นิทาน…ความรักของแม่

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ 6 พฤษภาคม 2012

หนังสือกับเด็ก…กับวัยรุ่น…กับผู้ใหญ่ ดูจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา เพราะหนังสือคือสิ่งมหัศจรรย์ชิ้นเอกของโลก  มหัศจรรย์เพราะทันสมัยอยู่เสมอ สนองความต้องการได้ทุกโอกาสทุกเวลา และทุกความปรารถนา  นอกจากนี้ยังเป็นอุปกรณ์การพัฒนาคนที่มีประสิทธิภาพที่สุด เป็นการลงทุนอย่างประหยัด แต่ได้ผลเกินค่าที่จะประมาณได้ — รัญจวน อินทรกำแหง จากหนังสือ วรรณกรรมสำหรับเด็กและวัยรุ่น (พิมพ์เมื่อ 2517)

ท่ามกลางอากาศร้อนในฤดูแห่งความแห้งแล้งของภาคอีสาน น้ำแห่งความเมตตาภายในใจของผู้ใหญ่หลายคนได้ไหลอาบรดกายและใจของเด็กๆ กว่าหกสิบคนให้ชุ่มฉ่ำด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสุข  เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา “ค่ายเยาวชนนิทาน ดนตรี กวี ศิลปะ ธรรมะสานสายใยรักแห่งครอบครัว” แห่งบ้านดอนเสาโฮง ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ณ ลานกว้างหน้าวัดดอนเสาโฮง

เมื่อมีจุดสิ้นสุด ย่อมมีจุดเริ่มต้น หากจะย้อนกลับไปยังจุดนั้นจริงๆ แล้ว คนที่จะเล่าได้ดีที่สุดไม่น่าจะเป็นใครอื่น นอกจากคุณหมอพร (แพทย์หญิงประภาภรณ์ เพชรมาก) หรือป้าพรของเด็กๆ  คุณหมอผู้ชำนาญการใช้มีดผ่าตัดพอๆ กับการใช้ช้อนหรือส้อมตักข้าว  สองวันที่ผ่านมาคุณหมอทิ้งมีดและการพักผ่อนส่วนตัว ชวนครอบครัวและผองเพื่อนมาทำกิจกรรมให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน หมอพรเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของงานครั้งนี้ว่า

แรงบันดาลใจจริงๆ มาจากลูกสาวคนโต  เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งพอคุณแม่กลับมาถึงบ้านหลังจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ลูกสาวเข้ามาทักทายด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า

“สวัสดีค่ะ คุณแม่ผู้ให้กำเนิด แม่คือผู้ทำให้หนูได้เกิดมา ส่วนแม่ที่ดูแลหนูและอยู่กับหนูตลอดเวลาคือแม่คนนี้…” 

ด้วยสีหน้าและแววตาที่จริงจังของลูกสาว ทำเอาผู้เป็นแม่ถึงกับอึ้งไปชั่วขณะ รู้สึกเศร้า และสะเทือนใจอย่างยิ่ง

อะไรที่ทำให้ลูกสาวพูดออกมาเช่นนั้น

คุณหมอใช้เวลาครุ่นคิดถึงคำพูดของลูกสาวและวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเองที่ผ่านมา ลูกกำลังบอกอะไรกับเรา หรือที่ผ่านมาเราทำงานจนไม่มีเวลาให้กับลูกเลย ที่ทำงานหนักทุกวันนี้ จริงๆ แล้วทำเพื่อใคร อะไรคือสิ่งที่เราต้องการในชีวิต

สิ่งที่ลูกสาวคนโตพูดวันนั้นมันเหมือนกับการชูธงประท้วงร้องขอความรัก ความเอาใจใส่  หรือเราจะรอให้ลูกสาวและลูกชายอีกสองคนรวมตัวกันลุกขึ้นก่อม็อบใหญ่อีกครั้ง เราถึงจะเข้าใจเรื่องนี้

จากการใคร่ครวญในครั้งนั้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเริ่มจากการหาวันหยุดอยู่กับลูกมากขึ้น จากเคยปิดคลินิกสัปดาห์ละหนึ่งวัน เป็นสัปดาห์ละสองวัน  และเริ่มลดการแสวงหา การสะสมวัตถุสิ่งของภายนอก เปลี่ยนมาหาความสุขจากการได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกๆ และครอบครัวแทน  แล้วในที่สุดความสันติสุขในครอบครัวของคุณหมอก็กลับคืนมา…

ฟังเรื่องนี้แล้วเหมือนได้ฟังนิทานความสุข ที่ตอนสุดท้ายทุกคนก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดกาลนาน

จากจุดเริ่มต้นที่คุณหมอได้เล่าให้ฟังนั่นเอง นำมาสู่การขยายผลสู่ดินแดนข้างเคียง  พอครอบครัวเริ่มที่จะมีเวลาให้กัน ทำกิจกรรมด้วยกัน เข้าใจกันมากขึ้น ก็มีความสุขมากขึ้น คุณหมอจึงนึกถึงเด็กคนอื่นๆ เด็กๆ ลูกหลานของเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ลูกของเพื่อนร่วมงาน นึกอยากให้พวกเขาได้มีเวลาอยู่กับพ่อแม่ อยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรที่แตกต่างจากที่เขาเป็นอยู่และมีความสุขร่วมกัน  นั่นเป็นความฝันในฐานะของคนเป็นแม่ ไม่ใช่ฐานะที่เป็นหมอหรือฐานะใดทั้งสิ้น  ด้วยความฝันนั้นเอง คุณหมอจึงชักชวนพี่น้องผองเพื่อนที่ฝันเหมือนกันมาช่วยสานความฝันให้เกิดขึ้น

ที่ทำงานหนักทุกวันนี้ จริงๆ แล้วทำเพื่อใคร อะไรคือสิ่งที่เราต้องการในชีวิต

“กาลครั้งหนึ่งมีต้นไม้ต้นหนึ่ง  มันรักเด็กชายน้อยๆ คนหนึ่ง…”

น้ำเสียงที่ฟังอบอุ่นอ่อนโยนของท็อฟฟี่ (ศินีนาฏ โสวัตร) พยาบาลสาวผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นแม่ หนึ่งในผู้ร่วมก่อการความฝันกับคุณหมอพร เริ่มต้นนิทานของเธอ  นิทานที่เคยเล่าให้ลูกสาวสองคนฟังเป็นประจำ แต่ครั้งนี้ผู้ฟังกลับเป็นเด็กๆ ทั้งหมู่บ้าน เด็กๆ ที่เพิ่งเคยเห็นหน้าเห็นตากันไม่กี่นาที  เธอรู้สึกกังวลนิดๆ ว่าเด็กๆ สมัยนี้ยังจะมีใครสนใจฟังนิทานอยู่หรือเปล่า นิทานอาจจะเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับเด็กๆ ไปแล้วก็เป็นได้ พวกเขาอาจจะอยากกลับไปเล่นเกมออนไลน์ หรือไม่ก็คงอยากดูการ์ตูนในทีวีที่มีภาพเคลื่อนไหวไปมา มากกว่าการฟังเสียงสดๆ และมีเพียงภาพประกอบนิ่งๆ ในหนังสือนิทานเท่านั้น  แต่ความกังวลของท็อฟฟี่ก็ค่อยๆ หายไป เมื่อนึกถึงสิ่งที่เธอทำสำเร็จมาแล้วกับลูกๆ ของเธอเอง น้องเวยา ลูกสาวคนโตชอบฟังนิทานเป็นชีวิตจิตใจ เรียกได้ว่าเป็นเด็กติดหนังสือนิทานหรือวรรณกรรมเด็กไปเสียแล้ว

ลึกๆ ยังเชื่ออยู่ว่าโลกของเด็กก็คงไม่ได้ต่างกันมากมายนัก และหนังสือนิทานดีๆ ก็น่าจะเอาชนะและครองใจเด็กๆ ทุกคนได้ตลอดไป

“ทุกวัน เด็กชายจะมา และเก็บใบไม้เล่น หรือไม่ก็นำใบไม้มาร้อยเป็นมงกุฎ และเล่นเป็นจ้าวป่า  เขาจะปีนขึ้นไปบนลำต้น และห้อยโหนกิ่งไม้และกินแอปเปิลและเล่นซ่อนหากัน…”

ขณะที่ท็อฟฟี่กำลังอ่านหนังสือนิทาน ความรักของต้นไม้ (The Giving Tree) เขียนโดย เชล ซิลเวอร์สเตน  แปลโดย ปลาสีรุ้ง

