ดีในไม่ดี

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 6 พฤศจิกายน 2011

เพิ่งไปล่องแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักกันมา เมื่อปลายเดือนตุลาคม แต่ไม่ใช่การล่องเรือหาความสำราญส่วนตัว  หากเป็นการไปเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง

แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่คน ๖๐ กว่าชีวิตบนเรือจู่โจมความเร็วสูงของกองทัพเรือได้รับก็คือ การได้เห็นความจริงของธรรมชาติแห่งกระแสน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ที่ย่อมต้องหลากสายแผ่กว้างออกสู่ท้องทุ่งในฤดูน้ำหลาก  ซึ่งกระแสสายน้ำแห่งฤดูน้ำหลากนี้แหละที่กรุงศรีอยุธยาใช้ต้านข้าศึกโดยไม่ต้องรบ แต่อาศัยน้ำเหนือช่วยล้างกองทัพของศัตรูให้ล่าถอยไปเอง

กับอีกสิ่งที่บางคนอาจได้รับ คือความรู้สึกของการเป็นเพื่อนร่วมทุกข์อย่างแท้จริง เพราะเป็นความจริงว่าในทีมของคนที่เดินทางนำสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อยุธยานั้น  มีหลายคนที่น้ำกำลังท่วมบ้านของตัวเองอยู่เช่นกัน

วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดอยุธยา ขณะน้ำท่วมถึงภายในวัด

คณะเดินทางครั้งนี้นำโดยท่าน ว.วชิรเมธี จากสถาบันวิมุตติยาลัย ร่วมกับอีกหลายองค์กรเอกชนอย่าง หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ มูลธิโกมลคีมทอง เครือข่ายพุทธิกา กลุ่มสลึง เป็นต้น  เปิดรับบริจาคเงินและข้าวของจากประชาชนในกรุงเทพฯ นำไปมอบให้กับวัดและชุมชนในจังหวัดอยุธยาที่อยู่ห่างไกลการช่วยเหลือทั่วไป โดยอาศัยเรือสมรรถนะสูงของกองทัพเรือในการเข้าพื้นที่

ชาวบ้านคนหนึ่งที่บ้านป้อม ย่านวัดสนามชัย บอกว่าข้าวของที่ได้รับจะมากจะน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ  แต่เธอดีใจที่มีคนมาเยี่ยมมาให้กำลัง  คณะเดินทางในวันนั้น มีดาราหนุ่มสาวชื่อดังแห่งยุคกลุ่มใหญ่ร่วมไปพูดคุยและร้องเพลงให้ชาวบ้านฟังด้วย

คนในพื้นที่คุ้นเคยกับน้ำมาแต่เกิด และอาจไม่ทุกข์ร้อนนักกับกระแสน้ำหลาก หากเป็นวิถีชีวิตที่อยู่การเกษตรกรรมในแบบเดิม  แต่ชีวิตที่เบนเข้าสู่การเป็นแรงงานในโรงงาน และเวลานี้นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดก็ถูกน้ำท่วมเสียหายสิ้นทุกแห่ง  พวกเขาจึงเป็นทุกข์กังวลกับความเป็นอยู่ในวันข้างหน้ากันไม่น้อย

คณะที่เดินทางนำสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีหลายคนที่น้ำกำลังท่วมบ้านของตัวเองอยู่เช่นกัน

เครื่องครัวที่แสนธรรมดาอย่างหอม กระเทียม พริกสด กลายเป็นของมีค่าอย่างยิ่งของชาวบ้านที่ติดเกาะอยู่ในบ้านของตัวเอง  ขณะที่ปลาซึ่งจับหากันมาได้กลายเป็นเหมือนของไม่มีค่า เพราะไม่สามารถปรุงเป็นอาหารอร่อยๆ ได้

