จัดการความกลัว

พระไพศาล วิสาโล 1 เมษายน 2013

ใครๆ ก็ไม่ชอบความเบื่อ ถ้าเกิดขึ้นกับตนเองเมื่อใด ก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ และอยากหนีห่าง แต่ถ้าหนีไม่ได้ก็จะรู้สึกกระสับกระส่ายทันที และแทบทนไม่ได้ที่เห็นเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า ขณะที่โลกรอบตัวก็ดูจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา ไม่น่าอยู่เอาเสียเลย

แต่มองอีกแง่หนึ่ง ความเบื่อคือ “ข่าวดี” เพราะแสดงว่าชีวิตเรายังเป็นปกติ ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น  ลองคิดดูว่าหากเราพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง สูญเสียคนรัก การงานล้มเหลว รถหาย บ้านถูกยึด ถูกด่าว่า เราจะรู้สึกเบื่อหรือ  ใช่หรือไม่ว่าความเบื่อเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อชีวิตเราดำเนินไปอย่างเรียบๆ จนรู้สึกซ้ำซากจำเจ

เทียบกับอารมณ์อื่นแล้ว ความเบื่อสร้างความทุกข์ให้เราน้อยมาก  ลองนึกถึงตัวเองเวลาเศร้าโศก โกรธแค้น อิจฉา พยาบาท อารมณ์เหล่านี้กัดกร่อนเผาลนจิตใจยิ่งกว่าความเบื่อมากนัก อีกทั้งยังสามารถทำร้ายสุขภาพของเราจนล้มป่วยได้อีกด้วย

ความกลัวเป็นอีกหนึ่งอารมณ์ที่น่ากลัวยิ่งกว่าความเบื่อ และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนยอมทนอยู่กับความเบื่อ ย่ำอยู่กับความซ้ำซากจำเจต่อไป ไม่กล้าที่จะไปเจอสิ่งแปลกใหม่ เพราะกลัวว่าจะต้องเจอกับความยากลำบาก หรือสภาพที่ย่ำแย่กว่าเดิม

การทำอะไรซ้ำเดิมอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง อาจเป็นสิ่งดีด้วยซ้ำ  เด็กต้องคัดอักษรนับพันๆ ครั้งจนกว่าจะเขียนเป็นตัว  นักดนตรีต้องซ้อมเพลงซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่าจะเล่นได้ไพเราะ  นักปฏิบัติธรรมต้องเดินจงกรมกลับไปกลับมานับหมื่นเที่ยวกว่าจะมีสติต่อเนื่องและสมาธิแน่วแน่  แต่บางครั้งการอยู่กับสิ่งเดิมๆ นั้น ทำให้เราย่ำเท้าอยู่กับที่ และไม่มีการพัฒนาตนเอง

ความกลัวนั้นมักเป็นกรงขังที่ตีกรอบผู้คนให้ยอมทนอยู่กับสภาพเดิมๆ โดยไม่คิดที่จะเผชิญสิ่งท้าทายหรือความยากลำบาก ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันมีผลดีต่อตัวเอง  หลายคนอยากออกไปสัมผัสกับความงามและสงบสงัดของธรรมชาติ แต่กลัวที่ต้องนอนกลางดินกินกลางทรายในป่า จึงเก็บตัวอยู่แต่ในป่าคอนกรีตที่แสนวุ่นวาย  หนุ่มสาวไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ แต่ก็ไม่กล้าไปหางานใหม่เพื่อตนจะได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ เพราะกลัวว่าจะมีเงินเดือนน้อยลงหรือได้ตำแหน่งต่ำกว่าเดิม  ส่วนนักธุรกิจรุ่นใหม่ก็ลงทุนแต่ในกิจการที่ใครๆ ก็แห่ทำกัน แต่ไม่กล้าทำอะไรแปลกใหม่ที่สร้างสรรค์ เพราะกลัวความล้มเหลว

