สติเกิดขึ้นได้จากการที่เราทำอะไรรู้เนื้อรู้ตัว หมายความว่าทำอะไรก็ตามก็เอาใจใส่ไปในงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ขับรถ หรือว่าทำงานที่ต้องใช้ความคิด ถ้าเราเอาใจใส่ลงไปในงานด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว สติของเราเราก็จะพัฒนามากขึ้น แต่การที่เราจะทำแบบนั้นได้ หมายความว่าเราควรจะทำทีละอย่าง เมื่อเราทำอะไรทำทีละอย่าง ไม่ใช่ทำสองอย่างพร้อมกัน เราจึงสามารถเอาใจใส่ลงไปในงานได้อย่างเต็มที่ เรียกว่าทำงานด้วยใจเต็มร้อย เมื่อเราทำงานด้วยใจเต็มร้อย ซึ่งเกิดจากการที่เราทำทีละอย่าง ก็จะทำให้จิตของเราแนบแน่นอยู่กับงาน แน่นอนว่าบางครั้งใจเราก็จะเผลอไปคิด โน่นคิดนี่ ไม่เป็นไรเมื่อรู้ว่าใจเผลอก็เอากลับมาอยู่กับงาน การที่ใจถูกดึงกลับมา อยู่กับงานที่เราทำอย่างต่อเนื่อง เลยทำให้สติมีความระลึกได้ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ได้อย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่มักจะทำ 2 หรือ 3 อย่างพร้อมกัน กินข้าวไปด้วยก็คุยไปด้วย หรือดูโทรศัพท์มือถือไปด้วย ถ้าทำแบบบนี้สติเราจะอ่อน เป็นคนที่ฟุ้ง ใจลอยได้ง่าย หรือ วอกแวกได้ง่าย แต่ถ้าเราทำอะไรด้วยใจเต็มร้อย ทำทีละอย่าง เราก็จะทำด้วยความรู้สึกตัว แล้วสติก็จะสามารถช่วยให้จิตกำหนดอยู่กับงานได้อย่างต่อเนื่อง
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สติพัฒนาก็คือว่า ให้หมั่นสังเกตความคิดละอารมณ์อยู่บ่อยๆ แต่อย่าถึงขั้นไปดักจ้อง ความคิดหรือจิตใจ เวลาใจลอยขึ้นมาก็หันมาดูรู้ทัน เวลามีอารมณ์ใดเกิดขึ้นในใจ ดีใจเสียใจ ก็สังเกตว่าอารมณ์นั้นเกิดขึ้นในใจ การกระทำอย่างนี้จะช่วยฝึกให้เรามีสติ รู้ทันความคิด และอารมณ์ ถ้าเรารู้ทันความคิดและอารมณ์อย่างรวดเร็ว การที่ใจจะลอย หรือ จมกับอารมณ์ที่เป็นอกุศล ความเศร้าโศก ความโกรธ ก็จะมีน้อยลง ก็ช่วยทำให้เรารู้เนื้อรู้ตัวได้ดีขึ้น และการที่รู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างรวดเร็ว ยังทำให้ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับงานที่ทำได้ ไม่ว่าเราจะทำอะไร ใช้ร่างกายของเราใช้มือ ใช้ไม้ และอวัยวะ เช่น ถูฟัน อาบน้ำ มีการเคลื่อนไหวทางกาย เวลาเดินมีการเขยื้อนขยับทางกาย ถ้าใจเราอยู่กับการกระทำนั้นๆ เราจะพบว่าเวลากายทำอะไร ใจก็รู้สึก ทำอะไรใจรู้สึก คิดนึกอะไร ใจก็รับรู้ นี่เป็นวิธีการที่ช่วยทำให้สติของเราเจริญงอกงามมากขึ้น