ข้อความจากจดหมายของเพื่อนรุ่นน้องที่มีถึงผู้เขียน เนื้อความที่ถ่ายทอด บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตผู้คนในไม่กี่ประโยค ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอ ดังนี้
เรื่องราวข้างต้นสะท้อนความเป็นสากลของชีวิตพวกเรา ความโกรธ ผิดหวัง ว้าเหว่ สูญเสีย เหงา เซ็ง เบื่อ ก็เป็นปัญหาร่วมสมัยที่เกิดขึ้น ต่างกันเพียงว่าเลือกที่จะบอกกล่าวหรือซุกงำไว้ในชีวิต ความทุกข์จึงมีอยู่ในทุกอณูของชีวิต บ่อยครั้งความชาชินต่อความทุกข์ก็ทำให้ชีวิตไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก หรือหากเรื่องราวความทุกข์นั้นแสนสาหัส มันก็ทำให้ชีวิตแสบๆ คันๆ เจ็บปวดรวดร้าวไปตามระดับความรุนแรง
ภาวะข้างต้นเกิดขึ้นป็นเรื่องปกติธรรมดา สิ่งสำคัญคือ บางครั้งเรามองไม่เห็นความทุกข์ มองไม่เห็นทางเลือกมากกว่าสภาพที่เป็นอยู่
สมัยประถมวัย หัวข้อหนึ่งในวิชาภูมิศาสตร์ คือ แผนที่กับแผนผัง ผู้เขียนสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากว่าแผนที่คืออะไร จากการดูแผนที่ประเทศไทย แผนที่โลกหรือประเทศต่างๆ แต่พอถึงหัวข้อเรื่องแผนผัง ผู้เขียนดูรูปกี่ครั้งก็ไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้เลย “ดูยังไงหนอ? มันยากมากๆ ไม่เข้าใจเลย” ในใจผู้เขียนมันตะโกนบอกอย่างนั้นตลอดเวลา กาลเวลาล่วงผ่านไปนานมากทีเดียว กว่าที่ผู้เขียนจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าแผนผังคืออะไร เราจะสามารถดู อ่าน และเขียนมันอย่างไร สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจตามมาด้วยก็คือ การฝึกหัดและฝึกฝนทักษะการเป็นผู้สังเกต โดยเฝ้าสังเกตความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ยามเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือการได้เฝ้าสังเกตและเรียนรู้เช่นนี้ ทำให้เราพบ “อะไร” ในชีวิต ทั้งชีวิตของเราและชีวิตของเพื่อนๆ รอบตัวเรา
ย้อนคิดให้ดี อะไรในชีวิตของพวกเราทุกคนคือ มีความปรารถนาต่างๆ มากมายซ่อนเร้นอยู่จากมุมมองแผนผัง แวดวงจิตวิทยาคือตัวอย่างองค์ความรู้สาขาหนึ่งที่มาจากการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้มีการรวบรวมว่ามนุษย์เรามีความปรารถนาในชีวิตดังนี้
ความทุกข์มีอยู่แล้วในทุกขณะของชีวิต แต่บางครั้งเรามองไม่เห็นทางเลือกมากกว่าสภาพที่เป็นอยู่
ยามเมื่อเราเอาตัวเองเข้าไปจมอยู่ในเรื่องราว เราเป็นผู้ทุกข์ เป็นผู้ถูกกระทำ ภาวะทุกข์ทรมานนี้บีบคั้นให้เราตอบโต้ ดิ้นรน เพื่อออกจากภาวะทุกข์เข็ญ การตอบโต้ การดิ้นรน จึงถูกดำเนินไปตามสภาพเงื่อนไข สามัญสำนึก และสติปัญญาที่มีอยู่และพาไปได้ “อะไรในชีวิต” ที่เราต้องผ่านพบ ก็คือกระแสแห่งกรรม กรรมในฐานะการกระทำและผลแห่งการกระทำ กรรมในความหมายของเหตุและปัจจัย และในฐานะผลพวงหรือผลร่วมของเหตุปัจจัยอันซับซ้อน
ยามที่มีใครทำดีกับเรา เรากล่าว “ขอบคุณ” เพราะเราเห็นในคุณความดี ความมีน้ำใจ และรู้สึกซาบซึ้ง ประทับใจสิ่งที่ได้รับ เช่นกัน ยามที่เราได้เห็นท้องฟ้าอันสวยงาม ยามที่เรามีชีวิตที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ฯลฯ นั่นเพราะมีเหตุปัจจัยมากมายช่วยเหลือเราอยู่ ขอบคุณ คือคำพูดที่มาจากการมองเห็นว่ามีอะไรในทางบวกเกิดขึ้นในชีวิต และ “ขอโทษ” ก็คือตัวอย่างคำพูดที่มาจากการมองเห็นว่ามีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในชีวิตและเราอยากชะล้างออก การมองเห็นจึงเป็นอำนาจสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดังนั้น “อะไรในชีวิต” ที่สำคัญคือ สายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องกันด้วยการให้และการรับ ประสานกับการคิดนึกและความรู้สึกเชิงบวกหรือลบก็ตามต่อสายสัมพันธ์นั้น
“ฉันไม่ชอบสิ่งที่พ่อแม่ทำกับฉันแบบนี้เลย”
“เขาน่ารักมากๆ เลย ให้ดอกกุหลาบช่อใหญ่กับเธอขนาดนี้”
“เราคงไม่ดีพอ เขาจึงทิ้งเราไป”
“ฉันต้องเอาชนะคำสบประมาทเหล่านี้ให้ได้”
คุณค่าสำคัญของการฝึกให้มีมุมมองในเชิง “แผนผัง” คือ มุมมองเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ที่จะแยกตัวเองออกจากตำแหน่งเดิมมาอยู่ในตำแหน่งที่อยู่ห่างออกไป แล้วมองกลับเข้ามาที่ตำแหน่งเดิม ตำแหน่งและมุมมองที่ต่างออกไปช่วยให้เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ด้วยเนื้อหาสาระและความเข้าใจใหม่ การได้เห็น ได้สัมผัส และได้ความเข้าใจใหม่ ช่วยให้เราหลุดหรือออกจากภาวะเดิมๆ
มุมมองในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงมุมมองในเชิงเรขาคณิตหรือภูมิศาสตร์ที่เราคุ้นเคย แต่มุ่งหมายถึงมุมมองภูมิศาสตร์ในจิตใจ ซึ่งก็คือ ความเชื่อบางอย่างที่ฝังแน่นในตัวเรา ซ้ำยังมีพลกำลังมหาศาลในการฉุดรั้งไม่ให้เราไถ่ถอนตัวเราออกจากมุมมองความเชื่อเดิมๆ นั้น บางครั้งการพาตัวเองออกจากมุมมองความเชื่อเดิมๆ จึงต้องอาศัยเพื่อนที่ดี คนใกล้ชิด อาจรวมถึงผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือด้วย
ขอเชิญมาเฝ้ารู้ความรู้สึกนึกคิดในแต่ละขณะๆ ของทุกช่วงกิจกรรมชีวิต เพื่อที่เราจะได้เท่าทันมุมมองความเชื่อของตนเองในแต่ละขณะได้