หลายคนมักนึกถึงเรื่องการทำบุญหรือทำความดีในรูปของงานจิตอาสา การทำความดีให้กับผู้อื่น การบริจาค การทำบุญ ทำสังฆทานให้กับพระสงฆ์ กับวัด หลายคนนึกถึงในแง่สังคมสงเคราะห์ เช่น การบริจาคช่วยเหลือผู้ยากไร้ พร้อมกับหลายคนเลือกใช้ชีวิต อาชีพการงานที่มุ่งหมายทำประโยชน์เพื่อสังคม ผู้เขียนมองว่าคุณูปการสำคัญของการทำคุณความดีเช่นนี้ คือ การได้คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง กระนั้นคุณภาพของการทำคุณความดีเช่นนี้ ต้องอาศัยองค์ประกอบที่มากกว่าเพียง ‘การคิดคำนึงถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง’
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกาฯ ให้มุมมองในเรื่องการทำคุณความดีผ่านโครงการรณรงค์ “สุขแท้ด้วยปัญญา” ว่าการทำคุณความดีให้เกิดความสุข ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ คือ ๑) การคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าตนเอง ๒) การไม่พึ่งพิงแต่ความสุขทางวัตถุอย่างเดียว ๓) เชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค และรวยลัด ๔) รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล องค์ประกอบข้างต้นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงสังคม รวมกับการมีท่าทีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการทำคุณความดีของตัวบุคคลนั่นเอง
ภายใต้บริบทสังคมที่เน้นการบริโภคนิยม การพึ่งพิงความสุขทางวัตถุ ความสุขจากภายนอกเป็นกระแสใหญ่ที่สร้างความทุกข์ ความเครียดให้แก่ผู้คน ท่าทีวิธีคิดที่เน้น “ตัวกู ของกู” ก็ยิ่งทำให้เพิ่มพูนการเบียดเบียนในสังคม แนวคิดสุขแท้ด้วยปัญญา จึงเป็นยาแก้สำคัญที่ช่วยแก้ความทุกข์ของผู้คนในสังคม ให้หันมาใส่ใจและทำคุณความดีเพื่อสร้างผลกระทบทางบวกต่อตนเองและสังคมได้
คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง ไม่พึ่งพิงแต่ความสุขทางวัตถุ เชื่อมั่นในความเพียรของตน รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล
เรื่องราวของสมศรี (นามสมมุติ) คือ ตัวอย่างของชีวิตที่ต้องการ ‘การทำคุณความดีแบบใหม่’ สมศรีกับสมรักเป็นเพื่อนสนิท ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดีกันบ้างทะเลาะกันบ้าง และด้วยอุปนิสัยประจำตัวที่อีกฝ่ายมักมีท่าทีเป็นฝ่ายนำ สั่งการ ปกป้อง ขณะที่อีกฝ่ายก็มักมีท่าทีเชิงพึ่งพิง ตอบสนอง ยอมตาม ด้วยความคุ้นเคยในแบบแผนความสัมพันธ์นี้ ก็สร้างรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม มีความคาดหวัง เรียกร้องโดยไม่รู้ตัว
แล้ววันหนึ่ง เมื่อฝ่ายหนึ่งมีเหตุให้ท่าทีปฏิสัมพันธ์แตกต่างไปจากเดิม ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ความผิดหวัง เสียใจ เจ็บปวด เรื่องราวขยายใหญ่โตด้วยท่าทีของการกล่าวโทษ การปกป้องตนเอง ประเด็นความขัดแย้งถูกขยายใหญ่โต และบดบังจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรับฟังกันได้อย่างแท้จริง ทั้งสองหันหลังใส่กัน เลิกราความสัมพันธ์ เพื่อนๆ ของทั้งสองพยายามเข้ามาช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง แต่เหมือนความไม่พร้อมในการรับฟัง รวมกับความผิดหวัง เสียใจ ความถือตัวที่ยังคุกรุ่น ก็ทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่สามารถเป็นอิสระจากพันธนาการในจิตใจของตนได้
ความทุกข์ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นการผิดหวัง เจ็บปวด เสียใจ กลัว โกรธ ฯลฯ อันเนื่องจากการพลัดพราก สูญเสีย การประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ การไม่ได้ในสิ่งที่รัก แท้จริงภาวะทุกข์ใจเหล่านั้นคือ โอกาสที่จะเริ่มต้นเรียนรู้เพื่อเติบโตจากคุณภาพภายในของตนเอง โอกาสนี้เป็นภารกิจที่เราต้องสร้างให้กับตนเอง
ในสังคมสมัยใหม่เราอาจใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา หรือจากผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ มีประสบการณ์ชีวิตที่ลึกซึ้ง มาช่วยเราคลี่คลายความทุกข์ใจนี้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผู้ให้บริการ ผู้ใหญ่ หรือผู้อาวุโสมอบให้คือ กระบวนการที่ช่วยเราค้นพบคำตอบด้วยตนเอง หรือบางท่านอาจบอกคำตอบในเชิงคำแนะนำและทางออกให้กับเรา แต่การคลี่คลายความทุกข์นั้น ต้องมาจากการลงมือปฏิบัติของเราเอง
การใช้ประโยชน์จากความทุกข์ คือการเรียนรู้ที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์บทเรียน เช่น ๑) ยามเผชิญกับวิกฤติที่ก่อความทุกข์ เรามีการรับมืออย่างไร เราผ่านเหตุการณ์นั้นอย่างไร ๒) ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันมีเบื้องหลังอะไรซ่อนเร้นอยู่ เบื้องหลังนี้คือ ความคาดหวัง ความเชื่อ และความยึดมั่นถือมั่นบางสิ่ง ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว ๓) การครุ่นคิดตรึกตรองว่า ความทุกข์ใจนี้มีส่วนไหนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราเอง การกล่าวโทษจึงหมายถึงการมีข้ออ้าง ไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่อยู่ในการดูแลของเรา และเมื่อไม่รับผิดชอบ การเรียนรู้บทเรียนความผิดหลาดย่อมไม่เกิดขึ้น
ความทุกข์ทางใจ แท้จริงคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เพื่อเติบโต
การตอบสนองต่อความทุกข์ใจของสมศรีและสมรักก็แตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเลือกขังตนเอง ปิดรับการสื่อสารพูดคุย จมจ่อมตนเองกับความคับแค้นเสียใจ ละเลยไม่ใส่ใจเรื่องอื่น เว้นแต่การหมกมุ่นในเรื่องค้างคาใจนี้ และกล่าวโทษ ขณะที่อีกฝ่ายเลือกขอความช่วยเหลือ พูดคุย และด้วยกระบวนการพูดคุย ก็ทำให้เกิดความตระหนักรู้ถึงหน้าตาความทุกข์ รับรู้ถึงความคาดหวัง การยึดมั่นบางอย่าง รวมถึงการเข้าใจในตนเองถึงท่าทีการรับมือและการตอบสนอง โดยกระบวนการเพื่อการเข้าใจตนเองนี้ทำให้พบว่า ตนเองมีทางเลือก มีความสามารถที่จะยอมรับผิดชอบในส่วนที่ผิดพลาดของตนเอง และชื่นชมได้ในสิ่งที่ตนเองทำได้ดี และสิ่งสำคัญคือ การได้เข้าใจและยอมรับในตนเอง
หลักปฏิบัติธรรม นอกเหนือจากการไม่ทำความชั่ว และการทำความดีแล้ว การชำระจิตให้บริสุทธิ์ ก็ถือเป็นการทำบุญกุศลให้ตนเอง ผ่านการเรียนรู้สำรวจโลกภายใน เป็นหนทางการทำคุณความดีในอีกลักษณะ เพราะการทำคุณความดีโดยผู้กระทำที่มี ‘ภาวะสุขแท้ด้วยปัญญา’ ในตัวเอง ย่อมเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์เกื้อกูลชีวิต ไม่ใช่เพื่อการเบียดเบียน
ยามเผชิญความทุกข์ จึงเป็นโอกาสของการเรียนรู้ และการสร้างบุญกุศลให้ตนเอง หากเราใช้ประโยชน์เป็น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ เป็นบทเรียนที่ต้องฝึกฝน อันหมายถึงการลงทุนในเรื่องเวลา พลังงาน ทรัพยากร และความตั้งใจ