ในปฐมทุฏฐโทสสิกขาบท (พระวินัยปิฎก เล่ม ๑) เล่าไว้ว่า พระทัพพมัลลบุตรคิดคำนึงในใจว่า ตนเองก็ได้บรรลุอรหัตผลแล้วตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ กิจส่วนตนที่ควรทำก็บรรลุเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้ไปทูลขอพระพุทธเจ้าเพื่อขอทำหน้าที่จัดแจงเสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์ พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญว่า “ดีแล้วๆ ที่เธอขันอาสามาทำประโยชน์ด้านนี้แก่ส่วนรวม” เมื่อพระทัพพมัลลบุตรได้รับแต่งตั้งจากสงฆ์ให้ทำหน้าที่นี้ ท่านได้ใช้ความสามารถที่ตนมีจัดแจงเรื่องอาหารและที่พักแก่สงฆ์ทั้งหลายอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ความสามารถพิเศษเช่นอิทธิปาฏิหาริย์ที่ตนมีก็ถูกนำมาใช้เพื่องานในหน้าที่นี้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการอันหลากหลายของเพื่อนภิกษุด้วยกัน
เรื่องข้างต้นนี้ หากมองด้วยสายตาของคนสมัยนี้ ส่วนใหญ่ย่อมไม่รู้สึกภูมิใจ หากต้องมาทำงานเพียงเพื่อจัดอาหารและที่พัก แต่กรณีของพระทัพพมัลลบุตรนี้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ขนาดท่านบรรลุธรรมอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในคติพุทธศาสนาแล้ว ยังขันอาสามารับใช้สงฆ์ด้วยการทำงานที่ดูพื้นๆ ธรรมดาๆ ไม่มีอะไรโดดเด่นน่ายกย่องเป็นพิเศษ แต่ท่านก็รู้สึกภูมิใจและสุขใจที่ได้ทำประโยชน์ตรงนี้ เพื่อนภิกษุด้วยกันก็รู้สึกชื่นชมที่ได้รับประโยชน์จากการทำหน้าที่ของท่าน แม้พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสสรรเสริญ นั่นย่อมหมายความว่า พุทธศาสนาไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเหลื่อมล้ำระหว่างงานที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นงานที่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม และทำอย่างสุจริต ล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
แต่ทัศนคติในเรื่องงานกับคนของสังคมสมัยใหม่นี้ คนส่วนใหญ่กลับให้คุณค่าของคนจากงานที่ทำ ซึ่งหมายถึงงานประเภทที่สร้างชื่อเสียงและกำไรให้กับตนเองและองค์กร เช่น งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือสามารถแสดงให้คนอื่นและสังคมมองเห็นและยอมรับว่า เก่งและฉลาด คนส่วนใหญ่จึงพยายามตะเกียกตะกายไขว่คว้าที่จะได้ทำงานประเภทอยู่แถวหน้า ส่วนจะชอบงานที่ทำหรือมีการเอารัดเอาเปรียบกันหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องสนใจ ดังนั้นจึงทนไม่ได้เอาเลยหากตนเองจะต้องเป็นคนที่ทำงานอย่างพื้นๆ ธรรมดาๆ
ทัศนคติในแง่นี้มีความเข้มข้นมากในสังคมสมัยใหม่ ก็เพราะสังคมได้ใช้กลไกหรือกระบวนการทางสังคมต่างๆ เป็นเครื่องมือครอบงำการให้คุณค่าในเรื่องนี้อย่างเหลื่อมล้ำกันมาก มากจนบางคนถูกกดขี่ระดับจิตใต้สำนึกว่า ตนรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า หากจะต้องทำงานประเภทใช้แรงงานหรือไม่ได้อยู่แถวหน้า กลไกที่ว่านี้ได้แก่
๑) ระบบการศึกษาที่รัฐและทุนใช้เป็นเครื่องมือป้อนคนเพื่อรับใช้อำนาจรัฐและทุนนิยม มากกว่าจะใช้เพื่อพัฒนาคนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่งอกงามทุกมิติ
๒) สื่อมวลชนที่ยกย่องเชิดชูแม่แบบทางวัฒนธรรมประเภทเด่นดัง
๓) การที่กลุ่มหรือองค์กรเลือกยกย่องเชิดชูเฉพาะคนที่สร้างผลงานอันเป็นหน้าตาและกำไรขององค์กร รวมถึงการให้ค่าตอบแทนและให้อำนาจอย่างเหลื่อมล้ำระหว่างคนในองค์กรเดียวกัน เป็นต้น
การให้คุณค่าในเรื่องงานกับคนอย่างเหลื่อมล้ำดังกล่าวนี้ ย่อมทำให้หลายคนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังเกิดความรู้สึกด้อย ไม่อยากเคารพตัวเอง ยากที่จะมีความสุขความภูมิใจกับงานที่ทำ จึงเฝ้าฝันอยู่ตลอดเวลาที่จะได้ทำงานที่องค์กรและสังคมให้การยอมรับ ทั้งที่งานนั้นอาจไม่สอดคล้องกับศักยภาพและความสนใจของตน อีกด้านหนึ่งขณะที่ต้องทำงานที่ตนรู้สึกต่ำต้อยนั้น ก็ย่อมทำให้เขาไม่อยากร่วมไม้ร่วมมือทำงานเป็นกลุ่ม ไม่อยากทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะทำเท่าไหร่ๆ ก็มีผลเป็นเพียงบันไดหรือฐานล่างให้บางคนบางกลุ่มใช้เหยียบเพื่อแสดงความสามารถเป็นที่ปรากฏสู่สายตาภายนอก และรางวัลกับเกียรติยศที่ได้กลับมาก็มักจะตกเป็นของคนนั้น กลุ่มนั้น มากกว่าจะตกเป็นของทุกคนในองค์กร
ไม่เพียงเท่านี้ องค์กรอาจจะต้องประสบกับสภาพการแก่งแย่งแข่งขันที่จะเป็นฝ่ายยึดกุมตำแหน่งและผลประโยชน์ไว้ เกิดความเคร่งเครียดกดดันจนนำไปสู่ความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ บรรยากาศแบบนี้มันทำให้คนเกลียดชังกันมากกว่าจะทำให้คนแสดงความรักเมตตาต่อกัน
สังคมสมัยใหม่ให้คุณค่าของคนจากงานที่ทำ นั่นคืองานที่สร้างชื่อเสียงและผลกำไรให้ตนเองและองค์กร ดังนั้นจึงทนไม่ได้หากตนเองต้องอยู่ในตำแหน่งงานที่ดูพื้นๆ ธรรมดาๆ
ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอต่อไปนี้อาจพอช่วยลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องงานกับคนได้บ้าง แม้จะดูตลกน่าหัวร่อและเป็นไปได้ยาก แต่ก็ขอเชิญชวนร่วมกันใคร่ครวญและวิจารณ์กันต่อไป
ประการแรก แม้ว่าองค์กรจะยังคงให้ความสำคัญกับงานประเภทอยู่แถวหน้าหรือทำชื่อเสียงและกำไรให้องค์กร แต่องค์กรก็ควรกำหนดระบบสิทธิขั้นพื้นฐานหรือระบบสวัสดิการต่างๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม และควรกำหนดการใช้สวัสดิการที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ในแง่นี้มีตัวอย่างองค์กรบางแห่งถึงกับให้ทุกคนเจียดรายได้ส่วนหนึ่งจากเปอร์เซ็นต์ของค่าตอบแทนที่แต่ละคนได้ในอัตราก้าวหน้า โดยเอามารวมกับกองทุนสวัสดิการที่องค์กรตั้งงบประมาณไว้อยู่แล้ว ระบบสวัสดิการที่เท่าเทียมนี้ถือเป็นรูปธรรมพื้นฐานที่สุดของการกระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรมมากขึ้น
ประการต่อมา หากเป็นไปได้ องค์กรควรมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดค่าตอบแทนว่า ควรตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์อะไร หรือจะเริ่มต้นด้วยการสำรวจความเห็นจากสมาชิกทุกคนในองค์กรก่อนก็ได้ ในที่นี้เสนอว่า ไม่ควรกำหนดอัตราค่าตอบแทนโดยดูจากความสามารถที่สังคมมักให้คุณค่าอย่างเหลื่อมล้ำเพียงปัจจัยเดียว เช่น ใครทำงานคิดสร้างสรรค์หรืองานบริหารก็มีรายได้มากกว่าฝ่ายอื่นเป็นร้อยเป็นพันเท่า เป็นต้น ส่วนคนที่ใช้แรงกายทำงานอย่างหนักเพียงเพราะว่าเขาไม่ได้มีวุฒิการศึกษาสูง หรือคนที่ต้องทำงานหนักแต่อยู่หลังฉากของความสำเร็จ คนเหล่านี้ก็ควรที่จะได้รับการให้ความสำคัญมากขึ้น ดังนี้เป็นต้น
ประการสุดท้าย องค์กรควรมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมกันสร้างกลไกต่างๆ เพื่อให้สมาชิกทุกคนตระหนักอยู่ในใจว่า ไม่ว่างานประเภทใดรวมถึงทุกคนที่ร่วมรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังและสุจริตนั้น ล้วนมีความสำคัญต่อองค์กร ทุกคนทุกฝ่ายล้วนเป็นปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบกันจนนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร นอกจากนี้ควรช่วยกันส่งเสริมบรรยากาศการยกย่องชื่นชมผลสำเร็จให้ตกเป็นของกลุ่มหรือทั้งองค์กร หรืออย่างน้อยก็ทำควบคู่ไปกับการยกย่องชื่นชมแบบเจาะจงบุคคล เพราะหากทุกคนต่างรู้สึกว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน ก็ย่อมรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและย่อมนำไปสู่การทำงานอย่างอิ่มเอมเป็นสุขและทำได้อย่างสุดกำลังความสามารถ
สำหรับการยกย่องชื่นชมแบบเจาะจงบุคคลก็ควรให้ผู้ถูกยกย่องได้ตระหนักรู้ว่า แม้ว่าเขาจะเป็นปัจจัยอันโดดเด่นสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร แต่ความสำเร็จนั้นก็มาจากความร่วมไม้ร่วมมือของคนอื่นฝ่ายอื่นด้วย ซึ่งเขามิควรมองข้าม จริงอยู่แม้เขาจะมีทักษะความสามารถสูงส่ง มีผลงานโดดเด่นเพียงใด แต่เขาก็ควรรู้สึกภูมิใจในมุมที่กว้างขึ้น ไม่ติดอยู่กับความกระหยิ่มใจว่า “ก็เพราะกูเท่านั้น” โดยเขาควรเป็นปัจจัยทำให้อีกหลายคนรู้สึกภูมิใจร่วมในความสำเร็จนั้น เพราะการทำให้คนรู้สึกได้ว่า ตัวเองมีคุณค่าความหมายนั้นเป็นกุศลอย่างยิ่ง และมันย่อมง่ายที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดความรักใคร่ปรองดองกัน ที่สำคัญคือลึกๆ แล้วพวกเขาก็คงชื่นชมด้วยน้ำใสใจจริงต่อคนที่มีความสามารถสูง แต่ไม่ยโสโอหังเป็นทุนอยู่แล้ว