การชุมนุมเรียกร้องโดยสันติวิธีของพระสงฆ์พม่า ซึ่งถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากรัฐบาล จนมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ได้กระตุ้นให้ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกจากทุกนิกายมิอาจนิ่งเฉยต่อไปได้ ต่างพากันออกมากล่าวประณามรัฐบาลพม่าและเรียกร้องให้ยุติการกระทำอันโหดเหี้ยมดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์พม่า
ทะไลลามะเป็นท่านแรกที่ออกมาสนับสนุนการเรียกร้องเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของพระสงฆ์พม่า และวิงวอนให้รัฐบาลทหารปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างมีเมตตาธรรมและด้วยสันติวิธี
พระราชสุเมธาจารย์หรือพระอาจารย์สุเมโธแห่งวัดอมราวดี ซึ่งเป็นผู้นำสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในอังกฤษ และเป็นศิษย์คนสำคัญของหลวงพ่อชา สุภัทโท ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุน “ความกล้าหาญของพระสงฆ์ แม่ชี นักศึกษา และประชาชนชาวพม่าซึ่งประท้วงโดยสงบเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมและการกดขี่ของรัฐบาลพม่าในปัจจุบัน” ท่านยังแสดงความผิดหวังที่รัฐบาลพม่าใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมกับผู้ประท้วง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลสดับฟังคณะสงฆ์และหาทางสร้างสมานฉันท์อย่างถูกต้องชอบธรรม
ส่วนท่านติช กวง บา ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับพระวิสุทธิสังวรเถร หรือพระอาจารย์พรหมวังโส (ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อชาเช่นกัน) ในนามสมัชชาสงฆ์ออสเตรเลีย ให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อคณะสงฆ์และประชาชนพม่า ที่ได้ “เสี่ยงชีวิตและเคลื่อนไหวโดยสันติวิธีเพื่อความยุติธรรม เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเจริญงอกงามแห่งประเทศของตน” ทั้งยังชื่นชมคณะสงฆ์พม่าที่แสดงออกซึ่ง “ความกล้าหาญ การมีจุดยืนที่สูงส่ง และการกระทำที่ยึดหลักอหิงสาเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน”
ส่วนที่ญี่ปุ่น พระคุณเจ้าฟูชิ เอโตกุ ประธานบริหารนิกายโซโตเซน ได้ยื่นจดหมายถึงรักษาการนายกรัฐมนตรีพม่า ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “เราขอประท้วงอย่างรุนแรงต่อการกระทำอันน่าเศร้าซึ่งละเมิดและบั่นทอนชีวิตของมนุษย์อย่างร้ายแรง” ขณะที่พระคุณเจ้าโคจุน อินาโอกะ เลขาธิการนิกายโยโดชู แสดงความไม่เห็นด้วยกับ “การยุติปัญหาด้วยวิธีการทางทหารหรือการกระทำเยี่ยงสงคราม ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม”
ทางด้านผู้นำคณะสงฆ์เวียดนาม ท่านติช กวง โด ได้ทำจดหมายถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้กระทำการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้รัฐบาลทหารยุติการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสันติวิธี
กล่าวได้ว่าไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา ที่ผู้นำคณะสงฆ์จากทุกนิกายทั่วโลกออกมาประสานเป็นเสียงเดียวกัน เพื่อคัดค้านการกระทำอันโหดร้ายต่อพี่น้องชาวพุทธในอีกประเทศหนึ่ง ท่านเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่เคยแสดงจุดยืนต่อสาธารณะเพื่อประท้วงรัฐบาลใดมาก่อนเลย นี้เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่ท่านเหล่านี้ต้องลุกขึ้นมาเพราะการกระทำของรัฐบาลพม่านั้นร้ายแรงและสวนทางกับหลักธรรมเกินกว่าจะนิ่งเฉยได้
แต่ท่ามกลางเสียงคัดค้านดังกระหึ่มจากผู้นำชาวพุทธทั่วโลก น่าเสียใจอย่างยิ่งที่คณะสงฆ์ไทยกลับเงียบสนิท ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาจากพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าจะมีองค์กรชาวพุทธหลายแห่งทำจดหมายถึงมหาเถรสมาคมเพื่อเรียกร้องให้ท่านดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อยุติความรุนแรงในพม่าก็ตาม
ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินผู้นำคณะสงฆ์ไทยประกาศอย่างชื่นชมบ่อยครั้งว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งโลก และดูเหมือนชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยก็เชื่อเช่นนั้น โดยเข้าใจว่านานาประเทศก็ยกย่องประเทศไทยในทำนองนั้นเช่นกัน คำประกาศดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่สามารถเชิญผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกมาประชุมที่ประเทศไทยได้
แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบหนึ่งเดือน ยังจะทำให้เราอวดอ้างว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของโลกได้อีกหรือ ในเมื่อผู้นำคณะสงฆ์ไทยปิดปากเงียบขณะที่ผู้นำคณะสงฆ์ทั่วโลกออกมาปกป้องสหธรรมิกในพม่าที่กำลังถูกฆ่าอย่างทารุณ เราจะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้นำได้อย่างไร ตราบใดที่ยังทำตัวไม่รู้สึกรู้สาขณะที่เพื่อนบ้านถูกรุมทำร้ายเพียงเพราะเรียกร้องความเป็นธรรม
ความเป็นผู้นำหรือศูนย์กลางของพุทธศาสนาไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะจัดประชุมชาวพุทธทั่วโลกได้สำเร็จ หากต้องเกิดขึ้นจากการเป็นแบบอย่างในทางธรรม ซึ่งรวมถึงความกล้าชี้ถูกชี้ผิด กล้ายืนหยัดคัดค้านเมื่อเห็นความไม่ถูกต้องชอบธรรมเกิดขึ้น และกล้าปกป้องช่วยเหลือผู้ที่ถูกข่มเหงรังแกอย่างอยุติธรรม การสอนคนให้มีธรรมจะมีความหมายอย่างไร ในเมื่อผู้สอนไม่กล้าที่จะปกป้องธรรมหรือผู้ประพฤติธรรมเลยแม้แต่น้อย
เราอาจมีเหตุผลมากมายที่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงและความอยุติธรรมที่กระทำกับเพื่อนมนุษย์ในมุมอื่นของโลก แต่หากเรายังนิ่งดูดายเมื่อเพื่อนพระสงฆ์ด้วยกันถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เราจะหวังความเคารพนับถือจากชาวพุทธทั่วโลกที่ยังมีมโนธรรมสำนึกได้อย่างไร ยังไม่ต้องเอ่ยถึงความนับถือจากประชาคมนานาชาติที่จับตามองสถานการณ์ในพม่าด้วยความเป็นห่วง
ความเป็นผู้นำหรือศูนย์กลางของพุทธศาสนาไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะจัดประชุมชาวพุทธทั่วโลกได้สำเร็จ หากต้องเกิดขึ้นจากการเป็นแบบอย่างในทางธรรม
จริงอยู่เราอาจมองว่าการเดินขบวนของพระสงฆ์พม่านั้นไม่ถูกต้องตามพระวินัย มิใช่สมณสารูปอย่างที่พระเถรวาทควรจะมี แต่จุดมุ่งหมายหรือข้อเรียกร้องของท่านคือให้รัฐบาลทหารคืนเสรีภาพ ประชาธิปไตย แก่ประชาชน รวมทั้งขออภัยที่ได้ทำร้ายพระสงฆ์ ก็เป็นสิ่งที่ถูกทำนองคลองธรรมอันเราพึงสนับสนุนมิใช่หรือ
แต่ถ้าเรายังทำใจสนับสนุนท่านเหล่านั้นได้ยากเพราะเห็นว่าท่านกำลังยุ่งกับ “การเมือง” ก็ยังไม่สมควรอยู่ดีที่เราจะนิ่งเงียบเมื่อรู้ว่าท่านเหล่านั้นถูกทหารเข่นฆ่า อย่างน้อยท่านเหล่านั้นก็เคลื่อนไหวอย่างสงบและโดยสันติวิธี ซึ่งไม่สมควรจะถูกกระทำด้วยความรุนแรงแม้แต่น้อย (อย่าว่าแต่การชุมนุมโดยสงบเลย แม้นผู้ชุมนุมขว้างก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ แต่หากเจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยการยิงปืนเข้าใส่ฝูงชนก็ยังถือว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ)
การฆ่านั้นเป็นการกระทำที่ผิดศีล ยิ่งฆ่าพระสงฆ์ที่ชุมนุมโดยสงบ ก็ยิ่งผิดทั้งนิติธรรมและศีลธรรม เมื่อผู้นำคณะสงฆ์ไทยนิ่งเฉย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางศีลธรรมได้อย่างไร หรือว่าเป็นเพราะพระสงฆ์ที่ถูกฆ่านั้นเป็นพระพม่า หากเป็นพระไทย อย่าว่าแต่ถูกฆ่าเลย เพียงแค่บางรูปถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “ภิกษุสันดานกา” ก็เดือดร้อนจนอยู่เฉยไม่ได้แล้ว
เป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ผู้นำคณะสงฆ์ไทยนิ่งเงียบต่อกรณีความรุนแรงในพม่าก็เพราะ ๑) ท่านไม่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองหรือความเป็นไปของโลกเลย ๒) ท่านทั้งเกลียดทั้งกลัวการเมือง แต่การเมืองที่ท่านเข้าใจนั้นหมายถึงการต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น (หากสนับสนุนรัฐบาลก็หาใช่ “การเมือง” ไม่) ใครที่ต่อต้านรัฐบาลถือว่ายุ่งการเมือง ซึ่งแปลว่าเป็นคนไม่ดี เหตุผลทั้งสองประการนี้แสดงตัวอย่างชัดเจนเมื่อองค์กรชาวพุทธจำนวนหนึ่งยื่นหนังสือถึงมหาเถรสมาคมเพื่อขอให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อบรรเทาความรุนแรงในพม่า ประโยคแรกที่ออกจากปากของพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของสมเด็จพระสังฆราชก็คือ “พระพวกนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ใช่หรือ?”
นี้มิใช่เป็นปัญหาของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของไทยเท่านั้น หากยังเป็นข้อจำกัดของชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ก็ว่าได้ เราจึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์พม่าที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมและเป็นความจำเป็นเพียงใด เราไม่เข้าใจเพราะเราแทบไม่รู้เลยว่ารัฐบาลพม่านั้นเป็นรัฐบาลที่อธรรมเพียงใด ก่อกรรมทำเข็ญแก่ประชาชนอย่างเลวร้ายแค่ไหน นอกจากเกณฑ์ประชาชนนับหมื่นไปเป็นแรงงานทาสเพื่อก่อสร้างถนนและวางท่อน้ำมันแล้ว ยังอนุญาตให้ทหารปล้นสะดมชนกลุ่มน้อย รวมทั้งสามารถฉุดผู้หญิงไปชำเราและฆ่าได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี ยังไม่ต้องพูดถึงการจับกุมคุมขังผู้ที่เห็นแย้ง การทรมานนักโทษอย่างดาษดื่น การสังหารผู้คนโดยไม่ผ่านศาล และการคอร์รัปชั่นจนผู้คนร้อยละ ๙๐ ยากจนข้นแค้น
เราไม่อาจตระหนักได้ว่าการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์พม่าเป็นสิ่งที่ถูกทำนองคลองธรรมได้ เพราะเรามองศีลธรรมอย่างคับแคบ คือเห็นแค่ศีลธรรมระหว่างบุคคลต่อบุคคล ซึ่งหนีไม่พ้นศีล ๕ แต่ไม่สามารถมองเห็นว่าศีลธรรมยังหมายถึงข้อปฏิบัติที่บุคคลพึงมีต่อสังคม และสิ่งที่สังคม (หรือรัฐ) พึงปฏิบัติต่อบุคคล การที่บุคคลพยายามปกป้องเสรีภาพ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตยหรืออยู่เย็นเป็นสุข ก็เป็นศีลธรรมอย่างหนึ่ง ในทำนองเดียวกันรัฐก็มีพันธะทางศีลธรรมที่จะต้องเคารพเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนด้วย หน้าที่ของประชาชนมิใช่มีเพียงเสียภาษีให้รัฐหรือปกป้องประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำให้รัฐมีความเที่ยงธรรมและเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน การทำเช่นนั้นถือเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมอย่างหนึ่งของประชาชนที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ หาใช่พฤติการณ์เยี่ยงคอมมิวนิสต์หรือเล่นการเมืองอย่างที่หลายคนเข้าใจไม่
พุทธศาสนาจะมีความหมายในโลกสมัยใหม่ และสามารถเป็นพลังบันดาลใจให้แก่การสร้างความสงบร่มเย็นในสังคมได้ ต่อเมื่อขยายขอบเขตของศีลธรรมให้กว้างขึ้น โดยผนวกเอาคุณค่าหรือหลักการสมัยใหม่ (เช่น เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศีลธรรมแบบพุทธ ขณะเดียวกันคณะสงฆ์ก็ต้องสนับสนุนและปกป้องผู้ที่อุทิศตนเพื่อหลักการดังกล่าวด้วย หากชาวพุทธไทยไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ป่วยการที่จะหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของโลก เพราะเพียงแค่จะได้รับการยอมรับนับถือจากประชาคมชาวพุทธนานาชาติ ก็เป็นเรื่องยากเสียแล้ว