รักชาติแบบจิตวิวัฒน์

พระไพศาล วิสาโล 1 ตุลาคม 2004

สำนึกในความเป็นชาติเมื่อเกิดขึ้นกับคนหมูใด ย่อมช่วยให้คนหมู่นั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ง่าย เพราะมองข้ามความแตกต่างที่มีอยู่  เมื่อรู้สึกว่าเป็นคนไทยขึ้นมา ความเป็นคนเชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ คนนครศรีธรรมราช ก็มิใช่ความแตกต่างที่สำคัญ  ตรงกันข้ามหากไม่มีสำนึกในความเป็นคนไทย ภูมิลำเนาที่แตกต่างกันก็อาจเป็นเหตุให้วิวาทบาดหมางกันได้ ดังที่เคยก่อศึกสงครามกันหลายครั้งหลายคราสมัยที่ “ประเทศไทย” ยังไม่เกิดขึ้น

พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่า เมื่อมีประเทศไทยเกิดขึ้นแล้ว คนจังหวัดต่างๆ ก็เลิกทะเลาะกัน  การวิวาทบาดหมางระหว่างคนต่างภูมิลำเนาก็ยังมีอยู่ เช่นเดียวกับการตีกันระหว่างสถาบัน แต่นั่นก็เพราะตอนนั้นสำนึกในความเป็นไทยเลือนราง ขณะที่สำนึกหรือ “อัตลักษณ์” ในด้านอื่นโดดเด่นขึ้นมาแทน  เมื่อสำนึกในความเป็นอีสานโดดเด่น ก็ย่อมเห็นคนภาคอื่นเป็นคนละพวก และเมื่อสำนึกในความเป็นนักเรียนช่างกลปทุมวันเด่นชัดขึ้นมา ก็ง่ายที่จะเห็นนักเรียนสถาบันอื่นเป็นศัตรู  แต่เมื่อไปอยู่ต่างประเทศด้วยกัน อาจจะกอดคอกันใหม่เพราะรู้สึกว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน หรือเมื่อต่างชาติดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศไทย ก็อาจร่วมกันเดินขบวนประท้วงสถานทูตของชาตินั้น เพราะสำนึกในความเป็นไทยถูกปลุกขึ้นมาแล้ว

อย่างไรก็ตามสำนึกในความเป็นชาติใช่ว่าจะทำให้คนในชาติกลมเกลียวกันเสมอไป บางครั้งสำนึกดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดการแตกแยกหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมากขึ้น เช่นเมื่อมีคนที่แสดงความเห็นต่างไปจากคนส่วนใหญ่ หรือเพียงแค่ไม่ถูกใจตัวเอง ก็จะประทับตราบุคคลผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นทันทีว่า “ไม่ใช่คนไทย” หรือตั้งคำถาม (อย่างที่นายกฯ ทักษิณชอบถาม) ว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า?” สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือการกล่าวหาว่า “ไม่รักชาติ”

เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่รักชาติหรือไม่หวังดีต่อชาติเสียแล้ว ก็ง่ายที่จะถูกตีตราว่าเป็น “คนชั่ว” ถึงตรงนี้ก็ต้องเตรียมตัวเป็นเหยื่อรองรับความรุนแรงได้ ดังที่ได้เกิดมาแล้วกับนักศึกษาประชาชนที่ประท้วงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นนั้นอีก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้ความเป็นไทยเพื่อเล่นงานคนไทยด้วยกันที่มีความเห็นแตกต่างจากคนอื่นก็ยังมีอยู่ เช่น เมื่อมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับวีรกรรมของท้าวสุรนารี หรือไม่เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือไม่เห็นด้วยกับการห้ามผู้หญิงเข้าไปในเขตชั้นในของพระเจดีย์ที่มีพระธาตุอยู่ข้างใต้ คนเหล่านั้นก็ถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทยไปในทันที  ผลที่ตามมาคือถูกกลุ่มพลังมวลชนเผาพริกเผาเกลือและสาปแช่ง มิพักต้องพูดถึงถ้อยคำหยาบคายที่ปรากฏในเว็บบอร์ดต่างๆ

ความเป็นไทยนั้นควรทำให้คนไทยรักกัน มิใช่ทำให้เกลียดกัน  แต่รักและเกลียดนั้นเป็น ๒ ด้านของเหรียญเดียวกัน  รักกันเพราะเหมือนกันมากเท่าไร ก็ย่อมเกลียดกันเมื่อแตกต่างกันมากเท่านั้น  ตรงนี้คือปัญหาของความเป็นไทยในปัจจุบัน นั่นคือเน้นเรื่องความเหมือนมากเกินไป  ทุกวันนี้ความเป็นไทยหมายความว่าพูดภาษาและนับถือศาสนาเดียวกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน และอาจรวมไปถึงมีเชื้อชาติเดียวกันคือเชื้อชาติไทย  เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยถามนักศึกษาในชั้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นคนไทยหรือไม่?” ปรากฏว่าในจำนวน ๙๑ คนมีผู้ตอบว่า ตนไม่ได้เป็นคนไทย ๑๐ คน และตอบอย่างกำกวม ๒๔ คน  ผู้ตอบเหล่านั้นอธิบายเหตุผลว่าเพราะตนนับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ก็อิสลาม เป็นลูกจีนหรือไม่ก็มีเชื้อแขก  มิได้มีเชื้อไทยแท้ๆ