เด็กๆ ก็ค่อยๆ ขยับเข้ามาใกล้ทีละนิด ละนิด สายตาของเด็กแต่ละคนจับจ้องอยู่ที่หนังสือตรงหน้า และไล่สายตาตามภาพในหนังสือทีละหน้า ราวกับว่าเรื่องราวที่ท็อฟฟี่กำลังอ่านได้สอดประสานไปพร้อมกับภาพที่เด็กๆ เหล่านั้นกำลังเห็นอยู่เลยทีเดียว

ในหนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็กและวัยรุ่น ของรัญจวน  อินทรกำแหง บอกไว้ว่าเด็ก ๆ อายุ ๔-๖ ขวบ เริ่มจะมีความคิดคำนึง มีจินตนาการมากขึ้น ชอบเรื่องนางฟ้า เทวดา นิทาน นิยายต่างๆ สนใจอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติของคน นก สัตว์ ต้นไม้ สนใจเรื่องเกี่ยวกับชีวิต สิ่งแวดล้อม ชอบหนังสือที่มีรูปภาพ เช่นเดียวกันกับเด็ก อายุ ๗-๘ ขวบ จะมีเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการสนใจเรื่องชีวิตจริงมากขึ้น ชอบฟังหรืออยากรู้เรื่องของเด็กอื่นในวัยเดียวกันว่ามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ชอบเรื่องที่ทำให้ชวนคิด ชวนสงสัย…

“…

ฉันต้องการเงิน เธอจะให้เงินฉันได้บ้างไหม?

ต้นไม้ตอบ ขอโทษนะ ฉันไม่มีเงินหรอกจ้ะ

ฉันมีแค่ใบและผลแอปเปิลเท่านั้น

เอาอย่างนี้สิ พ่อหนูน้อย เก็บผลแอปเปิลของฉันไป

เด็กชาย จึงปีนขึ้นต้นไม้ และเก็บแอปเปิล แล้วนำมันไป…”

ท็อฟฟี่เล่าถึงตรงนี้เด็กๆ ก็พูดขึ้นพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า “และต้นไม้ก็มีความสุข”  และเหมือนกันทุกๆ ช่วง พอมาถึงช่วงท้าย เด็กๆ ก็จะพูดพร้อมกันอีกว่า “และต้นไม้ก็มีความสุข”

นิทานจบลงแล้ว มีเสียงใครคนหนึ่งถามขึ้นว่า “หลังจากฟังนิทานเรื่องนี้จบแล้วเด็กๆ รู้สึกอย่างไร ?”

“รู้สึกเศร้าค่ะ”

“สงสารต้นไม้ครับ”

“รู้สึกสนุกอย่างเดียว”

“หนูมีความสุข”

“…….”

ลดการแสวงหาและสะสมวัตถุสิ่งของภายนอก เปลี่ยนมาหาความสุขจากการได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกๆ และครอบครัว

เด็กๆ ยังชอบฟังนิทาน และเด็กยังสามารถเข้าใจเนื้อหาในนิทานต่างๆ ได้  การเรียนรู้ของเด็กๆ จะเกิดขึ้นจากการฟัง การได้พูดคุย ซักถาม และสื่อสารกันกับผู้ใหญ่  สมองของเด็กๆ จะมีโอกาสพัฒนาสูงสุดในทุกๆ ด้าน หากได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้ใหญ่  กิจกรรมง่ายๆ อย่างการอ่านหนังสือดีๆ ให้เด็กๆ ฟังอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี

แล้วความฝันของคุณหมอพรและผองเพื่อนก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น พวกเขาสัญญากันว่าทุกๆ เดือน จะมีหนึ่งวันที่พวกเขาจะกลับมาเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังอีก  พร้อมทั้งมีความคิดต่อไปอีกว่าครั้งหน้าจะชักชวนคุณพ่อคุณแม่ของเด็กๆ เหล่านี้มาร่วมด้วย

นี่คือเรื่องราวดีๆ จากชุมชนเล็กๆ ที่ชื่อดอนเสาโฮง  ความสุขเริ่มต้นได้จากตัวเรา จากครอบครัว แล้วแผ่ขยายไปสู่คนรอบข้าง ร่วมเป็นกำลังใจให้กับพวกเขาด้วยนะครับ


ภาพประกอบ

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

ผู้เขียน: คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

การเขียนหนังสือทำให้ผมอยากอ่านหนังสือ แต่ในที่สุดผมก็ได้อ่านมากกว่าได้เขียน อ่านเพื่อจะเขียนให้ได้มากกว่านี้