ทำไงกับชีวิตขาลง?

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 16 ตุลาคม 2004

โบราณเตือนสติว่า “ชั่วเจ็ดที  ดีเจ็ดหน” หมายถึงชีวิตของเรานั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่คงที่ มีทั้งดีทั้งร้าย  ในทางธรรม ความเป็นธรรมดาของโลกหรือโลกธรรม ๘ ก็บอกเราเช่นนั้นอยู่แล้วว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือขาขึ้น นั้นมันมีคู่ขาลงอยู่ด้วยเสมอไป คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์  ใครที่คิดว่าจะมีแต่ขาขึ้นโดยไม่มีขาลงนั้น หรือมีแต่ขาลงโดยไม่มีขาขึ้นเลยนั้น จึงเป็นความเข้าใจผิดและจะเกิดทุกข์จากการทำใจไม่ได้

ดังนั้น สิ่งแรกที่พึงทำกับชีวิตขาลงก็คือการ “ทำใจ” ให้ยอมรับความเป็นธรรมดานี้ให้ได้ เพื่อที่ว่าเราจะได้มีกำลังใจในการตั้งหลักใหม่  ไม่มัวแต่ฟูมฟายหรือหมกมุ่นกับอดีตอันแสนสมหวัง แล้วท้อถอย หดหู่กับความจริงที่ผิดหวัง จนกระทั่งโอกาสของขาขึ้นที่อาจจะมีก็หลุดลอยหายไปจริงๆ เพราะไปตั้งวางใจไว้ในทิฐิหรือความเห็นที่ผิดนี่เอง

ความเห็นผิดประการแรกที่มักทำให้ชีวิตของเราดิ่งลงคือ ความเข้าใจว่า มีเพียงเราเท่านั้นที่ทุกข์  การหมกมุ่นแต่ความทุกข์ของตนเอง ทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เพราะแบกโลกทั้งโลกไว้แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่รู้ว่าความจริงนั้น มีคนอีกมากมายไม่รู้เท่าไรในสังคมนี้ ในโลกใบนี้ที่ทุกข์เหมือนเรา  อันที่จริงแม้แต่จำนวนคนไม่กี่คนที่นั่งในรถโดยสารคันเดียวกับเรา หรือขึ้นลิฟท์ตัวเดียวกับเราก็ล้วนแต่มีความทุกข์เช่นกัน บางคนอาจจะทุกข์สาหัสมากกว่าเราด้วย  การมองหาเพื่อนร่วมทุกข์จึงเป็นวิธีคลายทุกข์ที่สำคัญของชีวิตขาลง

มหาตมา คานธี มหาบุรุษแห่งอินเดียสอนกลวิธีคลายทุกข์ไว้ว่า ในเวลาที่เกิดความทุกข์ ให้เรามองไปที่คนซึ่งทุกข์มากกว่าเรา แล้วความทุกข์ของเราจะเบาบางลง  เพราะเราจะพบว่า ชีวิตของเรานั้นยังโชคดีกว่าคนอีกเป็นอันมาก เช่น คนที่ต้องอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองในแบกแดด เด็กชาวลาวที่พลัดบ้านมาถูกจับขังใช้แรงงานในห้องใต้ดินบ้านเรา ฯลฯ  ในสมัยพุทธกาลนั้น มีหญิงคนหนึ่งสูญเสียสามีและลูก ๒ คนไปในเวลาอันกระทันหัน สร้างความโศกเศร้าเสียใจอย่างที่สุด จนกระทั่งคลุ้มคลั่งฟูมฟายดังคนเสียสติ มากราบทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงช่วย  พระบรมศาสดาตรัสให้นางไปหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตายเลยมาให้ได้ ๑ กำมือแล้วจะทรงช่วยนาง  ปรากฏว่าหญิงผู้นั้นไม่สามารถหามาได้ เพราะทุกบ้านล้วนแต่มีคนตายทั้งสิ้น  เมื่อหญิงผู้นั้นได้เรียนรู้ความจริงนี้แล้ว ความโศกเศร้าก็จางคลายลง ตั้งสติได้ใหม่

สภาพสังคมปัจจุบันที่เราอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน คบกันอย่างฉาบฉวย แม้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเองก็ห่างเหิน ชีวิตจึงขาดเพื่อนร่วมทุกข์  ทำให้คนที่ประสบชีวิตขาลง จมดิ่งอยู่กับตนเองมากยิ่งขึ้น โลกแคบเหลือแต่ความทุกข์ของตนเอง จนกระทั่งอาจตัดสินใจฆ่าตัวตายอย่างง่ายดาย เพราะขาดคนคอยให้สติ  จึงมิต้องแปลกใจที่คนเมืองจะฆ่าตัวตายมากกว่าคนชนบท  และคนรวย คนเคยรวย คนชั้นกลาง ปัญญาชน คนเมือง จึงฆ่าตัวตายมากกว่าคนจน หรือคนชนบทที่อยู่อย่างยากลำบาก  สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ “สายใย” ของความสัมพันธ์ยังเหนียวแน่น

สิ่งแรกที่พึงทำกับชีวิตขาลง คือการ “ทำใจ” ยอมรับให้ได้ เพื่อเราจะได้มีกำลังใจในการตั้งหลักใหม่

เมื่อทำใจ ตั้งสติได้แล้ว  สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือการสืบสาวหาสาเหตุของชีวิตขาลงว่าเกิดจากอะไร  ความโลภ ความไม่รู้ (ความหลง) หรือมาจากความประมาท เย่อหยิ่งลำพอง ถือดี ขาดกัลยาณมิตรที่แท้ที่จะคอยตักเตือนให้สติ ฯลฯ จนกระทั่งทำให้เราห่างไกลจากความจริงหรือเข้าไม่ถึงความจริง จึงทำไปตามใจ ตามความคิด และความต้องการของตนเอง ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงนั้น เราไม่สามารถจะควบคุมทุกสิ่งได้ดังที่เราเข้าใจ (ผิด) เลย ไม่ว่าเราจะมีอำนาจมากมายมหาศาลเพียงใดก็ตาม  เพราะชีวิต สังคม และโลกมิใช่เครื่องจักร วัตถุที่ควบคุมได้ หากแต่มีความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน เกี่ยวพันมีผลกระทบต่อกันอย่างยากที่จะคาดการณ์แล้วสั่งการแบบ “ฟันธง” ได้เสมอไป

ดังนั้น ความสำเร็จหรือล้มเหลว ขาขึ้นหรือขาลง จึงมิใช่มาจากปัจจัยของเราเองล้วนๆ แม้บางครั้งจะดูว่าเป็นอย่างนั้น เช่น ชีวิตที่รุ่งเรือง มิได้มาจากความสามารถ เก่งกาจของเราเพียงคนเดียว แต่มาจากจังหวะ โอกาส ผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ  เช่นเดียวกับความล้มเหลว ก็มิได้มาจากความไม่เก่ง หรือ “ไม่ได้เรื่อง” ของเราล้วนๆ อย่างเดียว จนกระทั่งทำให้หลายคนหดหู่ ท้อถอย ผิดหวังตนเอง

คนโบราณจึงสรุปให้ความแปรปรวน เรื่องที่เกินความคาดการณ์หยั่งรู้ของเราได้ ให้เป็นเรื่องของ “ดวง” “กรรม” และ “โชค” ไปเสีย  แล้วท่านก็สอนเคล็ดลับไม่ให้เราเผชิญกับดวง โชค กรรม อย่างโดดเดี่ยวแบบปัจเจกบุคคลในปัจจุบัน  แต่กลับสอนว่า “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับบ้านได้” เพื่อให้เราตระหนักว่า อย่าทำอะไรโดยลำพัง แต่ให้รู้จักหาเพื่อนร่วมทางด้วย  เพราะยิ่งมีเพื่อน (ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง ครู เพื่อน ฯลฯ) เราก็จะยิ่งรอบคอบ เมื่อสำเร็จเราก็จะไม่มีอหังการว่าสำเร็จเพราะเรา จนกระทั่งหลงตน (ตัวกู ของกู)  หรือเมื่อชีวิตเผชิญความลำบาก เพื่อนก็ย่อมช่วยเหลือเกื้อกูล ป้องกันความเสียหาย ภยันตรายให้กันและกันได้รอบด้านมากกว่า

ความอับจนหรือขาลงจึงเป็นผลมาจากการปราศจากกัลยาณมิตร เครือข่าย หรือสรุปง่ายๆ คือ มาจากความคับแคบของบุคคลเอง  เพราะหากเรามีความสัมพันธ์อันดีอย่างกว้างขวางมากเท่าไร ช่องทางถอย ทางออก ย่อมมีมากไปด้วย  ความสัมพันธ์อันดีที่ว่านี้ คือความจริงใจหรือการคบกันด้วยความซื่อสัตย์ ปรารถนาดีต่อกัน  มิใช่คิดแต่จะเอาประโยชน์จากกัน เหมือนที่ลัทธิปัจเจกนิยม (ตัวกู ของกู) สอนให้เราลดทอนเพื่อนมนุษย์คนอื่นออกจากชีวิต จึงต้องเผชิญกับขาลงอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย จนคิดสั้นไปเลยก็มี

การเมืองขาลงก็เช่นกัน  ผู้นำที่ฉลาด หากรู้จักรับฟัง เปิดการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางรอบด้าน มีมิตร มีความไว้วางใจ ให้เกียรติคนอื่นให้มาก  ไม่เอา “ตัวกู (ผลประโยชน์)ของกู” เป็นศูนย์กลาง เวลาของขาลงคงไม่มาถึงเร็วนัก  หรือเมื่อมาถึงตามเกณฑ์ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน ก็จะไม่เจ็บตัวมากนัก


ภาพประกอบ