แต่คนตลอดย่านน้ำก็ยังรู้จักหาประโยชน์เอาจากสถานการณ์ที่น่าทุกข์ระทมตรงหน้า  ท่ามกลางภาวะน้ำท่วมจะเห็นคนวางเบ็ดตกปลาริมน้ำอยู่ตลอดทางทั้งขาไปขากลับ ยังไม่นับพวกกลุ่มพรานหว่านแห  ส่วนพอพลบค่ำก็จะเห็นพวกมือฉมวกเดินส่องไฟออกไปตามที่น้ำเจิ่งนองไหลแรง  คืนนั้นที่ป้ายรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็มีคนมายืนหว่านแหอยู่ด้วย

เขาก็ยังหาแง่มุมรื่นรมย์แห่งชีวิตในท่ามกลางความทุกข์ยากได้

ขณะที่ในเมืองเวลานั้น ชั้นวางของตามร้านแวะสะดวกจนถึงในห้างสรรพค้านั้นว่างเปล่า แทบไม่มีอาหารและน้ำดื่มเหลืออยู่อีกแล้ว  ส่วนภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมืองเรียงรายด้วยหลังเต็นท์นับพันๆ หลังของคนถูกน้ำท่วม

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงมวลน้ำเข้าท่วมท่าอากาศยานดอนเมืองและบริเวณใกล้เคียง

บนศาลาวัดแห่งหนึ่งในหลายแห่งที่คณะแวะไปให้ความช่วยเหลือในวันนั้น  ท่าน ว.วชิรเมธีได้เมตตาแสดงธรรมให้กับผู้ประสบภัยที่มารับข้าวของบริจาค ในหัวข้อเรื่องการพึ่งตนเอง โดยยกนิทานเรื่องชายผู้ประสบภัยน้ำท่วมคนหนึ่งมาเป็นเรื่องเล่าเทียบเคียงว่า เมื่อมีภัยน้ำท่วมมาเยือน ชายผู้ใฝ่ในการสวดมนต์คนนั้นยังคงมุ่งมั่นอยู่กับการสวดมนต์อ้อนวอนให้พระผู้เป็นเจ้าให้ช่วยเหลือ รถหน่วยกู้ภัยมาช่วยเขาก็ไม่ยอมออกจากบ้าน ด้วยหวังรอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า  จนน้ำท่วมบ้านก็มีเรืออีกลำมาจะพาเอาออกจากบ้าน เขาก็ปฏิเสธเรือขึ้นไปสวดมนต์รอพระเจ้าอยู่บนหลังคา จนน้ำจวนมิดหลังคามีเฮลิคอปเตอร์มาช่วย เขาก็ยังไม่ยอมไป กระทั่งจมน้ำตาย

วิญญาณของชายผู้ยึดมั่นในการสวดมนต์ ไปเจอพระเจ้าก็ตัดพ้อว่า เขาสวดมนต์บูชาพระเจ้าด้วยความเชื่อมั่นจนนาทีสุดท้าย ไฉนพระเจ้าจึงไม่ยอมช่วยเขา

พระเจ้าตอบว่า ก็ทั้งรถ เรือ และเฮลิคอปเตอร์นั่นแหละ ที่พระเจ้าส่งไป ชายคนนั้นไม่ยอมก้าวขึ้นเอง

น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรในจังหวัดลพบุรี

จากนครสวรรค์ อยุธยา จนบัดนี้น้ำเดินทางมาถึงเมืองหลวงแล้ว  ผู้คนนับล้านๆ คนตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่มีแต่ความติดขัด สูญเสีย ที่ไม่มีอะไรดีสักอย่าง

แต่แม้ภัยจากธรรมชาติยากที่จะห้ามและไม่อาจฝืน เราก็สามารถที่ใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสที่จะได้ทำความดีให้แก่กัน

และบางทีในท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้แหละ ที่เราจะได้จะเห็นพระเจ้าที่อยู่ข้างๆ และในตัวเราเอง


ภาพประกอบ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