ดินเคยนอนสะท้อนอุ่นกาย มองยอดไม้เมื่อยามแรกผลิ ปริกิ่งรวงเป็นพวงพุ่มใบ
น้ำที่ไหลหลั่งลงจากดอย ใจเจ้าลอยไปสู่ท้องทุ่ง มุ่งสู่เมืองเฟื่องฟุ้งแปลกตา
เจ้าเคยยิ้มเคยแย้มเบิกบาน สนุกสนานท่ามกลางผองเพื่อน เคยพูดเตือนและสนทนา
เจ้าเคยฝันถึงวันที่ดี มาบัดนี้มิอาจพบหน้า ดูใกล้ตาแต่แล้วไกลตีน
แผ่นดินที่หอม แผ่นดินที่ตรอม จะกอดเจ้าไว้ ยังไออุ่นกัน
รักเจ้าไว้ยังไออุ่นกัน ฝันและฝันให้ไกลที่สุด เจ้ามนุษย์จะหวังสิ่งใด
บทเพลง “ใกล้ตา ไกลตีน” สะท้อนภาพชีวิตของบุคคลคนหนึ่งที่ต้องเดินทางออกจากถิ่นที่อยู่ ออกจากผืนดินที่ให้ความสุข ความอบอุ่น ไปยังดินแดนแห่งใหม่ อาจเนื่องด้วยความฝัน ความปรารถนา แต่การเดินทางนี้กลับทำให้ความห่างไกลบางอย่างเกิดขึ้น เป็นความห่างไกลที่บทเพลงเรียกว่า “ใกล้ตา ไกลตีน” และราวกับการเดินทางนี้ก็ซ่อนความทุกข์และความขัดแย้งในเส้นทางไว้ด้วย แผ่นดินที่เคยโอบอุ้มมีทั้งความหอมชื่น และความตรอมตรมในคราวเดียว การเดินทางครั้งนี้ทำให้มีคำถามมาว่า เราต้องการอะไรกันแน่
ในทางจิตวิทยา คำถาม “เราต้องการอะไร” ในทุกพฤติกรรมที่เราแสดงออกจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ต่างล้วนมีวัตถุประสงค์ความมุ่งหมายอยู่ภายในใจทั้งสิ้น สิ่งที่ยุ่งยากคือ ความไม่ตระหนักรู้ในวัตถุประสงค์ ในความต้องการแท้ๆ ที่อยู่ภายในตน รวมไปถึงการอยู่ในภาวะมืดมนของความไม่ซื่อตรง ไม่สอดคล้อง การมีช่องว่างระหว่างความมุ่งหมายภายในใจ กับความมุ่งหมายที่บอกกล่าว ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างการยึดติดในคุณค่าทางวัตถุ กับคุณค่าภายในจิตใจ
ท่านแรบไบ โจเซฟ บี โวโลวิคชิฟ (Rabbi Joseph B.Soloveitchik) ได้เสนอแนวคิดโดยอิงศาสนายิวอันเนื่องกับพระผู้สร้าง ในเรื่องธรรมชาติความต้องการของมนุษย์ว่ามี ๒ ด้าน และธรรมชาตินี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่พระเจ้าได้สร้างมนุษย์ให้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยการนำดินโคลนขึ้นมาปั้นขึ้นรูปเป็นมนุษย์ เพื่อให้เป็นรูปฉายของพระเจ้า
ณ จุดนี้ มนุษย์ได้ถูกสร้างก่อกำเนิดขึ้นพร้อมกับ ‘ธรรมชาติความต้องการในเชิงรุก’ มุ่งหมายในเรื่องการเอาชนะโลกและธรรมชาติรอบตัว มุ่งมั่นในความสำเร็จ กระทำและขับเคลื่อนไปตามเสียงเรียกร้องของสังคมและโลกรอบตัว เรียนรู้และค้นหาวิธีการ หรือหนทางที่จะเอาชัยชนะต่ออุปสรรค ต่อเป้าหมาย ภายใต้การตรึกตรองด้วยต้นทุน กำไร และความคุ้มได้คุ้มเสีย ธรรมชาติส่วนนี้ต้องการ ‘ความภาคภูมิใจ’
เมื่อพระเจ้าได้สร้างรูปกายของมนุษย์ พระเจ้าก็ได้ให้ชีวิตมนุษย์ด้วยการเป่าลมหายใจเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ให้มีชีวิตขึ้นมา มนุษย์ถือกำเนิดพร้อมกับลมหายใจขับเคลื่อนชีวิตและร่างกาย การถือกำเนิดนี้มาพร้อมกับ ‘ธรรมชาติความต้องการในเชิงรับ’ ที่มุ่งหมายในเรื่องการมีคุณค่า การเข้าถึงความหมายของชีวิต เพื่อมุ่งแสวงหาความดี ความงาม และความจริง รวมถึงการมีท่าทีเชิงรับฟัง อ่อนน้อมถ่อมตนต่อโลกและธรรมชาติภายในตน สิ่งที่มุ่งเอาชนะคือ ตนเอง มีการครุ่นคิดตรึกตรองด้วยหลักคุณธรรมและจริยธรรม ธรรมชาติส่วนนี้เรียกร้องการ ‘ความสงบสันติสุขในจิตใจ’
