มองญี่ปุ่นวันนี้ เห็นเมืองไทยวันหน้า

พระไพศาล วิสาโล 16 พฤศจิกายน 2008

พุทธศาสนาในญี่ปุ่นกำลังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง  จำนวนผู้บวชที่ลดลงเรื่อยๆ เป็นปัญหาที่รับรู้กันมานานแล้ว  การอนุญาตให้พระทุกนิกายมีครอบครัวได้ตั้งแต่เมื่อ ๑๕๐ ปีที่แล้วช่วยให้ปัญหานี้บรรเทาลงไปได้ระดับหนึ่ง  เพราะนอกจากจะทำให้มีผู้สึกหาลาเพศน้อยลงแล้ว ยังเป็นหลักประกันว่าจะมีผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาส  ผู้สืบทอดนั้นมิใช่ใครที่ไหนหากได้แก่บุตรของเจ้าอาวาสนั้นเอง

เป็นธรรมเนียมว่าบุตรคนใดคนหนึ่งของเจ้าอาวาส เมื่อโตถึงวัยแล้วมีหน้าที่ต้องรับการอบรมเป็นนักบวช เพื่อเตรียมสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อบิดาถึงแก่กรรม  ด้วยวิธีนี้นอกจากจะสร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้เป็นมารดาว่าเมื่อสามีซึ่งเป็นเจ้าอาวาสถึงแก่กรรมแล้ว ตนยังสามารถอยู่ต่อในวัดได้เพราะมีลูกชายมาสืบทอดวัดต่อไป  ยังเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ชาวบ้านว่าวัดจะไม่ร้างนักบวชเมื่อสิ้นเจ้าอาวาสคนปัจจุบัน  ความมั่นใจนี้มีความสำคัญก็เพราะชาวบ้านต้องพึ่งพานักบวชในการประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะงานศพและการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับเมื่อครบรอบปีตามประเพณี  ได้แก่ปีที่ ๑ ปีที่ ๓ ปีที่ ๗ ปีที่ ๑๓ ไปจนถึงปีที่ ๓๓ ของการเสียชีวิต (ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าอาวาสที่ยังโสดมักได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านให้หาคู่ เพื่อจะได้มีทายาทสืบทอดตำแหน่งในอนาคต)

อย่างไรก็ตามการมีนักบวชน้อยลงได้กลายมาเป็นปัญหาชัดเจนขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา  ส่วนหนึ่งเพราะคนญี่ปุ่นมีลูกน้อยลงคงเหลือแค่ ๑ หรือ ๒ คน บางครอบครัวไม่มีลูกชายเลย (แต่ถ้าลูกเขยยอมบวช ก็นับเป็นโชคของพ่อตาและแม่ยาย)  ส่วนครอบครัวที่มีลูกชาย ก็มักพบว่าลูกชายไม่อยากเป็นนักบวช  เพราะภาพลักษณ์ของนักบวชในสายตาของคนรุ่นใหม่นั้นตกต่ำลงมาก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่งซึ่งไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมากนัก  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิหลังของผู้บวชซึ่งส่วนใหญ่มีผลการเรียนไม่สู้ดีนัก (ใครที่เรียนเก่ง พ่อซึ่งเป็นเจ้าอาวาสมักสนับสนุนให้ไปเรียนแพทย์หรือวิศวกร)  เป็นที่รู้กันว่ามหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาที่มีหน้าที่เตรียมนักบวชให้แก่นิกายต่างๆ ในญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่มีมาตรฐานการศึกษาที่จัดว่าต่ำเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยทางโลก

เจ้าอาวาสหลายคนพบว่าลูกชายแม้จะยอมบวช แต่ก็เลี่ยงที่จะทำหน้าที่นักบวช  หากพอใจที่จะประกอบอาชีพอื่นๆ มากกว่า เช่น ทำธุรกิจ หรือทำงานบริษัทห้างร้าน  จะกลับมาดูแลวัดก็ต่อเมื่อบิดาชราหรือสิ้นลม  นั่นหมายความว่าเจ้าอาวาสต้องขาดผู้ช่วยประกอบพิธีกรรม และอาจต้องทำผู้เดียวไปจนตาย

งานเผาศพตามธรรมเดิมดั้งเดิมของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวเล็กน้อยไปถนัดใจเมื่อเทียบกับปัญหาใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วญี่ปุ่น ได้แก่ จำนวนประชากรในชนบทที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากอัตราการเกิดที่ลดลงและการเคลื่อนย้ายของประชากร  คนชนบทเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญที่อุปถัมภ์วัด  กล่าวได้ว่ารายได้ทั้งหมดของวัดและนักบวชล้วนมาจากการประกอบพิธีกรรมให้แก่ชาวบ้านที่อยู่รายล้อมวัด  ชาวบ้านเหล่านี้มิใช่เป็นแค่ญาติโยมทั่วไป แต่เป็น “สมาชิก” ของวัด  คือสังกัดวัดมาหลายชั่วอายุคน  ไม่ว่าจะประกอบพิธีกรรมใดๆ ก็ต้องมาทำที่วัดที่ตนสังกัดเท่านั้น  เมื่อจำนวนประชากรในชนบทลดลงก็หมายความว่าสมาชิกวัดมีจำนวนลดลงตามไปด้วย  ส่งผลกระทบต่อรายได้ของวัด  ประมาณกันว่าวัดในชนบทจะอยู่ได้ก็ต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ครัวเรือน  แต่มีวัดเป็นอันมากที่มีสมาชิกเหลือไม่ถึงครึ่งของจำนวนดังกล่าว  ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันเจ้าอาวาสในชนบทเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถยังชีพได้จาก “อาชีพ” นักบวชได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องหารายได้เสริมจากทางอื่น  เช่น เป็นอาจารย์ จัดตั้งโรงเรียนอนุบาล บริหารจัดการบ้านพักคนชรา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมีหลายวัดที่ไม่สามารถหารายได้มาเลี้ยงตัวได้พอเพียง จึงต้องปิดวัดในที่สุด  จำนวนวัดในญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีถึง ๘๖,๕๘๖ วัดในปี ๒๕๔๓ ลดลงเหลือ ๘๕,๙๙๔ วัดในปี ๒๕๔๙  หรือลดลงเฉลี่ยปีละเกือบ ๑๐๐ วัด

นอกจากนักบวชและผู้อุปถัมภ์มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว  ปัญหาล่าสุดที่กระทบต่อความอยู่รอดของวัดอย่างชัดเจนก็คือ การถูกแย่งชิงบทบาทด้านพิธีศพ  ที่ผ่านมาการประกอบพิธีศพในญี่ปุ่นเป็นงานที่ถูกผูกขาดโดยวัดอย่างสิ้นเชิง  กล่าวได้ว่านี้เป็นบทบาทหลักอย่างเดียวของวัดและนักบวชในพุทธศาสนา  จนพุทธศาสนาในญี่ปุ่นถูกขนามนามว่า “ศาสนาแห่งพิธีศพ” (Funeral Buddhism)  เมื่อใดก็ตามที่เห็นคนสวมชุดนักบวชพุทธศาสนามาโรงพยาบาล ก็คาดเดาได้เลยว่ามีคนตายหรือกำลังจะมีคนตาย

พิธีศพทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่วัดมาโดยตลอด  นอกจากนั้นในอดีตวัดยังไม่มีความจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อดึงศพเข้าวัด  เพราะทุกวัดมีสมาชิกที่แน่นอน  ใครสังกัดวัดใด เมื่อสิ้นลมก็ต้องจัดงานศพที่วัดนั้น หรือนิมนต์นักบวชจากวัดนั้นมาประกอบพิธีที่บ้าน  ครั้นเผาศพแล้วก็เก็บอัฐิไว้ที่วัดนั้น ครบรอบปีญาติพี่น้องก็มาประกอบพิธีตามประเพณีที่วัดนั้น  ธรรมเนียมประเพณีที่มีอยู่ล้วนเกื้อกูลต่อวัดและนักบวช จนไม่ต้องริเริ่มสร้างสรรค์อะไรหรือมีบทบาทอื่นใดก็อยู่ได้

แต่ในปัจจุบันบทบาทด้านพิธีศพของวัดกำลังถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก เพราะมีธุรกิจเอกชนเข้ามาแย่งชิงบทบาทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการจัดตั้งสถานประกอบพิธีศพขึ้นมามากมายในเขตเมือง  กิจการดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว  นอกจากสะดวกแก่ผู้ร่วมพิธี เช่น มีที่จอดรถกว้างขวาง เดินทางสะดวก มีของชำร่วยที่หลากหลายชนิดและราคาเสนอขายแล้ว  ยังคิดค่าบริการถูกกว่าที่วัดมาก  แม้ว่ายังมีการนิมนต์นักบวชจากวัดต่างๆ มาทำพิธีให้ตามประเพณีก็ตาม (ค่าใช้จ่ายในการทำศพในญี่ปุ่นหากไม่นับค่าสุสานแล้วเฉลี่ยประมาณ ๖ แสนบาท  โดย ๑ ใน ๔ เป็นค่าประกอบพิธีโดยนักบวช)

พิธีเก็บอัฐิของผู้ตายโดยใช้ตะเกียบ

จากข้อมูลของสมาคมผู้บริโภคในญี่ปุ่น เมื่อปี ๒๕๔๒  ร้อยละ ๖๒ ของคนญี่ปุ่นประกอบพิธีศพในบ้านหรือในวัด ส่วนร้อยละ ๓๐ เลือกทำศพในสถานประกอบพิธีศพ  แต่ ๘ ปีต่อมา ปรากฏว่าความนิยมได้เปลี่ยนไปเป็นตรงข้าม  กล่าวคือร้อยละ ๒๘ ยังเลือกทำศพในบ้านหรือในวัด ขณะที่ร้อยละ ๖๐ เลือกทำศพในสถานประกอบพิธีศพ  ยิ่งกว่านั้นยังมีคนญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นที่จัดการปลงศพโดยไม่มีพิธีกรรมใดๆ

สภาพการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่านักบวชในพุทธศาสนาญี่ปุ่นนับวันจะมีบทบาทน้อยลงในพิธีศพ  ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เรื่อยไปก็หมายความว่านักบวชอาจอยู่รอดได้ยาก เพราะงานศพเป็นรายได้หลักอย่างเดียวของนักบวชที่นั่น  อย่างไรก็ตามมีความพยายามจากฝ่ายนักบวชบางกลุ่มที่ต้องการทวนกระแสดังกล่าว  เช่น มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อจัดหานักบวชไปประกอบพิธีศพให้ โดยไม่ต้องผ่านคนกลางหรือสถานประกอบพิธีศพ  ทั้งนี้โดยคิดค่าบริการต่ำมากคือเพียง ๑ ใน ๓ ของอัตราเฉลี่ย แถมยังลดให้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์สำหรับสมาชิกอีกด้วย  ค่าบริการเหล่านี้มีการประกาศชัดเจนในเว็บไซต์ของบริษัท (ขณะที่วัดส่วนใหญ่ไม่เคยระบุค่าบริการ แต่เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ใช้บริการว่าควรให้เท่าไร ซึ่งมักเป็นตัวเลขที่สูง)  นอกจากนั้นบริษัทดังกล่าวยังคิดค่าธรรมเนียมต่ำมากในการตั้งชื่อทางศาสนาให้แก่ผู้ตาย คือ ประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท (ในญี่ปุ่นการตั้งชื่อทางศาสนาให้แก่ผู้ตายเป็นค่านิยมซึ่งทำรายได้ให้แก่วัดและนักบวช  แต่ละชื่อซึ่งใช้อักษรจีนไม่กี่ตัวมีค่าธรรมเนียมสูงนับแสนบาท และอาจสูงหลายแสนบาทหากใช้บริการจากวัดในโตเกียว)

แม้ว่าการริเริ่มดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากประชาชน แต่น่าสงสัยว่าการต่อสู้ด้วยชั้นเชิงทางธุรกิจหรืออาศัยกลไกตลาดจะสามารถดึงบทบาทของนักบวชในญี่ปุ่นให้กลับมาได้มากสักเพียงใด ตราบใดที่นักบวชเหล่านั้นยังเอาบทบาทของตนผูกติดอยู่กับพิธีศพ  การจำกัดบทบาทของตนอยู่กับปรโลกหรือโลกของคนตายไม่ช่วยให้พุทธศาสนาในญี่ปุ่นมีอนาคตยั่งยืนได้เลย โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเชี่อปรโลกน้อยลง และให้ความสำคัญกับโลกนี้ชีวิตนี้ยิ่งกว่าอะไรอื่น

ความอยู่รอดของนักบวชและพุทธศาสนาในญี่ปุ่น อยู่ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ยังอยู่ได้มากเพียงใดต่างหาก  นี้เป็นเรื่องที่ท้าทายพุทธศาสนาในญี่ปุ่นมาก เพราะทุกวันนี้พุทธศาสนามีบทบาทด้านนี้น้อยมาก  ส่วนหนึ่งก็เพราะถูกสถาบันอื่นแย่งชิงบทบาทด้านนี้ไปเกือบหมด จนแม้แต่การสอนจริยธรรมก็มีสถาบันครอบครัว ชุมชน และโรงเรียนทำหน้าที่แทน  จึงแทบไม่มีบทบาทใดเหลือให้นักบวชทำเลยนอกจากการประกอบพิธีศพ (กับการดูแลโบราณสถานและที่ท่องเที่ยวซึ่งผูกติดกับวัด)  แต่ก็ดังที่ทราบแม้แต่พิธีศพก็กำลังจะหลุดจากมือนักบวชไป  นั่นหมายความว่านักบวชในพุทธศาสนาจะมีความหมายน้อยลงต่อสังคมปัจจุบัน

ซองเงินช่วยงานศพแบบญี่ปุ่น

อันที่จริงยังมีบทบาทอีกหลายอย่างที่นักบวชในญี่ปุ่นสามารถทำได้  อาทิ การตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนในโลกวัตถุนิยม  ความเครียด ความรู้สึกว่างเปล่า โดดเดี่ยวอ้างว้าง ชีวิตไร้คุณค่า เป็นความทุกข์ที่กำลังเกาะกินจิตใจของผู้ที่เพียบพร้อมด้วยวัตถุแต่หาสาระของชีวิตไม่พบ จนพากันฆ่าตัวตาย  ทำให้ญี่ปุ่นมีสถิติการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (ประมาณ ๔ เท่าของไทย)

ในขณะที่ปัญหาดังกล่าวรุมเร้าจิตใจของวัยรุ่นและคนวัยทำงาน  คนเฒ่าคนแก่ซึ่งกำลังขยายตัวเป็นประชากรกลุ่มใหญ่อันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นก็มีปัญหาด้านจิตใจเช่นกัน โดยเฉพาะการมีชีวิตอยู่แบบรอวันตายแต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะตาย  เพียงแค่การช่วยให้เขาทำใจพร้อมเผชิญความตายและสามารถตายได้อย่างสงบ ก็มีคุณูปการอย่างมากต่อสังคม

นอกจากการให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจแล้ว การเชื่อมโยงผู้คนให้กลับมามีสัมพันธภาพใกล้ชิดกัน มีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน หรือช่วยเหลือกันเอง ก็เป็นบทบาทที่สังคมสมัยใหม่กำลังต้องการอย่างมาก  นี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาสนาใหม่ในญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีช่องว่างให้นักบวชนิกายต่างๆ ทำได้อยู่

อย่างไรก็ตาม การที่นักบวชญี่ปุ่นเคยมีชีวิตที่สะดวกสบายเพราะไม่ต้องทำอะไรมากนอกจากประกอบพิธีศพ โดยมี “ลูกค้า” ที่แน่นอนมานานนับศตวรรษ ทำให้ยากที่จะปรับตัวเข้ากับบทบาทใหม่ในโลกที่ต้องมีการแข่งขันและช่วงชิงผู้คนอย่างเข้มข้น  จึงน่าสงสัยว่าจะอยู่รอดอย่างไรในอนาคต

จะว่าไปแล้วทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของพุทธศาสนาในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หลายอย่างก็เป็นปัญหาที่กำลังเกิดกับพุทธศาสนาในไทยเช่นเดียวกัน  อาทิ จำนวนพระเณรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่คุณภาพก็ลดน้อยถอยลงด้วย  แม้วัดมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ชาวบ้านที่อุปถัมภ์วัดในชนบทกลับลดลง มีแต่คนแก่ที่เข้าวัดและทยอยตายไปเรื่อยๆ  ที่สำคัญก็คือบทบาทของพระสงฆ์ทุกวันนี้เหลือแต่งานด้านพิธีกรรมเป็นหลักโดยเฉพาะงานศพ จนน่าเป็นห่วงว่าพุทธศาสนาในไทยอาจกลายเป็นศาสนาแห่งพิธีศพในอนาคต  ถึงตอนนั้นก็ไม่แน่ว่าพระสงฆ์ไทยอาจต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อรักษาธุรกิจงานศพไว้ไม่ให้ถูกแย่งชิงไปดังที่กำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเวลานี้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา