว่าท้องตลาด แต่เมื่อรู้ว่าเพื่อนบ้านซื้อได้ราคาถูกกว่าที่ตัวเองซื้อ ปากที่เคยแย้มยิ้มก็หุบทันที
ในทางตรงข้ามแม้จะล้มป่วยหรือสูญเสียทรัพย์หรือการค้าขาดทุน แต่หากมองว่านั่นเป็นธรรมดาของชีวิตที่มีขึ้นมีลง จิตใจก็ยังผ่องใสเบิกบานได้ แม้จะมีเงินน้อย แต่ก็พอใจในสิ่งที่มี ภูมิใจในสิ่งที่ทำ อีกทั้งยังรู้ว่ามีคนอื่นอีกมากมายที่ลำบากกว่าตัว ชีวิตก็เป็นสุขได้ไม่ยาก
คนเราไม่ได้เป็นสุขได้เพราะทรัพย์ ตำแหน่งและสถานะเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต รวมถึงมุมมองและความคิดที่สามารถยกจิตออกจากความทุกข์ หรือนำพาจิตให้เข้าถึงความสุข ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบหรือมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นกับชีวิตก็ตาม ขณะเดียวกันก็สามารถกำกับชีวิตให้เป็นไปในทางที่ดีงาม เกื้อกูล ก่อประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นได้ ปัจจัยเหล่านี้เรียกรวมๆ ว่าปัญญา ความสุขที่เกิดจากปัญญา จัดว่าเป็นความสุขที่แท้ เพราะไม่อิงอาศัยปัจจัยภายนอก จึงเป็นหลักประกันแห่งความสุขอันยั่งยืนที่ไม่มีใครแย่งชิงได้
ปัญญาอันเป็นที่มาแห่งความสุขที่แท้และยั่งยืนนั้น สามารถจำแนกออกเป็น ๓ ด้านคือ คิดดี คิดเป็น และเห็นตรง
๑. คิดดี หมายถึงการมีความคิดความเชื่อและความเห็นที่ถูกต้องดีงามหรือมีเหตุผล เช่น เห็นว่าคุณค่าของชีวิตอยู่ที่การทำความดี มิใช่การสะสมวัตถุ ชื่อเสียง หรืออำนาจ หรือเห็นว่าการคำนึงถึงผู้อื่น ย่อมช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ส่วนความเห็นแก่ตัวนั้นให้ผลตรงข้าม
๒. คิดเป็น หมายถึงการรู้จักคิดหรือพิจารณา ทำให้เห็นความจริง สามารถแก้ปัญหาหรือทำกิจต่างๆ ให้สำเร็จได้ เช่น คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ หลงตามสิ่งเย้ายวน หรือเอนเอียงตามอคติ รู้จักมองแง่ดี เห็นด้านบวก รู้จักหาประโยชน์จากอุปสรรคหรือความทุกข์ หรือมองเห็นโอกาสท่ามกลางวิกฤต
๓. เห็นตรง หมายถึง การมีความเห็นที่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้วางใจได้อย่างถูกต้อง ไม่ก่อหรือซ้ำเติมให้เกิดทุกข์ เช่น เห็นว่าสุขหรือทุกข์ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของตน มิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก อีกทั้งยังมองเห็นว่าสิ่งทั้งหลายย่อมแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ไม่ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของเรา จึงไม่สามารถยึดมั่นให้เป็นไปดังใจได้ ปัญญาระดับลึกที่สุดคือการมองเห็นว่าความทุกข์นั้นมีรากเหง้ามาจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งต่างๆ ว่าเป็น “ตัวกูของกู”
การขาดปัญญาในการมองโลกและดำเนินชีวิตเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งในระดับบุคคลและทั้งสังคม ความบกพร่องทางปัญญาสะท้อนให้เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์ต่อไปนี้
จากการประเมินผลการเรียนของนักเรียนชั้นต่างๆ ในหลายปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กไทยมีความรู้ในระดับที่ต่ำมาก เช่น การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติเมื่อ ๒๕๔๙ พบว่า นักเรียนชั้น ป.๖ ทั่วประเทศ ทำคะแนนทุกวิชาโดยเฉลี่ยได้ไม่ถึงร้อยละ ๔๐ ยกเว้นภาษาไทยและวิทยาศาสตร์ ทำได้ร้อยละ ๔๓ ส่วนชั้น ม.๓ ทำคะแนนทุกวิชาโดยเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ ๔๐ ยกเว้นภาษาไทยและสังคมศึกษาทำได้ร้อยละ ๔๔ และร้อยละ ๔๑ ตามลำดับ
คุณธรรมของคนไทยโดยรวมอยู่ในสภาพที่ตกต่ำ เห็นได้ชัดจากสถิติการก่ออาชญากรรมซึ่งเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ มีคนถูกฆ่าตายวันละเกือบ ๒๐ คนหรือตายเกือบทุกชั่วโมง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับ คดีอุกฉกรรจ์อื่นๆ เช่น คดีข่มขืน ปัจจุบันจึงมีผู้หญิงถูกกระทำชำเราไม่ต่ำกว่า ๑๔ คนต่อวัน ในขณะที่เด็กถูกละเมิดทางเพศทุก ๒ ชั่วโมง
ประเทศไทยยังมีชื่อเสียงในด้านการลักขโมยและการคดโกงหรือคอร์รัปชั่น ในการสำรวจความเห็นของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจำนวน ๖๐,๐๐๐ คนเกี่ยวกับอันตรายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ปรากฏว่าเมืองไทยติดอันดับหนึ่งในเรื่องการลักขโมย และติดอันดับ ๒ในด้านการชิงทรัพย์โดยใช้ความรุนแรง นอกจากนั้นผลสำรวจความเห็นของนักธุรกิจต่างชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ยังพบว่าประเทศไทยมีคอร์รัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับ ๒ ในเอเชีย รองจากฟิลิปปินส์
ปัจจุบันคนไทยกินเหล้าสูงสุดเป็นอันดับ ๑ ในเอเชีย และติดอันดับ ๑ ใน ๕ ของโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ๑ ใน ๓ ของครัวเรือนทั้งประเทศซื้อหวยทั้งใต้ดินและบนดินถึงเดือนละ ๑,๘๕๐ บาทโดยเฉลี่ย จำเพาะหวยใต้ดินมูลค่าการเล่นทั้งประเทศมีจำนวนสูงถึงปีละ ๔ แสนล้านบาท ยังไม่นับการพนันบอล ซึ่งพบว่าร้อยละ ๒๕ ของผู้ที่อยู่ในวงจรการพนันฟุตบอลเป็นเยาวชน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กับความฟุ้งเฟ้อและค่านิยมบริโภค ซึ่งแพร่หลายไปยังทุกระดับ ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก เมืองหรือชนบท การเที่ยวห้างและจับจ่ายใช้สอยเป็นพฤติกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จนประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่นิยมการช็อปปิ้งมากเป็นอันดับ ๒ ของโลกรองจากฮ่องกง ทั้งหมดนี้นำไปสู่ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัว จนเกิดหนี้สินตามมา (ปัจจุบันสูงถึง ๑๑๕,๓๕๕ บาทต่อครอบครัวโดยเฉลี่ย)
ทั้งๆ ที่มีสิ่งเสพและสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น แต่คนไทยกลับมีความสุขลดลงและมีความทุกข์มากขึ้น ดังเห็นได้จากสถิติการการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีถึงวันละ ๑๓ คน หรือ ๒ คนทุก ๓ ชั่วโมง (มากกว่าอังกฤษถึง ๑๐ เท่า) แม้แต่วัยรุ่นก็มีถึง ๑ ใน ๔ ที่คิดอยากฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกันคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีจำนวนสูง ๖ ล้านคนหรือร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งประเทศ
การขาดปัญญาในการมองโลกและดำเนินชีวิต เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งในระดับบุคคลและทั้งสังคม
สังคมไทยจะมีปัญหาน้อยลงและผู้คนมีความสุขมากขึ้น หากมีทัศนคติ ๔ ประการเป็นพี้นฐานในการดำเนินชีวิต ได้แก่
การคิดถึงแต่ตนเอง ทำให้จิตใจคับแคบ อัตตาหรือตัวตนใหญ่ขึ้นทำให้ถูกกระทบหรือเป็นทุกข์ได้ง่าย ขณะเดียวกันก็เป็นคนสุขยากเพราะได้เท่าไรก็ไม่พอใจเสียที ในทางตรงข้ามการคิดถึงผู้อื่นช่วยให้ตัวตนเล็กลง เห็นความทุกข์ของตนเองเป็นเรื่องเล็กน้อย ยิ่งช่วยผู้อื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเพราะได้เห็นผู้อื่นมีความสุขด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งความสุขของเราย่อมไม่แยกจากความสุขของผู้อื่น
วัตถุนั้นให้ความสุขเพียงชั่วคราว แต่ก่อให้เกิดภาระทางจิตใจต่างๆ มากมาย การยึดติดความสุขทางวัตถุทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ แท้จริงที่มาแห่งความสุขนั้นมีอยู่มากมาย และสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่นความสุขจากมิตรภาพ จากความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น จากการทำงาน จากการทำความดี และจากสมาธิภาวนา เป็นต้น การตระหนักว่าความสุขมีหลายมิติและสามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ จะช่วยให้มีสุขได้ง่ายขึ้นและเป็นสุขที่ยั่งยืน
การหวังลาภลอย คอยโชค หรือการหวังความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อย เป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งในระดับบุคคลและสังคม การหันมาตระหนักว่าความสุขเกิดขึ้นได้จากความเพียรพยายามของตน ทำให้ความสุขอยู่ในอำนาจของเราเอง และทำให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โชควาสนา หรือหันเข้าหาวิธีการที่เป็นโทษ เช่น อบายมุข การพนัน และการฉ้อโกง
แม้คนทุกวันนี้จะคิดเก่ง แต่ก็มักเอาอารมณ์เข้ามาเจือปน ทำให้มองคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และโน้มเอียงไปในทางเข้าข้างตนเอง การพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยคำนึงถึงเหตุผล ยิ่งกว่าอารมณ์ จะช่วยให้มองสิ่งต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน สามารถแยกแยะถึงความแตกต่างระหว่าง “ถูกใจ” กับ “ถูกต้อง” ได้ ซึ่งช่วยให้สามารถคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อส่วนรวม อีกทั้งยังสามารถลดทอนอคติ นำไปสู่การเป็นอยู่ด้วยปัญญา และสามารถแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง
ทัศนคติทั้ง ๔ ประการ ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการพร่ำสอนหรือฟังเทศน์เท่านั้น หากยังต้องมีแบบอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจ และที่สำคัญคือมีกระบวนการที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และบ่มเพาะทัศนคติดังกล่าว อาทิ การได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม การร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม และมีการแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดจากการทำงาน จนสังเคราะห์เป็นบทเรียนหรือมุมมองในการดำเนินชีวิต