มุ่งไปสู่หนใด

พระไพศาล วิสาโล 17 ตุลาคม 2010

คงมีน้อยคนที่รู้ว่าภูฏานเริ่มมีการพัฒนาประเทศพร้อมๆ กับไทย คือ ปี ๒๕๐๔ โดยมีแผนห้าปีเช่นเดียวกัน  แต่ในขณะที่ไทยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการสร้างถนน เขื่อน และโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ท่ามกลางคำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ”  ภูฏานกลับพัฒนาอย่างเชื่องช้า ในช่วงสิบปีแรกนั้นเน้นที่การสร้างถนน โรงเรียน และอาคารสำหรับหน่วยงานรัฐบาล เพราะก่อนหน้านั้นอย่าว่าแต่สนามบินเลย แม้แต่โรงพยาบาล บริการไปรษณีย์ โทรศัพท์ โรงเรียนประชาบาล ภูฏานไม่มีแม้แต่อย่างเดียว

ก่อนยุคพัฒนา ภูฏานมีสภาพไม่ต่างจากเมืองไทยเมื่อ ๑๕๐ ปีก่อน แม้เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศ ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ  ไม่ใช่เพราะว่าทั้งประเทศเต็มไปด้วยป่าเขาอันทุรกันดาร อีกทั้งยังขาดทุนรอนและการช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเท่านั้น  หากยังเป็นความตั้งใจของผู้ปกครองประเทศที่ต้องการให้การพัฒนาดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะตระหนักดีถึงผลเสียของการเปิดรับเทคโนโลยีและเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจจากภายนอกอย่างเต็มที่  นโยบายเปิดประตูแบบแง้มๆ ของภูฏานเห็นได้ชัดจากการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ คน

หลังจากพัฒนาประเทศไปแล้วเกือบ ๓๐ ปี ภูฏานจึงเริ่มมีสถานีโทรทัศน์ประจำชาติเป็นครั้งแรก พร้อมๆ กับการเปิดใช้อินเทอร์เน็ตและเคเบิลทีวี หลังจากนั้นอีก ๑๐ ปีจึงมีการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๕  แม้จะห่างไกลจากประเทศไทยมากในแง่ความเจริญทางวัตถุ แต่ในด้านคุณภาพชีวิตของประชากรแล้ว ภูฏานล้ำหน้ากว่าไทยในหลายด้าน อาทิ ประชากรร้อยละ ๙๘ มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แม้รายได้ของประชาชนจะอยู่ในระดับต่ำหากวัดเป็นตัวเงิน (ร้อยละ ๒๓ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน) แต่นั่นเป็นเพราะการซื้อขายมีไม่มาก ชาวบ้านสามารถผลิตปัจจัยสี่เลี้ยงตัวเองได้ คนอดอยากหรือยากไร้จึงมีน้อยมาก  สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาคนภายนอกก็คือ บ้านเรือนของคนภูฏานที่แม้อยู่ในชนบทห่างไกลก็แต่ก็มีสภาพดีและมีขนาดใหญ่โต กระท่อมซอมซ่อนั้นเห็นได้น้อยมาก ส่วนในเมืองก็ไม่สู้มีคนขอทานหรือคนไร้บ้าน  คนว่างงานซึ่งมีมากในประเทศพัฒนาทั้งหลาย กลับไม่เป็นปัญหาในภูฏานเลย กล่าวได้ว่าภูฏานไม่มีคนว่างงานเลยเพราะชนบทยังสมบูรณ์และที่ทำกินยังมีอีกมาก

สภาพดังกล่าวตรงข้ามกับประเทศไทย หลังจากพัฒนามา ๕๐ ปี ปัญหาที่ดินได้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤต ปัจจุบันมีเกษตรกรไร้ที่ทำกินกว่า ๘ แสนครัวเรือน เกือบ ๕ ล้านครอบครัวมีที่ทำกินไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่มีที่ดินถึง ๓๐ ล้านไร่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ทำประโยชน์เพราะมีการซื้อตุนเพื่อเก็งกำไร  ใช่แต่เท่านั้นการสูญเสียที่ดินยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัญหาหนี้สิน แม้คนไทยที่มีรายได้จัดว่ายากจนมีเพียงร้อยละ ๖ แต่เกือบทั้งประเทศมีปัญหาหนี้สิน (เฉลี่ยเกือบแสนบาทต่อครัวเรือน) โดยเฉพาะเกษตรกร มีหนี้สินเกือบ ๒ แสนบาทต่อราย แทบทุกปีต้องประสบกับการขาดทุนเพราะราคาพืชผลตกต่ำขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นไม่หยุด จำนวนไม่น้อยต้องทิ้งไร่นาไปเป็นกรรมกร  สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการล่มสลายของชนบท ในขณะที่ที่ดินกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อยมากขึ้นทุกที (ประมาณว่าที่ดินร้อยละ ๙๐ อยู่ในมือคนเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น)

ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยให้มีการสูญเสียที่ดินอย่างอิสระเสรีนั้น ภูฏานกลับทำสิ่งตรงข้าม คือส่งเสริมให้ที่ดินกระจายสู่มือประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร  ในอดีตนั้นองค์กรสงฆ์มีที่ดินอยู่ในครอบครองเป็นจำนวนมาก ที่ดินเหล่านั้นเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของวัด  สิ่งที่รัฐบาลภูฐานทำก็คือ ให้องค์กรสงฆ์หันมารับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแทน ส่วนที่ดินขององค์กรสงฆ์ รัฐบาลก็ขอซื้อเพื่อเอาไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนซึ่งขาดแคลนที่ทำกิน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๒๕

แม้ชีวิตในชนบทภูฐานจะไม่สะดวกสบาย เพราะถนนหนทางไม่สะดวก ไฟฟ้าก็ไม่ทั่วถึง แต่ชนบทภูฏานก็ยังมีชีวิตชีวาอยู่มาก ครอบครัวอบอุ่น มีคนหลายรุ่นอยู่ด้วยกัน คนหนุ่มสาวไม่จำเป็นต้องไปหางานทำในเมือง เพราะที่ดินและงานการไม่ขาดแคลน  ที่สำคัญคือธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก นั่นเป็นเพราะรัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติมาตั้งแต่แรก ภูฏานจึงมีพื้นที่ป่ามากถึงร้อยละ ๗๒ โดย ๑ ใน ๓ ได้รับการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

ต้องถือว่าเป็นเพราะเห็นการณ์ไกล รัฐบาลจึงมีนโยบายเช่นนี้  ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ป่าไม้ถูกตัดอย่างมโหฬารตั้งแต่เริ่มพัฒนาประเทศ เพราะต้องการส่งไม้ไปขายต่างประเทศเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  แม่น้ำลำคลองกลายเป็นที่รองรับมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมก็เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  จนแม้กระทั่งทุกวันนี้ธรรมชาติก็ยังถูกทำลายในนามของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลร้ายในระยะยาวต่อประชาชนอย่างไรบ้าง  ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวบ้านรอบชุมชนอุตสาหกรรมอย่างมาบตาพุดเท่านั้นที่มีสุขภาพย่ำแย่ หากชาวบ้านที่เคยพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติแวดล้อมเพื่อการยังชีพและการทำมาหากินก็เดือดร้อนถ้วนหน้า  มิไยต้องเอ่ยถึงคนในเมืองที่ต้องกินอาหารที่เต็มไปด้วยสารพิษอันเป็นผลจากการใช้สารเคมีทางเกษตร ซึ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นเนื่องจากธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

คนไทยจำนวนมากต้องทิ้งไร่นาไปเป็นกรรมกร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการล่มสลายของชนบท ในขณะที่ที่ดินกระจุกตัวอยู่ในมือคนเพียงจำนวนน้อย

นโยบายดังกล่าวแม้จะทำให้เงินไหลมาเทมาในเวลาอันสั้น แต่ได้สร้างปัญหาระยะยาวไว้มากมายหลายประการ ที่สำคัญคือการผลักภาระนานาประการให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ ในขณะที่คนส่วนน้อยได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะเม็ดเงินที่กระจุกอยู่ในกลุ่มคนดังกล่าว  ผลก็คือเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในชาติ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น กล่าวคือคนร้อยละ ๒๐ ซึ่งเป็นกลุ่มรวยที่สุดมีรายได้มากกว่าคนกลุ่มจนที่สุดเกือบ ๑๓ เท่า  และหากคำนวณจากทรัพย์สินครัวเรือนแล้ว ความแตกต่างก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ประมาณว่าครัวเรือนร้อยละ ๒๐ ซึ่งรวยที่สุดมีสินทรัพย์มากกว่าครัวเรือนที่จนที่สุดถึง ๖๙ เท่า  เมื่อมองจากค่าดัชนีความเหลื่อมล้ำของรายได้แล้ว เมืองไทยอยู่ในระดับที่ไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกา เช่น ไนเจอร์ มาลี หรือแซมเบียมากนัก

ภายในชั่วเวลา ๔๒ ปี คือนับแต่ปี ๒๕๐๘ ถึงปี ๒๕๕๐ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยได้เพิ่มขึ้นถึง ๒๕ เท่า แต่ความสุขนอกจากไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว กลับลดลงด้วยซ้ำ  ดูจากสัดส่วนคนที่มีปัญหาทางจิตเพิ่มมากขึ้น (เมื่อปี ๒๕๕๒ พบว่าประชาชนอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป มีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ ๑๒ หรือประมาณ ๕ ล้านคน) และมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น (ปี ๒๕๓๖ คนไทยฆ่าตัวตาย ๒.๗ คนต่อประชากรแสนคน  ๑๖ ปีต่อมา ตัวเลขเพิ่มเป็น ๕.๗ คนต่อประชากรแสนคน)  ตรงกันข้ามกับภูฏานซึ่งมีปัญหาเหล่านี้น้อยมาก แม้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวจะไม่ถึงครึ่งของไทยก็ตาม แต่กล่าวได้ว่าคนภูฏานมีความสุขกว่ามาก เคยมีการทำดัชนีวัดความสุขของทุกประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าภูฏานมาเป็นที่ ๘ จาก ๑๗๘ ประเทศ

ใครที่ได้ไปภูฏานย่อมอดประทับใจไม่ได้ในน้ำใจไมตรีของผู้คนที่นั่น ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสและไว้วางใจคนแปลกหน้า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็มีมากกว่า คดีอุกฉกรรจ์แทบไม่ปรากฏ ขณะที่การลักขโมยก็มีน้อยมากโดยเฉพาะในชนบท  นักธุรกิจชาวตะวันตกผู้หนึ่งที่อยู่ในเมืองบุมทังกล่าวว่า เขาสามารถทิ้งเงินสด ๑ ล้านเหรียญไว้บนโต๊ะในสำนักงานได้โดยไม่มีใครแตะต้องเลย  นักท่องเที่ยวต่างชาติล้วนรู้สึกแปลกใจเมื่อกลับมายังที่พักของตน แล้วพบว่ากุญแจห้องไม่ได้อยู่ที่โต๊ะรับรอง แต่เสียบคาไว้ที่ประตูห้องของตน ทั้งนี้เพราะพนักงานโรงแรมแน่ใจว่าจะไม่มีใครมาเปิดห้องนั้นนอกจากแขก

สภาพเช่นนี้สูญหายไปจากเมืองไทยนานแล้ว อาชญากรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วไป อย่าว่าแต่ตามท้องถนนเลย แม้กระทั่งบ้านเรือนของตนก็หาใช่สถานที่ปลอดภัยอย่างสิ้นเชิงไม่  ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข ระบุตรงกันว่าปัจจุบันนอกจากเด็กจำนวนมากถูกพ่อแม่ทอดทิ้งแล้ว ยังถูกทำร้ายจากในบ้านมากกว่านอกบ้าน ทั้งจากผู้เป็นพ่อแม่ คนรู้จัก ขณะเดียวกันภรรยาที่ถูกสามีทำร้ายก็กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

เมืองไทยนับวันจะกลายเป็นเมืองแห่งความรุนแรงทุกขณะ เหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม มิใช่อะไรอื่น หากคือส่วนขยายจากความรุนแรงในทุกระดับตั้งแต่ในครอบครัวจนถึงอาชญากรรมบนท้องถนนที่สั่งสมมานาน  เมื่อผนวกกับความเหลื่อมล้ำในสังคม   ความคับแค้นใจทางการเมือง และอำนาจนิยมโดยรัฐ ความรุนแรงก็พร้อมจะระเบิดกลางเมืองจนทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่ายๆ

ใช่หรือไม่ว่านี้คือผลพวงของการพัฒนาที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรีบเร่ง ซึ่งนอกจากจะไม่คำนึงถึงมิติอื่นๆ ที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตแล้ว ยังเป็นการพัฒนาที่ไร้ความเป็นธรรม เพราะมุ่งอำนวยประโยชน์แก่คนส่วนน้อย ลำเอียงต่อภาคอุตสาหกรรม บริการและเมือง โดยผลักภาระให้แก่ภาคเกษตรกรรมและชนบท  ทั้งหมดนี้แยกไม่ออกจากการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ผลประโยชน์ถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม  ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและแตกแยกจนถึงขั้นวิกฤต

ภูฏานและเมืองไทยเป็นตัวอย่างที่แตกต่างอย่างเด่นชัดระหว่างการพัฒนาที่เน้น “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” กับการพัฒนาที่เน้น “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ”  แม้หวังได้ยากที่เมืองไทยจะเปลี่ยนจุดหมายการพัฒนาไปเป็นความสุขมวลรวมประชาชาติ แต่ยังไม่สายที่เราจะหันมาเสริมสร้างดุลยภาพภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แทนที่จะมองแต่ข้างนอกเพื่อแข่งขันให้ทันหรือล้ำหน้าประเทศอื่นในทางเศรษฐกิจเท่านั้น  เพราะการเร่งรีบอย่างผิดทิศผิดทางนั้นในที่สุดอาจทำให้เมืองไทยไม่ต่างจากรถแข่งที่กำลังพุ่งสู่หุบเหวเบื้องหน้าก็ได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา