ทำไมพุทธศาสนาและโลกสมัยใหม่จำเป็นต้องก้าวไปด้วยกัน

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 29 พฤษภาคม 2016

บ่ายกลางสัปดาห์ ผมนั่งอยู่ในร้านหนังสือร่วมกับคนกว่าสามสิบ หันหน้าฟังเสวนาจาก เดวิด อาร์ ลอย ชาวตะวันตกที่หันมานับถือพุทธนิกายเซน เขาเป็นนักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา ผู้มีนัยตาสีฟ้าคราม เคราสีขาวเลาแซมสลับกัน

หัวข้อเสวนา “ทำไมพุทธศาสนาและโลกสมัยใหม่จำเป็นต้องก้าวไปด้วยกัน”

เดวิด ลอย อธิบายว่า โลกสมัยใหม่ที่เราคุ้นเคย ถูกวางรากฐานสังคมจากความคิดทางศาสนาแบบอับบราฮัมมิก (Abrahamic – แนวคิดร่วมของศาสนายิว คริสต์ อิสลาม) ซึ่งมองโลกแบบแบ่งขั้ว หรือทวิลักษณ์ เช่น พระเจ้า-ซาตาน ความดี-ความชั่ว ขาว-ดำ สูง-ต่ำ ธรรมะ-อธรรม

ขั้วทั้งสองขัดแย้ง และต่อสู้กันเสมอ หากก็อ้างอิงซึ่งกันและกัน

เราไม่มีทางรู้จักแสงสว่างได้หากไม่เคยเห็นความมืด

ไม่มีทางเข้าใจความดีงาม หากไม่เคยประสบสัมผัสความชั่วร้าย

วิธีคิดแบบทวิลักษณ์เช่นนี้เข้าใจง่าย แต่บางครั้งก็มีปัญหา เช่น การทำดีโดยการกำจัดความชั่วร้าย กลับเป็นความชั่วร้ายเสียเอง เป็นความจริงที่สงครามหลายครั้ง เกิดจากความปรารถนาดี ความศรัทธาในพระเจ้า

อย่างไรก็ตาม วิธีการมองโลกเช่นนี้ ก็ได้สร้างวัฒนธรรมการต่อสู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เช่น การเรียกร้องความยุติธรรม ความเท่าเทียมทางชนชั้น เรียกร้องสิทธิแรงงาน สิทธิของชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางเพศ ฯลฯ

ถึงแม้วัฒนธรรมตะวันตกจะต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า แต่ปัญหาบางอย่างกลับดำรงอยู่หรือแม้แต่แย่ลง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่มีมากขึ้น ปัญหาของคนสมัยใหม่ที่ทุกข์ง่าย สุขยาก รู้สึกว่าชีวิตยังขาดพร่อง ทั้งๆ ที่ชีวิตภาพรวมก็ดูสุขสบายดี เดวิด ลอยเสนอว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะสมัยใหม่ยังขาดการเรียนรู้มิติภายใน

…..

ตรงข้ามกับโลกสมัยใหม่ พุทธศาสนามิได้มองโลกแบบทวิลักษณ์ แต่เสนอว่า เหนือความดีความชั่วยังมีความว่าง พุทธศาสนายังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงภายใน มุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติเพื่อการทำความเข้าใจความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์และวิธีการสู่การดับทุกข์ หรือที่เรียกว่าอริยสัจ

ผู้ที่ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ย่อมได้รับอานิสงส์ที่เกิดขึ้นแก่ตน เข้าใจชีวิตและความเป็นไปของสรรพสิ่ง สามารถละวางตัวตน สู่ความสงบสุขอย่างยิ่ง แต่ชาวพุทธก็มักพึงพอใจเพียงการเปลี่ยนแปลงภายใน แต่ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงสังคม

พระสงฆ์พม่าอาจมีเมตตากรุณา มีปัญญาอย่างยิ่ง แต่เดวิด ลอย ไม่เชื่อว่า พระรูปนั้นจะมีความสุขมากนัก เมื่อเพื่อนร่วมสังคมยังประสบความยากลำบาก แร้นแค้น และมีความทุกข์อย่างสาหัส ดังนั้น การมีความสุขเฉพาะตน กับความสุขของสังคม เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นไปด้วยกัน อิงอาศัยกัน

วัฒนธรรมตะวันตกต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า แต่ขาดการเรียนรู้มิติภายใน ขณะที่ชาวพุทธก็มักพอใจเพียงการเปลี่ยนแปลงภายใน แต่ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงสังคม

…..

พิจารณาโลกทั้งสองฝั่ง เดวิด ลอย เสนอให้พุทธศาสนาและโลกสมัยใหม่จับมือเดินไปด้วยกัน เติมเต็มกันทั้งแนวคิดและวิธีปฏิบัติ กล่าวคือ โลกสมัยใหม่ควรศึกษาปฏิบัติตามแนวทางพุทธศาสนาเพื่อความตื่นรู้ การเรียนรู้ความทุกข์และการดับทุกข์ จะทำให้คนสมัยใหม่เป็นสุขได้ง่ายขึ้น หลุดพ้นจากการพึ่งพิงความสุขจากการบริโภค

ในขณะที่ฝั่งพระพุทธศาสนา ก็ควรเรียนรู้คุณค่าที่โลกสมัยใหม่ให้ความสำคัญ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม มีเสรีภาพ และความเป็นธรรมมากขึ้น เดวิดลอยเสนอว่า การให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นคติที่มีอยู่แล้วในพุทธศาสนา คือคติพระโพธิสัตว์

คติดังกล่าว คือความเชื่อที่ว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์และสัตว์โลกอื่นๆ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการตื่นรู้ภายใน ขณะเดียวกัน สติปัญญาที่เติบโตขึ้น ก็ทำให้เราทำประโยชน์ให้สังคมได้ดีขึ้นด้วย

เดวิด ลอย ทิ้งท้าย บางที คติโพธิสัตว์ จึงอาจเป็นแนวคิดที่มีคุณูปการมากที่สุดในสังคมปัจจุบัน


ภาพประกอบ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher