การทุจริตในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นพฤติกรรมที่นับวันจะแพร่หลายและซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากได้กลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้อย่างมหาศาล แม้จะยังเป็นรองธุรกิจกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัย กรณีนักเรียนโกงข้อสอบโอเน็ตโดยใช้นาฬิการับส่งข้อความและเสียงเหมือนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนที่แล้ว จากการสอบสวนได้พบว่า จำนวนเงินที่จ่ายให้แก่กลุ่มบุคคลที่ช่วยเหลือในการทุจริตเป็นตัวเลขสูงถึง ๖ หลัก ที่น่าตกใจพอๆ กันก็คือบุคคลที่จ่ายเงินดังกล่าวเป็นพ่อแม่ของนักเรียนนั่นเอง
การโกงข้อสอบโดยมีพ่อแม่เป็นผู้บงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ คงไม่ได้มีแค่รายเดียว หากมีมากกว่านั้น นับเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงความเสื่อมทางจริยธรรมในสังคมไทย พอๆ กับสะท้อนให้เห็นถึงความตกต่ำของสถาบันครอบครัว ทั้งนี้เพราะสถาบันครอบครัวไม่ได้มีหน้าที่แค่เลี้ยงดูลูกหลานให้อยู่รอดเท่านั้น หากยังมีหน้าที่กล่อมเกลาเขาเหล่านั้นให้เป็นคนดี มีศีลธรรม และรู้ผิดรู้ชอบ การละเลยที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นเรื่องที่รู้กันมานานแล้ว แต่การสมคบกับลูกในการทุจริตการสอบเป็นข่าวร้ายที่น่าตระหนกยิ่งกว่า การกระทำดังกล่าวนอกจากจะทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสำนึกทางจริยธรรมของคนที่เป็นพ่อแม่ในปัจจุบันแล้ว ยังชวนให้คิดต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้นกับมาตรฐานจริยธรรมของสังคมไทยที่ทำให้พ่อแม่กล้าที่จะช่วยลูกทุจริต
อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่กล่าวมากลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันที หากนำไปเปรียบกับการทุจริตในสถาบันที่น่าจะมีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไป นั่นคือสถาบันสงฆ์ เป็นที่รู้กันในหมู่พระสงฆ์สามเณรว่า การทุจริตในการสอบนั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะการสอบระดับนักธรรม (ความรู้ด้านพุทธศาสนาชั้นตรี โท เอก โดยใช้ภาษาไทย) ในสนามสอบต่างจังหวัด การถามตอบข้ามโต๊ะอย่างอึงคนึง การเอาหนังสือมาเปิดในระหว่างสอบ หรือการส่งคนอื่นมาสอบแทน เป็นสิ่งที่ทำกันอย่างแพร่หลาย แต่ในช่วงหลายปีหลังมานี้ การทุจริตได้ก็แพร่ระบาดไปยังสนามสอบบาลี (ความรู้ในการแปลพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถา มี ๙ ประโยค) ถึงขั้นโทรศัพท์ถามหาคำเฉลยจากนอกห้องอย่างเปิดเผย
แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือการทุจริตเหล่านี้มักเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตากรรมการคุมสอบ ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ระดับอาจารย์ เจ้าคณะตำบล หรือเจ้าคณะอำเภอ แต่ก็หาได้มีการห้ามปรามไม่ เท่านั้นไม่พอ หลายท่านยังให้ความช่วยเหลือหรือร่วมมือในการทุจริตด้วย เช่น บอกคำเฉลยด้วยตัวเอง บางครั้งถึงกับเขียนบนกระดานหน้าห้อง (พร้อมกับบอกว่า “รีบๆ ทำกันหน่อย วันนี้ผมต้องไปสวดศพ”) กรณีล่าสุดเกิดขึ้นในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ผู้คุมสอบซึ่งเป็นระดับรองเจ้าคณะอำเภอ ถึงกับพิมพ์ใบเฉลยมาแจกแก่ผู้สอบบางท่าน ซึ่งเป็นเจ้าคณะตำบลและเป็นเพื่อนสนิท ทั้งนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการช่วยดูลาดเลาให้ หากเห็นกรรมการคุมสอบจากส่วนกลางกำลังเดินผ่านมา ก็จะให้สัญญาณแก่ผู้สอบเพื่อกลับมาอยู่ในความสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อย
เป็นที่รู้กันว่าบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การทุจริตในห้องสอบทำกันอย่างเป็นระบบและแพร่หลาย จนมั่นใจได้ว่าหากไปสอบในจังหวัดนั้นแล้ว จะผ่านได้อย่างแน่นอน เพราะมีการแจกใบเฉลยแก่ผู้สอบทั้งห้อง โดยอาจได้รับความร่วมมือจากกรรมการคุมสอบจากส่วนกลาง (ซึ่งถูกส่งไปยังทุกสนามสอบ) แต่ก็มีบางท่านที่ไม่ยินดีร่วมมือ แม้กระนั้นก็ต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะนอกจากจะมีจำนวนน้อยกว่ากรรมการในพื้นที่แล้ว บางท่านถึงกับถูกขู่จากพระในพื้นที่ว่า “ระวังจะไม่ได้กลับวัด” หากพยายามขัดขวางการทุจริต
เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่รับทราบอย่างดีในหมู่พระผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบการศึกษาคณะสงฆ์ ทั้งแม่กองบาลีและแม่กองธรรม แต่ก็มิได้มีการแก้ไขหรือป้องกันอย่างจริงจังแต่อย่างใด อย่างมากที่สุดที่จะหวังได้จากท่านก็คือ คำกำชับว่าจะจับตาดูที่นั่นที่นี่เป็นพิเศษ แต่แล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เคยมีการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของกรรมการคุมสอบบางท่านที่ร่วมมือในการทุจริต แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังคงเป็นกรรมการคุมสอบดังเดิมปีแล้วปีเล่า
เป็นที่รู้กันในหมู่พระสงฆ์สามเณรว่า การทุจริตในการสอบนั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะการสอบระดับนักธรรมในสนามสอบต่างจังหวัด
ทั้งๆ ที่การโกงข้อสอบในแวดวงพระเณรแพร่ระบาดดาษดื่นยิ่งกว่าวงการฆราวาสมากนัก แต่น่าสงสัยว่าหลายปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ทุจริตที่ถูกลงโทษมียอดรวมถึงหลักร้อยหรือไม่ ที่น่าสงสัยยิ่งกว่านั้นก็คือเวลานี้พระเณรส่วนใหญ่มองเห็นหรือไม่ว่าการโกงข้อสอบเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม (แม้ไม่มีระบุในศีล ๕ หรือวินัย ๒๒๗ ข้อก็ตาม)
คงไม่ต้องกล่าวแล้วว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงมาตรฐานทางจริยธรรมที่เสื่อมถอยในวงการพระสงฆ์มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่น่าคิดก็คืออะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสภาพดังกล่าวขึ้นมา เหตุปัจจัยนั้นมีมากมาย แต่ที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ความล้าหลังเสื่อมถอยของระบบการศึกษาสงฆ์ เห็นได้ชัดว่าการศึกษาคณะสงฆ์ล้มเหลวในการเสริมสร้างจริยธรรมในหมู่พระเณร จนเห็นการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตามไม่ใช่แต่การปลูกฝังคุณธรรมเท่านั้นที่ล้มเหลว แม้แต่การเสริมสร้างความรู้โดยเฉพาะด้านปริยัติศึกษาก็ไม่ประสบผลเช่นกัน
