เราทุกคนต้องตายไม่ช้าก็เร็ว ที่สำคัญก็คือเราตายได้ครั้งเดียวในชีวิตนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนจะต้องเตรียมตัวตายให้ดีที่สุด เพราะหากพลาดพลั้งไป เราก็ไม่อาจแก้ตัวได้ สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบเข้าทำงาน เรายังมีโอกาสแก้ตัวได้หากสอบตก แต่เราไม่มีสิทธิทำอย่างนั้นได้กับความตาย
นี่เป็นเหตุผลประการแรกที่เราควรรู้จักความตายและเตรียมใจรับมือกับความตายขณะที่ยังมีเวลาอยู่ ประการต่อมาก็คือ แม้เราจะตายได้ครั้งเดียว แต่ขณะที่ยังไม่ตายนั้น เราต้องเผชิญกับความตายของคนที่เรารัก ของคนที่เรารู้จักและไม่รู้จักอีกมากมาย เราไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตนี้เราต้องเผชิญกับความตายของคนที่เรารักและรู้จักอีกมากมายสักเท่าไหร่ อาจจะไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขสองหน่วย แต่อาจเป็นสาม หรือสี่หน่วย เช่น เวลาเกิดภาวะสงครามหรืออุบัติเหตุร้ายแรง ในสภาวะเช่นนี้การที่เราเข้าใจเรื่องความตายได้ดีไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราเผชิญกับความตายของคนที่เรารักได้อย่างดีเท่านั้น แต่เรายังสามารถที่จะช่วยคนเหล่านั้นได้ด้วย เราอาจจะช่วยให้เขาเหล่านั้นมีชีวิตยืนยาวไม่ได้ แต่เราสามารถช่วยให้เขาตายอย่างดีที่สุดหรือตายอย่างมีคุณภาพได้
ที่พูดมานี้เป็นเหตุผลในเชิงปัจเจกบุคคลอยู่มาก อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องความตายมีประโยชน์นอกเหนือจากประโยชน์ส่วนตัวหรือคุณค่าในเชิงปัจเจกบุคคล มันยังมีคุณค่าต่อสังคมทั้งสังคมเลยทีเดียว พิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่า ความเข้าใจเรื่องความตายนั้นมีผลกำหนดสภาพความเป็นไปหรือทิศทางของสังคมไม่น้อยเลย ที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อเราไม่สนใจเรื่องความตาย ปิดหูปิดตาไม่รับรู้เรื่องความตาย ไม่ช้าไม่นานเราก็จะหลงลืมไปว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย คนจำนวนไม่น้อยในสังคมปัจจุบันอยู่ในสภาพที่เรียกว่าลืมตาย ลืมว่าจะต้องตาย ดังนั้นจึงเอาแต่แสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจและความสำเร็จทางโลก โดยไม่คิดเลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะช่วยเขาได้ไหมเมื่อความตายมาถึง และเขาจะเอาสิ่งเหล่านั้นไปได้ไหมเมื่อสิ้นลม พฤติกรรมเช่นนี้ยังส่งผลไปถึงแบบแผนของสังคมปัจจุบันที่มุ่งแต่ความเจริญเติบโตทางวัตถุ วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยดูจากอัตราการเติบโตของจีดีพีและตัวเลขอีกไม่กี่ตัว เช่น ตัวเลขการซื้อขายในตลาดหุ้น และค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ คนทั้งสังคมสนใจตัวเลขเพียงไม่กี่ตัวเพราะเราลืมไปว่าเราจะต้องตาย และตัวเลขเหล่านี้มันช่วยอะไรเราไม่ได้เมื่อถึงเวลานั้น
เราอาจจะช่วยให้เขาเหล่านั้นมีชีวิตยืนยาวไม่ได้ แต่เราสามารถช่วยให้เขาตายอย่างดีที่สุดหรือตายอย่างมีคุณภาพได้
ทำไมคนทุกวันนี้ถึงหลงลืมความตาย คำตอบประการหนึ่งก็คือ เพราะความตายถูกปิดบังเอาไว้จนยากจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ที่พูดนี้หมายถึงความตายที่ประสบสัมผัสด้วยตนเอง มิใช่ความตายที่เห็นทางโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ อันเป็นความตายที่อยู่ห่างไกลและเราไม่รู้สึกผูกพันด้วย หรือความตายในภาพยนต์และวีดีโอเกม ซึ่งเป็นความตายแบบเทียมๆ ส่วนความตายของคนทั่วๆไป เวลานี้ก็นิยมกันออกไปให้อยู่ห่างแม้กระทั่งจากคนใกล้ชิด เพราะเดี๋ยวนี้มักตายกันที่ห้องไอซียู ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก นอกจากนั้นยังมีการปิดกั้นไม่ให้เราได้สัมผัสพบเห็นกับคนตาย หาไม่ก็ตกแต่งให้ความตายเป็นเรื่องที่สะอาดไม่น่ากลัว เช่นปิดผนึกไว้ในโลงที่มิดชิด เช่น ตกแต่งศพให้สวยงาม มีดอกไม้ประดับประดา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การที่คนเราลืมตายนั้นยังมีเหตุผลที่ลึกไปกว่านั้นอีก นั่นคือเราแกล้งลืม เพราะลึกๆ เรากลัวความตายมาก เรากลัวตาย ไม่อยากนึกถึงความตาย ก็เลยผลักมันออกไปจากจิตสำนึก หรือจะเรียกว่าเก็บกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึกก็ได้ จนลืมไปว่าเราจะต้องตาย การหมกมุ่นอยู่กับความสนุกสนาน ความบันเทิงเริงรมย์ทางเพศ การแสวงหาเงินทองชื่อเสียงและอำนาจ เป็นวิธีการหนึ่งในการที่จะทำให้ตัวหลงลืมเรื่องความตาย เป็นการเบนความสนใจออกไปจากสิ่งที่ตนหวาดกลัว
เดี๋ยวนี้เรากลัวความตายกันมากเนื่องจากเราไม่เข้าใจเรื่องความตาย เราไปเข้าใจว่าความตายเป็นจุดสุดท้ายของชีวิต เมื่อชีวิตดำเนินมาถึงความตายก็มักเข้าใจว่าชีวิตนั้นจบสิ้นแล้ว ไม่มีอะไรหลังจากนั้นอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมองว่าความตายเป็นเรื่องของความเจ็บปวดทรมานที่มีแต่ความเสื่อมสลายความพินาศเป็นจุดหมายปลายทาง นั่นเป็นเพราะเรามองแต่ในแง่ร่างกาย หรือมองความตายเฉพาะมิติกายภาพ ถ้าเรามองความตายแต่ในแง่กายภาพเราจะเห็นว่ามีแต่ความเสื่อมความพินาศย่อยยับเมื่อถึงจุดสุดท้ายของชีวิต แต่ถ้าเรามองเห็นความตายในมุมที่กว้างขึ้นโดยคลุมไปถึงเรื่องจิตใจหรือเรื่องจิตวิญญาณด้วยแล้ว เราจะพบว่าความตายมิใช่ “วิกฤต” เท่านั้น หากยังเป็น “โอกาส” อีกด้วย คือ เป็นโอกาสที่จิตจะได้พัฒนาไปสู่อีกระดับหนึ่ง เกิดพัฒนาการทางจิตวิญญาณ ที่ไปพ้นจากสภาวะเดิม ความตายเป็นโอกาสให้เกิดพัฒนาการทางจิตวิญญาณได้แม้ร่างกายจะเสื่อมทรุดแตกสลาย แต่ถ้าเราเห็นความตายว่าเป็นเรื่องกายภาพหรือเป็นเรื่องร่างกายล้วนๆ ที่วัดกันด้วยตัวเลขการเต้นหัวใจ ความดันเลือด และเส้นกราฟจากสมอง เมื่อเรามองเพียงแค่นี้ ความตายก็เป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะมันหมายถึงความย่อยยับแตกดับของร่างกาย เราถึงกลัวความตายมาก
การกลัวความตายแบบนี้ทำให้เกิดปัญหามากมายร้อยแปด เช่น การพยายามหนีความตายให้ไกลที่สุด และหากหนีไม่ได้ ก็ขอประวิงให้ตายช้าที่สุด เดี๋ยวนี้เราทำอย่างไรเมื่อเราเจ็บป่วยใกล้ตาย ส่วนใหญ่ก็พยายามใช้เครื่องช่วยชีวิต ต่อท่อเข้าไปตามทวารต่างๆ ทั้งร่างกาย และใช้ทุกวิธีที่จะยืดลมหายใจให้ได้นานที่สุด หรือกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้ได้นานที่สุด จนกระทั่งไม่สามารถตายอย่างสงบ หรือไม่สามารถทำใจให้สงบได้ เพราะเกิดความเจ็บปวดมากจากการรักษาแบบก้าวร้าวรุนแรงแบบนั้น นอกจากสร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยแล้ว การพยายามหนีความตายแบบนี้ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจอย่างมากมาย ทั้งต่อครอบครัวผู้ป่วยและต่อส่วนรวม มีตัวเลขว่าในสหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยให้คนมีลมหายใจยืดยาวขึ้นนั้นเป็นตัวเลขมหาศาล ประมาณว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยทั้งประเทศนั้นหมดไปกับการดูแลผู้ป่วยในระยะ ๖ เดือนสุดท้าย น่าสนใจว่าในจำนวน ๖๐ เปอร์เซนต์ที่ใช้นั้น มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ไปกับการต่ออายุหรือยืดลมหายใจผู้คนในช่วง ๒-๓ ชั่วโมงหรือ ๒-๓ วันสุดท้ายของชีวิต
เป็นเพราะเรามีทัศนคติว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้ไกลที่สุด เราจึงมักใช้ช่วงเวลาท้ายๆ ของชีวิตไปอยู่ในโรงพยาบาล โดยฝากทุกอย่างไว้กับหมอ โดยไม่คิดว่าในช่วงสำคัญของชีวิตเช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่การยืดลมหายให้ได้นานที่สุด หากอยู่ที่การเตรียมใจให้สามารถเผชิญกับความตายได้อย่างสงบสันติที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้ เพราะไม่เคยเตรียมตัวไว้ก่อนเลยในยามที่ยังปกติสุขอยู่ หรือถึงนึกได้ก็สายไปเสียแล้ว เพราะไม่มีใครที่จะช่วยเราได้ในเรื่องนี้นอกจากตัวเราเอง