สิ่งที่ยุ่งยากคือ ความไม่ตระหนักรู้ในความต้องการแท้ๆ ที่อยู่ภายในตน
และเพื่อให้เราบรรลุในความต้องการ เราทุกคนต้องสร้างอำนาจขึ้นมาในตัวเรา อำนาจในฐานะการมีความสามารถในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรต่างๆ เพื่อไปในทิศทางที่เราต้องการ หลายคนใช้ความรู้ ประสบการณ์ที่สั่งสม เส้นสายความสัมพันธ์ บทบาทหน้าที่ ตำแหน่ง เกียรติยศ ฯลฯ เป็นอำนาจเพื่อเกื้อกูลสนับสนุนให้ผลประโยชน์มาที่ตนเอง พวกพ้อง หรือเพื่อสังคมส่วนรวม หรือเลือกสรรที่จะเอื้อเฟื้อสนับสนุนใคร อะไร หรือไม่สนับสนุนใคร หรืออะไร ดังนั้น โดยตัวอำนาจเองมีฐานะเป็นเครื่องมือที่การใช้ประโยชน์จะนำไปใช้เพื่ออะไรและอย่างไร จึงขึ้นกับเจตนาของผู้ใช้หรือผู้ถือครองอำนาจนั้นๆ
ตัวอำนาจอาจเป็นสิ่งชั่วร้าย เนื่องเพราะอำนาจสามารถกระตุ้น เปิดโอกาสให้ ‘ธรรมชาติความต้องการเชิงรุก’ สามารถทำงานได้อิสระ ทำได้เต็มที่ และสิ่งนี้จำเป็นต้องอาศัยธรรมชาติความต้องการอีกด้านมาช่วยเท่าทันหรือต้านทาน เพื่อไม่ให้เราหลงใหล ถูกดึงดูดให้จมจ่อมกับธรรมชาติความต้องการเชิงรุกเพียงอย่างเดียว
ธรรมชาติความต้องการในเชิงรุก มุ่งหมายเรื่องความภาคภูมิใจ ขณะที่ความต้องการในเชิงรับ มุ่งหมายเรื่องความสงบสุขในจิตใจ
หลายคนจะพบว่าท่ามกลางอำนาจ ความร่ำรวย ความสำเร็จที่มากมาย ตนเองก็หามีความสุขอย่างแท้จริง เนื่องเพราะธรรมชาติความต้องการด้านในถูกละเลย เพิกเฉย ขาดการบำรุงหล่อเลี้ยง ชีวิตภายในไม่มีความสุขสงบ ธรรมชาติความต้องการ ๒ ด้านนี้ จึงเป็นเสมือนเส้นเชือกที่ผูกรั้งตัวเราไม่ให้ไถลหรือจมจ่อมแต่ด้านใดด้านเดียว เราต้องการความอยู่ดีมีสุขด้านวัตถุ ต้องการความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แต่เราก็ต้องการความสงบสุข การมีสันติ และการเติบโตทางด้านจิตใจ จิตวิญญาณด้วย
คำถาม “เราต้องการอะไร” จึงเป็นคำถามที่ช่วยให้เราได้ตรวจสอบ และกระตุ้นเตือนให้เราสำนึกรู้ถึงธรรมชาติความต้องการที่แท้ ด้านหนึ่ง เราคือสัตว์โลกที่ต้องการความอยู่รอดปลอดภัย ต้องการสังคมและการอยู่ร่วมกัน รวมถึงต้องการที่จะสืบทอดเผ่าพันธุ์ แต่พร้อมกันนั้นเราก็ต้องการธรรมชาติฝ่ายจิตวิญญาณ ต้องการการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่ามีความหมาย และธรรมชาติ ๒ ด้านนี้ก็ต้องการความสมดุลและเกื้อกูลให้ชีวิตมีคุณภาพของภาวะ “เป็นประโยชน์และสงบเย็น”
นี่คือ ธรรมชาติความต้องการ และเมื่อใดที่เส้นทางชีวิตบิดเบือนจากความต้องการนี้ ความทุกข์ก็จะให้บทเรียนกับชีวิตของเรา