ทำไง ไม่รู้จะเอาใจใครดี?

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 17 พฤศจิกายน 2006

นิทานพื้นบ้านไทยเรื่องหนึ่ง เล่าถึงพ่อและลูกชายวัยประมาณ ๑๐ ขวบ เดินทางไปต่างเมืองด้วยกันโดยอาศัยม้าเป็นพาหนะ  ในตอนแรกนั้นสองพ่อลูกนั่งไปบนหลังม้าด้วยกัน  เมื่อเดินทางไปได้ครู่เดียว ก็พบชาวบ้านคนหนึ่งเดินสวนทางมา คนผู้นั้นกล่าวตำหนิพ่อลูกทั้งสองว่า ใจดำ ไม่มีความกรุณา “ดูซิ ให้ม้าบรรทุกเจ้าถึง ๒ คน มันคงหนักและเหนื่อยแย่เลย”  ทั้งคู่ฟังแล้วก็ตัดสินใจใหม่ ลูกชายเดินจูงม้าแล้วพ่อนั่งหลังม้าเดินทางไปด้วยกัน

ต่อมาอีกพักก็เจอหญิงชาวบ้าน ๒ คนนั่งทำงานอยู่ริมทาง  หญิงทั้งคู่ชวนกันชี้ให้ดูพ่อลูก แล้วพูดตำหนิว่า ผู้ใหญ่อะไรไม่มีเมตตา ปล่อยให้เด็กเดินเสียไกล ตัวเองนั่งทองไม่รู้ร้อน สบายใจเฉิบ…”  พ่อลูกทั้งสองฟังแล้วก็เปลี่ยนใจใหม่อีกครั้ง ให้ลูกขึ้นนั่งม้าแล้วพ่อเดินจูง  แต่แล้วก็ไปเจอคนรู้จักแอบซุบซิบอีกว่า “ลูกอะไร! อกตัญญูเหลือกัน นั่งเอ้อระเหยลอยหน้าบนหลังม้า ปล่อยให้พ่อตัวเองเดินเหนื่อย…”  สุดท้ายทั้งสองจึงตัดสินใจใหม่อีกครั้ง ด้วยการเดินจูงม้าไปด้วยกันทั้งสองคน  แต่เมื่อเดินผ่านผู้คนอีก ก็ไม่วายได้ยินคนที่พบเห็นพูดอีกว่า “คนอะไรโง่จัง มีม้าไม่รู้จักขี่ มาเดินจูงอยู่ได้ “ !!!???

นิทานเรื่องนี้ โบราณตั้งใจจะสอนว่า เราจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย หากคอยแต่จะสนใจคำนินทา หรือคอยแต่จะเอาใจให้ถูกใจคนทุกคนตลอดเวลา โดยปราศจากเหตุผลหรือจุดยืนของตนเอง  การทำสิ่งใดจึงต้องหนักแน่นและมีหลักการของความถูกต้องหรือความจริงเป็นพื้นฐาน  แม้ว่าการรับฟังผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมาย โดยเฉพาะคำพูดของกัลยาณมิตร แต่เมื่อฟังแล้วก็ยังต้องขบคิดด้วยตนเอง เพื่อแสวงหาความเหมาะสม  มิใช่โอนไปเอนมาตามคำพูด (ลมปาก) โดยปราศจากหลักการหรือจุดยืน โดยเฉพาะหลักการทางสัจจะหรือข้อเท็จจริง  มิเช่นนั้น บุคคลจะไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้ เพราะมิได้กำลังทำบนหลักการ หากแต่กำลังทำเพื่อเอาใจผู้พูด ผู้วิจารณ์  ซึ่งจะมีอันตรายมาก หากผู้พูด-วิจารณ์นั้นพูดไปตามภาพสั้นๆ เฉพาะที่ตนเองเห็น ไม่ได้รับรู้หรือเข้าใจภาพทั้งหมด

ในนิทานที่เล่ามานั้น  อันที่จริงเมื่อตั้งต้นเดินทาง การนั่งบนม้าทั้ง ๒ คน อาจเป็นความเหมาะสม เพราะม้ายังไม่เหนื่อยเนื่องจากเพิ่งเริ่มเดินทาง ม้าจึงยังสดชื่นอยู่  เมื่อเดินทางไปได้สักพัก การสลับกันนั่ง เพื่อให้ม้าไม่เหนื่อยเกินไปจากการบรรทุกน้ำหนัก เป็นความเหมาะสม  ส่วนพ่อหรือลูกจะนั่งก่อน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของอายุ สุขภาพ การรู้จักเส้นทางที่จะต้องจูงม้าเดิน ฯลฯ  มิใช่เปลี่ยนไปตามคำพูดของคนที่พบเห็นข้างทาง ซึ่งไม่รู้ว่าเวลาก่อนหน้าและหลังจากนั้นเป็นมาและจะเป็นไปอย่างไร พ่อลูกต้องเดินทางอีกไกลหรือไม่ เงื่อนไขของม้าตัวนั้น (อายุ สายพันธุ์ ความอึด ฯลฯ) เป็นอย่างไร รวมทั้งเงื่อนไขเฉพาะของสองพ่อลูก  จึงพูดวิจารณ์ ตำหนิ นินทาไปตามภาพสั้นๆ (ปรากฏการณ์) ที่เห็นตรงหน้า

การรู้จักกลั่นกรองและเท่าทันสิ่งที่รับฟัง จึงเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการพูด (ปากเป็นเอก) หรืออาจจะสำคัญมากกว่า โดยเฉพาะในยุคที่คำพูดมาจากการคาด-เดาและ/หรือการใช้ความรู้สึกพูดมากกว่าใช้ความรู้พูด  เนื่องจากจะนำมาซึ่งความสับสน ทำอะไรไม่ถูกได้สำหรับคนที่ต้องเกี่ยวข้องกับคำพูดเหล่านั้น เช่น ไม่ทราบว่าควรปฏิบัติตาม ดำเนินการ ฯลฯ อย่างไรดี  ความล้มเหลวเป็นอันมากในชีวิตของผู้คน แม้แต่องค์กรเกิดจากการหวั่นไหวในคำพูดที่ได้รับฟัง การขาดวิจารณญาณกลั่นกรองตามเหตุปัจจัยหรือความถูกต้องเหมาะสมหรือพอดีของตนเองและส่วนรวม  ยิ่งผู้ที่เป็นผู้นำ หรือบุคคล-องค์กรสาธารณะก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น ที่จะต้องหนักแน่นไม่หวั่นไหวไปตาม “ลมปาก” กลายเป็นไม้หลักปักเลน โอนไปเอนมา ขาดหลักยึดเหนี่ยว จึงทำอะไรเหมือนสองพ่อลูกในนิทาน คือทำโดยปราศจากหลักการ-จุดยืนนั่นเอง

แม้การรับฟังผู้อื่นจะเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมาย แต่เมื่อฟังแล้วก็ยังต้องขบคิดด้วยตนเอง เพื่อแสวงหาความเหมาะสม

แน่นอนว่าการรับฟังอย่างกว้างขวางเป็นสิ่งดี แต่ต้องรู้จักกลั่นกรองด้วยความรอบคอบ (ฟังเป็น) ปัญหาคือเราจะคัดกรองคำพูดต่างๆ ได้อย่างไร ว่าอะไรสมควรและไม่สมควรรับฟัง  สิ่งที่ควรพิจารณาโดยเบื้องต้นคือ ผู้พูดมีเจตนาต่อเราอย่างไร คิดดี-ไม่ดี หรือไม่ได้คิดอะไรเลย คือพูดไปเรื่อยตามความเคยชิน  หรือเป็นกัลยาณมิตรของเรา เป็นผู้มีเจตนาดี  อย่างไรก็ตาม ลำพังเจตนาดีก็ยังไม่พอ แต่จะต้องพูดโดยใช้ “สติปัญญา” ด้วย  คือถึงแม้จะพูดด้วยเจตนาดีหรือหวังดี แต่หากมิได้ใช้ปัญญาหรือใช้ความรู้-ความจริงกำกับ คำพูดนั้นย่อมมีประโยชน์จำกัดหรืออาจจะไม่มีเลย  เช่น เพื่อนอาจจะหวังดีต่อเรา แต่ประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจในชีวิตและเรื่องต่างๆ มีจำกัด ย่อมทำให้การตัดสินใจบกพร่อง เรื่องดีก็อาจจะกลายเป็นโทษไปได้ (แม้จะเริ่มด้วยความหวังดี)

ใช่เพียงเท่านี้ แม้คำพูดจะมาจากความหวังดีและใช้ความรู้ สติปัญญาอย่างเต็มที่ของคนพูดแล้ว ในฐานะผู้รับฟังก็ยังจะต้องนำมาคิดไตร่ตรองด้วยตนเองเสมอว่า เหมาะสมกับเราหรือไม่  เนื่องจากบางกรณีผู้แนะนำว่าไปตามความรู้และหลักการทั่วไป โดยไม่ทราบเงื่อนไขหรือปัจจัยเฉพาะของเรา สุดท้ายผู้ประเมินที่เหมาะสมที่สุดจึงเป็นตัวเรา ด้วยการผสานข้อเสนอแนะและเงื่อนไขเฉพาะของตนเองเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้อีกประเด็นคือ การรู้เท่าทันจุดอ่อนของมนุษย์ปุถุชนโดยทั่วไปว่ายังเป็นผู้มีอคติ ๔ คือลำเอียงเพราะชอบ ชัง หลง กลัว  ดังนั้น คำพูดทั้งหลายจึงส่งผ่านอคติดังกล่าวออกมาในทางคำพูด ทำให้เราชอบ ไม่ชอบ วิตก หวาดกลัว ฯลฯ มิได้มาจากการมองโลกตามเงื่อนไขจริงหรือตามเหตุปัจจัย  ผู้รับฟังจึงพึงเท่าทันและกลั่นกรอง ไม่หวั่นไหวไหลตามอคติดังกล่าว  หากผู้ฟังกระโดดโลดเต้นทำตามด้วยความชอบ-ไม่ชอบ กลัว ฯลฯ ย่อมเสียการในเรื่องต่างๆ ได้ง่าย โอกาสของการจะทำสิ่งใดให้สำเร็จจะเป็นไปได้ยาก

มีเรื่องเล่าปิดท้ายว่า มีผู้สัมภาษณ์ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก ราชาภาพยนตร์หนังเขย่าขวัญผู้ยิ่งใหญ่ว่า อะไรคือสูตรความสำเร็จในการทำงานของเขา  ฮิทช์ค็อกตอบทำนองว่า “สูตรสำเร็จไม่มี  มีแต่สูตรความล้มเหลว คือการพยายามเอาใจทุกคน” เพราะในโลกแห่งความหลากหลาย ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนพอใจ (หนังของเขา) ได้เหมือนกันหมด  ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์หาจุดความพอดีในปัจจัยภายใน (ตัวเอง) กับปัจจัยภายนอก  หาได้พอดีมากเท่าไรก็สามารถตอบสนองประโยชน์ให้แก่ตนเอง (องค์กร) และภายนอกได้มากเท่านั้น


ภาพประกอบ