ในความรู้สึกของผู้คนเป็นอันมาก ความยากลำบาก มีรายได้น้อย ความล้มเหลว ล้วนเป็นสิ่งน่ากลัวเพราะเกิดขึ้นกับใครย่อมทำให้เป็นทุกข์  แต่หากพิจารณาให้ดี ความทุกข์ที่แท้นั้นเกิดจากใจที่หวาดกลัวหรือรู้สึกเป็นลบต่อสิ่งเหล่านั้นต่างหาก  ทำนองเดียวกับเด็กที่กลัวความมืด แท้จริงแล้วความมืดหาได้ทำให้ใครเป็นทุกข์ไม่ แต่ที่เด็กเป็นทุกข์เวลาอยู่ในที่มืดก็เพราะใจที่กลัวหรือต่อต้านความมืดต่างหาก  พูดอีกอย่าง ความมืดไม่น่ากลัว ความกลัวความมืดต่างหากที่น่ากลัว

สิ่งที่เด็กควรทำจึงไม่ใช่หลีกหนีความมืด แต่อยู่ที่เลิกกลัวความมืด ทำอย่างไรเด็กจึงจะหายกลัวความมืด คำตอบก็คือ ต้องออกไปสัมผัสกับความมืด อยู่คนเดียวในที่มืดจนคุ้นเคยกับมัน เมื่อคุ้นเคยกับความมืด ก็จะพบว่าความมืดนั้นไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถึงตอนนั้นก็จะไม่กลัวความมืดอีกต่อไป

ในทำนองเดียวกัน ความยากลำบาก การมีรายได้น้อย หรือความล้มเหลว ตลอดจนสิ่งร้ายๆ ที่ใครๆ กลัวนั้น ไม่ได้เป็นปัญหามากเท่ากับความรู้สึกกลัวสิ่งเหล่านั้น  ดังนั้นแทนที่จะคิดหลีกหนีสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่ควรทำมากกว่าก็คือ การจัดการกับความกลัว และวิธีที่ได้ผลชะงัดก็คือเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่ตนเองกลัว

พระพุทธองค์ตรัสว่า หากกลัวสิ่งใด ต้องเข้าไปหาสิ่งนั้น จึงจะหายกลัว  สมัยที่พระองค์บำเพ็ญสมณธรรมนั้น ทรงมีความหวาดกลัวป่าเปลี่ยวจนขนลุกชูชัน สิ่งที่พระองค์ทำก็คือ เข้าไปในป่า เมื่อความกลัวเกิดขึ้นไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใด พระองค์ทรงอยู่ในอิริยาบถนั้นจนหายกลัว จนในที่สุดไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน พระองค์ก็ไม่มีความกลัวอีกต่อไป

อะไรที่เรากลัว หากได้สัมผัสกับมันจนคุ้นเคยและรู้จักมันดีพอ ก็จะพบว่ามันไม่น่ากลัวอย่างที่เคยรู้สึก  มารี คูรี นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวโปแลนด์ พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “ในชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ” ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า  เรากลัวเพราะไม่รู้ หรือเพราะความหลง เมื่อมีปัญญา ก็หายกลัว  แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพราะคิดเอา หากเป็นเพราะได้สัมผัสมักคุ้นกับมันจนรู้จักมันเป็นอย่างดี

มารี คูรี (ขวา) นักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์

“ในชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ”

นักธุรกิจคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อเรียนจบเขาเลือกทำแต่ธุรกิจที่ไม่เสี่ยง คือให้ผลกำไรอย่างแน่นอน และเป็นธุรกิจที่ใครๆ ก็ทำกัน เพราะเขากลัวความล้มเหลวอย่างยิ่ง แต่แล้วจู่ๆ ธุรกิจที่เขาคิดว่า “ชัวร์” ก็ขาดทุนจนต้องเลิกกิจการ  แม้จะผิดหวังและเป็นทุกข์ แต่เขาก็พบว่าความล้มเหลวไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เขาคิด ถึงอย่างไรฟ้าก็ไม่ถล่ม โลกก็ไม่ทลาย  นับแต่วันนั้นเขาก็ไม่กลัวความล้มเหลวอีกเลย และรู้สึกสนุกกับการทำธุรกิจมากขึ้น เพราะกล้าทำอะไรใหม่ๆ ที่เสี่ยง โดยไม่มีความวิตกว่ามันจะล้มเหลว

ความกลัวลำบากก็เช่นกัน ไม่อาจจะหายได้จนกว่าเราจะลองสัมผัสกับความยากลำบากดูบ้าง เช่น ไปค้างแรมอยู่ในป่า นอนกลางดินกินกลางทราย หรือใช้ชีวิตเรียบง่ายสัก ๓-๔ วัน ก็จะพบว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด อาจจะมีรสชาติชวนสนุกด้วยซ้ำ  ในทำนองเดียวกัน เซเนก้า นักปราชญ์ชาวโรมัน แนะนำคนที่กลัวสูญเสียทรัพย์สมบัติ ว่า “ลองใช้เวลาสักช่วงหนึ่ง อยู่แบบอัตคัดและใช้ของถูกที่สุด ใส่เสื้อผ้าเนื้อหยาบ แล้วบอกกับตัวเองว่า ‘นี่หรือคือสิ่งที่ฉันกลัว’”

รูปแกะสลัก เซเนก้า นักปราชญ์ชาวโรมัน

นักเขียนชาวอเมริกันคนหนึ่งเล่าว่าเขาเป็นคนกลัวขายหน้ามาก วันหนึ่งจิตแพทย์ชื่อดัง อัลเบิร์ต เอลลิส (Albert Ellis) เล่าว่า เคยแนะนำให้คนไข้ของเขานั่งรถไฟใต้ดินในนิวยอร์ค เมื่อผ่านสถานีใดให้ส่งเสียงเรียกชื่อสถานีนั้นดังๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าใครจะมองอย่างไร  เขาจึงทดลองทำดูบ้างเมื่อนั่งรถไฟใต้ดินในลอนดอน แม้จะรู้สึกประหม่าและพรั่นพรึ่งขณะที่ส่งเสียงดังท่ามกลางผู้คนแน่นขนัด แต่ปรากฏว่าไม่มีใครด่าหรือทำร้ายเขาเลย มีบางคนเท่านั้นที่มองเขาด้วยสายตาประหลาด นับแต่วันนั้นความกลัวขายหน้าได้ลดลงมาก

อัลเบิร์ต เอลลิส จิตแพทย์ชาวอเมริกัน

สิ่งที่เรากลัวนั้นไม่ทำให้เราทุกข์มากกว่าความกลัว  ความเจ็บป่วยไม่ทำให้เราทุกข์มากกว่าความกลัวเจ็บป่วย ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยยิ้มแย้มแจ่มใส ในขณะที่คนมีสุขภาพดีหลายคนกลับรู้สึกย่ำแย่เมื่อคิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคร้าย  ความตายก็เช่นกัน ความตายไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย หากไม่กลัวตายเสียแล้ว ก็พร้อมรับความตายได้ด้วยใจสงบ ตรงข้ามกับคนที่กลัวตาย แม้ยังไกลจากความตาย แต่พอนึกถึงความตายเมื่อใด ก็เหมือนตกนรก

สิ่งที่เราควรทำ จึงไม่ใช่การพยายามดิ้นรนหนีความตาย เพราะหนีอย่างไรก็ไม่พ้น แต่ควรพยายามจัดการกับความกลัวตายมากกว่า  เช่นเดียวกับความกลัวประเภทอื่นๆ ความกลัวตายบรรเทาได้ด้วยการทำใจให้คุ้นชินกับความตาย เช่น นึกถึงความตายของตนเองบ่อยๆ ที่เรียกว่า มรณสติ  ใหม่ๆ ใจจะต้าน แต่ทำบ่อยๆ ก็จะยอมรับความตายได้มากขึ้น และกลัวความตายน้อยลง

จะว่าไปแล้วการระลึกถึงความตายบ่อยๆ ยังทำให้ความกลัวอย่างอื่นๆ ลดลงไปด้วย  เหตุร้ายต่างๆ ที่เรากลัวนั้นจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับความตาย  สตีฟ จ็อบส์ เคยกล่าวว่า “เกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวัง ความภูมิใจ ความกลัวการหน้าแตกและความผิดพลาดทั้งหลาย ล้วนไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับความตาย”

ไม่ใช่การหนีสิ่งที่เรากลัว การหันหน้ามาเผชิญกับมันต่างหาก คือสิ่งที่ควรทำ เพราะจะทำให้เราหายกลัว เมื่อนั้นมันจะไม่มีพิษสงอีกต่อไป และทำให้เราเป็นอิสระอย่างแท้จริง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา