พอเหล้าเข้าปาก ก็………

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 20 พฤศจิกายน 2004

มีนิทานธรรมะอยู่เรื่องหนึ่ง เล่าถึงคณบดีผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง นึกครึ้มใจอยากดื่มสุราขึ้นมา จึงสั่งบ่าวคนหนึ่งให้ไปให้ซื้อเหล้ามา พร้อมกำชับว่าให้รีบไปรีบกลับ อย่าเถลไถล  แต่ปรากฏว่าบ่าวคนดังกล่าวหายลับไปนานมาก จนกระทั่งนายโกรธหงุดหงิด รออยู่นานจนกำลังจะส่งคนไปตาม  บ่าวคนนั้นก็กลับมาพร้อมกับพาคนมาอีกโขยงหนึ่ง พร้อมหอบข้าวของมากันพะรุงพะรัง  เศรษฐีเห็นเข้าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ตะคอกถามด้วยเสียงอันดังว่า “เองหายหัวไปไหนมา ข้าสั่งให้ไปซื้อเหล้า แล้วนี่กลับไปพาใครขนอะไรมาเต็มไปหมด”

บ่าวทำใจดีสู้เสือ ตอบนายไปว่า ตนเองก็ทำตามที่นายสั่งคือไปซื้อเหล้าอย่างดีที่สุดมาให้  นายผู้ยังคงเดือดถามต่ออีกว่า “แล้วไอ้พวกที่เองพามาด้วยเป็นใคร”  บ่าวกราบเรียนอย่างนอบน้อมว่า “บ่าวคิดว่า หากนายกินเหล้าเข้าไปแล้ว คงนึกครึ้มใจอยากได้กับแกล้มที่ถูกปากด้วย จึงไปหาซื้อกับแกล้มชั้นดีมาด้วย  ดื่มเหล้าคนเดียวคงไม่ถูกใจนาย จึงแวะไปเชิญสหายของนายมาด้วย  เสร็จแล้วก็นึกว่า พอตั้งวงกันได้ที่ คึกครื้นกันมากขึ้น นายก็คงอยากดูนางระบำรำฟ้อน จึงไปพามโหรีและเหล่านางระบำมาด้วย

เมื่อจะกลับก็คิดขึ้นมาอีกว่า ถ้านายกินสุราไปมากๆ บ่อยๆ ก็คงจะไม่สบายหรืออาจติดโรคสตรี หรืออาจมีเรื่องวิวาททำร้ายกันในวงเหล้า เพื่อความไม่ประมาทจึงไปพาหมอมาด้วย เผื่อว่าจะได้ช่วยรักษาเยียวยาโรคหรือทำแผลให้  แต่คิดอีกที ก็กลัวว่าถ้าอาการหนัก เพราะเหล้านั้นกินมากๆ แล้วเลิกยาก นายท่านเกิดป่วยหนักจนรักษาไม่ได้ เกิดตายขึ้นมาจะโกลาหล ก็เลยไปพาสับปะเหร่อและเที่ยวหาซื้อโลงที่เหมาะสมกับฐานะของนายมาด้วย  พอมีคนทักว่าถ้านายตายแล้วทรัพย์สมบัติมากมาย ลูกๆ จะแบ่งกันยังไง ก็เลยไปพาทนายมาเตรียมพินัยกรรมจัดการเรื่องมรดกด้วย  แล้วก็คิดอีกว่า……”  ยังไม่ทันที่บ่าวจะสาธยายจบ เศรษฐีผู้ได้สติแล้ว ก็โบกมือห้าม บอกว่า “พอแล้ว ข้าไม่กินแล้ว เองเอาเหล้าพวกนั้นไปเททิ้งให้หมด แล้วจัดอาหารคาวหวานให้แก่ทุกที่เองพามาได้กินให้อิ่มสำราญก่อนกลับบ้าน”

นิทานเรื่องนี้ หากคิดโดยเบื้องต้น ก็อาจจะคิดว่าเป็นการสอนธรรมเพื่อให้สติเกี่ยวกับโทษของเหล้าว่า พอเหล้าเข้าปากแล้วจะนำพาปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งส่วนตัวและสังคม ทั้งสุขภาพกายและจิต พร้อมก่อให้เกิดอาชญากรรมและความผิดอื่นๆ ตามมาอีกมาก  แต่อันที่จริงแล้วนิทานธรรมเรื่องนี้ ยังให้ข้อคิดที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง  คือให้สติเตือนใจว่า คนเรานั้นหากรู้จัก “มองไกล” คือเห็นผลกระทบอันจะเกิดขึ้นจากการกระทำใดๆ แล้วรู้จักการจัดการป้องกัน หรือตัดเหตุปัจจัยมิให้สืบเนื่องต่อออกไป ก็ย่อมจะสามารถป้องกันความเสียหาย อันตราย หรือโทษร้ายมิให้เกิดขึ้น แม้เกิดขึ้นก็จะไม่บานปลาย รุนแรง