ความล้มเหลวด้านปริยัติศึกษาแสดงให้เห็นจากการที่คณะสงฆ์ไม่สามารถทำให้พระเณรเห็นได้ว่าการเรียนนักธรรมและบาลีมีประโยชน์กับชีวิตของตนอย่างไร ในอดีตใครที่เรียนจบนักธรรมหรือบาลีระดับต้นๆ หากสึกหาลาเพศไปก็สามารถหางานทำได้ไม่ยาก แต่ปัจจุบันความรู้ดังกล่าวไม่ช่วยให้หางานทำได้เลย แม้แต่จะเป็นบุรุษไปรษณีย์ก็ยังไม่ได้ แรงจูงใจอย่างเดียวที่จะกระตุ้นให้เรียนบาลีระดับสูงๆ ก็คีอ การได้รับสมณศักดิ์ รวมทั้งการได้รับกิจนิมนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงการเลื่อนสถานะในวงการสงฆ์ แต่พระเณรส่วนใหญ่ตั้งใจบวชเพียงชั่วคราว เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา จะได้ไปประกอบอาชีพทางโลกเมื่อสึกออกไป จริงอยู่ในอดีตพระเณรส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้ทั้งนั้น แต่คณะสงฆ์ประสบความสำเร็จพอสมควรในการสร้างแรงจูงใจให้พระเณรจำนวนไม่น้อยเกิดศรัทธาปสาทะในพระศาสนา จนดำรงตนในสมณเพศเป็นเวลานานๆ แต่แรงจูงใจเช่นนี้เกือบจะปลาสนาการไปแล้วในปัจจุบัน
เมื่อพระเณรส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของนักธรรมและบาลี จึงเรียนอย่างเสียไม่ได้ อยู่ในภาวะจำใจเรียนเพราะเป็นข้อกำหนดของวัดหรือถูกขอร้องแกมบังคับ ยิ่งมีสิ่งดึงดูดใจให้ไขว้เขวมากมาย (เช่น โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ดีวีดี รวมทั้งการศึกษาทางโลก) พระเณรจึงมีความรู้น้อยมาก ดังนั้นเมื่อเข้าสอบ ก็ต้องตกสถานเดียว เว้นเสียแต่วัดหรือสำนักเรียนจะเข้าไปช่วยสอบด้วย
ด้านวัดหรือสำนักเรียนก็มีเหตุผลที่จะต้องช่วยศิษย์ของตน เพราะการมีนักเรียนสอบได้มากๆ หมายถึงหน้าตาและงบประมาณที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับเงินตอบแทนเป็นรายหัว อีกทั้งคณะสงฆ์อาจให้สมณศักดิ์แก่เจ้าอาวาสที่มีพระเณรสอบได้เป็นจำนวนมากหลายปีติดต่อกัน อันที่จริงเพียงแค่มีพระเณรเข้าเรียนมากๆ ทางวัดก็ได้เงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงพยายามชักชวนพระเณรให้มาสมัครเรียนมากๆ แม้ไม่อยากเรียนก็ตาม (บางแห่งถึงกับปั้นตัวเลขขึ้นมาเองโดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บางคนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ผลก็คีอพระเณรเหล่านี้เมื่อถึงวันสอบ ก็ไม่เข้าสอบ หรือถึงสอบก็ต้องตกหากไม่มีใครช่วย จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกปีจะมีผู้ขาดสอบไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓๐ ในขณะที่ผู้ซึ่งสอบได้มีจำนวนลดน้อยถอยลงตามลำดับจนเหลือไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ของผู้เข้าสอบ ตัวเลขที่ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สำนักเรียนเป็นอันมากทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเลขผู้ที่สอบได้ไม่ลดต่ำไปกว่านี้ แม้ต้องช่วยทุจริตก็ตาม อย่างน้อยก็เพื่อรักษาหน้าตาของสำนักเรียนเอาไว้
ทั้งๆ ที่พระเณรส่วนใหญ่ไม่เห็นประโยชน์จากการเรียนนักธรรมบาลี แต่ก็ไม่เคยมีความพยายามจากคณะสงฆ์ที่จะปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระชั้นผู้ใหญ่โดยเฉพาะในมหาเถรสมาคมเติบโตมาจากการศึกษาแบบนี้ อีกทั้งท่านต้องการรักษาระบบนี้เอาไว้ด้วยความศรัทธาในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ริเริ่มระบบการศึกษาดังกล่าวเมื่อ ๙๐ ปีก่อน ท่านเหล่านี้มองว่าเพียงแค่ประคองระบบที่เป็นอยู่เอาไว้ก็เป็นภาระที่หนักอึ้งแล้ว จึงไม่พยายามที่จะปฏิรูปให้ดีขึ้นแต่อย่างใด ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ให้เงินอุดหนุนแก่สำนักเรียนที่มีผลการสอบดีเด่น แต่ดูเหมือนท่านจะไม่ตระหนักว่า การพยายามประคองระบบที่ใกล้จะตายนั้น ก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงตามมาอีกมากมายอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้พระเณรทุจริตในการสอบอย่างแพร่หลายชุกชุมทั่วสังฆมณฑล คำถามคือ มีประโยชน์อะไร หากพระเณรสอบบาลีนักธรรมกันได้มากๆ แต่กลับมีนิสัยทุจริตติดตัวกันมากขึ้นด้วย พระเณรเหล่านี้จะเป็นความหวังของคณะสงฆ์ได้อย่างไร อย่าว่าแต่จะเป็นความหวังของสังคมไทยเลย
การปฏิรูปการศึกษาสงฆ์เป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน แต่ถูกละเลยมาช้านานแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจกันแล้วว่า เราจะทนเห็นพระเณรมีคุณภาพต่ำลงทั้งในทางความรู้และคุณธรรม เพียงเพื่อรักษาระบบการศึกษาที่ล้าหลังเอาไว้ หรือว่ากล้าที่จะรื้อของเดิมเพื่อพัฒนาคุณภาพของพระเณรให้ดีขึ้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดนอกกรอบเดิม ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตโต) ได้ชี้แนะไว้นานแล้วว่า ควรแบ่งระดับการศึกษาสงฆ์เสียใหม่ เป็นระดับบุรพศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา โดยระดับแรกจัดเป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับผู้อยู่วัดให้มีความรู้พื้นฐานด้านพุทธศาสนา ระดับที่สองให้มีเนื้อหาสัมพันธ์กับระดับมัธยมศึกษาของรัฐ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีวุฒิการศึกษาตามระบบของรัฐ หากสึกไปสามารถเรียนต่อทางโลกได้จนถึงมหาวิทยาลัย วิธีนี้ช่วยให้พระเณรมีแรงจูงใจที่จะเรียนวิชาทางธรรมที่ทางคณะสงฆ์จัดให้
ส่วนระดับที่สาม จัดสำหรับผู้ประสงค์จะบวชระยะยาว มีการเรียนการสอนภาษาบาลีในระดับนี้ ซึ่งหมายความว่าผู้เรียนบาลีจะลดน้อยลง แต่จะมีคุณภาพมากขึ้น เพราะผู้เรียนมีแรงจูงใจที่จะเรียน ผลพลอยได้อย่างหนึ่งก็คือการทุจริตจะลดน้อยลงไปเอง
การปฏิรูปการศึกษาสงฆ์เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้พระ “มีความรู้อันเป็นทางแห่งความปฏิบัติของตนและสั่งสอนชาวบ้านให้ดีขึ้น” หรือถ้าสึกออกมาก็เป็นผู้ประพฤติดี “ไม่ก่อปัญหาต่อการปกครอง เพราะได้รับการอบรมสั่งสอนธรรม ซึ่งจะใช้เป็นเครื่บังคับจิตใจได้พอสมควร” การทุจริตในห้องสอบซึ่งแพร่ระบาดจนกำลังจะกลายเป็นธรรมเนียมในวงการสงฆ์ เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่พระองค์ได้สถาปนาไว้บัดนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง