เติบโต: ตื่นได้แล้ว ตื่นๆ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 19 กุมภาพันธ์ 2017

ผู้เขียนจำได้ว่า หลังการผ่าตัดขณะที่หลับใหล ความหลับใหลราวกับถูกเขย่าให้สลายตัวไป หูเริ่มรับรู้เสียงร้องเรียกให้ตื่นขึ้น สมอง ระบบประสาทเริ่มเปิดการทำงาน ตาค่อยๆ เริ่มลืมขึ้น  ชั่วขณะที่ตื่นขึ้น ความรู้สึกภายในรับรู้ได้ถึงช่วงเวลาส่วนหนึ่งของชีวิตราวกับหายไป  การหลับใหลด้วยฤทธิ์ยาสลบนานแค่ไหน ผู้เขียนตอบไม่ได้ แต่ความรู้สึกที่จำได้แม่นยำคือ ช่วงเวลานั้นหายไป ฉากชีวิตที่มองเห็นช่วงหลับใหล มีแต่สีดำ

ภาวะหลับใหลเป็นภาวะปกติที่เราทุกคนคุ้นเคยอย่างดี เราเข้านอนทุกคืนและตื่นในยามเช้าทุกวัน แต่สิ่งที่สำคัญกับชีวิตมากกว่าการหลับใหลทางร่างกายคือ ‘การหลับใหลทางสติปัญญา สติสัมปชัญญะ’  ภาวะหลับใหลนี้เกิดขึ้นแม้ขณะที่เราลืมตาใช้ชีวิตหรือดำเนินชีวิต แต่แท้จริงภาวะภายในของเราอาจกำลังหลับใหลอยู่  หลับใหลจากความรู้สึกตัว หลับใหลจากความรู้ ความเข้าใจในชีวิต และเรื่องราวรอบตัว

หากทบทวน เฝ้าสังเกตชีวิต และท่าทีของผู้คนมากมาย เราอาจพบตัวอย่าง เช่น หลายคนมีปัญหากับสัมพันธภาพที่มีต่อคนรอบข้าง เครียด ทุกข์ใจกับสภาพกดดันทางเศรษฐกิจ อาชีพการงาน เหนื่อยใจกับพฤติกรรมของคนรอบข้าง ฯลฯ

สมชายมักเรียกร้องให้คนอื่นทำตามกฎระเบียบ เมื่อใดที่สมชายพบเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องในสายตาของตน สมชายก็จะใช้ท่าทีบ่นว่า ตำหนิ กล่าวโทษ  สมชายมองว่าตนเองกระทำด้วยความปรารถนาดี แต่สมชายไม่รู้ตัวว่าผลกระทบเกิดขึ้นคือ คนอื่นพากันถอนตัว หลีกห่างจากสมชายเมื่อต้องทำงานเป็นกลุ่มหรือทีมร่วมกับสมชาย  สมชายมองว่าเป็นเพราะความบกพร่องไม่พร้อมของคนอื่น

สมศรีกับสามีรักและใส่ใจลูกมาก โดยไม่รู้ตัว ทั้งสองมักปกป้องลูกจากความยากลำบากและช่วยอำนวยความสะดวกให้ โดยไม่เท่าทันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นั่นคือ แม้ลูกชายจะเติบโตจนบรรลุนิติภาวะ แต่ความคุ้นเคยที่หล่อหลอมมา ลูกชายของสมศรีกลายเป็นคนที่มีความอดทนและรับผิดชอบน้อย มักเลือกงานและเกี่ยงความยากลำบาก

สมควรทำงานหนักมาตลอด มีความสุขกับหน้าที่การงาน และอำนาจจากสถานภาพ บทบาทหน้าที่  แต่สมควรกำลังเครียด และพบความยากลำบากกับการปรับตัวในช่วงวัยเกษียณ ว่าจะทำอะไร หรืออย่างไรดีกับช่วงการเปลี่ยนแปลงนี้ สมควรไม่ได้เตรียมตัวเลยกับชีวิตขาลง ฯลฯ

ในฐานะผู้เขียนทำงานด้านการฝึกอบรม การพูดคุยด้านการเรียนรู้และเข้าใจตนเอง สิ่งที่พบคือ ผู้คนจำนวนมากเติบโตกับการเรียนรู้เพื่อความสำเร็จด้านอาชีพการงาน พ้นจากเรื่องนี้พวกเขาก็ไม่รู้อะไรเลย  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายคนหลับใหลกับเรื่องของชีวิต ความสัมพันธ์  ทุกข์ใจกับความขัดแย้ง ความผิดหวังต่างๆ  รวมถึงเครียดกับการใช้ชีวิต การงาน  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่จะต้อง ‘ตื่น’ จากการหลับใหล ด้วยการเรียนรู้เพื่อเข้าใจชีวิต เข้าใจโลกภายใน และเข้าใจความเป็นไปของชีวิต เริ่มต้นด้วย

๑) การรู้จักตน

คือ การรับรู้ถึงตนเองในฐานะบุคคลที่มีชีวิต จิตใจ และสามารถเป็นเจ้าของชีวิต ซึ่งหมายถึง ‘เราเป็นผู้กำกับชีวิตได้’ ด้วยการรู้จัก เท่าทันความคิดนึก อารมณ์ความรู้สึก และแรงผลักดันต่างๆ ที่ขับเคลื่อนในตัวเรา  ความตระหนักรู้นี้ คือพันธกิจที่เรามีหน้าที่เสริมสร้างให้ตนเอง  และถึงที่สุดของการรู้จักตน คือการรู้ถึงคำตอบที่มีกับคำถามจากส่วนลึกในตัวเราว่า ‘เราคือใคร’ อันเนื่องจากการมีความหยั่งรู้ภายใน ในรากฐานความเป็นตัวเรา

๒) การรู้จักคนอื่น

ในความหมายของ ‘การเข้าใจความเป็นมนุษย์’ ที่มีความปรารถนาไม่แตกต่างจากเรา มีโลกภายในที่มีความต้องการไม่แตกต่างจากเรา  รวมถึงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งแต่ละคนต่างก็มีสิ่งเหล่านี้ และต้องการความเคารพ การให้คุณค่า เช่นเดียวกับที่เราก็ต้องการ

๓) การรู้บริบท รู้ธรรมชาติ

ความเป็นไปของทุกชีวิตต่างมี ‘บริบท’ และ ‘ธรรมชาติ’ เป็นองค์ประกอบสำคัญ  ฤดูกาลที่หมุนเวียนของชีวิตในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่ทารกจนเข้าสู่วัยชรา แต่ละช่วงของวัฏจักรชีวิตมีธรรมชาติ ความต้องการ และพันธกิจการงานเฉพาะตัว  โดยมีเรื่องของวัฒนธรรม สังคม ประเทศ ระบบการเมือง เศรษฐกิจ สถานภาพ และบทบาทหน้าที่เป็นสภาพแวดล้อม อันเป็นเงื่อนไของค์ประกอบที่กำกับโอกาสและข้อจำกัดให้กับชีวิต

๔) การรู้ตัว รู้ปัจจุบัน

ถือเป็นสิ่งสำคัญของเคล็ดลับการมีความสุข บ่อยครั้งเราทุกข์ใจกับความวิตกกังวล เครียดกับอนาคตที่ยังไม่มาถึง ผิดหวังเจ็บปวดกับเรื่องราวอดีตที่ผ่านมา จนหลงลืมภาวะปัจจุบัน หลงลืมชีวิตปัจจุบัน ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้  การรู้ตัว รู้ปัจจุบันคือ ‘การมีสติ ระลึกรู้ในตนเอง’ ช่วยเชื่อมโยงให้เราอยู่กับสติปัญญา โดยมีสัมปชัญญะเป็นตัวกำกับชีวิต ให้กระทำภายใต้ความตระหนักรู้ต่อตนเอง ต่อคนอื่น ต่อบริบท และต่อธรรมชาติชีวิต

ปราศจากการรู้ใน ๔ เรื่อง ชีวิตก็มีความเสี่ยงที่จะอยู่ในวังวน ไม่สามารถออกจากวงจรความทุกข์ แล้วพฤติกรรมอาการที่สะท้อนออกมาก็กลายเป็นปัญหาอื่นตามมา เช่น การใช้ยาเสพติด การติดเหล้า การออกนอกบ้าน มั่วสุม มีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว รวมไปถึงการป่วยด้วยโรคเครียดซึมเศร้า  ดังนั้นเราจึงพบว่า เรามีปัญหามากมายทั้งปัญหาที่เป็นผลกระทบ ปัญหาที่แสดงถึงอาการของการเจ็บป่วยทางจิตใจ และปัญหาที่เป็นปัญหาแท้จริง

มากกว่าการหลับใหลทางร่างกาย คือ การหลับใหลทางสติปัญญา

หนทางของการเรียนรู้ “ภาวะการรู้ทั้ง ๔ ลักษณะ” อาจเริ่มด้วยการใช้ความทุกข์เป็นเครื่องมือการเรียนรู้  เราอาจใช้หลักธรรมะ หนังสือจิตวิทยา ปรัชญา และแนวทางดำเนินชีวิตเพื่อช่วยเราคลี่คลายปัญหาความทุกข์ใจ

เมื่อเราเจ็บป่วยทางกาย เราทุกคนคุ้นเคยกับการพบแพทย์ การไปรักษาพยาบาล  ส่วนการเจ็บป่วยทางจิตใจ ก็ต้องการความช่วยเหลือจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ — นอกเหนือจากพระหรือหมอดู เราอาจต้องการแนวทาง กระบวนการ และทักษะของผู้ทำงานด้านนี้ พร้อมกับหลักสำคัญคือ ‘การเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือดูแลตนเองได้’  แต่เมื่อยังขาดความสามารถ เราทุกคนก็ต้องเรียนรู้ขอความช่วยเหลือ เพื่อก้าวเดินด้วยตนเองได้ต่อไป

‘ความทุกข์ใจ ปัญหา บาดแผลชีวิต’ ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร คุณูปการสำคัญคือ เราเติบโตกลายเป็นคนใหม่ที่รู้จักตนเอง รู้จักคนอื่น รู้จักบริบท และรู้จักธรรมชาติได้  เนื่องด้วยบทเรียนของความทุกข์ที่ผ่านมาได้สั่งสอนเราให้ตื่น และดำเนินชีวิตด้วยความตื่น  ไม่เช่นนั้นชีวิตจะลงโทษ กัดข่วนจนกว่าเราจะตื่น


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน