เมื่อปี ๒๕๔๙ นักวิจัยชาวออสเตรเลียสองคน คือ ไมเคิล โอเท็น และ เค็น เช็ง ได้ชักชวนอาสาสมัครประมาณ ๒๔ คน อายุระหว่าง ๑๘-๕๐ ปี เข้าโครงการออกกำลังกายเป็นเวลาสองเดือน กิจกรรมมีทั้งยกน้ำหนักและเต้นแอโรคบิค ส่วนใหญ่ไม่เคยออกกำลังกายแบบนี้มาก่อน เพราะชอบนั่งๆ นอนๆ มากกว่า จึงต้องเคี่ยวเข็นตนเองอย่างมากทุกครั้งที่เข้าโรงยิม
เมื่อสองเดือนผ่านไป ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาชีวิตของทั้ง ๒๔ คนเพื่อดูว่าการออกกำลังกายส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของเขาบ้าง สิ่งที่เขาพบก็คือ ไม่เพียงทรวดทรงของเขาจะดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ และกินอาหารขยะน้อยลง ใช้เวลากับการทำการบ้านมากขึ้น ดูโทรทัศน์น้อยลง รวมทั้งซึมเศร้าน้อยลงด้วย
ต่อมาทั้งสองได้ทำการทดลองอีกครั้ง คราวนี้ให้คน ๒๙ คนมาเข้าโครงการบริหารเงินเป็นเวลาสี่เดือน โดยให้ทุกคนตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินเป็นจำนวนเท่าใด และขอให้งดสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น กินอาหารในภัตตาคารหรือดูหนัง รวมทั้งทำบัญชีการใช้จ่ายอย่างละเอียด
แน่นอนว่าสถานะการเงินของทุกคนดีขึ้น แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ นอกจากพวกเขาจะดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ กินอาหารขยะ และสูบบุหรี่น้อยลงแล้ว (บางคนสูบน้อยลงถึง ๑๕ มวน) ยังทำงานหรือมีผลการเรียนดีขึ้น
ทั้งสองคนยังไม่พอใจเพียงเท่านั้น การทดลองต่อมาเขาให้นักศึกษา ๔๕ คนเข้าโครงการปรับปรุงการศึกษา ซึ่งเน้นการสร้างนิสัยใหม่เกี่ยวกับการเรียน ปรากฏว่าผลการเรียนของทุกคนดีขึ้นตามคาด แต่พฤติกรรมด้านอื่นๆ ก็ดีขึ้นด้วย เช่น สูบหรี่และดื่มเหล้าน้อยลง ดูโทรทัศน์น้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น และกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น
พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว แม้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าจะเป็นผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมออกกำลังกายเป็นประจำเสมอไป ก็หาไม่ เพราะการทดลองสองครั้งหลังไม่ได้เกี่ยวกับการออกกำลังกายเลย ถ้าเช่นนั้นอะไรเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
โอเท็นและเช็งสรุปว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นผลจาก “พลังใจ” (will power) ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการทดลองทั้งสามประเภทนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการฝึกให้อาสาสมัครเคี่ยวกรำตนเอง ต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ ต้องอดทนอดกลั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ผลก็คือมีพลังในการควบคุมตนเองมากขึ้น พลังดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่หยุดอยู่เฉพาะกิจกรรมที่ถูกกำหนดให้ทำ แต่ขยายไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่ไม่มีใครบังคับ เช่น การกินอาหาร การดูโทรทัศน์ การทำงาน ฯลฯ
การทดลองดังกล่าวให้ผลสอดคล้องกับการทดลองที่หลายคนได้ทำก่อนหน้านั้น เช่น เมื่อมีการชักชวนให้ผู้คนออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้ไม่ทุกวัน แต่ทำแค่อาทิตย์ละครั้ง พฤติกรรมด้านอื่น ๆ ของเขาก็เปลี่ยนไป เช่น สูบบุหรี่น้อยลง กินอาหารที่ถูกอนามัยมากขึ้น ใช้เครดิตการ์ดน้อยลง มีความอดทนกับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น รวมทั้งมีความเครียดน้อยลงด้วย
การทดลองเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า พลังใจหรือความสามารถในการควบคุม (และเคี่ยวเข็ญ) ตนเองนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตของเรา มันไม่เพียงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในบางเรื่องที่กำลังฝึกฝนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของเราอีกด้วย ไม่ว่าการบริโภค การทำงาน หรือความสัมพันธ์
มองในทางกลับกัน การที่ผู้คนมีพฤติกรรมที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นนั้น สาเหตุสำคัญก็คือการขาดพลังใจหรือความสามารถในการควบคุมตนเองนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าการทำเช่นนั้นไม่ดี หลายคนก็รู้ว่า บุหรี่ สุรา และอาหารขยะ นั้นเป็นโทษต่อร่างกาย แต่ที่ยังเลิกไม่ได้ก็เพราะขาดพลังที่จะต่อต้านมัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีพลังในการยั่วยวน เช่นเดียวกับอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง เช่น การเที่ยวห้าง การพนัน เกมออนไลน์ หรือแม้แต่เฟซบุ๊ค
ในสหรัฐอเมริกามีคนจำนวนมากที่หยุดช็อปปิ้งไม่ได้ มีเครดิตการ์ดกี่ใบก็รูดหมดจนมีหนี้สินมากมาย รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ก็ห้ามใจไม่ได้เสียที มีบางคนหาทางแก้ด้วยการเอาบัตรเครดิตใส่ไว้ในแก้วแล้วเอาแก้วนั้นไปใส่ช่องแช่แข็ง เมื่อใดก็ตามที่อยากจับจ่าย ก็ต้องรอให้น้ำแข็งในแก้วละลายก่อนจึงจะเอาบัตรเครดิตไปใช้ได้ ถึงตอนนั้นความอยากก็จะลดลงไป และสติกลับคืนมา ทำให้เปลี่ยนใจไม่ไปช็อปปิ้ง
นี้เป็นทางออกของหลายคนที่รู้ว่าพลังใจนั้นมีไม่พอที่จะต้านความอยาก จึงต้องอาศัย “ตัวช่วย” จากภายนอก เช่น ถ้าจะเลิกเหล้าหรือการพนัน ก็ต้องผลักไสตัวเองไปอยู่วัดหรือที่ไกลๆ จะได้ไม่สามารถทำตามความอยากได้ แต่ตราบใดที่พลังใจไม่เข้มแข็ง เมื่อใดที่สบโอกาส ก็มักพ่ายแพ้แก่กิเลส และอดโมโหตัวเองไม่ได้ที่พ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้ก็ว่าได้ คือ รู้ว่าอะไรดี แต่ห้ามใจไม่ได้ สมกับวลีที่ว่า “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้” ทั้งนี้เป็นเพราะการถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจมาตั้งแต่เล็ก ครั้นโตขึ้นก็ปล่อยตัวปล่อยใจง่ายเกินไป ประกอบกับทุกวันนี้มีสิ่งยั่วยวนมากมาย ที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจสูงมาก ยากที่จะต่อต้านได้ แม้มันจะให้ความสุขที่รวดเร็วทันใจ แต่ส่งผลเสียตามมาในระยะยาว
ทุกวันนี้มีคุณค่าใหม่ๆ ที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นตัวของตัวเอง ความรักอิสระ แต่คุณค่าเก่าๆ สมัยปู่ย่าตายาย เช่น การรู้จักควบคุมตนเอง ก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากขาดสิ่งนี้ไปแล้ว ก็ยากที่จะนำพาชีวิตไปในทางที่เจริญงอกงามได้
ปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้คือ “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้”
เมื่อ ๔๐ ปีก่อน วอลเตอร์ มิสเชล แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ทำการทดลองที่มีชื่อเสียงมาก โดยนำเด็กอายุ ๔-๖ ขวบเข้าไปในห้องซึ่งมีขนมมากมาย ผู้ทดลองบอกแก่เด็กว่า ขนมเหล่านี้เด็กทุกคนสามารถกินได้หนึ่งชิ้นทันที แต่หากรอ ๑๕ นาทีก็สามารถกินได้สองชิ้น ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่รอไม่ไหว ขอกินก่อน มีเพียงหนึ่งในสามที่รอได้ถึง ๑๕ นาทีเพื่อจะได้กินสองชิ้น
มีเด็กร่วมการทดลองนี้ร่วม ๖๐๐ คน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นวัยรุ่น เขาได้พบว่าเด็กที่รู้จักอดทนรอคอยนั้น โดยเฉลี่ยมีผลการเรียนที่ดีถึงดีมาก รวมทั้งทำคะแนนสอบเข้า (SAT score)ได้สูงกว่าเด็กที่เหลือถึง ๒๑๐ คะแนน อีกทั้งยังมีเพื่อนเยอะ และเสพยาน้อยกว่า
เสรีภาพนั้นไม่ใช่การตามใจ จะว่าไปแล้วการตามใจหรือการปล่อยใจไปตามอารมณ์ กลับทำให้ตนเองสูญเสียเสรีภาพ ยากที่จะดำเนินชีวิตไปตามที่ปรารถนาได้ เพราะตกอยู่ในอำนาจของสิ่งยั่วยวนมากมาย ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นโทษ แต่ก็ปฏิเสธมันไม่ได้ เพราะไม่มีเรี่ยวแรงต่อต้านขัดขืน
ดังนั้นหากปรารถนาเสรีภาพ นอกจากความรักอิสระแล้ว ยังต้องมีพลังใจเพื่อสามารถผลักดันชีวิตไปยังจุดหมายที่ต้องการ แม้อุปสรรคจะมีมากมายเพียงใดก็ตาม