เหมือนเป็นคำเตือนให้ระแวดระวังความคิด ไม่ให้รีบทึกทักคิดเอาเองเออเองแบบลวกๆ อย่างที่พูดกันติดปากในยุคนี้ว่าอย่า “มโน” ไปเอง
เพราะสิ่งนี้นำความทุกข์หนัก–ไปกับการหวาดหวั่นกังกลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง อาจก่อความบาดหมางระหว่างกัน เพราะการตีความและด่วนสรุปไปเองแบบผิดๆ
กระทั่งในตำนานความเป็นมาของชนชาติกะเหรี่ยงก็มีเรื่องนี้ กล่าวไว้เป็นนิทานที่ลึกซึ้ง สอนใจลูกหลานสืบมาได้อย่างคมคายกินใจที่สุด
เนื้อความตามท้องเรื่องมีว่า แต่เดิมชาวกะเหรี่ยงทั้งหลายเป็นคนในครอบครัวเดียวกันซึ่งรักใคร่สามัคคีกันดี แต่มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการแตกคอ จนแยกจากกันเป็นกะเหรี่ยงสกอร์ หรือปกากะญอ ที่ทุกวันนี้อาศัยอยู่ในแถบภาคเหนือของประเทศไทย กะเหรี่ยงโพล่ว หรือโปว์ ในแถบภาคตะวันตก กับอีกกลุ่มเป็นกะเหรี่ยงที่อยู่ในเขตพม่า
เหตุการณ์อันเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานเล่าย้อนไปถึงยุคที่มนุษย์ยังอยู่ป่าล่าสัตว์ และยังรู้จักสัตว์ทั้งป่าไม่หมด บรรพชนของพี่น้องกะเหรี่ยงทั้งสามกลุ่มเป็นพี่น้องร่วมท้องพ่อแม่เดียวกัน พวกเขาเติบโตขึ้นมากลางป่าเขาและสัญญาว่าจะรักกัน มีอะไรจะเอื้อเฟื้อถึงกันเสมอ
คราหนึ่งพี่ชายคนโตเข้าป่าล่าสัตว์ได้กระรอกน้อยมาตัวหนึ่ง ก็ยังหั่นเป็นสามท่อนเท่าๆ กัน เก็บไว้กินเองเพียงส่วนเดียว อีกสองส่วนที่เหลือแบ่งให้น้องสองคน เอาไปขูดขนปิ้งแกงกินกัน
ล่วงต่อมาน้องคนกลางไปล่ากวางได้มา เขาทำเช่นเดียวกับพี่ชาย ชำแหละกวางแบ่งเนื้อ หนัง เครื่องใน ออกเป็นสามส่วนเท่าๆ กัน เก็บไว้กินเองเพียงส่วนเดียว อีกสองส่วนหาบคอนเอาไปแบ่งบ้านพี่ชายและน้องชายบ้านละส่วน ทำให้ช่วงนั้นแต่ละบ้านมีเนื้อกินกันอย่างสำราญ แล้วยังเหลือได้ทำเนื้อแห้งเนื้อเค็มเก็บไว้กินได้อีกนานต่อมา
ถึงคราวที่น้องคนเล็กต้องแสดงฝีมือพรานบ้าง เขาออกป่าล่าสัตว์ไปได้เม่นมาตัวหนึ่ง เทียบกันแล้วเม่นตัวหนึ่งก็ได้เนื้อไม่กี่มากน้อย อาจเท่าเป็ดไก่หรือกระต่ายสักตัวหนึ่งเท่านั้น แต่น้องคนเล็กก็พอใจที่จะมีโอกาสได้ตอบแทนพี่ๆ บ้าง เช่นเดียวกับที่พี่ชายเคยหยิบยื่น เขาแบ่งทุกส่วนทั้งเนื้อหนัง-แม้กระทั่งขน เผื่อว่าพี่ชายจะเอาไปใช้ประโยชน์ใดได้ จากนั้นก็เก็บไว้เองหนึ่งส่วน อีกสองส่วนหิ้วไปฝากบ้านพี่ชาย
พี่ชายทั้งสองยินดีกับของฝากที่น้องนำมาแบ่งปัน แต่แล้วก็กลายเป็นความผิดหวังเมื่อเขาเห็นขนของเม่น พี่ชายคนโตรี่มาบ้านน้องคนรอง ซึ่งกำลังรู้สึกในสิ่งเดียวกันอยู่เช่นกัน ทั้งคู่พากันไปยังบ้านน้องคนเล็กด้วยความโมโห
“น้องรัก ทำไมแบ่งเนื้อสัตว์ให้พี่เพียงคนหยิบมือ”
น้องคนเล็กงงงันทั้งกับท่าทีและเนื้อความที่พี่ชายพูด
“ทีข้าได้กระรอกมาแม้ตัวน้อยนิดยังแบ่งให้เจ้าอย่างเท่าเทียม น้องกลางได้กวางมาก็แบ่งให้ข้ากับเจ้าได้กินกันเป็นเดือน ถึงทีนี่เจ้าล่าได้สัตว์ใหญ่มหึมา แต่แบ่งให้พี่ทั้งสองคนละนิดเดียว”
“ก็สัตว์ที่ข้าล่าได้ตัวน้อยแค่นั้น แล้วข้าก็แบ่งอย่างเที่ยงธรรมแล้ว” ทั้งแววตาและน้ำเสียงของน้องคนเล็กบอกความจริงใจเต็มเปี่ยม
“เจ้าโกหกเรา” พี่ชายยิ่งเดือดดาลขึ้นไปอีก ที่น้องเหมือนไม่ยอมรับความจริง
“ข้าไม่ได้โกหก ข้าสำนึกในคำสัญญาของเราอยู่เสมอ”
“จะไม่โกหกได้อย่างไร ก็ในเมื่อพี่ทั้งสองเห็นอยู่ตำตา กระรอกตัวเท่าข้อมือ เส้นขนของมันเล็กกว่าเส้นด้าย กวางตัวโตขึ้นมาขนของมันก็เส้นใหญ่ขึ้น แล้วสัตว์ตัวที่เจ้าล่าได้มานี่ ขนของมันโตเกือบเท่านิ้วก้อย คิดดูสิตัวมันจะใหญ่สักแค่ไหน แต่เจ้ากลับแบ่งเนื้อให้เราคนละนิด”
ไม่ว่าน้องจะพยายามชี้แจงความจริงอย่างไร พี่ทั้งสองก็ไม่เชื่อไม่รับฟัง ความน้อยใจจากการเข้าใจผิดลุกลามขยายกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง บาดหมางถึงขั้นแตกหักแยกย้ายกันไปอยู่คนละเทือกเขาคนละลุ่มน้ำ สืบทอดทายาทเป็นชาวกะเหรี่ยงสามกลุ่มมาจนทุกวันนี้
เหมือนเป็นคำเตือนให้ระแวดระวังความคิด ไม่ให้รีบตีความและด่วนสรุปไปเอง เพราะสิ่งนี้อาจนำความทุกข์มาให้เรา
ท้ายนิทานเรื่องนี้มีคำสอนเตือนใจในทำนองว่า หากไม่ด่วนสรุปจนผิดใจแตกแยกกันแล้ว ชาวกะเหรี่ยงคงยิ่งใหญ่และเข้มแข็งพอจะมีชาติมีแผ่นดินของตนเอง
เป็นคุณธรรมคำสอนที่บรรพชนชาวกะเหรี่ยงสร้างสรรค์กลั่นกรองไว้ในรูป “เรื่องเล่า” ที่น่ารื่นรมย์
นึกย้อนไปถึงยุคที่โลกยังไม่มีแสงไฟฟ้า ค่ำคืนก็ล้อมวงกันรอบเตาไฟกลางบ้าน ซึ่งในห้วงยามนั้นเหมือนโรงหนังที่เหล่าตัวละครในเรื่องเล่าจะออกมาปรากฏตัว
แจ่มชัดประทับใจ จดจำเรื่องราวได้ และมากกว่านั้นคือคำสอนสิ่งเตือนใจที่แฝงฝังอยู่ในเนื้อเรื่อง
นึกขึ้นมาคราใดก็ได้เตือนใจตัวเอง
สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด
อย่ามโนไปเอง
เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