คำอธิบายถึงจุดเริ่มต้นหรือการกำเนิดขึ้นของสรรพสิ่งว่ามีขึ้นได้อย่างไรนั้น ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างหนึ่งที่คนเราต้องการรู้ ศาสนาและลัทธิต่างๆ จึงมีคำตอบในเรื่องนี้ให้กับสมาชิกของตน ศาสนาที่มีเทพเจ้าหรือพระเจ้ามักยกหน้าที่สำคัญนี้ให้กับท่านว่าเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมา
พร้อมกันนั้นก็มีหลักการสำคัญไว้จำกัดความสงสัยอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์ด้วย เช่นว่า เราไม่มีทางรู้ความประสงค์ที่แท้จริงของพระเจ้า หรือห้ามตั้งคำถามต่อพระเจ้า เป็นต้น
แม้วิทยาศาสตร์ที่กำลังสถาปนาตนเองให้เป็นศาสนาสากลของยุคนี้ ก็ใช้ความพยายามและทุ่มทุนมหาศาลเพื่อการหาคำตอบในเรื่องนี้ โดยเชื่อว่าทฤษฎีว่าด้วยการระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบงนั้นกำลังจะเผยคำตอบว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดมีเอกภพ จักรวาล และสรรพสิ่งต่างๆ นั้นเป็นมาอย่างไร
พุทธศาสนิกชนหลายคนอาจรู้สึกผิดหวังที่พระพุทธศาสนาไม่ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน แม้จะมีพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดขึ้นของจักรวาลหรือมนุษย์ แต่ก็เป็นการยกขึ้นเพื่อเปรียบเปรยหรือมีเป้าหมายเพื่อสอนเรื่องอื่น เช่นในอัคคัญญสูตร ที่มีเป้าหมายแท้จริงอยู่ที่การโต้แย้งศาสนาเดิมว่ามนุษย์เราไม่ได้มีความแตกต่างกันที่กำเนิด ไม่ได้ต้องการอธิบายว่ามนุษย์หรือสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาอย่างไร
แต่ท่ามกลางกลุ่มผู้ที่เชื่อว่าต้องมีจุดกำเนิดหรือจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่งนั้น ก็มีคำถามง่ายๆ ที่คอยทิ่มแทงจิตใจพวกเขาอยู่เสมอก็คือ จริงหรือที่ก่อนหน้าจะถึงจุดกำเนิดนั้นไม่มีอะไรอยู่เลย ก่อนหน้าบิ๊กแบงหนึ่งวินาทีนั้นไม่มีอะไรอยู่เลยหรือ แล้วจู่ๆ มันจะระเบิดขึ้นมาได้อย่างไร หรือก่อนหน้าที่เทพเจ้าจะสร้างอะไรๆ ขึ้นมานั้น ท่านอยู่อย่างโดดเดี่ยวมาตลอดเช่นนั้นหรือ แล้วตัวท่านเองอุบัติขึ้นมาเมื่อไหร่ และมีจุดกำเนิดมาอย่างไร
จะว่าไปแล้วพุทธศาสนามีคำตอบที่ชัดเจนมากเกี่ยวกับกำเนิดของสรรพสิ่ง เพียงแต่คำตอบไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวังกันไว้ จนเราคิดว่าท่านไม่ได้ตอบ เพราะโดยพื้นฐานเราเชื่อว่าทุกสิ่งต้องมีจุดกำเนิดจากไม่มี แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาให้มีขึ้นมา
สำหรับพุทธศาสนาเห็นว่าความเชื่อดังกล่าวไม่ถูกต้อง พุทธศาสนาไม่ได้คิดว่าสิ่งต่างๆ ต้องเริ่มจากศูนย์หรือไม่มีมาก่อน แต่สรรพสิ่งทั้งหลายนั้นมีมาอยู่ก่อนแล้ว ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ มีแต่ความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินหนุนเนื่องกันอยู่ต่อไปตามกระแสของเหตุและปัจจัยและตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ
หลักความจริงนี้ปรากฏให้เราเห็นอย่างชัดเจนต่อหน้าต่อตาอยู่เสมอ เพียงแต่เราติดอยู่ในความเชื่อที่ว่าต้องมีจุดเริ่มต้นและเพลินกับสิ่งที่สมมุติขึ้นว่าเป็นจริงตามนั้น จนมองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้วไม่มีอะไรที่เริ่มจากศูนย์หรือเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุและปัจจัยมาก่อนเลย
ยกตัวอย่างตั้งแต่เรื่องหยาบๆ เช่น เวลา ๐ นาฬิกา ๐ นาที ๐ วินาที ที่เราเทียบนั้นก็สมมุติขึ้นเพื่อความเข้าใจตรงกันของผู้คน อุณหภูมิที่ ๐ องศาเซลเซียส ก็สมมติขึ้น ไม่ใช่ที่ -๑ องศานั้นไม่มีความร้อนอยู่เลย รวมถึงเรื่องเงินทองมูลค่าสิ่งของและเพชรนิลจินดาว่าราคาเท่าไหร่ก็สมมุติตกลงกันขึ้นมาทั้งนั้น
ราดหน้าที่เราสั่งมาร้อนๆ ก็ไม่ได้เริ่มจากไม่มีอะไรอยู่ก่อนเลย แต่มีทั้งผักเส้นและส่วนผสมอื่นๆ รวมทั้งความรู้ในการทำราดหน้าเป็นเหตุปัจจัยอยู่ก่อนที่จะมาเป็นราดหน้าวางอยู่ต่อหน้าเรา หรือแม้แต่ชีวิตคนเราที่สมมุติเริ่มนับอายุกันตั้งแต่คลอดออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าก่อนคลอดไม่ได้ชีวิตนั้นอยู่เลย
หลังจากเรากินราดหน้าหมด ราดหน้าก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนสภาพไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติเป็นส่วนประกอบของร่างกาย เป็นของเสีย เป็นแรงกำลังในการทำงานของเรา แม้ถ้าเราไม่ได้กินพ้นมื้อนี้ไปราดหน้าก็กลายเป็นเศษอาหาร เป็นขยะ บูดเน่าเปลี่ยนแปลงดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ได้หยุดนิ่งเป็นราดหน้าอยู่เช่นนั้นตลอดไป
สรรพสิ่งทั้งหลายมีอยู่ก่อนแล้ว ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ มีแต่ความเปลี่ยนแปลงที่ยังดำเนินต่อไปตามเหตุปัจจัยและกฎธรรมชาติ
สิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่ามีอยู่ หรือเกิดขึ้นและสิ้นสุดลงนั้น จึงเป็นเพียงการพูดโดยสมมุติตัดตอนเพียงช่วงปรากฏการณ์หนึ่งของกระแสที่สืบเนื่องไม่สิ้นสุดเท่านั้น จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของสรรพสิ่งที่ไม่มีอะไรอยู่เลยจึงไม่ได้มีอยู่จริงในทัศนะของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำอธิบายที่น่าเชื่อถือ เข้าใจได้ และเห็นภาพความเป็นจริงที่ปรากฏได้มากกว่าการเชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นที่ไม่มีอะไรเลยด้วย แต่เรากลับไม่ค่อยเห็นความจริงนี้กัน
ผลของการไม่รู้ความจริงของธรรมชาติในลักษณะนี้ เลยทำให้เราหลงสมมุติไปยึดไปติดไปคิดว่าปรากฏการณ์ช่วงที่เรารับรู้นั้นเป็นตัวเราของเรา และอยากให้มันเป็นไปตามความต้องการของเรา
เราอยากให้คนหรือสิ่งของที่เรารักอยู่กับเราตลอดไป อยากให้รูปร่างหน้าตา (ที่คิดว่าเป็น) ของเราอยู่ในสภาพเดิมไม่เหี่ยวไม่ย่น อยากถูกหวย อยากไม่ป่วย อยากให้คนที่เราเกลียดฉิบหายล่มจมไปเร็วๆ ฯลฯ เมื่อไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา ก็เลยทำให้เรามีความทุกข์เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าภายใต้กระแสนี้เราทำอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างต้องปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันอย่างนั้น พุทธศาสนาเชื่อมั่นว่าคนมีความสามารถจัดการกับเหตุปัจจัยบางอย่างเพื่อให้ผลเป็นไปตามต้องการได้บางส่วน ที่สำคัญคือสามารถพัฒนาสติปัญญาของเราจนมีความรู้ความเข้าใจในความจริงของธรรมชาติ รู้ทันสมมุติ อยู่กับสมมุติได้โดยไม่ติดไม่ยึดและไม่ทุกข์เพราะหลงในสมมุตินั้นอีกต่อไป และนั่นคือเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ในฐานะเราเป็นชาวพุทธ เมื่อมีสิ่งใดหรือสถานการณ์ใดๆ เกิดขึ้น จุดสนใจของเราควรเปลี่ยนจากการสงสัยว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือกังวลว่าจะจบลงอย่างไร ไปมีสติอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ดูกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงว่ามันเป็นมาและจะเปลี่ยนไปอย่างไร มีเหตุปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อเราจะได้เข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องนั้นอย่างเหมาะสม ไม่นำความทุกข์มาให้
ไม่ถึงกับต้องทุ่มเทค้นหาจุดเริ่มต้น ไม่ต้องกังวลอยู่กับจุดสิ้นสุด หากแต่หยุดอยู่ที่ปัจจุบัน รู้เห็นความสัมพันธ์ของเหตุและปัจจัย นั่นแหละหัวใจในการใช้ชีวิตของชาวพุทธ