การทำบุญของคนไทยแต่ก่อนนั้น ไม่ได้มีอานิสงส์เพียงแค่ทำให้ใจสงบมีปีติเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นไปด้วยในตัว เมื่อชาวบ้านทอดผ้าป่าหรือทอดกฐิน ปัจจัยไทยทานที่ถวายวัดไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อพระเณรเท่านั้น หากชาวบ้านก็ได้ใช้ด้วย เช่น เวลาจะจัดงานแต่งงานหรือทำบุญบ้าน ก็มายืมจานชามและถ้วยจากวัด เวลาจะประชุมก็มาใช้ศาลาและวิหารของวัด
ประเพณีบางอย่างดูเผินๆ ก็ไม่มีคุณค่านอกไปจากเรื่องของจิตใจ แต่ที่จริงยังก่อให้เกิดผลที่จับต้องได้ เช่น ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ ลองนึกภาพว่าถนนหนทางในหมู่บ้านชนบทช่วงหน้าร้อนนั้นมักขรุขระหาไม่ก็มีฝุ่นหนา ไม่สะดวกแก่การสัญจร ทรายที่ชาวบ้านช่วยกันขนมาก่อเป็นพระเจดีย์อยู่ริมทางนั้น เมื่อพ้นงานเทศกาลแล้วก็ไม่ได้หายไปไหน เมื่อพระเจดีย์ทลายก็กลายเป็นทรายถมทางไปในที่สุด
ประเพณีบางอย่างก็เป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นอย่างชัดเจน ในภาคเหนือมีประเพณีที่เรียกว่า “ทานทอด” คือการนำวัตถุไปมอบให้แก่คนยากไร้ในหมู่บ้าน โดยวางไว้ใกล้ที่อยู่ของเขา หลังจากนั้นจึงจุดประทัดเพื่อเป็นสัญญาณว่ามีคนเอาของมาให้ ชาวบ้านถือกันว่าทำเช่นนี้ก็ได้บุญเช่นเดียวกับการทอดผ้าป่า
อย่างไรก็ตามมิพึงเข้าใจว่าบุญนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีเทศกาลงานประเพณีหรือเมื่อโอกาสสำคัญมาถึง ในชีวิตประจำวันก็สามารถทำบุญได้ตลอดเวลา การตักน้ำใส่ตุ่มตั้งไว้หน้าบ้านให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาดื่มดับกระหาย ถือเป็นบุญที่ชาวบ้านแต่ก่อนนิยมทำโดยไม่ต้องมีพิธีกรรมใดๆ มาเกี่ยวข้อง แม้แต่การทำนา เขาก็ถือว่าสามารถทำบุญได้เช่นกัน ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเล่าว่า เมื่อท่านยังเด็ก โยมแม่ได้สอนคาถาประจำใจเวลาทำนาว่า “นกกินก็เป็นบุญ คนกินก็เป็นทาน” คาถานี้โยมแม่ของท่านเรียกว่า “คาถากันขโมย” เพราะเมื่อทำใจคล้อยไปตามคาถานี้แล้ว ก็จะไม่เห็นใครเป็นขโมยอีกต่อไป มีแต่ผู้ที่มาช่วยให้เราได้บุญ คาถานี้คงไม่ได้ใช้กับครอบครัวของท่านอาจารย์พุทธทาสครอบครัวเดียว หากยึดถือกันทั่วไปในภาคใต้
น่าเสียดายที่การทำบุญแบบนี้สูญหายไปเกือบจะหมดสิ้นแล้ว บุญที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเข้าใจจึงมีความหมายแคบลงมาก เหลือเพียงแค่การถวายทานแก่พระเท่านั้น จนเกิดทัศนคติว่าบุญต้องทำกับพระเท่านั้น ทั้งๆ ที่บุญคือความดีที่เราจะทำกับใครก็ได้ทั้งนั้น รวมทั้งทำกับตัวเองด้วย (เช่น ระงับความโกรธ คิดถูกคิดชอบ หรือทำสมาธิภาวนา)
บุญนั้นมีพลังอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ในอดีตบุญมีบทบาทอย่างมากในการสร้างสรรค์และจรรโลงชุมชนให้มีความสงบสุขท่ามกลางอุปสรรคจากธรรมชาติ บุญเป็นตัวเชื่อมประสานและบันดาลใจให้ผู้คนมาช่วยเหลือกันแม้จะมีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี ทุกวันนี้บุญก็ยังมีพลังสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอยู่ไม่น้อย แต่นั่นหมายความว่าจะต้องมีความเข้าใจแก่นแท้ของบุญให้ถูกต้อง และรู้จักประยุกต์การทำบุญให้สอดคล้องกับยุคสมัย
ไม่จำเป็นต้องทำบุญต่อเมื่อมีเทศกาลงานประเพณีหรือเมื่อโอกาสสำคัญมาถึง เพราะในชีวิตประจำวันเราสามารถทำบุญได้ตลอดเวลา
ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาได้มีการประยุกต์การทำบุญในหลายลักษณะ ในภาคเหนือ ได้มีการทอดผ้าป่าข้าว เพื่อนำเงินและข้าวที่ได้ไปจัดตั้งหรือสนับสนุนกองทุนข้าวในหมู่บ้าน กองทุนข้าวดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านที่ยากจนกู้ยืมโดยมีดอกเบี้ยต่ำ แต่บางปีที่เกิดความแห้งแล้ง กองทุนข้าวบางหมู่บ้านไม่มีข้าวเพียงพอที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน ดังนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นจึงพร้อมใจกันเข้ามาช่วย วิธีนี้ทำให้หลายหมู่บ้านที่ยากจนสามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีเงินเหลือสำหรับสนับสนุนกองทุนอื่นๆ ในหมู่บ้าน เช่น กองทุนการศึกษาสำหรับเยาวชน และกองทุนอาหารกลางวัน มองในแง่หนึ่งนี้ก็คือการสืบทอดประเพณีทานทอดที่กำลังสูญหายไป
นอกจากการประยุกต์ประเพณีที่มีอยู่แล้ว ยังมีการคิดค้นกิจกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยให้การทำบุญสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น อาทิ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ หลักการประการหนึ่งของกลุ่มดังกล่าวก็คือการย้ำให้เกิดความตระหนักว่าการมาเป็นสมาชิกกลุ่มนั้นเป็นการทำบุญร่วมกัน เพราะเงินที่นำมาฝากนั้น คนที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบปัญหา สามารถมากู้ยืมเอาไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนได้ เท่ากับว่าได้ช่วยสงเคราะห์เขา
นี้คือการฟื้นฟูคุณธรรมดั้งเดิมขึ้นมาได้แก่การสงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่แทนที่จะต่างคนต่างทำอย่างในอดีต ก็มารวมกลุ่มกันและมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม การทำบุญด้วยน้ำใจของแต่ละคนก็ยังมีความสำคัญอยู่ น่าดีใจที่ปัจจุบันมีผู้คนเป็นอันมากที่พยายามทำจากจุดของตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าจะมีใครทำด้วยหรือไม่ มีตำรวจบางคนในจังหวัดศรีสะเกษทุกเช้ามืดและหลังเลิกงานแล้วจะขนกล้าไม้ไปปลูกบนพื้นดินว่างเปล่ารวมทั้งริมถนนทำเช่นนี้มา ๑๕ ปีรวมต้นไม้ที่ปลูกแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ล้านต้น เขาให้เหตุผลว่า “การปลูกต้นไม้เป็นการทำบุญที่ถูกต้องที่สุด มันยั่งยืนกว่า และช่วยเหลือทุกคนได้ชั่วลูกชั่วหลาน”
บางคนทำบุญด้วยการเปิดไฟหน้าบ้านยามค่ำคืนเพื่อให้ผู้คนเห็นทางสะดวกขึ้น เห็นสิ่งกีดขวางถนนก็เก็บไปทิ้งให้พ้นทาง บ้างก็สละเวลาไปอ่านหนังสือใส่เทปให้คนตาบอดฟัง หรือเป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์การการกุศลโดยไม่คิดเงิน หลายคนทำบุญด้วยการสงเคราะห์สัตว์ เช่น พาสุนัขจรจัดไปฉีดยากันโรคพิษสุนัขบ้า หรือพาสุนัขของตนไปทำบุญด้วยการบริจาคเลือดให้แก่สุนัขที่เจ็บป่วย เป็นต้น
บุญกับน้ำใจนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ลองคิดดูว่าหากคนไทยทำบุญแบบนี้กันทั้งประเทศ เมืองไทยจะน่าอยู่สักเพียงใด