ความเป็นไทยที่เน้นความเหมือนเพียงไม่กี่อย่างได้สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้คนมาก เพราะไม่เพียงทำให้คนที่นับถือศาสนาอื่นหรือไม่มีเชื้อไทยรู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสองแล้ว ยังมีการพยายามบีบบังคับให้เขาละทิ้งภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมของตนเพื่อจะได้เหมือนกับคนส่วนใหญ่  นอกจากชาวเขาและคนกลุ่มน้อยอื่นๆ แล้ว ผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้คือผู้ที่ทุกข์ทรมานเพราะความเป็นไทยประเภทนี้ และนี้คือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความไม่สงบในภาคใต้ขณะนี้

ความเป็นไทยที่เน้นแต่ความเหมือน ทำให้เรายอมรับความแตกต่างได้ยาก ขันติธรรมจึงมีน้อย และเมตตาธรรมก็พลอยน้อยลงด้วย  ลำพังการจดจ่อเน้นย้ำความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว  ระยะหลังยังผู้คนยังทนได้ยากขึ้นกับความคิดที่แตกต่างหรือไม่ถูกใจ (ความเห็นที่ร้อนแรงในเว็บบอร์ดต่างๆ คือตัวอย่างที่ชัดเจน) นี้คือการที่น่าเป็นห่วงเพราะในยุคโลกาภิวัตน์ผู้คนนับวันจะมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในด้านวิถีชีวิต อาชีพการงาน ความเป็นอยู่ ความคิดความเชื่อ  ขณะเดียวกันคนต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม และต่างเชื้อชาติก็หลั่งไหลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมากขึ้น  สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือ ขันติธรรมที่เพิ่มพูนขึ้น ยอมรับความแตกต่างได้มากขึ้น และมีเมตตาต่อกันให้มากขึ้น

ความเป็นไทยหรือความรักชาติที่คับแคบมีแต่จะทำให้เกิดความตึงเครียดและแตกแยกกันมากขึ้นในประเทศ  ขณะเดียวกันก็ทำให้จิตใจของผู้คนถอยต่ำลง เพราะคอยแต่จะมองคนที่ต่างจากตนเป็นคนละพวก เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์และไร้น้ำใจต่อกัน

ความเป็นไทยที่พึงประสงค์น่าจะได้แค่ความเป็นไทยที่ยอมรับความแตกต่างได้มากขึ้น ไม่ว่าจะแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ  แม้จะคิดไม่ตรงกันก็มีสิทธิเป็นคนไทยได้เช่นเดียวกับเรา  หรือแม้จะมีประวัติศาสตร์ต่างกัน ไม่ได้มีบรรพบุรุษอพยพจากเทือกเขาอัลไต ก็เป็นคนไทยได้ (เอาเข้าจริงๆ น่าสงสัยว่ามีคนไทยกี่คนกันที่บรรพบุรุษมาจากเทือกอัลไต)

ความเป็นไทยที่เน้นแต่ความเหมือน ทำให้เรายอมรับความแตกต่างได้ยาก

แน่ละเราต้องมีอะไรร่วมกันบ้าง ถึงจะเรียกว่าเป็นไทยเหมือนกัน  ถ้าไม่ใช่ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม เชื้อชาติ หรือประวัติศาสตร์ แล้ว อะไรที่จะมีร่วมกัน  คำตอบหนึ่งของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็คือ ความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะ “สร้างปัจจุบันร่วมกัน ปัจจุบันที่ทุกคนภาคภูมิใจ อยากปกปักรักษาไว้เพราะเป็นคุณทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม”  ความเป็นไทยอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความเคารพ คุณค่าประชาธิปไตยได้รับการปกป้อง ผู้คนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและปกป้องชุมชนของตน เป็นต้น

ความเป็นไทยที่พึงประสงค์นั้นต้องรวมผู้คนมาเป็นหนึ่งเดียวกัน มิใช่ผลักไสออกไปหรือแบ่งซอยออกเป็นคนละพวก  มนุษย์นั้นมีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยเอาความแตกต่างทั้งหลายเท่าที่จะนึกได้ มาเป็นเส้นแบ่งเพื่อกีดกันใครต่อใครออกไปจนเหลือแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง  ความเป็นไทยที่พึงประสงค์ต้องไม่ไปเสริมสัญชาตญาณถดถอยดังกล่าว แต่ควรช่วยให้ผู้คนเจริญก้าวหน้าในทางจิตใจมากขึ้น นั่นคือมองข้ามความแตกต่างทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะตระหนักถึงคุณสมบัติร่วมที่ทุกคนมีเหมือนกัน นั่นคือความเป็นมนุษย์  กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือความเป็นไทยที่เคารพความเป็นมนุษย์ ถือว่าความเป็นมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์กว่าความเป็นไทย แม้เขาจะไม่ใช่ไทย เราก็ไม่มีสิทธิจะไปทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงกับเขา เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นมนุษย์  ความเป็นไทยแบบนี้จะทำให้ขันติธรรมและเมตตาธรรมเจริญขึ้นในจิตใจ

รักชาติแบบจิตวิวัฒน์คือรักมนุษยชาติด้วย มิใช่เห็นชาติสำคัญกว่าความเป็นมนุษย์  รักชาติแบบนี้แหละที่จะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ ภาคใต้เกิดสันติ และจิตใจสงบเย็น


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา