“ความสงสาร” หรือความกรุณาอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เป็นคุณธรรมสำคัญที่ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จรรโลงสังคม ก่อให้เกิดการช่วยเหลือ แบ่งปัน ช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม คุณธรรมเหล่านี้หากใช้ไปโดยปราศจากความเข้าใจ (ปัญญา) เป็นเครื่องกำกับขอบเขต คุณธรรมดังกล่าวก็อาจกลายเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่การเบียดเบียน การทำลายสิ่งต่างๆ ในรูปแบบอื่นต่อเนื่องตามมาได้ เช่น พ่อที่ใช้อำนาจวาสนาช่วยลูกที่ทำร้ายคนอื่นให้พ้นผิดครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะสงสาร กลัวลูกถูกลงโทษให้ลำบากทุกข์ยาก อาจทำให้ลูกกระทำความผิดร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว (หรือรู้ตัวแต่ควบคุมตนเองไม่ได้)
การประพฤติคุณธรรมจึงต้องใช้ปัญญากำกับขอบเขต แต่ปัญหาสำคัญคือ ขอบเขตของคุณธรรมดังกล่าวอยู่ตรงไหน คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าอยู่ที่กฎหมายของบ้านเมือง นั่นคือการแสดงคุณธรรมระหว่างบุคคลจะต้องไม่ละเมิดกฎหมาย อันเป็นข้อบัญญัติเพื่อรักษาความยุติธรรมทางสังคม (แม้ในความเป็นจริง บ้านเราจะมีกฎหมายน้อยนักที่บรรลุถึงเจตนารมณ์แห่งความยุติธรรม) แต่ในทัศนะของพุทธศาสนานั้น นอกจากไม่ละเมิดกฎหมายแล้ว การประพฤติคุณธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะต้องไม่ไปขัดขวางหรือทำลายการพัฒนาตนเองของบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายด้วย เช่น พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความรักความห่วงใย อยากให้ลูกมีแต่ความสุข ไม่มีทุกข์เลย ด้วยการทุ่มเทและทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูก โดยไม่สนใจว่าใครหรืออะไรจะเดือดร้อนทุกข์ยากบ้างจากการตามใจ ปรนเปรอ ปกป้อง เข้าข้างลูกของตนเอง การกระทำหลายอย่างของพ่อแม่นี้แม้จะมิได้ผิดกฎหมาย แต่ความรักความเมตตาของพ่อแม่ดังกล่าวได้ทำลายการฝึกฝนขัดเกลาตนเองของมนุษย์ในระดับต่างๆ ทำให้ลูกไม่พัฒนาตนเองเพื่อจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคม แต่กลับออกห่างจากความจริงของชีวิต เติบโตโดยไม่รู้ว่า “ความจริง” ของชีวิต มีทั้งความผิดหวัง สมหวัง มีทั้งการให้และการรับ และการอยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องมีกฎกติกา
พ่อแม่บางคนอาจมีอำนาจบารมีมาก จนกระทั่งคิดไปว่าสามารถจะสนองตอบความต้องการของลูกได้หมด บันดาลให้ลูกมีแต่ความสุขได้โดยไม่ต้องทุกข์เลย สมมุติว่าพ่อแม่มีอำนาจบารมีมากอย่างนั้นจริงๆ (ซึ่งในความเป็นจริงคงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอำนาจเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน ดังที่เราเห็นกันอยู่) ก็ไม่มีใครคนไหนในโลกที่จะสนองตอบความต้องการของมนุษย์คนหนึ่งได้หมด เพราะความต้องการและความทุกข์ของมนุษย์มิใช่เป็นเพียงเรื่องทางวัตถุธรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของนามธรรมและเกี่ยวข้องกับการขาดการฝึกฝนขัดเกลาตนเองของมนุษย์ด้วยโดยตรง เช่น ทุกข์จากความกลัว ความหวาดระแวง ความริษยา ความอาฆาตพยาบาท ทุกข์จากความลังเล กระวนกระวาย ความเหงา และทุกข์จากความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่งอันเป็นสัจธรรมของโลก ฯลฯ เหล่านี้คือความทุกข์ที่ไม่อาจขจัดปัดเป่าด้วยวัตถุและไม่อาจอาศัยให้คนอื่นจัดการให้ นอกจากตนเอง และจะต้องเป็น “ตนเอง” ที่เคยได้รับการฝึกหัดขัดเกลาให้รู้จักหน้าตาของความทุกข์มาด้วย จนพอจะมีภูมิต้านทานมิให้ต้องทุรนทุรายตกนรกทั้งเป็นยามทุกข์มาเยือน พ่อแม่ที่ไม่เคยฝึกหัดขัดเกลาลูกให้เรียนรู้ความจริงของชีวิต สังคมและธรรมชาติ จึงเป็นผู้ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว
“ความสงสาร” หรือความกรุณาอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หากใช้ไปโดยปราศจากขอบเขตก็อาจนำไปสู่การเบียดเบียน
เราจะเข้าใจขอบเขตของการประพฤติคุณธรรมระหว่างมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนาได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อพิจารณาข้อธรรม “พรหมวิหาร 4” อันเป็นหมวดธรรมที่กำหนดความสัมพันธ์ของมนุษย์ในภาวะต่างๆ และขอบเขตของคุณธรรมความสัมพันธ์ดังกล่าว คือ ในภาวะปกติ พุทธศาสนาสอนให้มนุษย์ทั้งหลายสัมพันธ์ต่อกันด้วยความ “เมตตา” เป็นพื้นฐานในใจตลอดเวลา คือความปรารถนาดีอยากให้คนอื่นมีความสุข และในภาวะที่คนอื่นมีความทุกข์ ก็สอนให้สัมพันธ์ต่อกันด้วย “ความกรุณา” คือ มีใจอยากช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น และในภาวะที่กลับกัน หากบุคคลประสบความสุข ก็ให้สัมพันธ์กันด้วยใจอันมี “มุทิตา” คือยินดีในความสุขของเขาโดยไม่คิดริษยา มนุษย์หมู่ใดที่รู้จักสัมพันธ์กันในภาวะต่างๆ กันนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม ย่อมมีแต่ความสงบสุข มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น
อย่างไรก็ตาม ความเมตตา กรุณา มุทิตานี้ จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตหรือการกำกับของข้อธรรมที่ ๔ คือ อุเบกขา หรือปัญญาเสมอ คือเมื่อใดที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปละเมิดหลักการซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวการอยู่ร่วมกันทางสังคม คือ กฎหมาย ศีลธรรม สัจธรรม หรือไปขัดขวางการพัฒนาตนเองของมนุษย์ ไปทำลายประโยชน์ของผู้อื่น (บุคคล-สังคม) ทั้งวันนี้และวันหน้า เราจะต้องปล่อยวางคุณธรรมความสัมพันธ์ดังกล่าวเพื่อให้หลักการอันถูกต้องได้รับการปฏิบัติ โดยไม่เข้าไปขัดขวางแทรกแซง เพื่อประโยชน์อันสูงสุดแก่มนุษย์เอง เช่น พ่อแม่จะต้องปล่อยวางไม่รักและสงสารลูก จนกระทั่งลูกไม่ได้รับการฝึกหัดขัดเกลาให้รู้จักการดำรงชีวิตอย่างรู้เท่าทันความทุกข์ บุคคลผู้มีหน้าที่ทางกฎหมายจะต้องไม่ช่วยเหลือคนผิดให้พ้นผิดด้วยความกรุณาสงสาร เห็นแก่พวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงการให้ความกรุณาต่อผู้เสียหายอีกฝ่ายหนึ่งตามหลักความยุติธรรม
สังคมของเราทุกวันนี้ เอาพรหมวิหาร ๔ มาหารสอง คือเรามีความเมตตา-กรุณามาก ดังที่มักจะได้ยินเสมอว่าคนไทยขี้สงสาร ใจอ่อน ในขณะเดียวกันเราก็มักจะได้ยินว่าคนไทยขี้อิจฉา ขาดมุทิตาจิต ไม่ค่อยอยากเห็นใครได้ดี แต่ที่ร้ายแรงที่สุดคงเป็นการขาด “อุเบกขา” โดยเข้าใจว่า หมายถึงการปล่อยวางไม่ต้องยึดหลักการอะไรเลย (อยู่เฉยๆ) อันตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับอุเบกขาในความหมายที่แท้ อันหมายถึงการปล่อยวางเพื่อให้หลักการ (ธรรม) ได้รับการปฏิบัติโดยไม่ถูกแทรกแซงด้วยความเมตตา สงสาร ช่วยเหลือกันอย่างผิดๆ ระหว่างบุคคล
ถ้าไม่มีอุเบกขาในความหมายที่แท้ เราก็จะตอบไม่ได้ว่า พ่อเข้าข้างลูก ผิดตรงไหน!