ดังนั้น การคิดสืบสาวสาเหตุ (คิดแบบอิทัปปัจจยตา) ว่าเพราะเหตุอย่างนี้จึงก่อผลอย่างนี้ๆ จึงเป็นกระบวนการคิดที่สำคัญของชาวพุทธ  อย่างไรก็ตาม การจะคิดสืบสาวให้ได้ไกลนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ถูกต้องตามความจริงนั้น ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ หรือสติปัญญาด้วย  เช่นในกรณีนาย-บ่าวที่นิทานเล่าถึงนั้น บ่าวย่อมต้องมีความรู้ในเรื่องโทษของเหล้าที่มีต่อร่างกาย ต้องรู้จักธรรมชาติของคนเราเมื่อดื่มเหล้าแล้วจะเกิดกิเลสอะไรตามมาได้บ้าง และกลุ่มคนเมื่อเหล้าเข้าปากแล้ว จะมีพฤติกรรมขาดสติ แม้มิตรก็วิวาททำร้ายกันเองได้ ฯลฯ

คนเรานั้นหากรู้จัก “มองไกล” คือเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำใดๆ ก็ย่อมสามารถป้องกันความเสียหาย อันตราย หรือโทษร้ายมิให้เกิดขึ้น

ยิ่งในปัญหาที่ยากซับซ้อน การคิดแบบสืบสาวจึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งสำหรับคนทั่วไป เพราะธรรมชาติของคนเรานั้น มักมองสั้น และมองหาแต่สิ่งที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม เนื่องจากง่ายในการเห็นและเข้าใจ ไม่ต้องค้นคว้า-คิดค้นมาก  ในโลกของความฉาบฉวยดังปัจจุบัน เราจึงมักพบการสร้างเหตุที่ก่อผลแบบง่ายๆ (ลวกๆ) เอาผลเพียงระยะสั้น เพื่อหาความนิยม คะแนนความชื่นชอบที่ประสบความสำเร็จโดยง่าย ทั้งๆ ที่หลายกรณีเป็นอันตรายร้ายแรงต่ออนาคต  เหมือนเรือที่มองเห็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ โดยที่ความจริงยังมีเหตุและผลของสิ่งที่มองไม่เห็น (นามธรรม) เป็นอันตรายที่ซ่อนตาอยู่อีกเป็นอันมาก  นาวาลำใหญ่โตจำนวนมากจึงวินาศล่มจมลงมหาสมุทรจากการชนภูเขาน้ำแข็ง เพราะมองเห็นอะไรเพียงส่วนเดียว ด้านเดียว

เปรียบเทียบเหมือนอาการเป็นไข้ ซึ่งแท้จริงเป็นเพียงผลสะท้อนทางรูปธรรมของเหตุบางอย่างที่มองไม่เห็น ต้องอาศัยการสืบค้นต่อเนื่องด้วยวิธีการต่างๆ เช่นดูอาการอื่นประกอบ ใช้การตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ฯลฯ ที่สำคัญคือเอาอาการทั้งหมดมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน จึงจะรู้ต้นเหตุ (ปฐมเหตุ) อันแท้จริงได้  การมองโลกด้านเดียวแต่เชิงรูปธรรมจึงนำไปสู่อันตราย ผิดพลาดง่าย  ที่น่าวิตกที่สุดคือ ทำให้เราแก้ไขปัญหาได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว หาความยั่งยืนไม่ได้ เพราะไปไม่ถึงรากถึงโคน มองความจริงเพียงกิ่งก้านใบเท่านั้น

การเลือกมองแต่รูปธรรม-ปริมาณ วัตถุ ฯลฯ ดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญมาจากการเข้าใจความจริงของสรรพสิ่งบกพร่อง จึงมองอะไรอย่างง่ายๆ แบบเชิงเดี่ยว-ด้านเดียว เห็นโลกและปัญหาต่างๆ เป็นสมการคณิตศาสตร์แบบตายตัว หรือคิดเส้นตรง จึงก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแบบยิ่งแก้ก็ยิ่งวิกฤต  จากไข้กลายเป็นโคม่า หรือจากโจรกระจอกกลายเป็นโจรแบ่งแยกดินแดนไปในที่สุด และเจอมาตรการแก้ไขปัญหาที่อภิมหาซับซ้อนด้วยการกำหนดเวลา 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง  ทั้งๆ ที่ “ความจริง” เป็นสิ่งที่สั่งไม่ได้ คาดโทษหรือขีดเส้นตายไม่ได้  ได้แต่จะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ และเข้าถึงเท่านั้น จึงจะแก้ไขปัญหาได้โดยยั่งยืน


ภาพประกอบ